หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรี จันทรสถิตย์)
ศาสตราจารย์พิเศษ อินทรี จันทรสถิตย์ หรือ หลวงอิงคศรีกสิการ (14 กันยายน พ.ศ. 2442 - 1 มกราคม พ.ศ. 2532) เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัย อดีตอธิบดีกรมเกษตร และเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร
อินทรี จันทรสถิตย์ | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ | |
ดำรงตำแหน่ง 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520 | |
นายกรัฐมนตรี | ธานินทร์ กรัยวิเชียร |
ก่อนหน้า | พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร |
ถัดไป | ปรีดา กรรณสูต |
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | |
ดำรงตำแหน่ง 15 เมษายน พ.ศ. 2501 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2508 | |
ก่อนหน้า | หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ |
ถัดไป | หม่อมหลวงชูชาติ กำภู |
ดำรงตำแหน่ง 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 – 30 เมษายน พ.ศ. 2512 | |
ก่อนหน้า | หม่อมหลวงชูชาติ กำภู |
ถัดไป | พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ |
อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ | |
ดำรงตำแหน่ง กรกฎาคม พ.ศ. 2479 – ตุลาคม พ.ศ. 2479 | |
ก่อนหน้า | พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) |
ถัดไป | พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 14 กันยายน พ.ศ. 2442 อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี |
เสียชีวิต | 1 มกราคม พ.ศ. 2532 (89 ปี) เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร |
คู่สมรส | สำเนียง อิงคศรีกสิการ |
ประวัติ
แก้อินทรี จันทรสถิตย์ เดิมมีชื่อว่า เอี้ยง จันทรสถิตย์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2442 ที่ตำบลเตาปูน อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของนายอุ่น และนางเหม จันทรสถิตย์ ท่านสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมจากโรงเรียนวัดคฤหบดี และระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งท่านได้รับบรรจุเป็นครูฝึกหัดสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาการเกษตรจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ลอส บันยอส และปริญญาโทในสาขาการเกษตรจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล โดยได้รับทุนรัฐบาลไทยในการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งท่านเป็นคนแรกของประเทศไทยที่จบปริญญาโททางการเกษตรในต่างประเทศ
ภายหลังจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2466 ท่านได้เข้ารับราชการครูสังกัดกระทรวงธรรมการ โดยเป็นครูโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมพระประโทน จังหวัดนครปฐม ก่อนจะย้ายไปประจำหลายแห่ง โดยไปที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ. 2467 พร้อมกับได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอิงคศรีกสิการ ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมทับกวาง จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2470 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2471 ดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์หัวหน้าคณะที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2473 และดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ใหญ่ประจำโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาในปี พ.ศ. 2477
ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลได้ทำการยุบโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ท่านได้โอนราชการจากกระทรวงธรรมการไปสังกัดกรมเกษตรและการประมง โดยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ ในช่วงเวลาดังกล่าวท่านมีบทบาทในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2582 และได้ขอพระบรมราชานุญาตให้ถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ในปี พ.ศ. 2485 โดยใช้ชื่อและนามสกุลว่า อินทรี จันทรสถิตย์ และได้เป็นอธิบดีกรมเกษตรในเวลาต่อมา ก่อนจะลาออกจากราชการในปี พ.ศ. 2499 และเข้ารับราชการใหม่ในปี พ.ศ. 2501 เพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในภายหลังได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในปี พ.ศ. 2512 นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2515 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[1] ในปี พ.ศ. 2519
อินทรี จันทรสถิตย์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2532 ในระหว่างการรักษาโรคความดันต่ำ ณ โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ 89 ปี
ผลงาน
แก้ด้านการเกษตร
แก้อินทรี จันทรสถิตย์ได้ดำรงตำแหน่งทางราชการที่สำคัญและได้ส่งเสริมการเกษตรให้กับเกษตรกรตลอดที่ได้ทำงานราชการ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่พื้นเมืองและนำเข้าพืชพรรณต่าง ๆ จากต่างประเทศมาเผยแพร่ เช่น ดอนย่า ต้นอินทนิลสีชมพู นุ่นพันธุ์โต มะรุมผักยาว พู่จอมพล เป็นต้น ท่านริเริ่มส่งเสริมการผลิตใบยายาสูบ ขยายงานส่งเสริมการเกษตรในระดับภาคให้มีหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรในส่วนภูมิภาค และได้พัฒนาปรับปรุงพืชพันธุ์เพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร เช่น การต่อตาพันธุ์ทุเรียนที่ใกล้สูญพันธุ์จากเหตุการณ์น้ำท่วมของจังหวัดนนทบุรีในปี พ.ศ. 2485 รวมถึงส่งเสริมกิจการการประมงโดยจัดสรรที่ดินให้กรมประมงและส่งเสริมโครงการบำรุงพันธุ์ปลาแบบประชาอาสาขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองอุตสาหกรรมพืชพรรณ ภายหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้พัฒนางานทางด้านการเกษตรในมหาวิทยาลัยด้วยการทดลองปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมด้านวิชาการ เช่น จัดพิมพ์วิทยาสารเกษตรศาสตร์ จัดประชุมวิชาการเกษตรในงานวันสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดตั้งยุวกสิกร เป็นต้น
ด้านการศึกษา
แก้อินทรี จันทรสถิตย์ได้ริเริ่มพัฒนาการเรียนการสอนและวางรากฐานการศึกษาทางการเกษตรให้กับประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาอาคารสถานที่ของสถานศึกษาเพื่ออำนวยการเรียนการสอน เช่น การก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมโนนวัด จังหวัดนครราชสีมาขณะที่ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ การก่อสร้างสถานีเกษตรกลางบางเขนซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อใช้พัฒนามหาวิทยาลัย จัดตั้งคณะใหม่ ๆ และพัฒนาอาคารสถานที่ให้พอเพียงกับการเรียนการสอนและการวิจัยในมหาวิทยาลัย ซึ่งท่านได้ริเริ่มให้มีการตั้งชื่ออาคารของมหาวิทยาลัยตามชื่อบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการเกษตร รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมนิสิตและก่อตั้งสมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย
การเชิดชูเกียรติ
แก้ปริญญากิตติมศักดิ์
แก้- ปริญญากสิกรรมและสัตวบาลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2508
- ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2522
- ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527
สถานที่
แก้- อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สร้างอนุสาวรีย์ศาสตราจารย์พิเศษอินทรี จันทรสถิตย์ เนื่องในวาระการครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับอนุสาวรีย์หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ และอนุสาวรีย์พระช่วงเกษตรศิลปการ โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ตั้งอยู่หน้าอาคารสถาบันเกษตราธิการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ถนนจันทรสถิตย์ เป็นชื่อถนนภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจุดเริ่มตั้งแต่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรจนถึงแยกประตูงามวงศ์วาน 1
- สนามอินทรีจันทรสถิตย์ ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2508 เป็นสนามกีฬากลางแจ้งเพื่อใช้เป็นที่แข่งขันกีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วยสนามฟุตบอลและกรีฑา และสนามวอลเลย์บอลชายหาด
- อาคารอินทรีจันทรสถิตย์ หรือ ศูนย์เรียนรวม 1 เป็นอาคารศูนย์เรียนรวมหลังแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2508 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2505 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2511 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[4]
- พ.ศ. 2485 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
อ้างอิง
แก้- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๑๗ ราย)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๔๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๔๗๙, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕
- ฐานข้อมูลบูรพาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2017-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน