แนวคิดวิวัฒนาการเกี่ยวกับความซึมเศร้า

แนวคิดวิวัฒนาการเกี่ยวกับความซึมเศร้า (อังกฤษ: Evolutionary approaches to depression) เป็นความพยายามของนักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการที่จะใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการเพื่อเข้าใจปัญหาของความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorder) คือ แม้ว่าความซึมเศร้าจะพิจารณาว่าเป็นการทำหน้าที่ผิดปกติของร่างกาย แต่ว่า มันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอายุเหมือนกับความผิดปกติทางกายอื่นมักจะเป็น ดังนั้น นักวิจัยบางพวกจึงสันนิษฐานว่า ความผิดปกติมีรากฐานทางวิวัฒนาการ เหมือนกับทฤษฎีทางวิวัฒนาการของโรคอื่น ๆ รวมทั้งโรคจิตเภทและโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว แต่ว่าจิตวิทยาและจิตเวชโดยทั่วไปไม่ยอมรับคำอธิบายทางวิวัฒนาการของพฤติกรรม และดังนั้น คำอธิบายต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องขัดแย้ง

พื้นเพ แก้

โรคซึมเศร้าเป็นเหตุความพิการระดับแรก ๆ ทั่วโลก และในปี 2543 เป็นภาระโรค (ตาม DALY) เป็นอันดับ 4 ในบรรดาโรคต่าง ๆ และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฆ่าตัวตาย[1] จึงเข้าใจได้ว่าทำไมโรคซึมเศร้าจึงจัดเป็นโรค คือเป็นการทำหน้าที่ผิดปกติที่สำคัญของสมอง

แต่ว่า ในกรณีโดยมาก อัตราความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมีอัตราต่ำในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ต้น ๆ และมีอัตราสูงสุดในคนสูงวัย.[2] รูปแบบเช่นนี้เข้ากับทฤษฎีทางวิวัฒนาการเกี่ยวกับการมีอายุมากขึ้น ซึ่งสมมุติว่า การคัดลักษณะสืบสายพันธุ์ที่ทำงานผิดปกติออกโดยธรรมชาติ จะลดลงตามอายุ เพราะว่ามีโอกาสน้อยลงเรื่อย ๆ ที่จะรอดชีวิตและมีอายุมากขึ้น

ตรงข้ามกับรูปแบบเช่นนี้ ความชุกของโรคซึมเศร้าสูงในทุกกลุ่มอายุ รวมทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่วัยต้นที่สุขภาพอย่างอื่นดีทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาประชากรสหรัฐงานหนึ่งพบว่า ความชุกในระหว่าง 12 เดือนของโรคสูงสุดในช่วงอายุที่ต่ำสุด คือ ระหว่าง 15-24 ปี[3] ความชุกระดับสูงของโรคซึมเศร้ายังเป็นเรื่องแปลกเทียบกับความชุกของความปัญญาอ่อน โรคออทิซึม และโรคจิตเภท ซึ่งมีความชุกเป็น 1 ใน 10 หรือน้อยยิ่งกว่านั้นเทียบกับโรคซึมเศร้า[4]

ความสามัญและความคงยืนของลักษณะสืบสายพันธุ์เช่นกับโรคซึมเศร้าที่มีผลลบมากในเบื้องต้นของชีวิตเป็นเรื่องยากที่จะอธิบาย แม้ว่าอัตราโรคติดเชื้อก็สูงในเยาวชนเหมือนกัน แต่ว่าโรคซึมเศร้าเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ และการประยุกต์ใช้ในการแพทย์เชิงวิวัฒนาการ เสนอว่า พฤติกรรมและสภาพจิตรวมทั้งสภาวะที่ดูเหมือนจะเป็นโทษเช่นความซึมเศร้า อาจจะเป็นการปรับตัวที่มีประโยชน์ของบรรพบุรุษมนุษย์ ซึ่งช่วยเพิ่มความเหมาะสมของบุคคลหรือว่าของญาติ[5][6][7][8] เช่น มีการอ้างว่า ความซึมเศร้าชั่วชีวิตของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ อับราฮัม ลินคอล์น เป็นแหล่งความชาญฉลาดและความเข้มแข็งของเขา[9] มีกระทั่งนักวิชาการที่อ้างว่า "เราไม่ได้หมายให้มีความสุขเป็นปกติตามธรรมชาติ" และดังนั้น ภาวะความซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องปกติทางวิวัฒนาการ[10]

สมมติฐานดังต่อไปนี้พยายามกำหนดประโยชน์ของความซึมเศร้าที่มีค่าสูงกว่าความเสียหายของมัน แต่ว่า สมมติฐานเหล่านี้ไม่ใช่ว่าต้องเข้ากันได้ และอาจจะอธิบายลักษณะ เหตุ และอาการของโรคซึมเศร้าต่าง ๆ กัน[11]

สมมติฐานความเจ็บปวดทางใจ (Psychic pain hypothesis) แก้

เหตุผลหนึ่งที่เชื่อว่าความซึมเศร้าเป็นโรคก็คือว่า มันเป็นเหตุของความเจ็บปวดและความเครียดทางใจอย่างยิ่ง แต่ความเจ็บปวดทางกายก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ถึงกระนั้น มันก็ยังมีหน้าที่ทางวิวัฒนาการคือบอกสิ่งมีชีวิตว่า มันกำลังได้รับความเสียหาย เพื่อจูงใจให้ออกจากสถานการณ์นั้น และเรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อความเสียหายในอนาคต

ตามสมมติฐานความเจ็บปวดทางใจ อารมณ์ซึมเศร้าคล้ายกับความเจ็บปวดทางกาย คือ มันบอกผู้ที่มีว่า สถานการณ์ปัจจุบันเช่นการเสียเพื่อน เป็นภัยต่อความเหมาะสมทางชีวภาพ ซึ่งจะจูงใจผู้ที่มีให้หยุดกิจกรรมที่นำมาสู่สถานการณ์เช่นนี้ และถ้าเป็นไปได้ ให้เรียนรู้หลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นเดียวกันในอนาคต

