สมัน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยโฮโลซีน
สมันตัวผู้ในสวนสัตว์เบอร์ลิน ถ่ายในปี ค.ศ. 1911
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Cervidae
วงศ์ย่อย: Cervinae
สกุล: Rucervus
สปีชีส์: R.  schomburgki
ชื่อทวินาม
Rucervus schomburgki
Blyth, ค.ศ. 1863
ชื่อพ้อง
  • Cervus schomburgki (Blyth, 1863)

สมัน หรือ ฉมัน[2] หรือ เนื้อสมัน หรือ กวางเขาสุ่ม[3] (อังกฤษ: Schomburgk's deer) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rucervus schomburgki

สมันเป็นกวางขนาดกลาง ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องมีสีอ่อนกว่า ริมฝีปากล่างและด้านล่างของหางเป็นสีขาว มีลักษณะเด่นคือ ตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ ดูสวยงาม จึงได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยที่สุดในโลก[4] มีกิ่งรับหมาหรือกิ่งเขาที่ยื่นออกไปข้างหน้ายาวกว่ากิ่งรับหมาของกวางชนิดอื่น ๆ สมันมีความยาวลำตัว 180 เซนติเมตร ความยาวหาง 10 เซนติเมตร มีความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 100-110 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม[5]สมันนั้นวิ่งเร็วประมาณ 100 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

สมันกระจายพันธุ์เฉพาะในที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย ซึ่งรวมบริเวณกรุงเทพมหานครปัจจุบัน สมันอาศัยอยู่ในที่ทุ่งโล่งกว้าง ไม่สามารถหลบหนีเข้าป่าทึบได้เนื่องจากกิ่งก้านของเขาจะติดพันกับกิ่งไม้ จึงเป็นจุดอ่อนให้ถูกล่าได้อย่างง่ายดาย ในอดีตชาวบ้านจะล่าสมันด้วยการสวมเขาปลอมเป็นตัวผู้เพื่อล่อตัวเมียออกมา จากนั้นจึงใช้ปืนยิงหรือหอกพุ่ง[6]

ปัจจุบันสมันสูญพันธุ์แล้ว[5] สมันในธรรมชาติตัวสุดท้ายถูกนายตำรวจคนหนึ่งยิงตายเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดกาญจนบุรี[5] สมันตัวสุดท้ายในที่เลี้ยงถูกชายขี้เมาตีตายที่วัดแห่งหนึ่งในตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2481[5]

ในปี พ.ศ. 2534 มีรายงานว่าพบซากเขาสมันสดขายในร้านขายยาใจกลางเมืองพงสาลี และแขวงหลวงพระบาง ทางภาคเหนือของประเทศลาว ทำให้สันนิษฐานว่าอาจจะมีสมันหลงเหลืออยู่ในประเทศลาวก็เป็นได้ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเพียงพอ[7]

ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ของสมันตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ เซอร์โรเบิร์ต แฮร์มันน์ โชมบวร์ก ผู้เป็นกงสุลอังกฤษประจำราชอาณาจักรสยามที่นำสมันเข้าไปเผยแพร่ในยุโรปเป็นคนแรก[8]

ปัจจุบันสมันยังมีชื่อเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เนื่องจากการคุ้มครองมีผลไปถึงซากด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. Duckworth, J.W., Robichaud, W.G. & Timmins, R.J. (2008). Rucervus schomburgki. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 7 January 2009.
  2. "ฉมัน". dictionary.sanook.com. สืบค้นเมื่อ 19 December 2014.
  3. "สมัน Schomburgk's Deer". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-17. สืบค้นเมื่อ 2011-11-07.
  4. บุญส่ง เลขะกุล. สัตว์ป่าเมืองไทย : จากปาฐกถาโดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล. กรุงเทพฯ : บริษัทการพิมพ์ชัยวัฒน์, 2493. 46 หน้า. หน้า 11.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "แฟ้มสัตว์โลก สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-17. สืบค้นเมื่อ 2011-11-07.
  6. "สมัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-16. สืบค้นเมื่อ 2011-11-07.
  7. หนังสือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน (กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543) โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก ISBN 974-87081-5-2[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  8. Ellis, Richard (2004). No Turning Back: The Life and Death of Animal Species. New York: Harper Perennial. pp. 311–312. ISBN 0-06-055804-0.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ สมัน ที่วิกิสปีชีส์