อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2526

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2526 เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่ร้ายแรงครั้งหนึ่งในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงกลางปีค่อนไปทางปลายปี พ.ศ. 2526

อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2526
วันที่สิงหาคม - พฤศจิกายน พ.ศ. 2526
ที่ตั้ง42 จังหวัด
เสียชีวิต49
ทรัพย์สินเสียหาย6,000 ล้านบาท

เหตุเกิดเนื่องจากพายุดีเปรสชัน 2 ลูก พัดผ่านเข้ามายังในประเทศไทย คือ เฮอร์เบิร์ตและคิม ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักจนเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่รองรับปริมาณน้ำฝนรับไม่ไหว จนเกิดเป็นน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก รวมเป็นหลังคาบ้านเรือนที่พักอาศัยกว่า 5,000 หลัง ประกอบกับการที่น้ำเหนือไหลบ่าและน้ำทะเลหนุน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าปกติ 2 เมตร ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ทำให้พื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกิดน้ำท่วม เริ่มจากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะขยายไปยังส่วนต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครทั่วกัน ถนนรวมทั้งสิ้น 30 สาย เกิดน้ำท่วมขัง รถยนต์ไม่อาจจะสัญจรวิ่งได้ตามปกติ เช่น ถนนรามคำแหง, ถนนสุขุมวิท, ถนนวิภาวดีรังสิต, ถนนเพชรเกษม ประชาชนต้องนำเรือออกมาพายแทน และเฉพาะในพื้นที่ฝั่งธนบุรี พื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่ง ก็ได้รับผลกระทบ

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจแนวกั้นน้ำตลอดแนวคลองแสนแสบ ทรงมีรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประสานร่วมมือกันหามาตรการที่จะบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งการขยายประตูระบายน้ำที่ปทุมธานี หรือการยกแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นตลอดคลองแสนแสบ เพิ่มเครื่องสูบน้ำและกระสอบทรายที่คลองบางกะปิ เป็นต้น

จากเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้ ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งต้องเลื่อนการสอบกลางภาคหรือเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไป โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงและศูนย์กีฬาหัวหมาก ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ ๆ ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ในส่วนการช่วยเหลือของรัฐบาล ในเดือนตุลาคม ได้มีการจัดรายการพิเศษทางโทรทัศน์ "น้ำท่วมพ่ายน้ำใจ" ถ่ายทอดสดทางช่อง 7 สี เพื่อขอรับเงินบริจาค โดยมีนักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียงหลายคน ร่วมร้องเพลงและรับโทรศัพท์รับเงินบริจาคด้วยตนเอง เช่น ยอดรัก สลักใจ, พุ่มพวง ดวงจันทร์, สรพงษ์ ชาตรี และธงไชย แมคอินไตย์ เป็นต้น รวมถึงยังเป็นการปรากฏตัวทางโทรทัศน์ครั้งแรกของสายัณห์ สัญญา[1] จากนั้นเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลได้ดำเนินการเสนอลดภาษีประเภทต่าง ๆ ลง รวมทั้งควบคุมราคาสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค เป็นต้น[2]

สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม, กันยายน, ตุลาคม จนเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน สถานการณ์จึงค่อยดีขึ้นและค่อยเข้าสู่ภาวะปกติ รวมระยะเวลาที่เกิดเหตุทั้งหมด 4 เดือน มีพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 42 จังหวัด ผู้เสียชีวิต 49 คน และคิดมูลค่าความเสียหายร่วม 6,000 ล้านบาท[3] [4]

อ้างอิง

แก้
  1. สายัณห์ สัญญา. สายัณห์ สัญญา ออกรายการทีวีครั้งแรก Ep.1. ห้องสมุดลูกทุ่ง.
  2. น้ำท่วมกรุงเทพในอดีต.flv จากวอยซ์ทีวี
  3. ดีเปรสชันถล่มไทยอ่วม เสียหาย 42 จังหวัด กลืน 49 ชีวิต, หน้า 187. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ISBN 978-974-228-070-3
  4. กรุงเทพฯ เมืองบาดาล, หน้า 75. 289 ข่าวดัง 3 ทศวรรษหนังสือพิมพ์ มติชน โดย กองบรรณาธิการมติชน ISBN 974-323-889-1

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้