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้มักจะเพ่งความสนใจไปที่อารมณ์หดหู่/ซึมเศร้า และพิจารณาโรคซึมเศร้าว่าเป็นส่วนสุดของอารมณ์ที่ทำหน้าที่ผิดปกติ และไม่ใช่เป็นลักษณะพิเศษที่ต่างหากจากอารมณ์ซึมเศร้า เพราะว่า นอกจากภาวะสิ้นยินดี ความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้อื่นรวมทั้งการเคลื่อนไหวช้า การรับประทานและการนอนผิดปกติ การสูญอารมณ์ทางเพศ ล้วนแต่เป็นลักษณะการตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกายด้วย ในคนซึมเศร้า เขตสมองที่มีบทบาทรับรู้ความเจ็บปวดทางกาย เช่น anterior cingulate cortex และ prefrontal cortex ข้างซ้าย จะทำงานมากขึ้น ซึ่งทำให้สมองสามารถแสดงความคิดแบบลบที่เป็นนามธรรม เสมือนกับตัวก่อความเครียดทางกายต่อส่วนอื่น ๆ ของสมอง[12][13][14][15][16][17][18][19][20][21]

แบบจำลองหยุดพฤติกรรม (Behavioral shutdown model) แก้

แบบจำลองหยุดพฤติกรรม (Behavioral shutdown model) อ้างว่า ถ้าสิ่งมีชีวิตเผชิญหน้ากับความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารางวัลที่ได้จากกิจกรรมนั้น ๆ กลยุทธ์ทางวิวัฒนาการที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการถอนตัวออกจากสถานการณ์นั้น ๆ แบบจำลองนี้เสนอว่าความเจ็บปวดทางใจ โดยเหมือนกับความเจ็บปวดทางกาย ทำหน้าที่ให้มีการปรับตัวที่มีประโยชน์ อารมณ์ไม่ดีต่าง ๆ รวมทั้ง ความผิดหวัง ความเศร้า ความโศก ความกลัว ความวิตกกังวล ความโกรธ และความรู้สึกผิดอธิบายว่าเป็น "กลยุทธ์ทางวิวัฒนาการที่ช่วยให้ระบุและหลีกเลี่ยงปัญหาเฉพาะอย่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องทางสังคม" ความซึมเศร้ามีลักษณะสัมพันธ์กับภาวะสิ้นยินดีและการไม่มีแรง และผู้ที่มีจะเลี่ยงทำอะไรเสี่ยง และมองอะไรในเชิงลบในแง่ร้ายมากกว่า เพราะว่าต้องป้องกันความเสียหายเพิ่มขึ้น แม้ว่าแบบจำลองนี้จะมองความซึมเศร้าว่าเป็นปฏิกิริยาแบบปรับตัว แต่ไม่ได้แสดงว่า เป็นประโยชน์ในสังคมทุกวันนี้ และแสดงว่า วิธีการรักษาความซึมเศร้าแก้อาการแทนเหตุ และจำเป็นต้องแก้ปัญหาสังคมที่เป็นเหตุ[22]

ปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์กับแบบจำลองนี้ก็คือ ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ (learned helplessness) ในสัตว์ทดลอง การมีประสบการณ์สูญการควบคุมหรือพยากรณ์เหตุการณ์ได้ มีผลเป็นสภาวะที่คล้ายกับโรคซึมเศร้าในมนุษย์ ซึ่งก็คือ ถ้าตัวก่อความเครียดที่ควบคุมไม่ได้และหยุดไม่ได้ เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลาเพียงพอ หนูทดลองจะมีลักษณะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ ซึ่งแชร์ลักษณะทางพฤติกรรมและทางจิตกับความซึมเศร้าในมนุษย์ สัตว์ทดลองจะไม่พยายามรับมือกับปัญหา แม้ว่าจะย้ายให้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไร้ตัวก่อความเครียด และถ้าจะพยายามนาน ๆ ครั้งเพื่อรับมือปัญหาที่สำเร็จผลในสถานการณ์ใหม่ ตัวขัดขวางทางความรู้คิดที่คงยืนโดยระยะยาวจะป้องกันไม่ให้เห็นการกระทำนั้นว่ามีประโยชน์ และกลยุทธ์การรับมือเช่นนั้นก็จะไม่ทำนาน จากมุมมองทางวิวัฒนาการ ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ช่วยเก็บแรงไว้ ซึ่งช่วยเมื่อมนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่นความเจ็บป่วย หรือฤดูแล้ง แต่ว่า สำหรับมนุษย์ปัจจุบันที่ความซึมเศร้าปรากฏเหมือนความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้แบบเรียนรู้ ก็จะปรากฏเป็นการเสียแรงจูงใจและการบิดเบือนด้านชีวิตที่ควบคุมไม่ได้ด้านหนึ่งให้กลายเป็นตัวแทนของชีวิตทุกด้าน เป็นเรื่องเหตุที่มีจริง ๆ กับผลทางใจที่ไม่สมเหตุผล[23]

สมมติฐานการครุ่นคิดเพื่อวิเคราะห์ (Analytical rumination hypothesis) แก้

สมมติฐานนี้เสนอว่า ความซึมเศร้าเป็นการปรับตัวที่ให้ตั้งความใส่ใจสนใจต่อปัญหาที่ซับซ้อนเพื่อจะวิเคราะห์และแก้ไข[24]

