อำเภอโพนพิสัย
โพนพิสัย เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดหนองคาย อดีตเป็นอำเภอที่เคยมีอาณาเขตพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ซึ่งพื้นที่อำเภอโพนพิสัยเดิมครอบคลุมพื้นที่อำเภอโซ่พิสัย[1][2] อำเภอปากคาด[3][4] จังหวัดบึงกาฬ อำเภอเฝ้าไร่[5] และอำเภอรัตนวาปี[6][7] จังหวัดหนองคายในปัจจุบัน ซึ่งแยกการปกครองออกเรื่อยมา
อำเภอโพนพิสัย | |
---|---|
การถอดเสียงอักษรโรมัน | |
• อักษรโรมัน | Amphoe Phon Phisai |
![]() ริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอโพนพิสัย | |
คำขวัญ: หลวงพ่อพระเสียงคู่บ้าน ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค | |
![]() แผนที่จังหวัดหนองคาย เน้นอำเภอโพนพิสัย | |
พิกัด: 18°1′19″N 103°4′38″E / 18.02194°N 103.07722°E | |
ประเทศ | ![]() |
จังหวัด | หนองคาย |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 642.7 ตร.กม. (248.1 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2564) | |
• ทั้งหมด | 98,258 คน |
• ความหนาแน่น | 152.88 คน/ตร.กม. (396.0 คน/ตร.ไมล์) |
รหัสไปรษณีย์ | 43120 |
รหัสภูมิศาสตร์ | 4305 |
ที่ตั้งที่ว่าการ | ที่ว่าการอำเภอโพนพิสัย เลขที่ 1111 หมู่ที่ 1 ถนนพิสัยสรเดช ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย 43120 |
![]() |
ประวัติแก้ไข
ในปีพ.ศ. 2369 – 2370 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์) แห่งเวียงจันทน์ แข็งเมืองบุกมาถึงนครราชสีมา และถูกยันทัพกลับไปล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 โปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เป็นแม่ทัพหลวง เจ้าพระบดินทรเดช (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกมหาดไทยเป็นแม่ทัพหน้าปราบเวียงจันทน์ได้ครั้งที่ 1 แต่เจ้าอนุวงศ์หนีไปได้ จนสมุหนายกกรีฑาทัพมาปราบครั้ง 2 ตั้งทัพอยู่ค่ายพานพร้าว (บริเวณ นปข.ปัจจุบัน) และถูกหลอกล่อจนค่ายแตกหนีไปเมืองยโสธร คู่อริต่อเวียงจันทน์ดั้งเดิมจึงตามมาสมทบ เช่น บุตรหลานพระวอ-พระตา แห่งอุบลราชธานี และบุตรหลานจารย์แก้วแห่งสุวรรณภูมิ ช่วยเจ้าคุณสมุหนายกถล่มเวียงจันทน์จน "ฮ้างดังโนนขี้หมาจอก" หน่วยโสถิ่ม (กล้าตาย) นำโดย ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) อุปฮาดยโสธร หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ ฝ่ายกรุงเทพฯ มีนโยบายอพยพผู้คนมาฝั่งภาคอีสานจึงยุบเมืองเวียงจันทน์ปล่อยให้เป็นเมืองร้าง ชาวเมืองเวียงจันทน์บางส่วนก็อพยพมาภาคกลางและบางส่วนก็อยู่ที่บริเวณเมืองเวียงคุก เมืองปะโค (อำเภอเมืองหนองคายในปัจจุบัน) เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านไผ่หรือบ้านหนองไผ่ ขึ้นเป็นเมืองหนองค่าย(คำว่า "หนองคาย" ถูกเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "หนองค่าย" ซึ่งมีความหมายโดยตรงว่า "หนองน้ำบริเวณที่ตั้งของค่ายทหาร" ซึ่งคำว่าหนองค่ายถูกเรียกเพี้ยนเป็น"หนองคาย"ใน สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่นั้นมา)[8] ต่อมาโปรดเกล้าให้ ท้าวสุวอธรรม (บุญมา) เป็น พระปทุมเทวาภิบาลที่ 1 แห่งเมืองหนองคาย ต้นตระกูล ณ หนองคาย และ ท้าวตาดี บุตร พระยาขัติยวงษา (สีลัง) แห่งเมืองร้อยเอ็ด เชื้อสายเจ้าจารย์แก้ว ได้เป็นเจ้าเมืองโพนพิสัยคนแรก จากความดีความชอบที่ได้รับบัญชาจากเจ้าคุณแม่ทัพมาสกัดเจ้าอนุวงศ์ เพื่อมิให้หนีไปญวนอีก โดยตั้งทัพอยู่บ้านโพนแพง จึงเรียกกันว่า "เจ้าโพนแพง" ครั้นเสร็จศึกจึงยกเป็น "เมืองโพนแพง" ท้าวตาดีได้เป็น พระยาพิสัยสรเดช เจ้าเมืองคนแรก ต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน เมื่อ พ.ศ. 2373 ต้นตระกูล พิสัยพันธ์,สิงคศิริ,สิมะสิงห์,สิริสิงห์ สืบมาจะเป็นด้วยเหตุใดไม่ชัดแจ้ง พระพิสัยสรเดช (ตาดี) ได้ย้ายที่ตั้งเมืองจากโพนแพงมาอยู่ ณ เมืองปากห้วยหลวงเก่า ซึ่งคงจะร้างในสมัยนั้น และเอาชื่อเมืองโพนพิสัยมาตั้งที่นี่ พื้นที่ตำบลโพนแพงก็ห่างไกล จึงขอยก " บ้านหนองแก้ว" ขึ้นเป็น"เมืองรัตนวาปี" อีกเมืองหนึ่ง หลังจากเสร็จศึกเจ้าอนุวงศ์และก่อตั้งเมืองหนองคายได้ไม่นาน เมืองหนองคายได้รับฐานะเป็นเมืองประเทศราช โดยยุบเมืองเวียงจันทน์(ร้าง)ซึ่งพึ่งถูกทัพสยามทำลายไปให้มาขึ้นกับเมืองหนองคาย และ ณ. ขณะนั้น ทั้งเมืองหนองคาย และ เมืองโพนพิสัย ไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน แต่ล้วนเป็นเมืองเอกขึ้นกับกรุงเทพทั้งคู่ โดยเมืองโพนพิสัยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ อำเภอโพนพิสัย,อำเภอรัตนวาปี,อำเภอเฝ้าไร่ ของจังหวัดหนองคาย อำเภอเพ็ญ,อำเภอสร้างคอม ของจังหวัดอุดรธานี และ อำเภอโซ่พิสัย,อำเภอปากคาด ของจังหวัดบึงกาฬในปัจจุบัน[9][10]
ในปีพ.ศ. 2389 วันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 3 พระยาขัติยวงษาสีลัง เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ป่วยและถึงแก่กรรม อุปฮาดสิงห์ ราชวงศ์อินบุตร จึงพาเจ้าเพี้ยลงมากรุงเทพฯ พบกับพระยาพิสัยสรเดช(ท้าวตาดี)เจ้าเมืองโพนพิสัย ซึ่งเป็นพี่ชายของพระขัติยวงษาอินทร์และอุปฮาดสิงห์ และเป็นบุตรของพระยาขัติยวงษาสีลัง พระยาพิสัยสรเดชจึงพาอุปฮาดราชวงศ์ท้าวเพี้ย กรมการเมืองร้อยเอ็ด ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดชเจ้าเมืองโพนพิสัย กลับไปรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด พระยาพิสัยสรเดชจึงให้บุตรหลานรักษาการเมืองโพนพิสัยแทน ครั้นพระยาพิสัยสรเดชลงไปถึงเมืองร้อยเอ็ด จัดการเผาศพพระยาขัติยวงษาสีลังพระบิดาเสร็จแล้ว คืนวันหนึ่งอุปฮาดสิงห์ผู้เป็นน้องชายได้ตั้งบ่อนโป นัดให้พระยาพิสัยสรเดชกับพวกนักเลงมาเล่นที่หอนั่งบ้านพระยาขัติยวงษา ครั้นเวลาดึกมีคนมาลอบแทงพระยาพิสัยสรเดชถูกที่สีข้างซ้าย ถึงแก่กรรม ได้ความว่าอุปฮาดสิงห์เกี่ยวข้องในคดีนี้ ครั้นความทราบถึงกรุงเทพฯ จึงมีตราโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองสุวรรณภูมิส่งตัวอุปฮาดสิงห์และบรรดาบุตรหลานของพระยาขัติยวงษา ลงมากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ตุลาการชำระคดี