เขื่อนศรีนครินทร์
เขื่อนศรีนครินทร์ (ชื่อเดิม เขื่อนเจ้าเณร)[1][2][3][a] เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง[8] สร้างขึ้น บนแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี กั้นแม่น้ำแควใหญ่นับเป็น เขื่อนแห่งที่ 8[9] ในจำนวน 17 แห่ง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างขึ้น
เขื่อนศรีนครินทร์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี |
พิกัด | 14°24′31″N 99°07′42″E / 14.40861°N 99.12833°E |
สถานะ | ดำเนินการ |
เริ่มก่อสร้าง | พ.ศ. 2516 |
เปิดดำเนินการ | 14 มิถุนายน พ.ศ. 2524 |
งบก่อสร้าง | 1,800 ล้านบาท (อนุมัติ) 4,623 ล้านบาท (แล้วเสร็จ) |
เจ้าของ | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย |
เขื่อนและทางน้ำล้น | |
ชนิดของเขื่อน | เขื่อนดิน |
ปิดกั้น | แม่น้ำแควใหญ่ |
ความสูง | 140 m (460 ft) |
ความยาว | 610 m (2,000 ft) |
อ่างเก็บน้ำ | |
อ่างเก็บน้ำ | อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ |
ปริมาตรกักเก็บน้ำ | 17,745,000,000 m3 (14,386,106 acre·ft) |
พื้นที่กักเก็บน้ำ | 419 ตารางกิโลเมตร (261,875 ไร่) |
ชนิดของเขื่อน | เขื่อนดิน |
โรงไฟฟ้า | |
กังหันน้ำ | 3 × 120 MW กังหันฟรานซิส, 2 × 180 MW กังหันฟรานซิสแบบสูบกลับ |
กําลังการผลิตติดตั้ง | 720 MW |
กำลังผลิตรายปี | 1,160 gigawatt-hour (4,200 เทระจูล) |
เว็บไซต์ skdam |
ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี แต่ละปีจะมีนักทัศนาจรหลั่งไหลเข้าไปเที่ยวชมอย่างมากมาย
ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า
แก้เขื่อนศรีนครินทร์เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[10] มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร มีความจุมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร[11] โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง เครื่องที่ 1-3 กำลังผลิต เครื่องละ 120,000 กิโลวัตต์ เครื่องที่ 4-5 เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสูบกลับ กำลังผลิตเครื่องละ 180,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720,000 กิโลวัตต์[12]
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ) ทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2510[8] ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้สร้างเขื่อนเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2513[2] ด้วยงบประมาณ 1,800 ล้านบาท[13] งานก่อสร้างเริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2516[14] แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2523[15][16] แต่งบประมาณหลังสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นเป็น 4,623 ล้านบาท[17] จากการปรับปรุงฐานรากเนื่องจากบริเวณจุดสร้างเขื่อนเป็นรอยเลื่อนของเปลือกโลก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมาขนานนามเขื่อน และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2524
ประโยชน์
แก้เขื่อนศรีนครินทร์เป็นโครงการอเนกประสงค์[18][19][20] ซึ่งอำนวยประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ชลประทานช่วยส่งเสริมระบบชลประทาน โครงการแม่กลองใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมี เขื่อนแม่กลองของกรมชลประทานเป็นหัวงานทดน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรได้ตลอดปีเป็นเนื้อที่ถึง 4,118 ล้านไร่
- ผลิตไฟฟ้า สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 1,250 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
- บรรเทาอุทกภัย สามารถกักเก็บน้ำที่หลากมาในช่วงฤดูฝนไว้ในอ่างเก็บน้ำได้เป็นจำนวนมาก ช่วย บรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแม่กลองให้ลดน้อยลง
- คมนาคมทางน้ำสามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือขึ้นไปยังบริเวณอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น
- ผลักดันน้ำเค็มสามารถปล่อยน้ำลงผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนล้ำเข้ามาทำความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณ ปากน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้ง
- เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย
- เขื่อนศรีนครินท์นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้มาเที่ยวชมปีละเป็นจำนวนกว่าแสนคน และก่อให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น แพท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น
สวนเวลารำลึก
