หม่อมซ่มจีน ราชานุประพันธ์
หม่อมซ่มจีน ราชานุประพันธ์ หรือบางแห่งสะกดว่า ส้มจีน (เสียชีวิต เมษายน พ.ศ. 2454) เป็นภรรยานางหนึ่งของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) เธอเป็นนักร้องหญิงผู้ขับเพลงได้ไพเราะ เสียงสูง มีลีลาการเอื้อนละเอียดชัดเจนหมดจด แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรด ทั้งยังทรงเขียนชมเชยน้ำเสียงของเธอ[2] หม่อมซ่มจีนเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องหญิงสยามคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกลงแผ่นเสียง ช่วงก่อน พ.ศ. 2449[3] นอกจากนี้เป็นที่รู้จักในฐานะหญิงผู้มีฝีมือในการประกอบอาหาร เพราะเป็นผู้เรียบเรียงตำราอาหารเล่มแรกของไทย คือ ตำรากับเข้า ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2433[4]
หม่อม[a] ซ่มจีน ราชานุประพันธ์ | |
---|---|
เกิด | ราว พ.ศ. 2400–2405 |
เสียชีวิต | ราวเมษายน พ.ศ. 2454 จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม |
สัญชาติ | สยาม |
ชื่ออื่น | ส้มจีน |
อาชีพ | นักร้อง, แม่ครัว |
คู่สมรส | พระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) |
อาชีพทางดนตรี | |
แนวเพลง | ไทยเดิม |
เครื่องดนตรี | เสียงร้อง |
หม่อมซ่มจีนถือเป็นนักร้องที่โด่งดังยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3][5] และเป็นครูเพลงผู้ทรงอิทธิพลมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้แต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แนวทางการขับร้องอย่างหม่อมซ่มจีนยังตกทอดไปยังนักร้องรุ่นหลังคือ ท้วม ประสิทธิกุล และอุสา สุคันธมาลัย ที่มีลีลาการร้องแบบเดียวกับหม่อมซ่มจีน[3]
ประวัติ
แก้ชีวิตตอนต้นและการสมรส
แก้ประวัติช่วงต้นของหม่อมซ่มจีนไม่เป็นที่กล่าวถึงนัก ไม่มีข้อมูลของบิดามารดาผู้ให้กำเนิด จากการสอบถามของพูนพิศ อมาตยกุล คาดว่าหม่อมซ่มจีนน่าจะเกิดช่วง พ.ศ. 2400–2405 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่เรือนของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) ที่คลองซอยในคลองบางไส้ไก่ซึ่งขึ้นกับตำบลคลองบางหลวงตั้งแต่ยังเยาว์[2] แต่เพราะมีเสียงดี จึงมีโอกาสได้ร้องเพลงตามเรือนของขุนนางสกุลบุนนาค จนมีชื่อเสียงในเชิงขับร้องเป็นอันมาก[5] ภายหลังจึงมีผู้เชื้อเชิญหม่อมซ่มจีนไปเป็นครูสอนขับร้อง หรือขับเพลงตามวังต่าง ๆ[2][3] หม่อมซ่มจีนมีสหายคนสนิทคือ หม่อมสุด บุนนาค กับหม่อมเพื่อน บุนนาค เป็นอนุภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ทั้งคู่[6]
หม่อมซ่มจีนเข้าเป็นภรรยานางหนึ่งของพระยาราชานุประพันธ์ (สุดใจ บุนนาค) บุตรชายของเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ที่เกิดกับคุณหญิงสุ่น อดีตภรรยาเอก[7][8] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งเขาเข้าเรียนจนสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ[9] พระยาราชานุประพันธ์กับหม่อมซ่มจีนไม่มีบุตรด้วยกัน แต่ชีวิตสมรสของเธอไม่สู้ดีนัก เพราะสามีมีภรรยาหลายคน ซ้ำยังเป็นผีพนันทำให้สถานะทางการเงินของครอบครัวย่ำแย่ลง สุดท้ายพระยาราชานุประพันธ์ได้ต้องพระราชอาญาและถูกถอดยศ หม่อมซ่มจีนจำต้องออกหาเงินเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเธอยังรักและเคารพในตัวสามีอยู่มาก เธอเรียกสามีของตัวว่า "ท่านผู้นั้น" ไม่เรียก "เจ้าคุณ" เพราะถูกถอดยศไปแล้ว[2]
เสียชีวิต
แก้เมื่อคราวพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2454 หม่อมซ่มจีนได้ถวายตัวเข้าไปช่วยงานให้แก่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (เรียกโดยย่อว่า พระอัครชายา ตามตำแหน่งในขณะนั้น) ภายในพระบรมมหาราชวังด้านงานครัวและการร้อยดอกไม้ โดยทำติดต่อกันเป็นประจำทุกวันและพักอาศัยอยู่ในเขตพระตำหนักของกรมพระสุทธาสินีนาฏ กระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2454 หม่อมซ่มจีนป่วยด้วยอหิวาตกโรค ถ่ายท้องอย่างรุนแรง เพียงคืนเดียวก็มีอาการเพียบหนัก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 ได้ตามหม่อมเพื่อน บุนนาค ซึ่งเป็นสหายคนสนิทของหม่อมซ่มจีน มารับตัวออกไปจากพระบรมมหาราชวัง ครั้นออกไปอยู่กับหม่อมเพื่อนได้เพียงวันเดียว หม่อมซ่มจีนก็ถึงแก่กรรมในวัย 50 ปีโดยประมาณ[2][3][10]
การทำงาน
แก้การขับร้อง
แก้เมื่อหม่อมซ่มจีนเข้าไปอาศัยในเรือนของพระยาราชานุประพันธ์ ได้เรียนขับร้องที่นั่น โดยเริ่มต้นจากเพลงละคร 2 ชั้น และต่อเพลงอัตรา 3 ชั้นกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) จนได้รับการยกย่องว่าเป็นคนร้องเพลงสามชั้นที่ดีมากคนหนึ่ง จากนั้นเธอได้เข้าไปร้องเพลงในวังบูรพาภิรมย์[2][10]
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา โปรดเกล้าฯ ให้พระยาประสานดุริยศัพท์ไปสอนดนตรี กับหม่อมซ่มจีนไปสอนขับร้อง แก่ข้าหลวงในพระตำหนักภายในพระบรมมหาราชวัง ช่วง พ.ศ. 2440–2446[2][5] ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ใน พ.ศ. 2447 พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงตั้งวงมโหรีหญิงขึ้น โดยมีขุนเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เป็นผู้ควบคุม แต่ทว่าไม่มีครูสอนขับร้องเพลง 3 ชั้น กรมพระสุทธาสินีนาฏจึงขอยืมตัวหม่อมซ่มจีนไปเป็นครูสอนขับร้องภายในพระราชวังดุสิต หม่อมซ่มจีนได้เป็นครูของนักร้องหลายคน เช่น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5 คุณหญิงเยี่ยม รามบัณฑิตสิทธิเศรณี (สกุลเดิม ณ นคร) และท้วม ประสิทธิกุล ส่วนศิษย์ที่เป็นชายมีคนหนึ่งชื่อ ขุนลิขิตสุนทร (หยิน) เป็นนักร้องประจำแตรวงกองทัพเรือ[2][10]
หม่อมซ่มจีนมีความสนิทสนมกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เพราะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เล่นดนตรีด้วยกันเป็นประจำ รวมทั้งเข้าออกวังบูรพาภิรมย์อยู่บ่อย ๆ หม่อมซ่มจีนจึงได้มีโอกาสบันทึกเสียงลงกระบอกเสียงร่วมกับพระยาประสานดุริยศัพท์ และหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ถือว่าเป็นหญิงสยามคนแรกที่บันทึกเสียงลงกระบอกเสียงแบบเอดิสัน ต่อมาได้บันทึกเป็นจานเสียงกับบริษัท International Talking Machine เป็นแผ่นเสียงโอเดี้ยนตราตึกจำนวนมาก ปรากฎบนหน้าแผ่นเสียงว่า ใช้พิณพาทย์ วงนายแปลก นายสอน ซึ่งก็คือวงของวังบูรพาภิรมย์ เพลงที่บันทึกไว้มี ตับนางลอย เขมรใหญ่ 3 ชั้น ลมหวน 3 ชั้น มโหรีตับแขกมอญ มาลีหวน 3 ชั้น แสนเสนาะ 3 ชั้น บุหลัน 3 ชั้น ใบ้คลั่ง 3 ชั้น ต่อมา พ.ศ. 2452 หม่อมซ่มจีนได้อัดแผ่นเสียงรุ่นหลังสุดกับบริษัทพาโลโฟนและแผ่นเสียงตรารามสูร-เมขลา ชุดนี้มีมโหรี ตับทะแย ต่อยรูป 3 ชั้น การเวก 3 ชั้น ลมหวน 3 ชั้น ชมดงนอก แขกมอญ 3 ชั้น ทยอยนอก 3 ชั้น สี่บท 3 ชั้น เชิดจีน บุหลัน 3 ชั้น จระเข้หางยาว เป็นอาทิ โดยขับร้องร่วมกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งของพระยาประสานดุริยศัพท์มาโดยตลอด[11] หม่อมซ่มจีนจึงได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับการขับร้องเพลง 3 ชั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2][3][10] งานบันทึกเสียงในสมัยนั้น ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าในการบันทึก เมื่อบันทึกผิดพลาดไปก็เข้าไปแก้ไขไม่ได้ จึงพบข้อผิดพลาดในการบันทึกเสียง เช่น เสียงร้องหรือเสียงดนตรีขาดหายไป อันเป็นลักษณะของการบันทึกเสียงในสมัยโบราณ[5]
หม่อมซ่มจีนเป็นนักร้องที่มีกระแสเสียงสูง เมื่อฟังไกล ๆ โดยไม่มีไมโครโฟน เสียงของเธอยังไพเราะไปได้ไกล เมื่อขับร้องกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เสียงของหม่อมซ่มจีนจะลอยขึ้นมาเหนือเสียงปี่พาทย์ทำให้ไพเราะน่าฟังยิ่ง[5] จากการศึกษาของจตุพร สีม่วง (2561) พบว่า ลักษณะการร้องจะเน้นความเจิดจ้าของเสียงร้อง แต่ขาดความชัดแจ้งในการเอื้อน ต้องใช้กำลังมากเพราะใช้เสียงสูง และต้องร้องแข่งกับเสียงวงปีพาทย์ มีการเอื้อนตามทำนองหลัก และการร้องแบบคำร้องและเอื้อนผสมกันไป[12] หม่อมซ่มจีนได้กลายเป็นนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง เธอได้รับการยกย่องด้านสามารถในการร้องเพลง 3 ชั้นโดยทั่วกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดหม่อมซ่มจีนว่าร้องเพลงดีและทรงคุ้นเคย ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่ฮัมบวร์คใน พ.ศ. 2450 ได้มีผู้ส่งแผ่นเสียงของหม่อมซ่มจีนชุดหนึ่งทูลเกล้าถวายให้พระเจ้าอยู่หัวสดับ ทรงบันทึกข้อความลงในพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน ตอนหนึ่งไว้ว่า "มีเพลงแสนเสนาะนั้น เพลงหนึ่ง ยายส้มจีนร้อง"[3] สอดคล้องกับคำกล่าวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ทรงเล่าไว้ว่า "หม่อมส้มจีนมีเสียงเล็กแหลมดัง ร้องเพลงหมดจด ชัดถ้อยชัดคำ ลีลาการเอื้อนละเอียดละออหมดจด..."[3]
การประกอบอาหาร
แก้หม่อมซ่มจีนได้เรียบเรียงตำราอาหารชื่อ ตำรากับเข้า ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ร.ศ. 109 ตรงกับ พ.ศ. 2433 เธอชี้แจงจุดประสงค์ของการตีพิมพ์หนังสือนี้ว่า "เรียบเรียงขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจในการหุงต้ม จะได้เป็นแนวทางรู้วิธีที่จะใช้ในครัวไทย ๆ เรานี้โดยง่าย" เนื้อหาส่วนใหญ่มักนำเสนอกับข้าวประเภทแกงต่าง ๆ เช่น มาซะแมนเนื้อโค (แกงมัสมั่นเนื้อ) แกงกะหลี่ไก่ (แกงกะหรี่) แกงเผ็ดไก่ ต้มยำ ต้มโพล้ง ฉู่ฉี่ และในหลายรายการมักจะมีเนื้อสัตว์ป่าเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น แย้ อ้น ตะพาบน้ำ สุกรป่า กบ จังกวด หรือนกเป็ดน้ำ เช่น แกงบวนนกเป็ดน้ำ ต้มยำปลาไหลสด แกงคั่วส้มตะพาบน้ำ แกงคั่วอ้น และยำแย้ เป็นต้น[13] โดยเฉพาะ แกงคั่วส้มเนื้อหมูกับปลิงทะเล มีการระบุว่าสามารถใส่หนังแรดเคี่ยวจนเปื่อยแทนปลิงทะเลได้ โดยอธิบายไว้ว่า "มีรสแปลกไปได้อีกรสหนึ่ง"[14] เข้าใจว่าหม่อมซ่มจีนคงมีความถนัดในอาหารประเภทนี้[13]
T. K. Hanuman และเปรม สวนสมุทร กล่าวว่าตำราอาหารของหม่อมซ่มจีน น่าจะเป็นหนังสือคู่มือการประกอบอาหารที่สมบูรณ์ ตีพิมพ์ก่อนหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ และ ปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม ถือเป็นตำราอาหารรวมเล่มเล่มแรกของไทย และเป็นหนังสือหายาก ไม่ได้ตีพิมพ์บ่อยครั้งอย่าง แม่ครัวหัวป่าก์ โดยตำรากับเข้าของหม่อมซ่มจีนนี้มีการให้รายละเอียดวัตถุดิบ เครื่องปรุง และกรรมวิธีได้ชัดเจน มีการชี้แจงเป็นขั้นตอน ผู้อ่านสามารถทำตามได้โดยง่าย[13] รวมทั้งเป็นสิ่งสะท้อนรสนิยม ความหลากหลายของอาหาร และภูมิปัญญาของผู้คนในยุคสมัยนั้น[15]