วิธีหนึ่งที่ความซึมเศร้าเพิ่มความสนใจในปัญหา ก็คือก่อความครุ่นคิด ความซึมเศร้าทำให้เกิดการทำงานใน ventrolateral prefrontal cortex (PFC ส่วนล่างด้านข้าง) ฝั่งซ้าย ซึ่งเพิ่มการควบคุมการใส่ใจ และรักษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในความจำใช้งาน (working memory) และดังนั้น คนซึมเศร้าจึงครุ่นคิดพิจารณาถึงเหตุผลของปัญหาปัจจุบัน ความรู้สึกผิดหรือเสียดายที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้าก็ทำให้พิจารณาและวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีตเพื่อกำหนดว่าทำไมจึงเกิดขึ้น และทำอย่างไรจึงจะป้องกันได้[24] แต่ว่า การครุ่นคิดเพิ่มโอกาสให้เกิดความซึมเศร้า[25]

อีกวิธีหนึ่งที่ความซึมเศร้าเพิ่มสมรรถภาพในการสนใจต่อปัญหาก็คือลดตัวกวนสมาธิ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะสิ้นยินดีที่บ่อยครั้งสัมพันธ์กับความซึมเศร้า ลดความต้องการที่จะร่วมกิจกรรมที่ให้รางวัลในระยะสั้น และช่วยให้ตั้งความสนใจที่เป้าหมายระยะยาว นอกจากนั้นแล้ว ความเปลี่ยนแปลงทางจิต-การเคลื่อนไหวอื่น ๆ เช่น การชอบอยู่คนเดียว การลดความอยากอาหาร และการนอนไม่หลับ ก็ช่วยลดตัวกวนสมาธิด้วย ยกตัวอย่างเช่น การนอนไม่หลับช่วยให้คิดวิเคราะห์ปัญหา โดยไม่ให้การนอนขัดจังหวะกระบวนการเช่นนั้น เช่นเดียวกัน การชอบอยู่คนเดียว การไม่ทำอะไร ๆ และการไม่อยากอาหารล้วนแต่กำจัดตัวกวนสมาธิ เช่น ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การต้องหาทางไปที่ต่าง ๆ[24] และการพูดจา ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวขัดจังหวะสิ่งต้องพิจารณา[26]

เป็นการปรับตัวที่ควบคุมไม่ดี แก้

ความซึมเศร้า โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่เป็นการปรับตัวที่ดี แม้ว่าสมรรถภาพในการรู้สึกเจ็บหรือประสบกับความซึมเศร้า จริง ๆ เป็นกลไกป้องกันตัวที่เป็นการปรับตัว[27] เพราะว่าเมื่อ "จุดชนวนง่ายเกินไป รุนแรงไป หรือคงยืนอยู่นาน" ก็จะกลายเป็น "สิ่งที่ควบคุมได้ไม่ดี"[27] ในกรณีเช่นนี้ แม้กลไกป้องกันตัวก็สามารถกลายเป็นโรคได้ เช่น "ความเจ็บปวดที่ยาวนานและการเสียน้ำ จากอาการท้องร่วง" ความซึมเศร้า ซึ่งอาจจะเป็นกลไกป้องกันตัวคล้าย ๆ กัน อาจกลายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ไม่ดีเช่นกัน[28]

ดังนั้น โดยไม่เหมือนกับทฤษฎีทางวิวัฒนาการอื่น ๆ ทฤษฎีนี้มองความซึมเศร้าว่าเป็นการปรับตัวสุดขั้วแบบผิดพลาด เป็นอะไรที่มีประโยชน์ถ้ามีน้อยกว่า โดยเฉพาะก็คือ ทฤษฎีหนึ่งพุ่งความสนใจไปที่ลักษณะบุคลิกภาพ neuroticism (ความไม่เสถียรทางอารมณ์) คือ ระดับ neuroticism ที่ต่ำอาจเพิ่มความเหมาะสมของบุคคลในกระบวนการต่าง ๆ แต่ที่มากเกินไปอาจลดความเหมาะสม เช่น โรคซึมเศร้าที่ซ้ำ ๆ ดังนั้น กระบวนการวิวัฒนาการก็จะคัดเลือกปริมาณที่ดีที่สุด และคนโดยมากจะมี neuroticism ใกล้ ๆ ระดับนี้ แต่ว่า ความแตกต่างทางพันธุกรรมเกิดขึ้นใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา และดังนั้น บางคนก็จะมี neuroticism ในระดับสูงซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อความซึมเศร้า[11]

ทฤษฎีลำดับชั้นทางสังคม (Rank theory) แก้

ทฤษฎีลำดับชั้น (Rank theory) เป็นสมมติฐานว่า ถ้าบุคคลกำลังต่อสู้เพื่อลำดับฐานะในสังคมและกำลังแพ้อย่างชัดเจน ความซึมเศร้าจะทำให้บุคคลนั้นยอมจำนน แล้วยอมรับฐานะที่ด้อยกว่า การทำเช่นนี้ป้องกันไม่ให้บุคคลเสียหายอย่างไม่จำเป็น ในกรณีนี้ ความซึมเศร้าจะช่วยรักษาลำดับชั้นทางสังคม ทฤษฎีนี้เป็นกรณีพิเศษของทฤษฎีที่กว้าง ๆ กว่าที่สืบมาจากสมมติฐานความเจ็บปวดทางใจ (psychic pain hypothesis) ว่า ปฏิกิริยาทางการรู้คิดที่ก่อความซึมเศร้าในปัจจุบันมาจากกลไกที่ช่วยให้มนุษย์ประเมินว่าตนกำลังพยายามวิ่งหาเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะช่วยจูงใจให้เลิก[14][29]