แก้สวนเวลารำลึก[21][22] สร้างขึ้นในศุภมงคลสมัยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา บนเนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณเชิงเขาริมอ่างเก็บน้ำ ใกล้ท่าเรือเขื่อนศรีนครินท์ ออกแบบโดย สุรีย์ เหมะพรรณ์[23] สถาปนิกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 8 เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2533 แล้วเสร็จ เดือนมีนาคม 2534 ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตระหนักในพระราชจริยาวัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงยึดถือปฏิบัติ อีกทั้งแสดงออกให้ประจักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเวลา ทรงเชื่อมั่นว่าเวลาเป็นของมีค่า จึงควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ในการออกแบบสวนจึงเลือกนาฬิกาแดดเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความสัมพันธ์เกี่ยวกับกาลเวลา นอกจากนี้ ยังได้แต่งเติมเสริมสร้างสิ่งตกแต่งต่าง ๆ ให้เป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบของสวน เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้
นาฬิกาแดดและวิธีการอ่าน
แก้นาฬิกาแดด[24] เป็นประติมากรรมสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก วัดตามแนวโค้งยาว 23.80 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 9.95 เมตร ส่วนแคบที่สุด 6.25 เมตร หนา 0.80 เมตร เข็มรับแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงา หล่อด้วยโลหะผสมขนาดยาว 6.50 เมตร กว้าง 1.00 เมตร ตั้งหันหน้าลงทิศใต้ แผ่นหน้าปัดเอียง 28.6 องศาที่เส้นรุ้ง 140 24' 32" เหนือ เส้นแวง 990 7' 36" ตะวันออก บนผิวหน้าปัดปิดด้วยกระเบื้องเคลือบ สีเทาขาวประกอบด้วยสัญญลักษณ์และอักษรย่อบอกเดือนต่าง ๆ
เส้นสีน้ำเงินแก่บอกเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน
เส้นสีน้ำเงินอ่อนบอกเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนธันวาคม
เส้นสีแดงเข้มบอกเวลาของเดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน
เส้นสีเหลืองบอกเวลาของเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนธันวาคม
ตัวเลข 07.00 น. ถึง 18.00 น. ปลายเส้นสีแสด และสีส้ม บอกชั่วโมงเงาจากปลายเข็มจะทาบลง ที่พื้นหน้าปัดให้ดูเวลาเดือน และฤดูกาลตามเส้นทางต่าง ๆ
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
แก้กาญจนบุรีเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ และธรรมชาติอันงดงามที่ท้าทาย และดึงดูดใจให้นัก ท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน การมาเที่ยวชมเขื่อนจึงสามารถแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ มากมายดังนี้
- สะพานข้ามแม่น้ำแควหรือทางรถไฟสายสันติภาพ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่สะท้อน ให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงกับสะพานนั้นมีหัวรถจักรเก่า ซึ่งเคยใช้งานในเส้นทางสายนี้เมื่อสมัยสงครามฯ ไว้ให้ชมอีกด้วย
- น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงาม มีถึง 7 ชั้น ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเอราวัณ บนฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ปัจจุบันการเดินทางไปสะดวกมาก โดยผ่านทางตลาด เขื่อนศรีนครินทร์แล้วเลี้ยวซ้าย ตรงไปอีก 3 กิโลเมตร
- ถ้ำพระธาตุภายในถ้ำเป็นหินงอกหินย้อยลัดเหลี่ยมกันสวยงาม การเดินทางไปต้องผ่านเข้าในเขต เขื่อนศรีนครินท์ก่อน แล้วเลี้ยวซ้ายแยกขึ้นเขาไปตามถนนลูกรังประมาณ 8 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวควรใช้ ความระมัดระวังในการขับรถให้มาก และควรติดต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ณ ที่ทำการซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาให้เป็นผู้ นำทางเข้าชมภายในถ้ำด้วย
- น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น (ศรีนครินทร์) เป็นน้ำตกที่ไหลบ่าลงมาซอยเป็นชั้น ๆ ผ่านหินงอกหินย้อยแลดู เป็นม่านงดงามยิ่ง ทั่วบริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถยนต์และทางเรือ
เส้นทางคมนาคม
แก้เขื่อนศรีนครินทร์ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 200 กิโลเมตร สามารถเดินทางแบบ เช้าไปเย็นกลับ หรือแบบพักแรมตามใจชอบ การเดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ไปตามถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) หรือสายบรมราชชนนี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338) ผ่านอำเภอนครชัยศรี-จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านโป่ง-ท่ามะกา-ท่าม่วง เข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรีแล้วเดินทางต่อ ตรงผ่านแยกแก่งเสี้ยนไปตามทางหลวงหมายเลข 3199 (กาญจนบุรี-ศรีสวัสดิ์) ผ่านตำบลลาดหญ้าและเขื่อนท่าทุ่งนา อีกเป็นระยะทาง 64 กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อนศรีนครินทร์ หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี หรือโดยรถไฟสายท่องเที่ยวจากสถานีรถไฟบางกอกน้อย (ธนบุรี) ก็สามารถต่อรถโดยสารประจำทางที่ท่ารถในอำเภอเมือง มาลงปลายทางที่ตลาดเขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจ้างเหมารถยนต์รับจ้างให้พาเที่ยวชมเขื่อนและบริเวณโดยรอบก็สะดวกเช่นกัน