ในบั้นปลาย หม่อมซ่มจีนได้ถวายตัวเข้าไปช่วยงานให้แก่พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาภายในพระบรมมหาราชวังด้านงานครัวและการร้อยดอกไม้ใน พ.ศ. 2454 ก่อนเสียชีวิตลงหลังจากนั้นด้วยอหิวาตกโรคในปีเดียวกันนั้นเอง[2][3][10]
เชิงอรรถ
แก้- ↑ "หม่อม" เป็นคำนำหน้าสตรีที่เป็นอนุภรรยาของขุนนางชั้นเจ้าพระยาและพระยาชั้นผู้ใหญ่ ครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตราพระราชกฤษฎีกาคำนำหน้าสตรี พ.ศ. 2460 คำว่าหม่อมสำหรับภรรยาขุนนางเป็นอันยกเลิกไป[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ เล็ก พงษ์สมัครไทย. "คำว่า หม่อม ใช้มาตั้งแต่เมื่อใด? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 Jul 2022.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "หม่อมส้มจีน (พ.ศ. ๒๔๐๐-๒๔๕๔)". หอสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 26 Jul 2022.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 ""หม่อมส้มจีน" นักร้องสตรีไทยคนแรกที่ได้รับเลือกให้อัดแผ่นเสียง". ศิลปวัฒนธรรม. 29 Dec 2020. สืบค้นเมื่อ 26 Jul 2022.
- ↑ ภาสพงษ์ ผิวพอใช้ (เมษายน 2564). คำแสดงโภชนลักษณ์ในตำราอาหารไทย : ศึกษาใน "ตำรากับเข้า" ของหม่อมซ่มจีน ราชานุประพันธ์. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ (6:4). หน้า 451
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "ตอนที่ 87 หม่อมส้มจีน ราชานุประพันธ์ บุนนาค เพลงแสนเสนาะ 3 ชั้น". หอสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 26 Jul 2022.
- ↑ "หม่อมสุด บุนนาค (ไม่ทราบปีที่เกิด และปีที่ถึงแก่กรรม)". หอสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 29 Jul 2022.
- ↑ "สายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 4 สายเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-22. สืบค้นเมื่อ 27 Jul 2022.
- ↑ ภาวิณี บุนนาค. รักนวลสงวนสิทธิ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563, หน้า 155-160
- ↑ "บทที่ 7 สาเหตุการรับอิทธิพลจากวรรณคดีตะวันตก" (PDF). ห้องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นเมื่อ 27 Jul 2022.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 "หม่อมส้มจีน บุนนาค". อุทยานการเรียนรู้. สืบค้นเมื่อ 26 Jul 2022.[ลิงก์เสีย]
- ↑ จตุพร สีม่วง (ตุลาคม–ธันวาคม 2561). คีตศิลปินหญิงราชสำนักจากแผ่นเสียงโบราณ (PDF). วารสารครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (46:4). p. 68. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-28.
- ↑ จตุพร สีม่วง (ตุลาคม–ธันวาคม 2561). คีตศิลปินหญิงราชสำนักจากแผ่นเสียงโบราณ (PDF). วารสารครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (46:4). p. 74. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-29. สืบค้นเมื่อ 2022-07-28.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 ภาสพงษ์ ผิวพอใช้ (เมษายน 2564). คำแสดงโภชนลักษณ์ในตำราอาหารไทย : ศึกษาใน "ตำรากับเข้า" ของหม่อมซ่มจีน ราชานุประพันธ์. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ (6:4). หน้า 453
- ↑ "ประวัติศาสตร์ปากว่าง: เปิดเมนูพิสดาร ที่ทำสัตว์ป่าสยามเกือบสูญพันธุ์". Voice TV. 19 Aug 2019. สืบค้นเมื่อ 28 Jul 2022.
- ↑ ภาสพงษ์ ผิวพอใช้ (เมษายน 2564). คำแสดงโภชนลักษณ์ในตำราอาหารไทย : ศึกษาใน "ตำรากับเข้า" ของหม่อมซ่มจีน ราชานุประพันธ์. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ (6:4). หน้า 464-465