อุปฮาดสิงห์ พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่าอุปฮาดสิงห์เป็นผู้ใช้ให้จีนจั้นมาแทงพระยาพิสัยสรเดช อุปฮาดสิงห์เลยต้องถูกจำคุกตายอยู่ในที่คุมขัง พระยาพิสัยสรเดชซึ่งป็นพี่ชายต่างมารดากับอุปฮาดสิงห์และราชวงศ์อินทร์ ราชวงศอินทร์ภายหลังเป็นพระยาขัติยวงษา(อินทร์ ธนสีลังกูร)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดท่านที่ 3 อีกทั้งพระยาพิสัยสรเดช(ท้าวตาดี)ยังเป็นน้องร่วมมารดากับญาแม่ปทุมมา ซึ่งเป็นย่าของพระเจริญราชเดช (ท้าวอุ่น ภวภูตานนท์) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่ 3 ต่อมาได้มีการสืบสวนข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่พึงเชื่อถือได้แน่นอน ปรากฏว่าอุปฮาดสิงห์หาได้เป็นผู้วางแผนฆ่าพระยาพิสัยฯ ตามที่เล่ามานั้นไม่ เมื่อพิจารณาจากเหตุผลจากสิ่งแวดล้อมต่างๆแล้ว เห็นว่ามีอยู่หลายกรณีที่อ้างอิงประกอบได้ เช่น คราวที่พระยาพิสัยฯ พร้อมอุปฮาดสิงห์ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลข่าวการอสัญกรรมของพระยาขัติยวงษาสีลังผู้บิดานั้น อุปฮาดสิงห์ก็ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนพี่ชายเป็นอย่างดี จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิสัยสรเดชกลับมารับราชการเมืองร้อยเอ็ด และโดยปกติสองพี่น้องนี้มีความรักใคร่ปรองดองกันดีมาก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจีนจั้นผู้แทงพระยาพิสัยฯ ก็เคยมีอริวิวาทกันกับพระยาพิสัยฯ มาช้านาน อนึ่งตามเนื้อเรื่องที่ว่า “พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่าอุปฮาดสิงห์ ได้ให้จีนจั้นแทงพระยาพิสัยฯ และอุปฮาดสิงห์เลยต้องจำตายอยู่ในที่คุมขัง” จากข้อเท็จจริงโดยคำยืนยันของพระเจริญราชเดช (อุ่น) หลานญาแม่ปทุมมาซึ่งเป็นพี่สาวของพระยาพิสัยฯ เอง ได้ความชัดว่าอุปฮาดสิงห์ได้ดื่มยาพิษถึงแก่กรรมในระหว่างทางก่อนจะถึงกรุงเทพฯ ใกล้เมืองนครราชสีมา และญาติได้ค้นพบจดหมายลาตาย ถึงภรรยาว่า “เราไม่เคยคิดขบถต่อเจ้าพี่โพนแพงเลย ตายเองดีกว่าที่จะถูกคนอื่นประหาร เลี้ยงลูกใหดีจนได้ไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก” ส่วนจีนจั้นนั้นรับสารภาพและไม่มีการซัดทอดผู้ใดเลย เป็นอันว่าอุปฮาดสิงห์เป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการพิจารณาคดีของสยามหรือไทยในสมัยก่อนที่ยังมีข้อบกพร่องในการหาหลักฐานและความไม่ชัดเจนในการตัดสินคดีอยู่พอสมควร[11]
ในสมัยที่พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เป็นเจ้าเมืองนี้เองก็เกิดศึกสำคัญขึ้นเรียกกันว่าศึกฮ่อ ครั้งแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2420 แต่ในระยะนี้พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) ไม่ได้อยู่ในหนองคายมีราชการต้องมาต้อนรับพระยามหาอำมาตย์เสียที่เมืองอุบลราชธานีและได้มอบกิจการบ้านเมืองให้ท้าวจันทรศรีสุราช (ชื่น) รักษาราชการแทน พวกฮ่อได้ตีหัวเมืองลายทางเรื่อยมาจนเข้ายึดเอาเวียงจันทร์ไว้ได้ พวกกรมการเมืองหนองคายแทนที่จะหาทางป้องกันข้าศึกกับคิดอพยพหนีพวกฮ่อ โดยท้าวจันทรศรีสุราชกับครอบครัวหนีไปอยู่บ้านพรานพร้าวอุดรธานี เมื่อตัวนายไม่คิดสู้พวกราษฎร์ก็พลอยขวัญเสียอพยพออกจากเมืองบางเหตุการณ์ในตอนนี้ถึงกับทำให้เมืองหนองคายตกอยู่ในสภาพเป็นเมืองร้างนอกนี้เมืองใกล้ ๆ กัน คือเมืองโพนพิสัยก็พลอยไม่คิดสู้ขี้นมาอีก พระพิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองอพยพครอบครัวหนีไปอยู่บึงกาฬ ส่วน ราชวงศ์เมืองหนองคาย ซึ่งถูกส่งมารักษาการแทนกับพระพิสัยสรเดช (หนู) ถูกพวกฮ่อฆ่าตาย ทางกรุงเทพจึงได้มีพระบรมราชองค์การให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) ซึ่งไปราชการ ณ เมืองอุบลราชธานี นั้น เกณฑ์ทัพเข้าปราบฮ่อกองทัพของพระยามหาอำมาตย์ได้ยกเข้ามาตั้งพักอยู่ที่เมืองหนองคายแล้วก็สั่งให้จับเอาเท้าจันทรศรีสุราชและพระยาพิไสยสรเดช(หนู)ไปประหารชีวิตเสียทั้งคู่เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบต่อไปจากนี้ก็เกณฑ์คนในเมืองต่าง ๆ คือ นครพนม มุกดาหาร เขมราฐ อุบลและร้อยเอ็ด เข้าสมทบกับกองทัพเมืองหนองคาย รวมพลได้ทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน แล้วยกออกไปตีเมืองเวียงจันทร์ซึ่งพวกฮ่อสู้ไม่ได้แตกและทิ้งกรุงเวียงจันทร์ไป กองทัพของพระยามหาอำมาตย์ก็กลับมาพักที่หนองคายจัดกิจกรรมบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็กลับกรุงเทพฯ ครั้งนี้พระประทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายได้ติดตามลงมากรุงเทพฯ ด้วย
เมื่อ พ.ศ. 2428 เกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่สองในบริเวณทุ่งไหหิน (ทุ่งเชียงคำ) พวกฮ่อกำเริบตีมาจนถึงเวียงจันทน์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกฮ่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมขณะดำรงพระอิสริยศเป็น กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นแม่ทัพปราบฮ่อครั้งนั้นจนพวกฮ่อแตกหนี และสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อไว้ที่เมืองหนองคาย
ส่วนทางฝั่งเมืองโพนพิสัย หลังเสร็จศึกปราบฮ่อ ท้าวคำสิงห์ ซึ่งขณะนั้นมีราชทินนามเป็น พระศรีสุรศักดิ์ เจ้าเมืองรัตนวาปี ซึ่งเป็นบุตรหลานของพระพิสัยสรเดชท่านแรก(ท้าวตาดี) ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระรัตนเขตรักษา" เจ้าเมืองโพนพิสัยแทนเจ้าเมืองเดิมสืบต่อมา ซึ่งท่านได้แสดงความกล้าหาญรบพุ่งกับฮ่อหลายครั้ง จนได้ราชทินนามเป็น พระยาพิสัยสรเดช (คำสิงห์ สิงหศิริ) เป็นต้นตระกูล สิงหศิริ จึงเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดศึกและเกิดเหตุข้าศึกศัตรูเข้ามารุกราน ทั้งเมืองหนองคายและเมืองโพนพิสัยล้วนเป็นพันธมิตรร่วมกันต่อสู้ เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาโดยตลอด
อำเภอโพนพิสัย เดิมมีฐานะเป็น "เมืองโพนพิสัย" ซึ่งเป็นหัวเมือง 1 ใน 7 ของมณฑลอุดร การปฏิรูปการปกครองตามระบบเทศาภิบาลนั้นก็ดำเนินต่อไป จนเมื่อยุบเมืองโพนพิสัยเป็นอำเภอแล้วพระยาโพนพิสัยสรเดช ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอโพนพิสัย จนถึงปี พ.ศ. 2450 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มาตรวจราชการในเขตมณฑลอุดร และได้เปลี่ยนฐานะเมืองโพนพิสัยเป็นอำเภอโพนพิสัย ขึ้นกับจังหวัดหนองคายจนถึงปัจจุบัน และยุบเมืองรัตนวาปี เป็นตำบลรัตนวาปี ให้ขึ้นการปกครองอยู่ในอำเภอโพนพิสัย[12]
เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปฐมเสนาบดีมหาดไทยเสด็จตรวจราชการแม่น้ำโขง ได้ทรงบรรยายทัศนียภาพแม่น้ำโขงว่า "ถึงเมืองโพนพิสัย พระยาพิสัยสรเดช ได้ล่วงหน้ามารับ แวะขึ้นดูเมืองโพนพิสัย แล้วไปบ้านพระยาพิสัยสรเดชพอหมดเวลาครึ่งชั่วโมงที่กำหนดไว้ก็กลับลงเรือ" และ "เวลา 12.40 น.ผ่านหน้าเมืองรัตนวาปี เลยปากน้ำคาดไปหน่อยหนึ่ง"
- วันที่ 31 พฤษภาคม 2468 ยุบตำบลบ้านใหม่ รวมกับท้องที่ตำบลกุดบง[13]
- วันที่ 23 พฤษภาคม 2469 ยุบตำบลทุ่งธาตุ รวมกับท้องที่ตำบลชุมช้าง ตำบลจุมพล และตำบลวัดหลวง[14]
- วันที่ 1 เมษายน 2480 โอนพื้นที่ตำบลทุ่งหลวง อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี มาขึ้นกับอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย[15]
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลทุ่งหลวง แยกออกจากตำบลวัดหลวง และตั้งตำบลกุดบง แยกออกจากตำบลรัตนวาปี[16]
- วันที่ 30 พฤษภาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลจุมพล ในท้องที่บางส่วนของตำบลจุมพล[17]
- วันที่ 22 มกราคม 2506 ตั้งตำบลปากคาด แยกออกจากตำบลโพนแพง[18]
- วันที่ 7 มีนาคม 2510 ตั้งตำบลศรีชมภู และตั้งตำบลหนองพันทา แยกออกจากตำบลโซ่ ตั้งตำบลนาหนัง แยกออกจากตำบลชุมช้าง[19]
- วันที่ 5 มีนาคม 2511 จัดตั้งสุขาภิบาลปากคาด ในท้องที่หมู่ 1 บ้านปากคาด หมู่ 4 บ้านโนนชัยศรี และหมู่ 7 บ้านท่าสวรรค์ ตำบลปากคาด[20]
- วันที่ 28 พฤษภาคม 2511 ตั้งตำบลเหล่าต่างคำ แยกออกจากตำบลทุ่งหลวง[21]
- วันที่ 1 มีนาคม 2515 แยกพื้นที่ตำบลโซ่ ตำบลศรีชมภู และตำบลหนองพันทา จากอำเภอโพนพิสัย ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอโซ่พิสัย[1] และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอโพนพิสัย
- วันที่ 22 สิงหาคม 2515 ตั้งตำบลหนองหลวง แยกออกจากตำบลจุมพล[22]
- วันที่ 19 มิถุนายน 2516 ตั้งตำบลหนองยอง แยกออกจากตำบลปากคาด[23]
- วันที่ 13 เมษายน 2520 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอโซ่พิสัย อำเภอโพนพิสัย เป็น อำเภอโซ่พิสัย[2]
- วันที่ 1 สิงหาคม 2521 ตั้งตำบลเฝ้าไร่ แยกออกจากตำบลเซิม[24]
- วันที่ 31 ตุลาคม 2521 ตั้งตำบลนากั้ง แยกออกจากตำบลปากคาด[25]
- วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 แยกพื้นที่ตำบลปากคาด ตำบลหนองยอง และตำบลนากั้ง จากอำเภอโพนพิสัย ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอปากคาด[3] และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอโพนพิสัย
- วันที่ 13 พฤศจิกายน 2522 ตั้งตำบลบ้านโพธิ์ แยกออกจากตำบลเซิม ตั้งตำบลนาทับไฮ แยกออกจากตำบลโพนแพง[26]
