เดอะ ทิน เรด ไลน์ ฝ่านรกยึดเส้นตาย

เดอะ ทิน เรด ไลน์ ฝ่านรกยึดเส้นตาย (อังกฤษ: The Thin Red Line) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวมหากาพย์สงคราม ฉายเมื่อปี ค.ศ. 1998 เขียนบทและกำกับโดย เทอร์เรนซ์ มาลิก เป็นการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งที่สองของนวนิยายชื่อเดียวกันในปี ค.ศ. 1962 โดย เจมส์ โจนส์ โดยดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1964 อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นการสร้างใหม่ ภาพยนตร์เล่าเรื่องสมมติของยุทธการที่ภูเขาออสเตน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทัพกัวดัลคะแนลในสงครามแปซิฟิกของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยแสดงทหารจากกองร้อยซี, กองพันที่ 1, กรมทหารราบที่ 27, กองทหารราบที่ 25 แสดงโดย ฌอน เพนน์, จิม คาวีเซล, นิก โนลต์, อีไลอัส โคเทียสและเบน แชปลิน ชื่อของนวนิยายมาจากบทกลอน "ทอมมี" ของ รัดยาร์ด คิปลิง จาก แบร์แรก-รูมบัลลาดส์ ซึ่งเขาเรียกทหารราบอังกฤษว่า "เดอะทินเรดไลน์ออฟฮีโรส์"[3] อ้างอิงถึงการยืนของกองร้อยที่ 93 ในยุทธการที่บาลาคลาวาของสงครามไครเมีย

เดอะ ทิน เรด ไลน์ ฝ่านรกยึดเส้นตาย
กำกับเทอร์เรนซ์ มาลิก
บทภาพยนตร์เทอร์เรนซ์ มาลิก
สร้างจากเดอะทินเรดไลน์
โดย เจมส์ โจนส์
อำนวยการสร้าง
นักแสดงนำ
กำกับภาพจอห์น โทลล์
ตัดต่อ
ดนตรีประกอบฮันส์ ซิมเมอร์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์
วันฉาย
  • 25 ธันวาคม ค.ศ. 1998 (1998-12-25) (ฉายในวงจำกัด)

  • 15 มกราคม ค.ศ. 1999 (1999-01-15) (ฉายในวงกว้าง)

  • 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 (1999-02-19) (ไทย)
ความยาว170 นาที[1]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน98.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]

เนื้อเรื่องย่อ

แก้

กองร้อยชาร์ลี ถูกส่งไปยังเกาะกัวดาคาแนล ในหมู่เกาะโซโลมอน กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อทำการยึดและทำลายฐานทัพญี่ปุ่นเพื่อป้องกันมิให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลไปไหนได้

วิทท์ (จิม คาวีเซล) พลทหารประจำกองร้อยมักหนีทหารไปอยู่กับชาวพื้นเมือง แต่ได้จ่าเวลช์ (ณอน เพนน์) คอยช่วยเหลือ แต่ทั้งคู่มักจะเห็นไม่ตรงกันในเรื่องปรัชญาของการมีชีวิตและสงครามที่กำลังดำเนินอยู่นี้

ในขณะที่ผู้พันทอลล์ (นิล โนลเต้) ถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา (จอห์น ทราโวลต้า) ผู้พันทอลล์พยายามสั่งให้ทหารทุกนายรุกอย่างเต็มที่เพื่อยึดพื้นที่เกาะให้ได้ โดยไม่สนว่าจะมีทหารตายไปกี่นาย แต่ผู้กองสตารอส (อีเลียส โคเทียส์) ผู้นำกองทหารไม่เห็นด้วยที่จะสั่งให้ลูกน้องไปตาย สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ผู้พันทอลล์ แต่ผู้กองกัฟฟ์ (จอห์น คูแช็ค) นายทหารคนสนิทคิดวิธีได้โดยไม่ต้องใช้กำลังมากมาย ในที่สุดเมื่อทำตามแผนของผู้กองกัฟฟ์ กองร้อยชาร์ลีก็สามารถจะยึดครองที่ตั้งของกองทัพญี่ปุ่นได้ แต่เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว ปรากฏว่าสิ่งที่ทหารทุกคนได้ไม่ใช่ความรื่นเริงดีใจแต่การเป็นทำลายจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ลงอย่างสิ้นเชิง

