แรด
แรด ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยอีโอซีน–ปัจจุบัน | |
---|---|
แรดชนิดต่าง ๆ ; จากซ้ายบน ตามเข็มนาฬิกา: แรดขาว (Ceratotherium simum), กระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis), แรดอินเดีย (Rhinoceros Unicornis), แรดดำ (Diceros bicornis) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Perissodactyla |
วงศ์: | Rhinocerotidae Gray, 1821 |
สกุลต้นแบบ | |
Rhinoceros Linnaeus, 1758 | |
สกุล | |
Ceratotherium | |
Rhinocerotidae range |
แรด เป็นสัตว์อยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับสัตว์กีบคี่ ในวงศ์ Rhinocerotidae แรดถือว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ อาจเรียกได้ว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองจากช้างก็ว่าได้ เพราะแรดอาจมีขนาดยาวได้ถึง 3.6-5 เมตร ความสูงของไหล่ 1.6-2 เมตร น้ำหนัก 2.3-3.6 ตัน
ลักษณะ
แรดมีรูปร่างโดยทั่วไปคือ ตาเล็ก ปากงุ้มเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม มีหนังที่หนามาก ในบางชนิดอาจเห็นเป็นชั้นคล้ายเกราะ และมีลักษณะเด่นที่สุด คือ เขาบริเวณสันจมูกที่งอกแหลมยื่นยาวอกมา เรียกกันว่า "นอ" ซึ่งใช้เป็นอาวุธในการพุ่งชนป้องกันตัว ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว นอของแรดนับว่าเป็นเขา (horn) อย่างหนึ่ง แต่เป็นเขาที่ไม่มีกระดูกเป็นแกนกลาง นอแรดทำมาจากเคราติน (keratin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบหลักของขน ผม และเล็บ โดยนอแรดไม่ได้เกิดจากขนที่รวมตัวกันอย่างหนาแน่นตามที่เข้าใจผิดกัน นอแรดอาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร แรดโดยทั่วไปจะมีนอ 2 นอ แต่บางชนิดจะมีเพียงนอเดียว
แรดเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ ดังนั้นจึงชอบนอนแช่โคลนหรือแช่ปลักเหมือนหมูหรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพื่อดับความร้อนและไล่แมลงที่มารบกวน หากินในเวลากลางคืน กลางวันนอนพักผ่อนซึ่งอาจนอนหลับในท่ายืนก็ได้
แรดเป็นสัตว์ที่มีสายตาแย่มาก แต่มีประสาทรับกลิ่นและประสาทหูดีเยี่ยม จึงเป็นสัตว์ที่มีนิสัยฉุนเฉียวง่าย โกรธง่าย ประกอบกับขนาดลำตัวที่ใหญ่จึงมักไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ ในปัจจุบันมีแรดหลงเหลืออยู่เพียง 5 ชนิด เท่านั้น พบในทวีปแอฟริกา 2 ชนิด ในเอเชีย 3 ชนิด และทุกชนิดเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้วทั้งสิ้น ศัตรูของแรดเพียงอย่างเดียว คือ มนุษย์ ที่ล่าแรดเพื่อเอานอเนื่องจากเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยา โดยเฉพาะยาจีนเชื่อว่าเป็นยาเย็น สามารถดับพิษไข้ได้[1]
ศัพทมูลวิทยาและปกรณัม
ชื่อสามัญของแรดในภาษาอังกฤษ คือ Rhinoceros มาจากภาษากรีกคำว่า ῥινός rhinos หมายถึง จมูก และ κέρας keras หมายถึง เขา ดังนั้นคำว่า rhinoceros อาจแปลได้ว่า "จมูกเขา"
นอกจากนี้แล้วในภาษาไทยยังมีศัพท์เรียก แรด อีกศัพท์หนึ่งว่า ระมาด โดยแผลงมาจากภาษาเขมร คือ คำว่า รมาส (រមាស) เป็นภาษาที่ใช้กันในวรรณคดี โดยในพื้นที่เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีแขวงที่ชื่อ บางระมาด สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของแรด[2]
ในเทพปกรณัมของฮินดู แรด เป็นสัตว์พาหนะของพระอัคคี เทพเจ้าแห่งไฟ และเป็นเทพประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาคเนย์[3]
ชนิดของแรดในปัจจุบัน
- แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา
- แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน
- แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดทีมีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน
- แรดชวา หรือ แรดซุนดา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยเดิมเคยพบแรดชนิดนี้ด้วย แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปจนหมดแล้ว
- กระซู่ หรือ แรดสุมาตรา หรือ แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) เป็นแรดขนาดเล็กที่สุด พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน มีลักษณะเด่นคือ มีขนปกคลุมทั้งลำตัว เป็นแรดที่หายากมากอีกชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยหลงเหลือเพียงแห่งเดียว คือ ป่าดิบบริเวณชายแดนติดกับมาเลเซีย
อ้างอิง
- ↑ "ขอถามเกี่ยวกับนอแรดครับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2009-03-17.
- ↑ "บางเชือกหนัง - บางระมาด - นางเลิ้ง ชื่อนี้ที่กรุงเทพฯเพี้ยนมาจากภาษาเขมรจริงหรือ ?". โอเคเนชั่น. September 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 10 June 2014.
- ↑ "ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง". บ้านจอมยุทธ์. สืบค้นเมื่อ 10 June 2014.