ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก
ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก (16 มีนาคม 2470 - 11 เมษายน 2540) เป็นนักประพันธ์, ผู้กำกับการแสดง ผู้อำนวยการผลิต ผู้อำนวยการแสดง ผู้ผลิตละครวิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุและโทรทัศน์ นักร้อง นักแต่งเพลงนักพากย์ ชาวไทยและผู้ก่อตั้งบริษัทกันตนา
ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก | |
---|---|
เกิด | 16 มีนาคม พ.ศ. 2470 พงษ์จันทร์ กัลย์จาฤก จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 11 เมษายน พ.ศ. 2540 (70 ปี) |
บิดา | วีระ กัลย์จาฤก |
มารดา | ทองคำ กัลย์จาฤก |
คู่สมรส | สมสุข กัลย์จาฤก |
อาชีพ | ผู้ก่อตั้งบ.กันตนา, นักประพันธ์, ผู้กำกับการแสดง, ผู้อำนวยการผลิต, ผู้อำนวยการแสดง, ผู้ผลิตละครวิทยุ, โทรทัศน์ และภาพยนตร์, นักแสดงละครวิทยุและโทรทัศน์ นักร้อง, นักแต่งเพลง นักพากย์ |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2486 - พ.ศ. 2540 |
ผลงานเด่น | ละครวิทยุ: หญิงก็มีหัวใจ(2501) ภาพยนตร์: ผีพยาบาท(2503), เพชรตาแมว(2515), กาเหว่าที่บางเพลง(2537) ละครโทรทัศน์: บาปบริสุทธิ์(2523) |
ประวัติ
แก้ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เจ้าของฉายา "ราชาโลกบันเทิง"[1][2][3][4] เกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2470 เป็นทายาทคนสุดท้องต่อจากดวงแข จำนง ศศี และเพ็ญแข ของนายวีระและนางทองคำ กัลย์จาฤก และเป็นบุตรบุญธรรมของขุนพิทักษ์และภรรยา[1] เดิมมีชื่อว่า พงษ์จันทร์ เพื่อให้สอดคล้องกับ จำนง ผู้เป็นพี่ชายแต่ในภายหลังได้เป็น ประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2485 ตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม[5] นอกจากจะเป็นที่รู้จักในฐานะ นักพากย์ นักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการแสดง ผู้ผลิตและผู้อำนวยการผลิตละครวิทยุ, โทรทัศน์และภาพยนตร์แล้ว ท่านยังเป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมายอาทิ แฝดล่องหน ปะการังสีดำ ห้องหุ่น ปอบผีฟ้า สุสานคนเป็น คนตาทิพย์ และ เพชรตาแมว เป็นต้น [6][1] แต่ที่สำคัญท่านเป็นผู้ก่อตั้งกันตนา (บ.กันตนา กรุ๊ปในปัจจุบัน) ร่วมกับภรรยาสมสุข กัลย์จาฤก[1][7] ซึ่งมีบุตรด้วยกันรวม 5 คนคือ สิทธานต์ กัลย์จาฤก (เสียชีวิตแล้ว) จาฤก กัลย์จาฤก ปนัดดา ธนสถิตย์ อธิการบดี ประธานคณะกรรมการสถาบันกันตนานิรัตติศัย กัลย์จาฤก(เสียชีวิตแล้ว) และจิตรลดา ดิษยนันทน์[1]
การเข้าสู่วงการบันเทิง
แก้ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงในปี พ.ศ. 2486 ด้วยการเป็นนักร้องในวง ศิลปจาฤก ที่เริ่มเดินสายเปิดการแสดงต่างจังหวัดของพี่สาวเพ็ญแข ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินนักร้องนักแสดงในตอนนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 เมื่อเพ็ญแข กัลย์จาฤกกลับไปยึดการแสดงละครร้องประจำที่เวิ้งนครเขษมและศาลาเฉลิมไทย ประดิษฐ์ก็ตามไปร้องเพลงสลับฉากและเริ่มเป็นนักแสดงที่นั่นด้วยการรับบท 'ทหารยืนเสา' ต่อมาเขาก้าวไปรับจ้างพากย์หนังกลางแปลงให้บริษัทเอเซียภาพยนตร์ ซึ่งในตอนนั้นมีนายเอิบ กันตถาวรเป็นผู้จัดการอยู่ การได้พบและร่วมงานกับนายเอิบจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของงานละครวิทยุและจุดกำเนิดของชื่อ กันตนา ในเวลาต่อมา หลังจากเป็นนักพากย์ได้ไม่นาน ครูเอิบชอบใจในน้ำเสียงที่กังวานจึงชวนให้ประดิษฐ์มาเล่นละครเป็นพระเอกให้คณะกันตถาวร[1]
บิดาผู้ให้กำเนิดกันตนา
แก้ในขณะที่ประดิษฐ์เล่นละครอยู่กับคณะกันตถาวรนั่นเองที่เขาได้พบรักกับสมสุข อินทรทูต (สินสุข) และทั้งคู่ได้สมรสกันเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 และในช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงที่ผงซักฟอกแฟ้บและยาสีฟันคอลเกตเริ่มบุกตลาดเมืองไทยใหม่ๆ ซึ่งทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุอย่างมาก ส่งผลให้กิจการวิทยุไทยเริ่มรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก[8] ครูเอิบจึงสนับสนุนให้ประดิษฐ์ก่อตั้งคณะละครวิทยุขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง ในปีพ.ศ. 2494 กันตนา จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในวงการบันเทิงเมืองไทย[1]
ผลงาน
แก้'หญิงก็มีหัวใจ' ของคณะกันตนาจากบทประพันธ์ของประดิษฐ์ กัลย์จาฤก และบทละครวิทยุโดย กุสุมา สินสุข (นามปากกาของภรรยาที่ประดิษฐ์ตั้งให้) เป็นละครวิทยุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเป็นจุดเรื่ามต้นของการก้าวสู่งานด้านละครโทรทัศน์ของกันตนา ด้วยการนำเอา 'หญิงก็มีหัวใจ' มาทำเป็นละครโทรทัศน์ ออกอากาศทาง ททบ.7 ขาวดำ (ช่อง5 ปัจจุบัน)[1]
'ผีพยาบาท' เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของกันตนาในการเริ่มก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2503 หลังจากนั้นกันตนากลายเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ ผลิตภาพยนตร์ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องอาทิ ลูกกรอก และเพชรตาแมว นอกจากนั้นบทละครวิทยุของกันตนาอีกหลายต่อหลายเรื่องก็ถูกซื้อเพื่อนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์โดยผู้ผลิตภาพยนตร์และละครโทรทัศน์อีกหลายราย [9]
ปี พ.ศ. 2519 ประดิษฐ์และสมสุข ก่อตั้ง "คณะส่งเสริมศิลปิน" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหน้าใหม่ใด้เข้ามาผลิตละครทางเลือกใหม่แนวสร้างสรรค์สังคม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 คณะส่งเสริมศิลปินมีผลงานละครหลายเรื่องที่โดดเด่น โดยเฉพาะละครชุดเรื่อง '38 ซอย 2' และ 'บาปบริสุทธิ์' ที่กลายเป็นตำนานในประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย[9][8]
ปี พ.ศ. 2523 ประดิษฐ์ก่อตั้งบริษัท กันตนา วีดีโอ โปรดักชั่น จำกัด และดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท[10] บุกเบิกริเริ่มการผลิตละครโทรทัศน์ และโฆษณา ด้วยระบบ วิดีโอ และนอกจากนั้นยังเป็นบริษัทแรกที่ผลิตสารคดีสั้นที่มีความยาว 1-3 นาทีเรื่องแรกๆของวงการโทรทัศน์ไทยคือสารคดีเรื่อง 'โลกกว้างทางแคบ' ชุด 'เรื่องกินเรื่องใหญ่'[11]
เพื่อรองรับการขยายธุรกิจบันเทิง รวมไปถึงธุรกิจการผลิตสปอตโฆษณาด้วยระบบวิดีโอ จึงมีการก่อสร้างสำนักงานบริษัทกันตนา ณ ถนนรัชดาภิเษก ในปี พ.ศ. 2527 พร้อมกันกับบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท[9]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 เปิดตัวบริษัท กันตนา โมชั่นพิคเจอร์ หรือ กันตนาภาพยนตร์ โดยสร้าง "แม่เบี้ย" เป็นภาพยนตร์ประเดิมบริษัท ต่อด้วยเรื่อง วิมานมะพร้าว และเปิดมิติใหม่ให้วงการภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2536 ด้วยภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์แฝงปรัชญา จากผลงานกำกับการแสดงของบุตรชายคนเล็ก นิรัตติศัย กัลย์จาฤก เรื่อง กาเหว่าที่บางเพลง ซึ่งเป็นภาพยนตร์ใช้ทุนสร้าง 50 ล้านบาทจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสร้างความภูมิใจให้แก่ประดิษฐ์เป็นอย่างมาก[1][9]
ปี พ.ศ. 2533 บริษัท กันตนา จำกัด ร่วมกับบริษัท โตเอะ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท กันตนาแอนิเมชั่น ขึ้นเพื่อผลิตงานแอนนิเมชั่นป้อนตลาดทั้งในประเทศและระดับสากล[11]