อ้างอิง
แก้- หมายเหตุ
- ↑ ชื่อ เขื่อนเจ้าเณร มาจากพระนามของพระองค์เจ้าขุนเณร[4][5] สมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์เจ้าขุนเณรได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้นำกองโจรให้ไปสกัดทัพพม่าในสงครามเก้าทัพที่ท่ากระดาน เมืองกาญจนบุรี เมื่อได้ตั้งค่ายขุนเณรปรากฏว่าบริเวณใกล้เคียงมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่ เป็นชาวไทย ละว้า ข่า มอญ และกะเหรี่ยง[6] ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านว่า บ้านเจ้าเณร หรือ บ้านพ่อขุนเณร[7] ตามพระนามของพระองค์
- เชิงอรรถ
- ↑ บุญเยี่ยม แย้มเมือง. กาญจนบุรี: เมืองแห่งสันติสุขและสงคราม. กรุงเทพฯ : เม็ดทราย, 2535. 80 หน้า. หน้า 33. ISBN 978-974-7676-82-2
- ↑ 2.0 2.1 พาณิช ภักตร์เจริญ. สารคดี ๕ นาที ๑๐๐ เรื่องประเทืองปัญญา. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ, 2542. 392 หน้า. หน้า 57-58. ISBN 978-974-5403-00-0
- ↑ กองธรรมศาสตร์และการเมือง สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม) เล่ม 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสภา, 2537. 420 หน้า. หน้า 28. ISBN 974-8123-83-9
- ↑ กรมศิลปากร. อักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 3. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526. หน้า 74. ISBN 978-974-4179-77-7
- ↑ ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์, ม.ร.ว. รวมนานาสาระจากรายวิทยุ ครอบจักรวาล เล่ม 4. กรุงเทพฯ : ไลฟ์มีเดีย, 2528. 198 หน้า. หน้า 25.
- ↑ ศิลปวัฒนธรรม, 10(7-10): 56.
- ↑ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร). ตำนานวัดญาณนาวา. กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2545. 88 หน้า. หน้า 39.
- ↑ 8.0 8.1 กองวิชาการ กรมชลประทาน. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง. เก็บถาวร 2022-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพฯ : กรมชลประทาน, 2500. ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. เขื่อนศรีนครินทร์. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2565.
- ↑ นิตยสาร Advanced Thailand geographic, 9(66-67): 263.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. แม่น้ำโขง: จากต้าจู-ล้านช้าง-ตนเลธม ถึง กิ๋วล่อง. สมุทรปราการ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2549. 475 หน้า. หน้า 227. ISBN 978-974-9475-16-4
- ↑ สยามบรรณ. (2534). สยามจดหมายเหตุ, 16(1-26): 325.
- ↑ "กรณีเขื่อนศรีนครินทร์", ข่าวพิเศษ-อาทิตย์, 951-962:(2538): 25.
- ↑ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. สมเด็จย่า พระมิ่งขวัญของแผ่นดิน. 2543. กรุงเทพฯ : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ, 2543. 72 หน้า. หน้า 31. ISBN 978-974-8006-41-3
- ↑ ราตรี โตเพ่งพัฒน์. ตลาดน้ำ : วิถีชีวิตของเกษตรกรภาคกลาง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2543. 234 หน้า. หน้า 180. ISBN 974-417-504-4
- ↑ ทวี ถาวโร. (2540). รายงานการวิจัย เรื่อง วัฒนธรรมการใช้น้ำของชาวบ้านเขตชลประทานลำปาว. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
- ↑ โครงการเพื่อนไร้พรมแดน เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์ข่าวสาละวิน. เขื่อนสาละวิน: โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน แผ่นดิน สายน้ำ และลมหายใจ. เชียงใหม่ : โครงการเพื่อนไร้พรมแดน, 2546. 152 หน้า. หน้า 70. ISBN 978-974-9123-00-3
- ↑ ไพฑูรย์ พงศะบุตร, มนู วัลยะเพ็ชร์, และคณะ. จากห้วงอวกาศสู่พื้นแผ่นดินไทย พ.ศ. 2546. กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), 2546. 629 หน้า. หน้า 284. ISBN 978-974-9134-542
- ↑ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2525). วารสารเที่ยวเมืองไทย ภาคกลาง-ตะวันตก: 73.
- ↑ กำราบ พานทอง และคณะ. บทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมทางเลือก. กรุงเทพฯ : เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กรมวิชาการการเกษตร, 2535. 180 หน้า. หน้า 101-103. ISBN 978-974-7445-11-4
- ↑ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). สวนเวลารำลึก. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2565.
- ↑ องค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระดาน. แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว: สวนเวลารำลึก. สืบค้นเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2565.
- ↑ อักษรโสภณ. (2535) สกุลไทย, 39(1968-1975): 55.
- ↑ สกุลไทย, 54(2776-2780): 5.