อิน-จัน (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 - 17 มกราคม พ.ศ. 2417) เป็นชื่อของฝาแฝดสยาม ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเป็นที่มาของคำว่า "แฝดสยาม" เนื่องจากเกิดที่ประเทศสยาม (ประเทศไทย) [1][2] ฝาแฝดที่มีหน้าอกติดกันและใช้ตับร่วมกัน เป็นฝาแฝดคู่แรกของโลกที่สามารถดำรงชีพเหมือนคนธรรมดาได้ตลอดชีวิต

อิน-จัน บังเกอร์
อิน (พี่-ซ้ายมือ) จัน (น้อง-ขวามือ)
เกิด11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354
เมืองสมุทรสงคราม ประเทศสยาม
เสียชีวิต17 มกราคม พ.ศ. 2417 (62 ปี)
หมู่บ้านแทรปฮิลล์ (Traphill) เขตชานเมืองวิลส์โบโร (Wilkesboro) เคาน์ตีวิลส์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา
สาเหตุเสียชีวิตโรคหัวใจและหลอดเลือด
สัญชาติไทย - อเมริกัน
อาชีพเกษตรไร่ฝ้าย (cotton)
มีชื่อเสียงจากฝาแฝดสยาม ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
คู่สมรสอิน - Sarah Ann Yates (1822 - 1905)
จัน - Adelaide Yates Bunker (1823 - 1917)
บุตรจัน 10 คน อิน 11 คน
บิดามารดานายที (บิดา) นางนาก (มารดา)

อิน-จันได้สัญชาติอเมริกันเมื่อปี พ.ศ. 2382 และใช้นามสกุลว่า บังเกอร์ (Bunker) มีลูกหลานสืบตระกูลมาจนถึงทุกวันนี้ ชื่อเสียงของอิน-จัน ทำให้เกิดคำเรียกแฝดตัวติดกันว่า แฝดสยาม (Siamese twins) ตามชื่อเรียกประเทศไทยในเวลานั้น

ฝาแฝดอิน-จัน เป็นฝาแฝดที่มีตัวติดกันทางส่วนหน้าอก (บันทึกของชาวตะวันตกบอกว่า เนื้อที่เชื่อมกันระหว่างอกนี้สามารถยืดได้จนทั้งคู่สามารถหันหลังชนกันได้)

ประวัติ

แก้
 
งานแกะสลักสีแฝดสยามอิน-จัน (2371)

ฝาแฝดอิน-จัน เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีบิดาเป็นชาวจีนอพยพแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชื่อ นายที มารดาเป็นคนไทยชื่อ นางนาก (บันทึกของชาวตะวันตกเรียกว่า นก (Nok)) ซึ่งฝาแฝดคู่นี้สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ แตกต่างไปจากแฝดติดกันคู่อื่น ๆ ที่มักเสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน

ตามกฎหมายในเวลานั้น ทั้งคู่ต้องถูกประหารชีวิตเนื่องจากความเชื่อที่ว่าเป็นตัวกาลกิณี แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็หาได้มีเหตุการณ์ใด ๆ ตามความเชื่อไม่ โทษนั้นจึงได้รับการยกเลิก

เมื่อทั้งคู่อายุได้แค่ 2 ขวบ บิดาก็เสียชีวิตลงด้วยอหิวาตกโรค ภาระจึงตกอยู่ที่มารดาแต่เพียงผู้เดียว แฝดทั้งคู่จึงช่วยเหลือมารดาเท่าที่เด็กในวัยเดียวกันจะทำได้ เช่น จับปลา ขายน้ำมันมะพร้าว และทำไข่เค็มขาย จนในปี พ.ศ. 2367 ความพิเศษของเด็กทั้งคู่ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นางนากและอิน-จันเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วในปี พ.ศ. 2370 ก็มีพระบรมราชานุญาตให้อิน-จันได้เดินทางร่วมไปกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศโคชินไชน่า (เวียดนามในปัจจุบัน)

 
ภาพวาดฝาแฝดอิน-จัน บังเกอร์ ราว ค.ศ. 1836

ในปี พ.ศ. 2367 นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ หรือที่คนไทยสมัยนั้นเรียกว่า "นายหันแตร" ได้นั่งเรือผ่านแม่น้ำแม่กลอง และได้พบแฝดคู่นี้กำลังว่ายน้ำเล่นอยู่ ด้วยความประหลาดและน่าสนใจ นายฮันเตอร์จึงคิดที่จะนำฝาแฝดคู่นี้ไปแสดงโชว์ตัวที่สหรัฐอเมริกา จึงเข้าทำความสนิทสนมกับครอบครัวของฝาแฝดอยู่นานนับปี จนพ่อแม่ของทั้งคู่ไว้วางใจ ในที่สุดนายอาเบล คอฟฟิน กัปตันเรือสินค้า เดอะ ชาเคม (The Sachem) ซึ่งขณะนั้นได้เข้ามาทำการค้าในประเทศไทย ก็เป็นผู้นำตัวคู่แฝดออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2372 ขณะนั้นอิน-จัน อายุได้ 18 ปี โดยใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 138 วัน จึงถึงเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ และที่นี่เองที่คู่แฝดได้ทำการเปิดตัว ก่อนจะออกเดินทางแสดงทั่วอเมริกาและยุโรปอีกร่วม 10 ปี (เอกสารบางฉบับบอกว่า ไม่ได้เริ่มที่บอสตัน แต่ไปตั้งหลักที่รัฐแคลิฟอร์เนีย) โดยสัญญาที่ทำไว้กับนายฮันเตอร์และนายคอฟฟินสิ้นสุดลงเมื่อทั้งคู่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ โดยในช่วง 2 ปีแรก ทั้งคู่ก็ได้รับส่วนแบ่งค่าตอบแทน แต่ก็มีบางครั้งก็ถูกเอาเปรียบด้วย เมื่อเป็นอิสระทั้งคู่ก็เปิดการแสดงเอง และได้แสดงไปทั่วสหรัฐอเมริกา

จนเมื่ออายุได้ 28 ปี ใน พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) ทั้งคู่ก็ได้ลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านแทรปฮิลล์ (Traphill) เขตชานเมืองวิลส์โบโร (Wilkesboro) เคาน์ตีวิลส์ ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยลงทุนซื้อที่ดิน 11 เอเคอร์ พร้อมกับได้เปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนสัญชาติเป็นอเมริกัน โดยมีชื่อว่า เอ็ง-ชาง บังเกอร์ (Eng and Chang Bunker) พร้อมกับได้แต่งงานกับหญิงชาวอเมริกัน อินสมรสกับ Sarah Ann Yates (1822 - 1905) และจันสมรสกับ Adelaide Yates Bunker (1823 - 1917) และมีลูกด้วยกันหลายคน จัน 10 คน อิน 11 คน ซึ่งระหว่างที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตในต่างประเทศนั้น มีความพยายามหลายครั้งจากหลายบุคคลที่จะทำการผ่าตัดแยกร่างทั้งคู่ออกจากกัน แต่ท้ายที่สุดก็มิได้มีการดำเนินการจริง ๆ

 
ครอบครัวของ อิน-จัน กับภรรยาและลูก ๆ

อิน-จัน หันมาทำเกษตรกรรมไร่ฝ้าย โดยซื้อทาสไว้ใช้ทำงานที่ตัวแกเองทำไม่ได้ โดยต่อมามีทาสอยู่ถึง 33 คน ซึ่งนับว่าร่ำรวยพอสมควร เพราะในสมัยนั้นทาสเป็นทรัพย์สินที่มีราคาพอ ๆ กับที่ดิน และในรัฐที่การมีทาสถูกกฎหมาย ก็มีประชากรเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีฐานะพอจะมีทาสไว้ใช้งาน อิน-จันมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาของความขัดแย้งในเรื่องการมีทาสในสังคมอเมริกัน สงครามกลางเมืองอเมริการะเบิดขึ้นใน เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1861 รัฐนอร์ทแคโรไลนาเป็น 1 ใน 11 รัฐ ที่แยกตัวจากสหภาพเพื่อก่อตั้งเป็น สมาพันธรัฐอเมริกา โดยมีเมืองหลวงที่ริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย คริสโตเฟอร์ลูกชายของจัน และสตีเฟน ลูกชายของอิน ต่างเข้าร่วมรบในกองทัพของสมาพันธรัฐ เมื่อสงครามจบลงและฝ่ายสมาพันธรัฐ (ใต้) แพ้สงคราม คู่ฝาแฝดสูญเสียทรัพย์สินของตนเกือบหมด

จากบันทึกที่ได้บันทึกไว้ ระบุว่า จัน (คนน้อง) เป็นคนที่มีอารมณ์ร้อน หุนหันพลันแล่น และชอบดื่มสุราจนเมามาย ขณะที่ อิน (ผู้พี่) กลับมีนิสัยตรงกันข้าม คือ ใจเย็น สุขุมกว่า และไม่ดื่มเหล้า อีกทั้งทั้งคู่เคยทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นชกต่อยกันเองมาแล้วด้วย

จากการที่จันผู้น้องนิยมดื่มเหล้าจนเมามายบ่อย ๆ ทำให้เป็นโรคหลายโรค จนในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2417 จันก็เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย จากนั้นอีกราว 2 ชั่วโมงถัดมา อินก็ได้เสียชีวิตตามไปด้วย ซึ่งจากการชันสูตรและลงความเห็นของแพทย์สมัยใหม่ ระบุว่า อินต้องสูญเสียเม็ดเลือดแดงให้แก่จันที่เสียชีวิตไปแล้ว ผ่านทางเนื้อที่เชื่อมกันที่อก สิริอายุรวม 63 ปี

สิ่งสืบเนื่อง

แก้

อนุสรณ์

แก้

ส่วนตับที่เชื่อมติดกันได้มีการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Mütter ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ส่วนของใช้ส่วนตัวของทั้งคู่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา

ภายหลังได้มีการสร้าง อนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน ที่ ตำบลลาดใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ฝาแฝดสยามอิน-จันที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก

สารคดี

แก้

ในปี พ.ศ. 2534 บริษัทกันตนาได้จัดทำรายการสารคดีของอิน-จัน ขึ้น ในชื่อ "แฝดสยาม" (Siamese twins) จำนวน 26 ตอน ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง 7 สี ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 18.30-19.00 น. โดยมี ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เป็นพิธีกร ธงทอง จันทรางศุ, นัฏฐา ลอยด์ และ ดวงดาว จารุจินดา เป็นผู้ค้นหาร่องรอย โดยสารคดีชุดนี้เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของทั้งคู่ ตั้งแต่เด็กจนถึงเสียชีวิตที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้ที่รับบทอิน-จัน นี้เป็นฝาแฝดที่มีอาชีพมัคคุเทศก์ จึงไม่มีปัญหาในการท่องบทภาษาอังกฤษ

และในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการนำสารคดีชุดนี้มาฉายอีกครั้ง ทางมิราเคิล ในเครือ ไลฟ์ ทีวี ทุกวันอังคารถึงวันศุกร์ เวลา 16.00-16.30 น.

ละครโทรทัศน์ หรือ ซีรีส์

แก้

ในปี พ.ศ. 2562 กันตนา ร่วมกับ ทรู ออริจินัล นำสารคดีแฝดสยาม ที่กันตนาเคยรวบรวมไว้เมื่อ 30 ปีก่อน มาสร้างใหม่ในรูปแบบซีรีส์ 13 ตอน โดยเติมเต็มเรื่องราวชีวิตของ อิน จัน ตอนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ถ่ายทำโดยใช้ฉากที่ศาลายา และจอร์เจีย นำแสดงโดย วรุตม์-วราวุฒิ บราวน์ มารีญา พูลเลิศลาภ คลาวเดีย จักรพันธุ์ เจสัน ยัง อติล่า กานโยซ์ และ ไบรอน บิชอพ กำกับการแสดงโดย กัลป์ กัลย์จาฤก เดิมมีกำหนดออกอากาศทางช่องทรูโฟร์ยู[3] แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาออกอากาศทางดิสนีย์+ ฮอตสตาร์ ประเทศไทย โดยมีกำหนดออกอากาศครั้งแรกในไทย วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564[4] และถือเป็นวาระฉลองครบรอบ 70 ปีกันตนา[5]

อ้างอิง

แก้
  1. Mason, Savannah (January 1, 2001). "Chang and Eng Bunker". Find A Grave Memorial. สืบค้นเมื่อ 9 February 2010.
  2. "Conjoined Twins". University of Maryland Medical Center. January 8, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-06. สืบค้นเมื่อ 9 February 2010.
  3. กลุ่มทรู โดย ทรู ออริจินัล จับมือ กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จัดพิธีบวงสรวงซีรีส์ฟอร์มยักษ์แห่งปี Extraordinary Siamese Story: THE DOUBLE BOYS (อิน – จัน)
  4. ยลโปสเตอร์แรกของ อิน จัน ออริจินัลซีรีส์ไทยบน Disney+ Hotstar บ็อบ-เบ็น-มารีญา นำแสดง
  5. "ทายาทกันตนา รีเมกสารคดี 'อิน จัน' ฝีมือคุณปู่ เป็นซีรีส์ไทยโกอินเตอร์ใน Disney+ Hotstar". The Cloud. 2021-06-30.

หนังสืออ่านเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้