- วันที่ 9 สิงหาคม 2526 ตั้งตำบลวังหลวง แยกออกจากตำบลหนองหลวง[27]
- วันที่ 9 ตุลาคม 2527 ตั้งตำบลอุดมพร แยกออกจากตำบลเซิม ตั้งตำบลพระบาทนาสิงห์ แยกออกจากตำบลรัตนวาปี[28]
- วันที่ 25 พฤศจิกายน 2528 ตั้งตำบลโนนศิลา แยกออกจากตำบลปากคาด[29]
- วันที่ 20 มีนาคม 2529 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอปากคาด อำเภอโพนพิสัย เป็น อำเภอปากคาด[4]
- วันที่ 10 ตุลาคม 2529 ตั้งตำบลนาดี แยกออกจากตำบลเฝ้าไร่ ตั้งตำบลสมสนุก แยกออกจากตำบลหนองยอง[30]
- วันที่ 21 ตุลาคม 2531 ตั้งตำบลบ้านต้อน แยกออกจากตำบลโพนแพง[31]
- วันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 ตั้งตำบลบ้านผือ แยกออกจากตำบลนาหนัง[32]
- วันที่ 26 มกราคม 2536 ตั้งตำบลสร้างนางขาว แยกออกจากตำบลทุ่งหลวง[33]
- วันที่ 22 มีนาคม 2538 แยกพื้นที่ตำบลเฝ้าไร่ ตำบลนาดี ตำบลหนองหลวง ตำบลวังหลวง และตำบลอุดมพร จากอำเภอโพนพิสัย ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอเฝ้าไร่[5] และแยกพื้นที่ตำบลรัตนวาปี ตำบลนาทับไฮ ตำบลบ้านต้อน ตำบลพระบาทนาสิงห์ และตำบลโพนแพง จากอำเภอโพนพิสัย ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอรัตนวาปี[6] ให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอโพนพิสัย
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลจุมพล เป็นเทศบาลตำบลจุมพล[34] ด้วยผลของกฎหมาย
- วันที่ 20 ตุลาคม 2549 เปลี่ยนแปลงชื่อเทศบาลตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย เป็น เทศบาลตำบลโพนพิสัย[35]
- วันที่ 8 กันยายน 2550 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเฝ้าไร่ และกิ่งอำเภอรัตนวาปี อำเภอโพนพิสัย เป็น อำเภอเฝ้าไร่ และอำเภอรัตนวาปี[7]
ที่ตั้งและอาณาเขตแก้ไข
อำเภอโพนพิสัย มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับแขวงบอลิคำไซ (ประเทศลาว) และอำเภอรัตนวาปี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเฝ้าไร่
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบ้านดุง อำเภอสร้างคอม และอำเภอเพ็ญ (จังหวัดอุดรธานี)
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองหนองคาย และนครหลวงเวียงจันทน์ (ประเทศลาว)
การแบ่งเขตการปกครองแก้ไข
การปกครองส่วนภูมิภาคแก้ไข
อำเภอโพนพิสัยแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 11 ตำบล 159 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | จุมพล | (Chumphon) | 26 หมู่บ้าน | 7. | นาหนัง | (Na Nang) | 17 หมู่บ้าน | |||||
2. | วัดหลวง | (Wat Luang) | 16 หมู่บ้าน | 8. | เซิม | (Soem) | 11 หมู่บ้าน | |||||
3. | กุดบง | (Kut Bong) | 14 หมู่บ้าน | 9. | บ้านโพธิ์ | (Ban Pho) | 13 หมู่บ้าน | |||||
4. | ชุมช้าง | (Chum Chang) | 19 หมู่บ้าน | 10. | บ้านผือ | (Ban Phue) | 8 หมู่บ้าน | |||||
5. | ทุ่งหลวง | (Thung Luang) | 12 หมู่บ้าน | 11. | สร้างนางขาว | (Sang Nang Khao) | 8 หมู่บ้าน | |||||
