พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นพระปรางค์สถาปัตยกรรมไทย ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ประธานและปรางค์รองอีก 4 ปรางค์ ตั้งอยู่ที่ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ตัวพระปรางค์ปัจจุบันนี้มิใช่พระปรางค์เดิม ที่สร้างขึ้นราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีความสูงเพียง 16 เมตร โดยปรางค์ปัจจุบันนี้ถูกสร้างขึ้นแทน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2363 แต่ก็ได้แค่รื้อพระปรางค์องค์เดิม และขุดดินวางราก ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน[1] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการสร้างต่อ โดยพระองค์เสด็จมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2385 จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี

ไตรสิกพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร มุมมองจากแม่น้ำเจ้าพระยา
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระปรางค์
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมไทย
เมืองแขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ประเทศไทย
เริ่มสร้าง
ปรับปรุงพ.ศ. 2452[1]
ผู้สร้าง
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้อง
เว็บไซต์

พระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะเสมอมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำการบูรณะพระปรางค์ครั้งใหญ่ ซึ่งก็คือแบบที่เห็นในปัจจุบัน[2] องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง เป็นลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน เป็นจำนวนมหาศาล[5] นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่งด้วย กินนร กินรี ยักษ์ เทวดา และพญาครุฑ ส่วนยอดบนสุดของพระปรางค์ติดตั้งยอดนภศูล

พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ทำให้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพมาอย่างช้านาน รวมถึงเป็นพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลกอีกด้วย[4] พระปรางค์วัดอรุณยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการเป็นภาพตราสัญลักษณ์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด จากทัวร์โอเปียอีกด้วย[6]

สถาปัตยกรรม แก้

พระปรางค์วัดอรุณฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป[7] ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง

กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 67 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์[8]

กิจกรรมพิเศษ แก้

วันพุธที่ 17 มีนาคม 2564 เวลา 19.00 น. พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ได้ร่วมกับอาคารสำคัญหลายแห่งทั่วโลก ฉายแสงไฟสีเขียวเพื่อร่วมโครงการ Global Greening Programme 2021 เพื่อเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (St. Patrick’s Day)

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 พระปรางค์วัดอรุณ, ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป นานาสาระ - Tripod .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  2. 2.0 2.1 วัดอรุณราชวราราม, Thai Folk .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  3. สถานที่สำคัญทางศาสนาวัดอรุณราชวราราม, กาญจนาภิเษก . สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  4. 4.0 4.1 ห้องภาพราชดำเนิน: "ที่สุดกทม." : "ที่สุดในโลก"[ลิงก์เสีย], สยามรัฐ ฉบับวันที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2553, สมาคมสถาปนิกสยาม .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  5. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร[ลิงก์เสีย], sirprimctm - Google Sites .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  6. 10 Famous Buddhist Temples (with Photos & Map), Touropia .วันที่ 10 พ.ย. 2559
  7. ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง, เอกสารคำสอน ราชวิชา 2501296 มรดกสถาปัตยกรรมไทย, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้าที่ 127 .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560
  8. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เก็บถาวร 2017-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร .สืบค้นเมื่อ 01/03/2560

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′37″N 100°29′20″E / 13.743710°N 100.488966°E / 13.743710; 100.488966