สมมติฐานความเสี่ยงทางสังคม (Social risk hypothesis) แก้

สมมติฐานนี้คล้ายกับทฤษฎีลำดับชั้นทางสังคม แต่ให้ความสำคัญต่อการหลีกเลี่ยงการถูกกีดกันออกจากลุ่มสังคม แทนเรื่องการต่อสู้เพื่อสถานะทางสังคม ประโยชน์ทางความเหมาะสมในการสร้างความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือกันและกัน เป็นเรื่องที่ชัดเจนมานานแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยไพลสโตซีน การช่วยเหลือกันและกันเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อออกหาอาหารและได้การป้องกันจากสัตว์ล่าเหยื่อ[11]

ดังนั้น ความซึมเศร้าจึงมองว่า เป็นปฏิกิริยาปรับตัวที่เลี่ยงความเสี่ยงการถูกกีดกันจากสังคม ที่จะมีผลวิกฤติต่อความสำเร็จในการอยู่รอดและการสืบพันธุ์ของบรรพบุรุษมนุษย์ หลักฐานทางกลไกและทางปรากฏการณ์วิทยาของความซึมเศร้าแสดงว่า ภาวะซึมเศร้าจากอ่อนไปถึงกลาง (หรือว่า ภาวะ "บรรทัดฐาน") ช่วยรักษาความยอมรับทางสังคมผ่านลักษณะที่คาบกัน 3 อย่าง คือ

  1. ความไวทางการรู้คิดต่อความเสี่ยงและสถานการณ์ทางสังคม (เช่น สัจนิยมเหตุซึมเศร้า [depressive realism])
  2. การยับยั้งพฤติกรรมแข่งขันและมั่นใจที่อาจเสี่ยงเพิ่มความขัดแย้งหรือการถูกกีดกัน (ดังที่ชี้โดยอาการเช่น ความภูมิใจในตนต่ำ และการชอบอยู่คนเดียว)
  3. ผลเป็นพฤติกรรมที่ให้สัญญาณต่อบุคคลสำคัญอื่น ๆ เพื่อได้ความช่วยเหลือมากขึ้น (เช่น มีการร้องเรียกให้ช่วย)[11][30]

ตามมุมมองนี้ กรณีรุนแรงของโรคซึมเศร้าที่กำหนดโดยเกณฑ์วินิจฉัยทางคลินิก สะท้อนถึงกลไกที่เกิดการปรับตัวผิดหรือควบคุมได้ไม่ดี ซึ่งอาจจะมีเหตุโดยส่วนหนึ่งจากความไม่แน่นอนและการแข่งขันในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน

ทฤษฎีการส่งสัญญาณอย่างจริงใจ (Honest signaling theory) แก้

เหตุผลอีกอย่างที่ความซึมเศร้าเชื่อว่าเป็นโรคก็เพราะว่าอาการหลักบางอย่าง เช่น การสูญความสนใจในกิจกรรมทุกอย่าง มีราคาสูงมากสำหรับผู้ที่มี แต่นักชีววิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอว่า การส่งสัญญาณที่มีราคาสูงสามารถส่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เมื่อมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ในเหตุการณ์ไม่ดีแบบรุนแรงในชีวิตดังเช่นที่เกี่ยวข้องกับความซึมเศร้า (เช่น ความตาย การหย่าร้าง) สัญญาณเรื่องความจำเป็น/ความต้องการที่มีราคาน้อย เช่นการร้องไห้ อาจไม่ได้รับความเชื่อถือถ้าคนอื่น ๆ ในสังคมมีผลประโยชน์ที่ขัดกัน

อาการของโรคซึมเศร้า เช่น การสูญความสนใจในกิจกรรมทุกอย่างและความคิดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย เป็นสิ่งที่มีราคาสูง แต่เป็นดังที่ทฤษฎีการส่งสัญญาณราคาแพงกำหนด และราคาจะแตกต่างกันสำหรับบุคคลที่อยู่ในภาวะต่าง ๆ และสำหรับบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องได้การช่วยเหลือจริง ๆ ราคาทางความเหมาะสมของโรคซึมเศร้าสูงมากเพราะว่าเป็นภัยต่อประโยชน์ที่กำลังได้อยู่แล้ว แต่สำหรับบุคคลที่จำเป็นจริง ๆ ราคาทางความเหมาะสมของโรคจัดว่าต่ำ เพราะว่าบุคคลไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมายอยู่แล้ว ดังนั้น บุคคลที่จำเป็นอย่างแท้จริงเท่านั้นที่จะสามารถสู้ราคาของโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้น โรคซึมเศร้าจึงทำหน้าที่ส่งสัญญาณเกี่ยวกับความจำเป็นที่จริงใจและเชื่อถือได้

ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่กำลังทุกข์เพราะการสูญเสียอย่างรุนแรง เช่น การเสียชีวิตของคู่สมรส บ่อยครั้งจำเป็นต้องได้ความช่วยเหลือจากคนอื่น ทฤษฎีพยากรณ์ว่า บุคคลดังกล่าวที่มีความขัดแย้งไม่มากกับบุคคลอื่นในสังคมจะประสบเพียงแค่ความเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวิธีส่งสัญญาณต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น เทียบกับการพยากรณ์ว่า บุคคลที่ขัดแย้งกับบุคคลอื่น ๆ มากในสังคม จะประสบถึงโรคซึมเศร้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวิธีส่งสัญญาณ "อย่างเชื่อถือได้" ถึงความจำเป็นจะได้ความช่วยเหลือจากคนอื่นผู้อาจตั้งข้อสงสัย[31][32]

