อี อึน (เกาหลี이은; ฮันจา李垠; อาร์อาร์I Eun; เอ็มอาร์Yi Ŭn; 20 ตุลาคม พ.ศ. 2440 — 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513) ต่อมามีพระนามว่า เจ้าชายย็อง (เกาหลี영친왕; ฮันจา英親王; อาร์อาร์Yeongchinwang; เอ็มอาร์Yŏngch'inwang) มีพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่า มกุฎราชกุมารอึยมิน (เกาหลี의민태자; ฮันจา懿愍太子; อาร์อาร์Uimin Taeja; เอ็มอาร์Ŭimin T'aeja) เป็นพระราชโอรสในจักรพรรดิโคจง กับเจ้าหญิงพระชายาซุนฮ็อน พระองค์เป็นผู้นำราชวงศ์โชซ็อนลำดับที่ 28 เป็นนายทหารประจำกองทัพญี่ปุ่น และเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์สุดท้ายของเกาหลีด้วย

อี อึน
มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลี
ประสูติ20 ตุลาคม พ.ศ. 2440
พระราชวังท็อกซู จักรวรรดิเกาหลี
สวรรคต1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 (72 ปี)
พระราชวังชังด็อก ประเทศเกาหลีใต้
พระชายาเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ (2463–2513)
พระบุตรอี จิน
อี กู
ราชวงศ์โชซ็อน
พระบิดาจักรพรรดิโคจง
พระมารดาอ็อม ซ็อน-ย็อง
ศาสนาโรมันคาทอลิก (เดิมขงจื๊อใหม่)

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้
 
จากซ้าย มกุฎราชกุมารโยะชิฮิโตะ, เจ้าชายอึน และเจ้าชายทะเกะฮิโตะในเคโจเมื่อปี พ.ศ. 2450

มกุฎราชกุมารอึยมินประสูติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2440 ณ พระราชวังท็อกซู เป็นพระราชโอรสลำดับที่เจ็ดในจักรพรรดิโคจงกับพระสนมอ็อมแห่งย็องว็อล (มีชื่อตัวว่าอ็อม ซ็อน-ย็อง หลังสิ้นพระชนม์สถาปนาขึ้นเป็นพระชายาซุนฮ็อน) พระองค์มีพระเชษฐาต่างชนนีซึ่งเป็นที่รู้จักสองพระองค์คือจักรพรรดิซุนจงและเจ้าชายอีฮวา ต่อมาเจ้าชายอึนได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าชายย็อง ในปี พ.ศ. 2443 และเป็นมกุฎราชกุมารในปี พ.ศ. 2450 ตามลำดับ แม้ว่าพระองค์จะมีพระชันษาอ่อนกว่าเจ้าชายอีฮวา แต่ฐานเสียงสนับสนุนเจ้าชายอีฮวาในราชสำนักนั้นไม่สู้ดีนัก เนื่องจากพระสนมชังพระชนนีของเจ้าชายอีฮวาถึงแก่อนิจกรรมไปก่อนหน้า

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2450 มกุฎราชกุมารแห่งเกาหลีถูกส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงศึกษาต่อในโรงเรียนขุนนางกะกุชูอิง แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารจักรวรรดิญี่ปุ่นจนสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 ได้รับการแต่งตั้งให้มียศเป็นร้อยโทประจำหน่วยทหารราบและเลื่อนชั้นยศเป็นพลโทแห่งกองกำลังพิเศษทางอากาศกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นเป็นตำแหน่งสุดท้าย

มกุฎราชกุมารอึนเสกสมรสกับเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ (2444–2532) พระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายโมริมาซะ นาชิโมโตะโนะมิยะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2463 ณ กรุงโตเกียว มีพระโอรสสองพระองค์คืออี จิน (2464–2465) และอี กู (2474–2548)

เกาหลีถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นหลังจักรพรรดิซุนจงถูกบังคับให้สละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2453 ขณะนั้นพระองค์ยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารดังเดิม จนกระทั่งจักรพรรดิซุนจงพิราลัยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2469 มกุฎราชกุมารจึงมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าอึนแห่งเกาหลี ตามสนธิสัญญาผนวกดินแดนญี่ปุ่น-เกาหลี แต่พระองค์มิได้รับการสถาปนาและไม่เคยผ่านพิธีราชาภิเษกเลย

รับราชการทหาร

แก้
 
จากซ้าย เจ้าชายอึน, เจ้าชายก็อน และเจ้าชายอู สามเจ้านายเกาหลีที่ประทับในญี่ปุ่นทรงฉลองพระองค์ทหาร ณ โตเกียว พ.ศ. 2481

เจ้าชายอึนหรือทรงเป็นที่รู้จักในภาษาญี่ปุ่นว่า ริ กิง (ญี่ปุ่น: 李垠โรมาจิRi Gin) ทรงรับราชการในกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองพันที่ 59, กองคลังที่ 4 ก่อนย้ายไปที่กองพล 51 พระองค์ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพันโท (สิงหาคม 2475), พันเอก (1 สิงหาคม 2478), พลตรี (15 กรกฎาคม 2481) และพลโท (2 ธันวาคม 2483) ตามลำดับ

โดยตำแหน่งสุดท้ายพระองค์มียศเป็นพลโท ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชากองกำลังพิเศษทางอากาศกองทัพบกที่ 1 นอกจากนี้ยังทรงงานเป็นพระอาจารย์ผู้บรรยายที่วิทยาลัยการทัพบก (Army War College) ภายหลังทรงเป็นสมาชิกสภาสงครามสูงสุด (Supreme War Council) เมื่อยามมีศึกสงคราม[1]

ปลายพระชนม์

แก้

หลังเกาหลีได้รับเอกราชจากจักรวรรดิญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2488 มกุฎราชกุมารอึนได้ขออนุญาตจากอี ซึง-มัน ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้นิวัตกลับมาตุภูมิแต่ทว่าถูกประธานาธิบดีปฏิเสธ จนกระทั่งพัก ช็อง-ฮี ประธานาธิบดีคนที่สามของเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้มกุฎราชกุมารอึนและพระราชวงศ์พระองค์อื่น ๆ นิวัตเกาหลีใต้ แต่หลังจากนั้นพระองค์ประชวรด้วยมีพระอาการโรคโพรงเลือดดำสมองอุดตัน (cerebral thrombosis) ประทับรักษาที่โรงพยาบาลเซนต์แมรีส์ (St. Mary's Hospital) ในโซล

เดิมมกุฎราชกุมารอึนนับถือลัทธิขงจื๊อใหม่ แต่ภายหลังทรงเข้ารีตนิกายโรมันคาทอลิก มีนามทางศาสนาว่ายอแซฟ

ในปีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ มกุฎราชกุมารอึนประทับอยู่ในพระตำหนักนักซ็อนในพระราชวังชังด็อกร่วมกับเจ้าหญิงพังจาพระชายา และเจ้าหญิงท็อกฮเยพระขนิษฐา พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ณ พระตำหนักนักซ็อน พระราชวังชังด็อก มีพิธีปลงพระศพ ณ ฮงรึงในนัมยังจูใกล้กรุงโซล มีพระนามหลังสิ้นพระชนม์ว่ามกุฎราชกุมารอึยมิน

พระบุตร

แก้
พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ เสกสมรส พระนัดดา
อี จิน 18 สิงหาคม พ.ศ. 2464 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2465
อี กู 29 ธันวาคม พ.ศ. 2474 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 25 ตุลาคม พ.ศ. 2502 จูเลีย มุลล็อก

อ้างอิง

แก้
  1. Ammentorp, Steen. "Generals from Japan, Yi, part of Generals of WWII". สืบค้นเมื่อ 26 August 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อี อึน
ก่อนหน้า อี อึน ถัดไป
จักรพรรดิซุนจง   อ้างสิทธิจักรพรรดิเกาหลี
(พ.ศ. 2453–2513)
  อี กู