ปี พ.ศ. 2534 ผลิตสารคดีแฝดสยาม รายการโทรทัศน์สารคดีกึ่งละคร (Docu-drama) ความยาว 26 ตอน นำเสนอชีวประวัติของอิน-จัน แฝดสยามที่มีตัวติดกันส่วนหน้าอก ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยประดิษฐ์ กัลย์จาฤก เป็นผู้ดำเนินรายการในสตูดิโอ รศ.ธงทอง จันทรางศุ , นัฎฐา ลอยด์ เป็นผู้ค้นหาร่องรอยในสหรัฐอเมริกา และ ดวงดาว จารุจินดา เป็นผู้ค้นหาร่องรอยในประเทศไทย โดยได้รับรางวัลเมขลา ประเภทสารคดีเชิงอัตชีวประวัติดีเด่น และ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ประเภทสารคดีบันทึกเหตุการณ์เรื่องยาวดีเด่น ประจำปี 2534 ต่อมา กันตนาได้ผลิตสารคดีต่อเนื่องในขณะเดียวกันอีกหลายเรื่อง อาทิ เสรีไทย คนจีนบนแผ่นดินสยาม และภาพแรกในชีวิต
รางวัลเกียติยศ
แก้ตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก ได้เป็นผู้บุกเบิกอยู่ในวงการบันเทิงไทยเขาได้รับรางวัลเกียติยศถึง 16 รางวัลจากการทุ่มเทให้กับครอบครัวและการสร้างสรรค์สาระบันเทิง รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆอีกมากมาย ในปี พ.ศ. 2526 ประดิษฐ์ ได้รับรางวัลสื่อมวลชนแคทอลิกแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตรายการสร้างสรรค์ดีเด่นและทรงคุณค่าต่อสังคมไทย โดยได้รับพระราชทานรางวัลจากพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลสังข์เงิน โดยสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สาขาวิทยุโทรทัศน์ ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร) สาขาศิลปและการช่างฝีมือ จากนั้น
เมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลเมขลาเกียรติยศ ในฐานะบุคคลสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่งวงการโทรทัศน์
และนอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2539 ประดิษฐ์ยังได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยุและโทรทัศน์ จากสถาบันราชภัฏสวนดุสิต อีกด้วย[1]ประดิษฐ์กล่าวว่าเขาประสบความสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติตามบัญญัติ 9 ประการคือ "รักเกียรติ มั่นคง ตรงเวลา สามัคคี มีสัจจะ มานะอดทน สนงาน สร้างสรรค์ และมนุษย์สัมพันธ์พอสมควร"[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 'เส้นทางชีวิต ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก' , อนุสรณ์งาน พระราชทานเพลิงศพนายประดิษฐ์ กัลย์จาฤก, 2540
- ↑ 'King of Entertainment', ผู้จัดการรายสัปดาห์, ปีที่ 7, ฉบับที่ 348
- ↑ 'เจ้าพ่อวงการโทรทัศน์', เดลินิวส์, 12 เมษายน 2540
- ↑ 'Thai Show Business Giant', Bangkok Post, May 14,1996
- ↑ จากบทสัมภาษณ์ในรายการ สี่ทุ่มสแควร์ เมื่อปี พ.ศ. 2536
- ↑ '60 ปีกันตนา 60 บทประพันธ์คัดสรร ประดิษฐ์ -สมสุข กัลย์จาฤก', กรุงเทพฯ, บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด, 2555
- ↑ ประวัตินิรัตติศัย กัลย์จาฤกที่ Nangdee.com
- ↑ 8.0 8.1 ""กันตนา" เก้าอี้สามขาในโลกธุรกิจบันเทิงตราบเท่าที่ยังเข้าใจโลกของการเปลี่ยนแปลง.…THE SHOW MUST GO ON". นิตยสารผู้จัดการ. December 1986. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-22. สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 "62 ปี 'กัลย์จาฤก' ได้เวลาเจเนเรชั่น 3". ผู้จัดการสุดสัปดาห์ โดย ผู้จัดการรายวัน. August 2003. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 10.0 10.1 "ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก กับ บัญญัติ 9 ประการในชีวิต". นิตยสารผู้จัดการ. December 1986. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.
- ↑ 11.0 11.1 อรวรรณ บัณฑิตกุล (July 2003). "52 ปีกันตนากรุ๊ป". นิตยสารผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-22. สืบค้นเมื่อ 31 October 2017.