ทฤษฎีการต่อรอง (Bargaining theory) แก้

ความซึมเศร้าไม่ใช่มีราคาสูงต่อผู้มีเท่านั้น แต่เป็นภาระสำคัญต่อครอบครัว เพื่อน และสังคมทั่วไป ซึ่งเป็นเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่มองภาวะว่าเป็นโรค และถ้าผู้ซึมเศร้ามีความจำเป็น/ความต้องการที่ยังไม่ได้รับ ก็อาจจะต้องให้แรงจูงใจกับบุคคลอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ทฤษฎีการต่อรอง (Bargaining theory) เรื่องความซึมเศร้าคล้ายกับทฤษฎีการส่งสัญญาณอย่างจริงใจ และทฤษฎีการเปลี่ยนสถานะ (niche change) หรือการหาหนทางทางสังคม (social navigation) ซึ่งจะเป็นทฤษฎีที่กล่าวต่อไป เป็นทฤษฎีที่สืบมาจากทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการนัดหยุดงาน โดยเพิ่มองค์อีกอย่างหนึ่งต่อทฤษฎีการส่งสัญญาณอย่างจริงใจ คือความเหมาะสมของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนทางสังคมโดยทั่วไปจะสัมพันธ์กัน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อภรรยาเกิดความซึมเศร้าและให้ความสนใจต่อลูกน้อยลง ความเหมาะสมของสามีก็จะเกิดความเสี่ยงด้วย ดังนั้น อาการโรคซึมเศร้าไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณต้องการความช่วยเหลือที่มีราคาสูงที่แสดงถึงความจริงใจ แต่ยังเป็นแรงกดดันหุ้นส่วนทางสังคมให้ตอบสนองต่อความจำเป็นเพื่อป้องกันความเหมาะสมของตนเองไม่ให้ลดลง[19][31][33]

ทฤษฎีการเปลี่ยนวิถีชีวิตเฉพาะ หรือการหาทางทางสังคม แก้

สมมติฐานการเปลี่ยนวิถีชีวิตเฉพาะ (niche change hypothesis) และการหาทางทางสังคม (social navigation hypothesis)[32][34] รวมสมมติฐานการครุ่นคิดเพื่อวิเคราะห์และสมมติฐานการต่อรองโดยเสนอว่า ความซึมเศร้า ที่กำหนดทางปฏิบัติการว่าเป็นอาการผสมของภาวะสิ้นยินดี และการเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าหรือความไม่สงบทางกายใจ เป็นระยะเวลานาน ช่วยให้เห็นข้อบังคับทางสังคมที่ขัดขวางโปรเจ็กต์เพิ่มความเหมาะสมที่สำคัญของตนอย่างชัดเจน

ในขณะเดียวกัน การแสดงอาการโรคให้เห็น ซึ่งลดสมรรถภาพของคนซึมเศร้าในการทำกิจพื้นฐานของชีวิตประจำวัน ก็เป็นตัวส่งสัญญาณทางสังคมเกี่ยวกับความจำเป็นหรือความต้องการ โดยมีราคาสูงซึ่งเป็นตัวบ่งความจริงใจ และท้ายสุด สำหรับหุ้นส่วนทางสังคม (เช่นสามีภรรยา) ที่คิดว่า ไม่คุ้มที่จะตอบสนองต่อความต้องการ อาการซึมเศร้ายังมีศักยภาพช่วยเคี่ยวเข็ญเอาสิ่งที่ต้องยอมให้หรือประนีประนอมให้ อำนาจอันยิ่งใหญ่ของความซึมเศร้าอยู่ที่มันช่วยลดสิ่งของและบริการที่ผู้ซึมเศร้าต้องให้กับหุ้นส่วนเนื่องจากข้อตกลงทางสังคม-เศรษฐกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้น ความซึมเศร้าอาจจะเป็นการปรับตัวทางสังคมที่มีประโยชน์โดยเฉพาะในการจูงใจหุ้นส่วนทางสังคมต่าง ๆ พร้อม ๆ กันเพื่อช่วยผู้ซึมเศร้าให้เริ่มความเปลี่ยนแปลงเพิ่มความเหมาะสมที่สำคัญในชีวิตด้านสังคม-เศรษฐกิจ มีสถานการณ์มากมายที่นี่อาจจะจำเป็นในชีวิตสังคมมนุษย์ เริ่มตั้งแต่การสูญเสียสถานะหรือพันธมิตรคนสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตแบบเฉพาะ (niche) ในปัจจุบันให้ผลตอบแทนน้อยเกินไป จนกระทั่งถึงการมีไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเลี้ยงชีพ ที่จำเป็นต้องมีวิถีชีวิตเฉพาะแบบใหม่

ส่วนสมมติฐานการหาทางทางสังคมเน้นว่า มนุษย์สามารถติดกับอยู่ในเครือข่ายสัญญาการให้และการรับที่จำกัดเกินไป และบางครั้ง นี้จำเป็นต้องเปลี่ยนโดยพื้นฐานมากเกินไปที่จะคุยกันตามธรรมดาได้ และในการรักษาความซึมเศร้า สมมติฐานนี้ตั้งความสงสัยในข้อสมมุติของผู้รักษาว่า เหตุปกติของความซึมเศร้าสัมพันธ์กับกระบวนการความคิดที่บิดเบือนความจริงโดยเป็นการปรับตัวผิด หรือมาจากเรื่องภายในล้วน ๆ อื่น สมมติฐานจึงเรียกร้องให้วิเคราะห์พรสวรรค์และความฝันของผู้ซึมเศร้าแทน และให้กำหนดข้อจำกัดทางสังคมที่เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะในมุมมองกว้าง ๆ ไม่ใช่เป็นประเด็นเดี่ยว ๆ) แล้วจึงบำบัดโดยให้ฝึกแก้ปัญหาทางสังคมที่ทำได้จริง ๆ เป็นการบำบัดที่ออกแบบเพื่อคลายข้อจำกัดเหล่านั้นพอที่จะให้ผู้ซึมเศร้าก้าวต่อไปในชีวิตภายใต้สัญญาทางสังคมที่ดีกว่าเดิมได้[32][34] แต่ว่าทฤษฎีนี้สร้างข้อขัดแย้งมาก[20]