ตัวละคร

แก้
  • จิม คาวีเซล...พลทหาร โรเบิร์ต วิทท์ นายทหารประจำกองร้อย มักหนีจากการปฏิบัติหน้าที่ไปอยู่กับชาวพื้นเมืองบ่อย ๆ มักเห็นแย้งกับจ่าเวลช์เสมอ ๆ
  • ฌอน เพนน์...จ่าสิบเอก เอ็ดเวิร์ด เวลซ์ จ่าประจำกองร้อย เป็นผู้เฉยชากับชีวิตหรือความตาย เป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับปรัชญาชีวิตของวิทท์ แต่ก็เป็นคนที่ช่วยเหลือวิทท์เสมอ
  • เบน เชปลิน...พลทหาร จอห์น เบลล์ อดีตเคยเป็นทหารยศสูง แต่ทำผิดระเบียบจึงถูกปลดและส่งมาที่นี่ โดยต้องห่างไกลจากภรรยาที่รัก
  • นิค โนลเต้...พันโท กอร์ดอน ทอลล์ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองร้อยชาร์ลี เป็นนายทหารวัยกลางคนที่ไม่เติบโตในหน้าที่การงาน จึงหวังจะให้สงครามครั้งนี้เป็นตัวสร้างผลงานให้เข้าตาผู้บังคับบัญชาระดับสูงโดยไม่สนว่าจะมีใครตายไปกี่คน
  • อีเลียส โคเทียส์...ร้อยเอก เจมส์ "บัคเกอร์" สตารอส นายกองของกองร้อยชาร์ลี มีเชื้อสายกรีก เป็นผู้ห่วงใยผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคน ไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้พันทอลล์ จึงถูกปลดออกไปประจำการที่อื่น
  • จอห์น ซี. ไรลี่ย์...จ่า สตอร์ม จ่าประจำกองร้อย
  • แดนนี่ ไมฮ็อค...พลทหาร ดอน โดลล์ พลทหารประจำกองร้อย เป็นผู้สังหารทหารญี่ปุ่นได้ 2 ราย
  • จอห์น ซาเวจ...จ่า แม็คครอน จ่าประจำกองร้อย มีผู้ใต้บังคับบัญชา 10 คน ซึ่งเสียชีวิตทั้งหมด 10 คนในคราวเดียวกัน จึงเสียสติยืนตะโกนท้าทายข้าศึกอยู่คนเดียว
  • จอห์น คูแช็ค...ร้อยเอก เจมส์ กัฟฟ์ นายทหารผู้ติดตามผู้พันทอลล์ เป็นผู้นำและวางแผนพิชิตทหารญี่ปุ่นและยึดเนินเขาจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการให้บุกอย่างเดียวของผู้พันทอลล์
  • จอห์น ทราโวลต้า...พลจัตวา ควินตาร์ด ผู้บังคับบัญชาของผู้พันทอลล์ ปรากฏตัวในตอนต้นเรื่อง
  • จอร์จ คลูนีย์...ร้อยเอก ชาร์ลส์ บรอส เป็นผู้กองของกองร้อยคนใหม่ มาแทนที่ผู้กองสตารอส ปรากฏตัวในตอนท้ายเรื่อง เป็นผู้ที่เข้มงวดในเรื่องระเบียบวินัย
  • จาเร็ด เลโต...ร้อยตรี ไวท์ ผู้นำหน่วยทหาร ถูกสังหารเสียชีวิตในการบุกขึ้นเนิน
  • วู้ดดี้ ฮาเรลสัน...จ่า เดค จ่าประจำกองร้อย เสียชีวิตจากการคว้าระเบิดผิดพลาดของตัวเอง
  • ทิม เบลค เนลสัน...พลทหาร ทิลลส์
  • เอเดรียน โบรดี้...ร้อยเอก เจฟฟรีย์ ไฟฟ์ ทหารประจำกองร้อย มีนิสัยหวาดกลัว เป็นสาเหตุการตายของวิทท์
  • มิแรนดา ออตโต...มาร์ตี้ เบลล์ ภรรยาของเบลล์ รอคอยการกลับมาของเบลล์ด้วยความว้าเหว่ ท้ายที่สุดต้องทิ้งเบลล์ไปหาผู้ชายคนใหม่

