สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาสร้างขึ้นในช่วงสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะจีน มีจุดเด่นตรงที่หลังคาของอุโบสถหรือวิหารในส่วนที่เป็นหน้าบันมีลักษณะเรียบง่าย ตัดส่วนที่เป็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หรือที่เรียกว่าเครื่องบนออกทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่าชำรุดเสียหายได้ง่ายและสิ้นเปลืองเวลาในการทำ แต่มีการประดับหน้าบันด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นลวดลาย เช่น ดอกไม้ หรือสัตว์ต่าง ๆ ตามแบบจีน เช่นหงส์ หรือมังกรแทน[1]

อุโบสถวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

ตัวอย่างวัดสถาปัตยกรรมพระราชนิยม ได้แก่ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดเทพธิดารามวรวิหาร วัดยานนาวา วัดนางนองวรวิหาร และวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นต้น[2]

ที่มา

แก้

สถาปัตยกรรมไทยที่เกี่ยวข้องกับศาสนามีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณี มีการยึดถือระเบียบรูปแบบอย่างเคร่งครัด การสร้างสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดขึ้นครั้งแรกประมาณช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยได้สร้างวัดราชโอรสที่มีลักษณะผิดแผกจากอารามทั่วไป[3] มีลักษณะผสมผสานวัฒนธรรมกับวัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะจีนอย่างเด่นชัด เป็นการนำแผนผังแบบฮวงจุ้ยจีนเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก[4]

หลังเสวยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่แก่งานช่าง เสด็จอำนวยการสร้างวัดและปฏิสังขรณ์ มีพระบรมราชวินิจฉัยและตรวจสอบในทุกขั้นตอนของการสร้างงาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำเอาระบบการก่อสร้างของจีนมาประยุกต์เข้ากับระบบการก่อสร้างของไทย หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี บันทึกไว้ว่า คงเป็นพระบรมราโชบายที่ลึกซึ้งด้านหนึ่ง เพื่อให้ชาวจีนหันมาเลื่อมใสศรัทธาทำบุญในพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากขึ้น ทั้งยังเกิดผลดีแก่ชาวจีน ช่วยลดช่องว่างทางสังคมลง[2]

เหตุผลอื่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า อาคารเครื่องไม้ที่สร้างกันมาตามแบบประเพณีมาแต่โบราณ นั้นชำรุดทรุดโทรมเร็วโดยเฉพาะเครื่องหลังคา เช่น ช่อฟ้า หน้าบัน ที่ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง จึงทรงเห็นว่าถ้าเปลี่ยนเป็นการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนคงจะอยู่ได้นานกว่า รวมถึงการระดมช่างฝีมือไม่เพียงพอโดยเฉพาะการสร้างในรูปแบบประเพณีนิยม ที่ต้องแกะสลักช่อฟ้า หน้าบันคงต้องใช้เวลานาน จึงมีการเกณฑ์ช่างจีนมาช่วยสร้างงาน ดังนั้นรูปแบบของอาคารจึงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความสามารถของช่างจีน เป็นการแก้ปัญหาเรื่องระยะเวลาการก่อสร้าง และความมั่นคงแข็งแรง

นอกจากนั้นการสร้างอารามสำหรับบุคคลชั้นสูง ขุนนางและประชาชน ยังเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏใน กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ของหมื่นพรหมสมพัตสร (มี) ดังนี้[5]

พระวงศาและพระยาที่สร้างวัด ก็แจ่มจัดปรากฏลือยศถา
ทูลถวายพระกุศลผลผลา ทรงโมทนาปราโมทย์โปรดอภิปราย

ลักษณะ

แก้

การจัดผังใช้รูปแบบแผนผังเรียบง่ายแบบไทยประเพณีเช่นเดิม ให้ความสำคัญกับพื้นที่ตัวอุโบสถ วิหารและศาลาการเปรียญในระดับเท่า ๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน

อุโบสถและวิหาร

แก้
 
หน้าบันลักษณะนี้มีชื่อเรียกแบบเฉพาะว่า กระเท่เซ

การก่อสร้างนำรูปแบบของจีนเข้ามาประยุกต์กับระบบของไทย คือนำเอาระบบเสาสี่เหลี่ยมแบบศาลเจ้าจีนและการออกแบบรูปทรงหลังคาอุโบสถ (หรือวิหาร) ตามแบบเก๋งจีนมาผสมผสานเข้ากับระบบการก่อสร้างของไทยสมัยก่อนอยุธยาและสมัยอยุธยาตอนต้น ภายนอกล้อมด้วยพาไลมีเสานางเรียงรองรับชายคาปีกนกรอบอาคาร เสามักเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ปลายเสาสอบเข้าเล็กน้อย มุมเสามักปาดเหลี่ยม ไม่มีบัวหัวเสา ไม่มีคันทวย ด้านหน้าและด้านหลังอาคารมักทำมุขยื่นออกมา

ส่วนหลังคาประยุกต์ทรงมาจากหลังคาแบบเก๋งจีน หน้าบันเปลี่ยนมาก่อปูนเต็มทั้งผนังด้านหน้าไปยันอกไก่ตามแบบที่เรียกว่า กระเท่เซ แล้วปั้นปูนเป็นลายดอกไม้ ใบไม้ โขดเขา รูปสัตว์ หรือประดับด้วยกระจกสีหรือกระเบื้องเคลือบหลากสี ลวดลายแบบจีนหรือลายจีนผสมลายฝรั่ง หน้าจั่วไม่มีไขราและเครื่องตกแต่ง เช่น ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ แต่เปลี่ยนมาใช้ปั้นลมแบบจีนแทน[6]

กลุ่มอาคารประกอบและเจดีย์

แก้
 
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม

กลุ่มอาคารประกอบอย่างซุ้มประตู ศาลาราย มีการตกแต่งประดับอย่างศิลปะจีนที่เด่นชัดมาก เช่น การทำหลังคากระเบื้องเคลือบแบบลอนแบบเก๋งจีน มีการนำลวดลาย สัญลักษณ์มงคลตามคติจีนมาใช้ เช่นหลังคาวิหารพระนั่งวัดราชโอรส ประดับด้วยถะหรือเจดีย์จีน[7] ซุ้มสีมาเป็นสีมาทรงเรือน หรือ ทรงคฤห์ โดยนำเอารูปแบบของอาคารอย่างไทย ผสมอิทธิพลอย่างจีน และอิทธิพลตะวันตก ซุ้มสีมาสร้างด้วยหินแกรนิตหรือหินชนวนมีฐานสูง บริเวณวัดยังประดับด้วยถะหรือเจดีย์แบบจีน

เจดีย์ทรงปรางค์ที่ถือว่าเป็นศิลปะการก่อสร้างที่ได้พัฒนามาถึงจุดสูงสุดในรัชกาลนี้ มีการเพิ่มความสูงของฐาน ส่วนเรือนธาตุมีขนาดเล็กลง ทำให้ช่องคูหาเหลือเพียงซุ้มจระนำ และทำให้ยอดปรางค์เกิดรูปทรงเพรียวลง ตัวอย่างเช่น เช่น ปรางค์คู่หน้าพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม ส่วนพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยขนาดที่ใหญ่โต เป็นเอกลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อต้องการให้เป็นพระมหาธาตุประจำพระนครและให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อและเห็นความยิ่งใหญ่ของกรุงเทพมหานคร[8]

พระพุทธรูป

แก้

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ แบ่งได้เป็นสองลักษณะคือ พระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่สร้างตามคติที่ได้รับความนิยมสืบเนื่องมาแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย กับพระพุทธรูปแบบหุ่นที่เป็นพุทธลักษณะใหม่อันเป็นลักษณะร่วมของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ คือ นิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอ กัน พระวรกายแข็งกระด้าง เมื่อเทียบกับพระพุทธรูปสมัยอื่น พระเนตรมองตรง พระนาสิกคอนข้างเล็กและโด่ง พระโอษฐ์เล็ก เส้นพระโอษฐ์เกือบเป็นเส้นตรงตวัดปลายเพียงเล็กน้อย เสมือนแย้มพระสรวลเพียงเล็กน้อย ที่กล่าวกันว่ามีพระพักตร์อย่างหุ่นเพราะสีพระพักตร์แสดงอาการนิ่งคล้ายหุ่นละคร[8]

จิตรกรรมฝาผนัง

แก้

เอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ในงานจิตรกรรมฝาผนัง คือลักษณะการใช้สีมืดเป็นสีพื้น มีการใช้คู่สีระหว่างสีเขียวกับสีแดงให้โดดเด่นและเป็นคู่สีหลักกับการระบายพื้นด้วนสีมืด รวมถึงการแสดงความสมจริงของส่วนประกอบในฉาก เช่น ต้นไม้ น้ำทะเล ตลอดจนพัฒนาการทางลวดลายที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ลวดลายจีนและฝรั่งที่เรียกว่า ลายเทศ หรือแถบคดโค้งคล้ายริ้วผ้าแบบภาพเขียนจีนหรือที่เรียกว่า ลายฮ่อ ที่นิยมใช้แทนเส้นแบ่งฉากในภาพแบบเดิมที่เรียกว่าเส้นสินเทา[8]

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "ศิลปะจีนในวัดไทย...ความแตกต่างที่ลงตัว". ผู้จัดการออนไลน์.
  2. 2.0 2.1 "5 วัดดัง - รัชกาลที่ 3 งานช่าง "ราชนิยม"". ข่าวสด.
  3. ณัฐวัตร จินรัตน์. "การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  4. ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล. "วัดที่เป็นจุดเริ่มต้นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 และจุดเปลี่ยนสำคัญของศิลปะไทย ที่ราชทูตอังกฤษออกปากชมว่างามที่สุดในบางกอก". เดอะคลาวด์.
  5. มี หมื่นพรหมสมพัตสร, กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2531). 41
  6. กฤษณา หงษ์อุเทน. "ปฐมบทแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ในประเทศไทย". วารสารวิจิตรศิลป์. 9 (2).
  7. พิมพ์ชนก ทิมบรรเจิด. "ถะ : เจดีย์ศิลาจีนในสมัยรัชกาลที่ 3" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  8. 8.0 8.1 8.2 "ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น" (PDF). กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-10. สืบค้นเมื่อ 2022-09-24.