การป้องกันการติดเชื้อ แก้

มีสมมติฐานว่า ความซึมเศร้าเป็นการปรับตัวทางวิวัฒนาการเพราะว่ามันช่วยป้องกันการติดเชื้อสำหรับทั้งผู้ซึมเศร้าและญาติ[35][36]

เบื้องต้นก็คือ อาการของความซึมเศร้า เช่น การไม่ทำอะไรและความเฉื่อยชา สนับสนุนผู้มีให้พักผ่อน แรงที่เก็บโดยวิธีเช่นนี้สำคัญมาก เพราะว่าการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อมีราคาค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น จะต้องมีเมแทบอลิซึมที่เพิ่มขึ้นถึง 10% แค่จะเปลี่ยนอุณหภูมิร่างกายเพียง 1℃ (ที่เป็นการตอบสนองต่อการติดเชื้อ)[37] ดังนั้น ความซึมเศร้าจึงช่วยให้รักษาและให้พลังงานแก่ระบบภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นแล้ว ความซึมเศร้ายังป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยไม่สนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือกิจกรรมที่อาจมีผลเป็นการแลกเปลี่ยนการติดเชื้อ ยกตัวอย่างเช่น การสูญความสนใจในกิจกรรมทางเพศจะป้องกันไม่ให้แลกเปลี่ยนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และคล้ายคลึงกัน มารดาที่ซึมเศร้าอาจจะปฏิสัมพันธ์กับลูก ๆ ของตนน้อยกว่า และลดโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อจากมารดา[35] และอย่างสุดท้ายก็คือ การไร้ความอยากอาหารที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้าอาจลดการได้ปรสิตจากอาหาร[35]

แต่ว่า ควรจะสังเกตว่า ความเจ็บป่วยแบบเรื้อรังอาจจะมีส่วนเป็นเหตุของความซึมเศร้า ในสัตว์ทดลอง ปฏิกิริยารุนแรงเกินไปของระบบภูมิคุ้มกันเป็นระยะเวลายาวต่อโรคเรื้อรัง มีผลเป็นการผลิตโปรตีน cytokines ระดับสูงขึ้น ซึ่งเป็นตัวควบคุมฮอร์โมนและเป็นโมเลกุลส่งสัญญาณในเซลล์ และปฏิสัมพันธ์กับระบบประสาทที่ใช้สารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน โดพามีน และเซโรโทนิน โดยปรากฏเป็นอาการซึมเศร้า การเริ่มต้นของโรคอาจช่วยให้บุคคลฟื้นสภาพจากความเจ็บป่วยโดยทำให้มีวิถีชีวิตที่สงวนตัว ปลอดภัย และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การผลิต cytokines มากเกินระดับที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองโรคเรื้อรังที่เกิดซ้ำ ๆ อาจมีผลเป็นโรคซึมเศร้าและอาการปรากฏทางพฤติกรรมที่โปรโหมตการเก็บรักษาแรง/พลังงานแบบสุด ๆ[38]

สมมติฐานโพรงสมองที่สาม แก้

 
โพรงสมองที่สาม

สมมติฐานโพรงสมองที่สาม (third ventricle hypothesis) เกี่ยวกับความซึมเศร้าเสนอว่า ชุดพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับความซึมเศร้า (ยืนนั่งอย่างค่อม ๆ การหลีกเลี่ยงการมองตา ความอยากอาหารและเพศสัมพันธ์ที่น้อยลง บวกกับการแยกตัวจากสังคมและการนอนไม่หลับ) ลดสิ่งเร้าที่ชวนให้โจมตีบุคคลซึมเศร้า ในสถานการณ์ทางสังคมที่ไม่เป็นมิตรอย่างเรื้อรัง[39][40][41] และเสนอต่อไปว่า ปฏิกิริยานี้อำนวยโดยการปล่อยสารก่อความอักเสบที่ยังไม่รู้ (น่าจะเป็น cytokine) เข้าไปในโพรงสมองที่สาม หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดเป็นงานศึกษาโดยสร้างภาพในสมอง ที่แสดงโพรงสมองที่สามที่ขยายใหญ่ขึ้นในคนซึมเศร้า[42][43] ซึ่งเป็นตัวชี้ความเสียหายของโครงสร้างประสาทที่อยู่รอบ ๆ โพรงสมอง[44]

การตอบรับแนวคิด แก้

จิตวิทยาและจิตเวชคลินิกโดยประวัติแล้วไม่ยอมรับจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการ[45] จิตแพทย์บางท่านเป็นห่วงว่า นักจิตวิทยาเชิงวิวัฒนาการพยายามอธิบายความได้เปรียบในการปรับตัวที่ซ่อนเร้น โดยไม่พยายามทำการทดลองเพื่อแสดงหลักฐานอย่างจริงจังในการสนับสนุนข้ออ้างต่าง ๆ[45][46]

แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมและโรคอารมณ์สองขั้วและโรคจิตเภท แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงอย่างยังไม่ยุติภายในวงการจิตวิทยาคลินิกถึงอิทธิพลและบทบาทอำนวยของปัจจัยทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม[47] ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางวิทยาการระบาดแสดงว่า กลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ อาจมีอัตราวินิจฉัยโรค อาการ และการแสดงออกของความเจ็บป่วยทางจิตใจที่แตกต่างกัน[48] และก็ยังมีการยอมรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความผิดปกติที่จำกัดเฉพาะต่อวัฒนธรรม[48][49] ซึ่งสามารถมองได้ว่า เป็นความขัดแย้งกันระหว่างแนวคิดเรื่องการปรับตัวทางสิ่งแวดล้อมกับการปรับตัวทางจิตพันธุกรรม[50]

แม้ว่าความผิดปกติทางจิตจะมีลักษณะที่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการปรับตัวในกระบวนการวิวัฒนาการ แต่โรคเหล่านี้ก็ยังเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทางใจอย่างสำคัญต่อบุคคล และมีผลลบต่อเสถียรภาพของความสัมพันธ์ทางสังคม และการทำกิจในชีวิตประจำวันที่เป็นการปรับตัวที่ดี[51]

