สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง ปญฺญาทีโป)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นามเดิม แสง ฉายา ปญฺญาทีโป เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดราชบุรณราชวรวิหารและเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง ปญฺญาทีโป) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 มิถุนายน พ.ศ. 2375 (71 ปี 168 วัน ปี) |
มรณภาพ | 6 ธันวาคม 2446 |
นิกาย | มหานิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 7 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | พ.ศ. 2395 |
ตำแหน่ง | เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ |
ประวัติ
แก้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีนามเดิมว่า แสง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2375 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำเดือน 7 ปีมะโรง ต่อมาได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร จนอายุได้ 15 ปีจึงย้ายมาอยู่วัดราชบุรณราชวรวิหาร ศึกษาพระปริยัติธรรมจนอายุได้ 18 ปีจึงเข้าสอบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ได้เป็นสามเณรเปรียญธรรม 3 ประโยคในครั้งนั้น[1]
ปีชวด พ.ศ. 2395 ได้อุปสมบทในรามัญนิกาย โดยมีพระคุณวงศ์ (จุลนาค) วัดบวรมงคลราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2400 เข้าสอบอีก ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค ต่อมาปีระกา พ.ศ. 2404 เข้าแปลที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้อีก 2 ประโยค เป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[1]
ศาสนกิจ
แก้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้ปฏิบัติพระวินัยได้บริบูรณ์ ฉลาดในการเทศนา ประพันธ์คาถา โศลก และฉันท์ได้ชำนาญและไพเราะ เป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ในด้านการปกครอง ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เจ้าคณะรอง และเจ้าคณะใหญ่ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นแม่กองตรวจชำระพระอภิธรรมปิฎกในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ ร.ศ. 112[2]
สมณศักดิ์
แก้- เป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระปิฎกโกศล (อ่วม)
- 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 เป็นพระราชาคณะที่ พระราชมุนี
- 23/24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2420 เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระโพธิวงศาจารย์ ญาณนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี
- พ.ศ. 2428 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรยโลกาจาริย ญาณวิสาระทะนายก ตรีปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[3]
- 20 มีนาคม ร.ศ. 110 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองฝ่ายใต้ที่ พระธรรมวโรดม บรมญาณอดุล สุนทรนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูสิต ทักษิณทิศคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี[4]
- 11 พฤศจิกายน ร.ศ. 113 เลื่อนเป็น พระธรรมวโรดม ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และได้รับตาลปัตรแฉกพื้นขาวปักดิ้นเลื่อม[5]
- 20 ธันวาคม ร.ศ. 113 สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ผู้ช่วยฝ่ายเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ตรีปิฎกวิทยาคุณ วิบุลยคัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี[6]
- 27 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 119 สถาปนาเป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือที่ สมเด็จพระพุทธโฆาจารย์ ญาณอดุลย์สุนทรนายก ตรีปิฎกวิทธยาคุณ วิบุลย์คัมภีรญาณสุนทร มหาอุดรคณฤศร บวรสังฆารามคามวาสี อรัญวาสี[7]
มรณภาพ
แก้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อาพาธเป็นลมแน่นหน้าอกตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ร.ศ. 122 พระภิกษุในวัดจัดยาถวายแต่อาการไม่ทุเลา ถึงแก่มรณภาพในวันรุ่งขึ้นเวลา 3 โมงเข้าเศษ สิริอายุได้ 71 ปี 168 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปพระราชทานน้ำสรงศพ พระราชทานโกศไม้สิบสอง ชั้นแว่นฟ้า 2 ชั้น มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมวันละ 8 รูป รับพระราชทานฉันเช้าเพลมีกำหนด 3 เดือน[8]
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124 เจ้าพนักงานตั้งกระบวนเคลื่อนศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จากวัดราชบุรณฯ มาบรรจบกับกระบวนเคลื่อนศพพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์ (ปาน) จากวัดพระเชตุพนฯ เป็นกระบวนเดียว ปยังเมรุ ณ สุสานวัดเทพศิรินทราวาส เวลาย่ำค่ำวันต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทอดผ้าบังสุกุลและพระราชทานเพลิงศพ และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เจ้าพนักงานเก็บอัฐิ นำขึ้นเสลี่ยงแล้วอัญเชิญกลับยังพระอารามเดิม[9]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 111
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การศาสนูปถัมภก คือ การพิมพ์พระไตรปิฎก, เล่ม 5, ตอน 47, 8 เมษายน ร.ศ. 112, หน้า 410
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, สำเนาสัญญาบัตรพระสงฆ์ ปีรกาสัปตศก, เล่ม 7, ตอน 39, 1 กุมภาพันธ์ 2429, หน้า 328
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 8, ตอน 52, 27 มีนาคม ร.ศ. 110, หน้า 466
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระธรรมวโรดม ดำรงที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์, เล่ม 11, ตอน 34, 18 พฤศจิกายน ร.ศ. 113, หน้า 265
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม 11, ตอน 39, 23 ธันวาคม ร.ศ. 113, หน้า 310
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระสงฆ์, เล่ม , ตอน , , หน้า
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถึงมรณภาพ, เล่ม 20, ตอน 37, 13 ธันวาคม ร.ศ. 122, หน้า 653
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การศพสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์, เล่ม 22, ตอน 48, 25 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 124, หน้า 1,097-1,098
- บรรณานุกรม
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 218-222. ISBN 974-417-530-3
ก่อนหน้า | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง ปญฺญาทีโป) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) | เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ (พ.ศ. 2443 – พ.ศ. 2446) |
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ ธมฺมสิริ) |