6. | เหล่าต่างคำ | (Lao Tang Kham) | 15 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไข
ท้องที่อำเภอโพนพิสัยประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลโพนพิสัย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลจุมพล
- เทศบาลตำบลสร้างนางขาว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสร้างนางขาวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลจุมพล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจุมพล (นอกเขตเทศบาลตำบลโพนพิสัย)
- องค์การบริหารส่วนตำบลวัดหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลวัดหลวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลกุดบง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกุดบงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลชุมช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชุมช้างทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งหลวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าต่างคำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเหล่าต่างคำทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลนาหนัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาหนังทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเซิม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเซิมทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านโพธิ์ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านผือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านผือทั้งตำบล
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ 1.0 1.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอโซ่พิสัย" (PDF). Royal Gazette. 89 (31 ง special): 9. March 1, 1972.
- ↑ 2.0 2.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอปลายพระยา อำเภอห้วยเม็ก อำเภอละแม อำเภอแม่จริม อำเภอหนองกี่ อำเภอโคกปีบ อำเภอเกาะพะงัน อำเภอสนม อำเภอโซ่พิสัย อำเภอโนนสะอาด และอำเภอนาจะหลวย พ.ศ. ๒๕๒๐" (PDF). Royal Gazette. 98 (31 ก): 326–330. April 12, 1977.
- ↑ 3.0 3.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอปากคาด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (130 ง): 4081. November 21, 1978.
- ↑ 4.0 4.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอคลองลาน อำเภอสุคิริน อำเภอตะโหมด อำเภอห้วยทับทัน และอำเภอปากคาด พ.ศ. ๒๕๒๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 103 (45 ง): (ฉบับพิเศษ) 4-6. March 20, 1986.
- ↑ 5.0 5.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายตั้งเป็นกิ่งอำเภอเฝ้าไร่" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (พิเศษ 9 ง): 50. March 22, 1995.
- ↑ 6.0 6.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายตั้งเป็นกิ่งอำเภอรัตนวาปี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (พิเศษ 9 ง): 51. March 22, 1995.