วิดีโอ แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. "The World Health Report 2001". Health Systems: Improving Performance. Geneva: World Health Organization. 2001.
  2. "Prevalence of Heart Disease --- United States, 2005". สืบค้นเมื่อ 2008-03-22."Prevalence of Chronic Kidney Disease and Associated Risk Factors --- United States, 1999--2004". สืบค้นเมื่อ 2008-03-22.
  3. Kessler RC, McGonagle KA, Swartz M, Blazer DG, Nelson CB (1993). "Sex and depression in the National Comorbidity Survey. I: Lifetime prevalence, chronicity and recurrence" (PDF). J Affect Disord. 29 (2–3): 85–96. doi:10.1016/0165-0327(93)90026-G. hdl:2027.42/30529. PMID 8300981.
  4. Epidemiologic Catchment Area, National Comorbidity Study
  5. Neese, Randolph M. (October 2005). The American Psychiatric Publishing Textbook of Mood Disorders - Chapter 10: Evolutionary Explanations for Mood and Mood Disorders. Washington, DC: American Psychiatric Publishing. pp. 159–175. ISBN 978-1-58562-151-4. สืบค้นเมื่อ 2007-10-23.
  6. Erica Goode (February 1, 2000). "Viewing Depression As Tool for Survival". New York Times.
  7. Natasha Mitchell (3 April 2004). "The Evolution of Depression – Does it Have a Role?". Australian Broadcasting Corporation. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  8. Julia M. Klein (12 February 2007). "Depression as a survival tool? Some new treatments assume so". LA Times.
  9. Joshua Wolf Shenk (2005). Lincoln's Melancholy: How Depression Challenged a President and Fueled His Greatness. Houghton Mifflin. ISBN 9780618551163.
  10. John Naish (January 19, 2008). "Why the happiness industry can only lead to misery". The Times. London.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 Allen, N.B.; Badcock, P.B. (2006). "Darwinian models of depression: a review of evolutionary accounts of mood and mood disorders". Progress in neuro-psychopharmacology & biological psychology. 30 (5): 815–826. doi:10.1016/j.pnpbp.2006.01.007. PMID 16647176.
  12. Thornhill NW, Thornhill R (1991). "An evolutionary analysis of psychological pain following human (Homo sapiens) rape: IV. The effect of the nature of the sexual assault". J Comp Psychol. 105 (3): 243–52. doi:10.1037/0735-7036.105.3.243. PMID 1935004.
  13. Thornhill, R.; Thornhill, N.W. (1989). "The evolution of psychological pain". Sociobiology and the Social Sciences: 73–103.
  14. 14.0 14.1 Neese, Randolph M. (January 2005). "Is Depression an Adaptation?" (PDF). Archives of General Psychiatry. 57 (1): 14–20. CiteSeerX 10.1.1.318.2659. doi:10.1001/archpsyc.57.1.14. PMID 10632228. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-11-09. สืบค้นเมื่อ 2007-10-23.
  15. Suarez, S.D.; Gallup Jr, G.G. (1991). "Depression as a response to reproductive failure". Journal of Social and Biological Structures. 8 (3): 279–287. doi:10.1016/0140-1750(85)90071-5.
  16. Hagen, Edward H.; Barrett, Clark (2007). "Perinatal Sadness among Shuar Women: Support for an Evolutionary Theory of Psychic Pain" (PDF). Medical Anthropology Quarterly. 21 (1): 22–40. doi:10.1525/maq.2007.21.1.22. ISSN 0745-5194. PMID 17405696. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-26. สืบค้นเมื่อ 2007-10-23.
  17. Keller, Matthew C.; Neese, Randolph M. (May 2005). "Is low mood an adaptation? Evidence for subtypes with symptoms that match precipitants" (PDF). Journal of Affective Disorders. 86 (1): 27–35. CiteSeerX 10.1.1.409.6927. doi:10.1016/j.jad.2004.12.005. PMID 15820268. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-08-10. สืบค้นเมื่อ 2007-10-23.
  18. Tooby, J.; Cosmides, L. (1990). "The past explains the present: Emotional adaptations and the structure of ancestral environments". Ethology and Sociobiology. 11 (4–5): 375–424. doi:10.1016/0162-3095(90)90017-Z.
  19. 19.0 19.1 Hagen, E.H. (1999). "The Functions of Postpartum Depression". Evolution and Human Behavior. 20 (5): 325–359. CiteSeerX 10.1.1.335.7173. doi:10.1016/S1090-5138(99)00016-1.
  20. 20.0 20.1 Nettle, D. (2004). "Evolutionary origins of depression: a review and reformulation". Journal of Affective Disorders. 81 (2): 91–102. doi:10.1016/j.jad.2003.08.009. PMID 15306134.
  21. Sachar, E (1975). "Neuroendocrine abnormalities in depressive illness". Topics of Psychoendocrinology: 135.
  22. Henriques, Gregg. "Depression: disease or behavioral shutdown mechanism" (PDF). Journal of Science and Health Policy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-09-01.
  23. Seligman, Martin (1975). Helplessness: On Depression, Development and Death. San Francisco: W.H. Freeman.
  24. 24.0 24.1 24.2 Andrews, P.W.; Thompson, J.A. (2009). "The bright side of being blue: depression as an adaptation for analyzing complex problems". Psychological Review. 116 (3): 620–654. doi:10.1037/a0016242. PMC 2734449. PMID 19618990.
  25. Nolen-Hoeksma, S (1987). "Sex differences in depression: theory and evidence". Psychological Bulletin. 101 (2): 257. doi:10.1037/0033-2909.101.2.259. PMID 3562707.
  26. Jacobs, B.L.; Fornal, C.A. (1999). "Activity of serotonergic neurons in behaving animals". Neuropsychopharmacology. 21: S9-S15. doi:10.1038/sj.npp.1395336.
  27. 27.0 27.1 Gilbert, P. (2006). "Evolution and depression: issues and implications". Psychological Medicine. 36 (3): 287–297. doi:10.1017/S0033291705006112. PMID 16236231.
  28. Nesse, R.M. (2000). "Is Depression an Adaptation?". Archives of General Psychiatry. 57 (1): 14–20. doi:10.1001/archpsyc.57.1.14. PMID 10632228.
  29. Gilbert, Paul (1992). Depression: The Evolution of Powerlessness. Psychology Press. ISBN 0-86377-221-8.
  30. Averill, J.R. (1968). "Grief: its nature and significance". Psychological Bulletin. 70 (6): 721–748. doi:10.1037/h0026824. PMID 4889573.
  31. 31.0 31.1 Hagen, E.H. (2003). "The Bargaining Model of Depression". Genetic and Cultural Evolution of Cooperation. MIT Press. ISBN 978-0-262-08326-3. สืบค้นเมื่อ 2008-02-28.
  32. 32.0 32.1 32.2 Watson, P.J.; Andrews, P.W. (2002). "Toward a revised evolutionary adaptationist analysis of depression: the social navigation hypothesis". Journal of Affective Disorders. 72 (1): 1–14. doi:10.1016/S0165-0327(01)00459-1. PMID 12204312. สืบค้นเมื่อ 2008-02-28.
  33. Hagen, E.H. (2002). "Depression as bargaining The case postpartum". Evolution and Human Behavior. 23 (5): 323–336. doi:10.1016/S1090-5138(01)00102-7. สืบค้นเมื่อ 2008-02-28.
  34. 34.0 34.1 Watson, Paul J. "An Evolutionary Adaptationist Theory of Unipolar Depression: Depression as an adaptation for social navigation, especially for overcoming costly contractual constraints of the individual's social niche". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-11. สืบค้นเมื่อ 2016-09-01.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  35. 35.0 35.1 35.2 Kinney, D.K.; Tanaka, M. (2009). "An evolutionary hypothesis of depression and its symptoms, adaptive values, and risk factors". Journal of Nervous and Mental Disease. 197 (8): 561–567. doi:10.1097/NMD.0b013e3181b05fa8. PMID 19684491.
  36. Raison, CL; Miller, AN (2012). "The evolutionary significance of depression in Pathogen Host Defense (PATHOS-D)" (PDF). Molecular Psychiatry. pp. 1–23.{{cite web}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  37. Kluger, M.J. (1991). "Fever: Role of pyrogens and cryogens". Physiological Review. 71: 93–127.
  38. Dantzer, E (2002). "Cytokines and depression: an update". Brain Behavior and Immunity. 16: 501–502. doi:10.1016/s0889-1591(02)00002-8.
  39. Hendrie CA, Pickles AR (2010). "Depression as an evolutionary adaptation: Implications for the development of new drug treatments". European Psychiatric Review. 3: 46.
  40. Hendrie, CA; Pickles, AR (2011). Brinkworth, M; Weinert, F (บ.ก.). Depression: An evolutionary adaptation organised around the third ventricle. Darwinian Repercussions Darwinism in anInterdisciplinary Context. Heidelberg, New York, London: Springer.
  41. Hendrie CA, Pickles AR (2012). "The failure of the antidepressant drug discovery process is systemic". J Psychopharm. 27 (5): 407–13, discussion 413-6. doi:10.1177/0269881112466185. PMID 23222042. S2CID 24171469.
  42. Baumann B, Bornschlegl C, Krell D, Bogerts B (1997). "Changes in CSF spaces differ in endogenous and neurotic depression A planimetric CT scan study". J Affect Disord. 45 (3): 179–88. doi:10.1016/S0165-0327(97)00073-6. PMID 9298431.
  43. Cousins D. A.; Brian Moore P.; Watson S.; Harrison L.; Nicol Ferrier I.; Young A. H.; Lloyd A. J. (2010). "Pituitary volume and third ventricle width in euthymic patients with bipolar disorder". Psychoneuroendocrinology. 35 (7): 1074–1081. doi:10.1016/j.psyneuen.2010.01.008. PMID 20171783. S2CID 24962012.
  44. Hendrie , Pickles (2010). "Depression: An Evolutionary Adaptation Organised Around the Third Ventricle". Medical Hypotheses. 74: 735–740. doi:10.1016/j.mehy.2009.10.026. PMID 19931308.
  45. 45.0 45.1 Brüne, Martin (2006). "Evolutionary psychiatry is dead - Long liveth evolutionary psychopathology". Behavioral and Brain Sciences. 29 (4). doi:10.1017/S0140525X06259090.
  46. Douzenis, A; Seretis, D; Rizos, E; Michopoulos, I; Christodoulou, C; Lykouras, L (2010). "Evolution and Psychiatry". British Journal of Psychiatry. 196 (3): 246–47. doi:10.1192/bjp.196.3.246a. PMID 20194552.
  47. Adams, H; Sutker, P (2001). "3". Comprehensive Handbook of Psychopathology (3rd ed.). Springer. pp. 53–84.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  48. 48.0 48.1 Adams, H; Sutker, P (2001). "5". Comprehensive Handbook of Psychopathology (3rd ed.). Springer. pp. 105–27.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  49. Diagnostic and statistical manual of mental disorders (4th (text) ed.). American Psychiatric Association. 2000. Culture Bound Syndromes, pp 897-903.
  50. Schumaker, J (2001). "3". The Age of Insanity: Modernity and Mental Health. Praeger. pp. 29–49.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  51. Adams, H; Sutker, P (2001). Comprehensive Handbook of Psychopathology (3rd ed.). Springer.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)