สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส

สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส (ลาว: ສົມເດັດພະສັງຄະລາດຍອດແກ້ວພຸດທະຊິໂນຣົສ) พระนามเดิมว่า บุญทัน บุปผรัตน์ (ลาว: ບຸນທັນ ບຸບຜາລັດ) (พ.ศ. 2435 — 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกและพระองค์เดียวในยุคพระราชอาณาจักรลาว

สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส
(บุญทัน ธมฺมญาโณ)
สมเด็จพระสังฆราชแห่งพระราชอาณาจักรลาว
ดำรงพระยศพ.ศ. 2496 — พ.ศ. 2518
สถาปนาพ.ศ. 2496
วัดใหม่สุวรรณภูมาราม
ก่อนหน้ารวมพระราชอาณาจักรลาว
ถัดไปสิ้นสุดระบบสังฆราช
พรรษา69
สถิตวัดใหม่สุวรรณภูมาราม
นิกายมหานิกาย
ประสูติ7 ธันวาคม พ.ศ. 2435
บ้านป่าขาม ตาแสงป่าขาม หลวงพระบาง
สิ้นพระชนม์24 มิถุนายน พ.ศ. 2524 (88 ปี 200 วัน)
โรงพยาบาลสงฆ์ กรุงเทพมหานครประเทศไทย
พระชนกเซียงผุย บุปผรัตน์
พระชนนีป้อม บุปผรัตน์

ประวัติ แก้

 
พระยอดแก้วพุทธชิโนรส สกลมหาสังฆปาโมกข์ ธรรมญาณมหาเถระ (ในภาพนี้ออกพระนามว่า พระบุญทัน) ขณะมีพระชนม์ได้ราว 50 พรรษา ภาพจากหนังสือ Souverains et Notabilités d'Indochine พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1943 (พ.ศ. 2486)

สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส ประสูติเมื่อปีมะโรง (ปีเต่าสี) วันพุธ แรม 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) ที่บ้านป่าข้าม ตาแสงป่าขาม กำแพงเมืองหลวงพระบาง ในรัชสมัยของพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร ผู้ทรงเป็นพระเจ้านครหลวงพระบางในเวลานั้น ทรงมีพระนามเดิมว่า บุญทัน บุปผรัตน์ พระชนกชื่อ เซียงผุย พระชนนีชื่อ ป้อม พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 จากพี่น้อง 5 คน

ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ณ พัทธสีมาวัดล้องคูณ ตาแสงเชียงแมน เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง โดยมีอาชญาครูหลวงเหล็กใหญ่เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงพระผนวชเมื่อ 30 เมษายน พ.ศ. 2455 ณ พัทธสีมาวัดป่าไผ่ แขวงหลวงพระบาง โดยมีพระอัครวรราชครูเพ็ง พุทธฺรกฺขิโต (ภายหลังทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรหลวงพระบาง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับพระนามฉายาทางธรรมว่า ธมมฺญาโณ จากนั้นได้ทรงประทับจำพรรษาที่วัดล้องคูณ เมืองหลวงพระบาง จนถึง พ.ศ. 2483 รวมระยะเวลา 37 พรรษา

พระองค์ได้รับการฮดสรง (กระทำพิธีเถราภิเษก) สถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระสำเร็จตามธรรมเนียมล้านช้างเมื่อปี พ.ศ. 2455 เลื่อนเป็นอาชญาซาในปี พ.ศ. 2458 เป็นอาชญาครูในปี พ.ศ. 2462 เป็นพระหลักคำธรรมญาณวิสุทธิคุณในปี พ.ศ. 2465 และเป็นพระลูกแก้วพุทธชิโนรส ธรรมญาณมหาเถระ เมื่อ พ.ศ. 2470 ต่อมาทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ให้เป็น พระยอดแก้วพุทธชิโนรส สกลมหาสังฆปาโมกข์ ธรรมญาณมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 2479 และได้ทรงรับอาราธนามาจำพรรษา ณ วัดใหม่สุวรรณภูมาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงติดกับพระราชวังหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 2483 และได้ประทับอยู่ที่นี่จนถึง พ.ศ. 2522 รวมระยะเวลา 39 พรรษา

ในปี พ.ศ. 2496 เมื่อประเทศลาวได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากฝรั่งเศส และดินแดนลาวทั้งสามส่วนได้รวมกันเป็นเอกภาพภายใต้ชื่อพระราชอาณาจักรลาวแล้ว พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งพระราชอาณาจักรลาว ทรงบริหารการคณะสงฆ์ทั่วพระราชอาณาจักรจนกระทั่งเสด็จลี้ภัยออกจากประเทศลาวเมื่อปี พ.ศ. 2522

สมณกิจอันสำคัญ แก้

สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส เสด็จเยือนนานาประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีทางศาสนา เช่น ไทย พม่า อินเดีย ศรีลังกา และนานาประเทศในยุโรป เช่น ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ที่นครรัฐวาติกัน และเสด็จเยือนสถานที่สำคัญของทางพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย และยังได้เสด็จเยือนประเทศพม่าและได้รับถวายสมณศักดิ์ที่ อภิธชมหารัฐคุรุ เมื่อปี พ.ศ. 2500 นอกจากนี้ยังได้ทรงจัดทำพระไตรปิฎกภาษาลาวขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 แต่ไม่ได้จัดทำสำเร็จลุล่วงเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมืองในประเทศลาวในเวลานั้น

ความขัดแย้งทางการเมืองและคณะสงฆ์ แก้

เมื่อเจ้าเพชรราชสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2502 ความวุ่นวายทางการเมืองลาวได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยได้แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้าสุวรรณภูมา อันเป็นฝ่ายกลาง ฝ่ายเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ อันเป็นฝ่ายขวา และฝ่ายเจ้าสุภานุวงศ์ อันเป็นฝ่ายซ้าย โดยฝ่ายกลางและขวาได้รับการสนับสนุนจากโลกเสรีคือสหรัฐและประเทศฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายซ้ายได้รับการสนับสนุนจากโลกคอมมิวนิสต์คือ สหภาพโซเวียต, จีน และเวียดนามเหนือ โดยรัฐบาลฝ่ายขวาได้กดดันให้สมเด็จพระสังฆราชนำพระสงฆ์จากภาคอีสานมาเทศนาต่อต้านฝ่ายซ้าย แต่ปรากฏว่าพระสงฆ์จากอีสานล้วนเป็นพระธรรมยุต ขณะที่พระสงฆ์ในลาวส่วนใหญ่เป็นพระมหานิกาย โดยความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลให้พระสงฆ์ลาวได้เข้าสนับสนุนทั้งฝ่ายซ้ายและขวา โดยพระสงฆ์มหานิกายเข้าสนับสนุนฝ่ายซ้าย ส่วนพระสงฆ์ธรรมยุตและมหานิกายบางส่วนยังสนับสนุนฝ่ายขวา นอกจากนี้ การออกพระราชบัญญัติลำดับที่ 160 ซึ่งสามารถก้ายก่าวอำนาจของคณะสงฆ์ ข้าราชการสามารถใช้สิทธิยับยั้งอำนาจแต่งตั้งสงฆ์ ทำให้พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง ไม่พอใจและเข้าร่วมกับกลุ่มฝ่ายซ้าย

เสด็จลี้ภัยสู่ประเทศไทย แก้

ต่อมาเมื่อพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ทำการปฏิวัติได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2518 ในระยะแรก ได้ทำการใช้พระสงฆ์เป็นสื่อโฆษณาต่อประชาชนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มผู้นำและประชาชน แต่ในเวลาต่อมากลับใช้คำสอนของพระพุทธศาสนาดัดแปลงจากคำสอนของ คาร์ล มาร์กซ์ และ วลาดีมีร์ เลนิน กลายเป็นคำสอนแบบใหม่เพื่อปลุกระดมและโฆษณาประชาชนแทน โดยในระยะต่อมา ได้มีการนำพระสงฆ์ไปสัมมนาทั้งการอบรมและใช้แรงงาน และถึงกับถูกทำร้ายหรือสังหารแบบเดียว​กับ​เขมรแดง​และอาจจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวิทยุของรัฐบาลระบอบใหม่

ต่อมา พรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ทำการยกเลิกตำแหน่งสงฆ์และจัดระเบียบสถาบันสงฆ์ใหม่ในปี พ.ศ. 2519 โดยมีองค์กรพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นองค์กรหลักของคณะสงฆ์ลาวและได้ยุบรวมคณะมหานิกายและธรรมยุต กลายเป็นคณะสงฆ์ลาว โดยหลังจากการยกเลิกตำแหน่งทางระบอบเก่า สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรสได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาขององค์กรพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว

โดยสาเหตุสำคัญที่ได้ทรงลี้ภัยมาที่ประเทศไทยก็คือ การที่มีการเดินขบวนประท้วงพระองค์ให้สิ้นอำนาจในคณะสงฆ์และการรื้อถอนทำลายศาลาพันห้อง ณ กรุงเวียงจันทน์ โดยต่อมา พระหลักคำสุวรรณบุรีศรีคณาจารย์ เจ้าคณะแขวงหลวงพระบางและเลขานุการส่วนพระองค์ ได้คิดให้พระองค์ลี้ภัยไปยังประเทศไทยโดยประทับแพยางรถยนต์ข้ามแม่น้ำโขง ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522 โดยทรงได้ประทับที่วัดหายโศก จังหวัดหนองคาย ก่อนเสด็จประทับที่วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดอุดรธานี และเสด็จย้ายไปทรงรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ

สิ้นพระชนม์ แก้

 
ที่ฐานบัลลังก์ของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย เบื้องขวาของพระศรีศากยมุนี พระประธานภายในพระวิหารวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ (เบื้องซ้ายของภาพถ่ายนี้) เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส (บุญทัน ธมฺมญาโณ)

สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วพุทธชิโนรส สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 19.30 น. ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2524 รวมเวลารักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์ เป็นเวลา 4 เดือน 26 วัน สิริพระชนมายุ 90 พรรษา ทรงดำรงสมณเพศเป็นพระภิกษุได้ 69 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานโกศไม้สิบสองแก่สมเด็จพระสังฆราชยอดแก้วฯ และต่อมาโปรดให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น) ถวายพระเพลิงพระศพ ณ เมรุวัดเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2528 พระอัฐิของพระองค์ได้บรรจุไว้ ณ ฐานบัลลังก์ของพระพุทธรูปศิลปะแบบสุโขทัย เบื้องขวาของพระศรีศากยมุนีซึ่งเป็นพระประธานภายในพระวิหารวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง แก้