เบื้องหลังและคำวิจารณ์

แก้

The Thin Red Line เป็นภาพยนตร์ความยาวกว่า 3 ชั่วโมง มีฉากหลังเป็นสงครามโลกครั้งที่สองแถบหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของเจมส์ โจนส์ ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1962 และเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วครั้งหนึ่งในชื่อเรื่องเดียวกันเมื่อปี ค.ศ. 1964[4] ซึ่งในครั้งนี้มีดารานำแสดงจำนวนมากเข้าร่วมแสดง โดยที่ไม่มีใครเป็นตัวเอก แต่บทจะเฉลี่ยกันไปทุกคน

ขณะที่ภาพยนตร์ออกฉายได้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Saving Private Ryan ของสตีเว่น สปีลเบอร์ก ภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองที่ฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน ในขณะที่ Saving Private Ryan เน้นไปที่ความรุนแรงและโหดร้ายของสงคราม โดยผ่านการนำเสนอที่ให้เห็นกันจะ ๆ ถึงเลือด เนื้อ และความตาย แต่ The Thin Red Line กลับนำเสนอความโหดร้ายของสงครามในแง่มุมที่ต่างกันออกไป เพราะ The Thin Red Line นำเสนอโดยผ่านคำรำพันของเหล่าทหารที่พูดถึงปรัชญาชีวิต และการตั้งคำถามว่า ชีวิตคืออะไร ตนมาที่นี่ทำไม ความโหดร้ายที่แท้จริงของสงครามไม่ใช่มีผลเพียงร่างกาย หากแต่ยังทำลายลึกไปถึงจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์ โดยที่หลายฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่า The Thin Red Line ดูยากกว่า Saving Private Ryan มาก โดย จีน ซิสเกล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกัน ได้ให้ความเห็นว่า "หลักแหลม... มหัศจรรย์... ภาพยนตร์สงครามที่ดีที่สุดแห่งยุค"[5] [6]

The Thin Red Line โดดเด่นมากในเรื่องการกำกับภาพ โดยตลอดทั้งเรื่องมีภาพธรรมชาติงดงามของเกาะกัวดาคาแนลและสัตว์พื้นเมืองต่าง ๆ ภาพยนตร์ได้รางวัลหมีทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน และมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 7 รางวัลด้วยกัน ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม[7]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "The Thin Red Line (15]". British Board of Film Classification. January 29, 1999. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 11, 2016. สืบค้นเมื่อ October 11, 2016.
  2. 2.0 2.1 The Thin Red Line (1998) เก็บถาวร กันยายน 10, 2019 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Box Office Mojo. Retrieved 2011-01-05.
  3. " Rudyard Kipling -- Tommy เก็บถาวร เมษายน 1, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Web Books. Retrieved 2001-08-04.
  4. Thin Red Line : มนุษย์กับธรรมชาติ VS มนุษย์กับสงคราม (ไทย)
  5. คำนิยมจากหน้าปกวิดีโอภาพยนตร์
  6. Saving Private Ryan vs The Thin Red Line (อังกฤษ)
  7. ["Malick Revisited: The Thin Red Line A- (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-26. สืบค้นเมื่อ 2011-08-31. Malick Revisited: The Thin Red Line A- (อังกฤษ)]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้