- ↑ 7.0 7.1 "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอฆ้องชัย...และอำเภอเหล่าเสือโก้ก พ.ศ. ๒๕๕๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 124 (46 ก): 14–21. August 24, 2007.
- ↑ https://sites.google.com/site/nongkhaiprovince/prawati-khwam-pen-ma-canghwad-hnxngkhay
- ↑ https://district.cdd.go.th/phonphisai/about-us/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/
- ↑ https://www.facebook.com/722488218128250/posts/1578154679228262/
- ↑ https://district.cdd.go.th/suwannaphum/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/
- ↑ "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้รวมเมืองกมุทธาไส ๑ เมือง กุมภวาปี ๑ เมือง หนองหาย ๑ อำเภอ บ้านหมากแข้ง ๑ ตั้งเป็นเมืองจัตวา เรียกว่าเมืองอุดรธานีบริเวณน้ำชีให้เปลี่ยนเรียกว่าเมืองขอนแก่น บริเวณน้ำเหืองให้เปลี่ยนเรียกว่าเมืองเลย บริเวณสกลนครให้เปลี่ยน เรียกว่าเมืองสกลนคร บริเวณธาตุพนมให้เปลี่ยนเรียกว่าเมืองนครพนม ส่วนเมืองหนองคายเมืองโพนพิสัยให้คงไว้ตามเดิม" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 24 (41): 1088. January 12, 1907.
- ↑ "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ในตำบลบ้านใหม่ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งยุบไปรวมขึ้นตำบลกุดบง และสำหรับท้องที่ในอำเภอหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งยุบตำบลเชียงเพ็งไปรวมขึ้นตำบลเชียงยืน กับยุบตำบลนาแอง ซึ่งตั้งตำบลหมากหญ้าขึ้นแทน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 39–40. May 31, 1925.
- ↑ "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ ในตำบลทุ่งธาตุ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งยุบไปรวมกับตำบลชุมช้าง ตำบลจุมพล และตำบลวัดหลวง ท้องที่อำเภอเดียวกัน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 43 (0 ก): 198. May 23, 1926.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด พุทธศักราช ๒๔๗๙" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 54 (0 ก): 40–54. April 1, 1937.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 64 (26 ง): 1114–1433. June 10, 1947.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (45 ง): (ฉบับพิเศษ) 39-40. May 30, 1956.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 80 (8 ง): 96–101. January 22, 1963.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าบ่อ และอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 84 (23 ง): 857–865. March 10, 1967.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลปากคาด อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (23 ง): 692–693. March 5, 1968.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอเซกา อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 85 (48 ง): 1525–1534. November 28, 1968.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 89 (126 ง): 2129–2131. August 22, 1972.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่ อำเภอโพนพิสัยและอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 90 (70 ง): 1895–1899. June 16, 1973.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัยและอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (76 ง): 2436–2439. August 1, 1978.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอบึงกาฬ และกิ่งอำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 95 (121 ง): 3733–3739. October 31, 1978.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (189 ง): 4159–4165. November 13, 1979.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 100 (131 ง): 2706–2711. August 9, 1983.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอท่าบ่อ อำเภอโพนพิสัย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 101 (142 ง): 3652–3662. October 9, 1984.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่กิ่งอำเภอปากคาด อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 102 (175 ง): (ฉบับพิเศษ) 4-6. November 25, 1985.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอบึงกาฬ และกิ่งอำเภอปากคาด จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 103 (175 ง): (ฉบับพิเศษ) 137-146. October 10, 1986.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอบึงกาฬ อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 105 (171 ง): (ฉบับพิเศษ) 1-8. October 21, 1988.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัย และอำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (151 ง): (ฉบับพิเศษ) 60-66. November 27, 1992.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 110 (9 ง): 19–21. January 26, 1993.
- ↑ "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. February 24, 1999.
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อเทศบาล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 1. October 20, 2006.
บทความเกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศไทยนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย |