วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ: College of Music, Mahasarakham University) บ้างเรียก คณะดุริยางคศิลป์ เป็นหน่วยงานไทยระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนด้านดนตรี เป็นวิทยาลัยดนตรีชั้นนำของประเทศ และในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรงเรียนดนตรีแห่งที่ 4 ของประเทศไทยถัดจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (มหิดล), คณะดุริยางคศาสตร์ และ วิทยาลัยดนตรี โดยก่อตั้งในปี 2551 พร้อมกันกับ วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ และคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นคณะวิชาลำดับที่ 17 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนด้านดนตรีเทียบเท่าคณะแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
College of Music, Mahasarakham University
ชื่อย่อวดศ. / วิดดุ / MUA
คติพจน์สร้างคน สร้างจินตนาการ สร้างงานคุณภาพ
สถาปนาวิชาเอกดุริยางคศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม
· 29 มิถุนายน พ.ศ. 2523 (44 ปี)
คณะศิลปกรรมศาสตร์
· 26 กันยายน พ.ศ. 2551 (16 ปี)
คณบดีผศ.ดร.คมกริช การินทร์
ที่อยู่
อาคารวิทยบริการ C เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
วารสารวารสารดนตรีและศิลปะวัฒนธรรม
สี  สีม่วง
มาสคอต
โน้ตดนตรี ซอด้วง และโปงลาง
เว็บไซต์https://music.msu.ac.th/

ประวัติ

แก้

สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์

แก้
 
หอแสดงดนตรี มมส

ในปี พ.ศ. 2512 ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เดิมชื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ในขณะนั้น) ได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะกับมนุษย์เป็นวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้พัฒนาสู่การเปิดสอนเป็นวิชาโทศิลปศึกษา ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[1] และได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศแบ่งส่วนราชการจัดตั้งให้เป็นคณะต่างๆ จึงได้มีการแยกคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ออกเป็น 2 หน่วยงานคือ คือ "คณะมนุษยศาสตร์ (Faculty of Humanities)" และ"คณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Sciences)" โดยมีวิทยาเขตหลักอยู่ที่ประสานมิตร (ที่ตั้งหลักของคณะ)[2] วิชาโทศิลปศึกษาจึงได้สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม และได้พัฒนาเป็นวิชาเอกศิลปศึกษาในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาจึงได้แตกแขนงเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ด้วย

ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์

แก้

ต่อมามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคามได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 จึงได้มีการควบรวมคณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานเดียวคือ "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Humanities and Social sciences, Mahasarakham University"[3][4] คณาจารย์สาขาศิลปศึกษา ก็ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชาจิตรกรรมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่งซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีนิสิตและบัณฑิตเพียงรุ่นเดียวด้วย

ในปีการศึกษา 2539 หลักสูตรจิตรกรรมได้ถูกปรับเป็นหลักสูตรทัศนศิลป์ และในปีเดียวกันนี้เอง สาขาวิชาศิลปศึกษาได้รวมกันกับสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ตั้งเป็น “ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง” สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[5] และได้สร้างหลักสูตรสาขานาฏศิลป์ขึ้นมาในภาควิชาในปี พ.ศ. 2540 นั่นเอง ทำให้ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง จึงมี 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์

และในปี พ.ศ. 2539 นั้นเอง ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดงและสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้นำเสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเปิดหลักสูตรจัดการศึกษา 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ สาขาวิชานาฏยศิลป์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้เปิดหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.) สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2541 หลักสูตรสาขาวิชานฤมิตศิลป์และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ขอแยกตัวออกไปและจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์[6]

ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติให้จัดตั้ง “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied arts, Mahasarakham University ”[7] ประกอบด้วยภาควิชาทัศนศิลป์ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ และภาควิชานาฏศิลป์ (ศิลปะการแสดง) และปี พ.ศ. 2549 เปิดหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.) สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 ภาควิชาดุริยางคศิลป์ ได้ร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี และในปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาดุริยางคศิลป์

ก่อตั้งคณะ

แก้

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 ภาควิชาดุริยางคศิลป์ สังกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้แยกการบริหารออกมาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนให้แก่บุคคลที่สนใจศึกษาในสาขาวิชาด้านดนตรี

ในปี พ.ศ. 2551 โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับประกาศให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับคณะวิชา ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 โดยสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามในการประชุมครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 อนุมัติให้จัดตั้ง“วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “College of Music, Mahasarakham University”[8] มีสถานะเป็นส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พ.ศ. 2550 และมีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา

หน่วยงานภายใน

แก้

การแบ่งหน่วยงานภายในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้[9]

 
การบริหารงานภายในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[10]
ด้านการบริหารงาน ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและพัฒนา
  • สำนักงานเลขานุการ
    • กลุ่มงานบริหาร
    • กลุ่มงานนโยบาย แผนและคลัง
    • กลุ่มงานวิชาการและพัฒนานิสิต
  • ภาควิชาดุริยางคศิลป์พื้นบ้าน
  • ภาควิชาดุริยางคศิลป์ไทย
  • ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก
  • ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันออก
  • บัณฑิตศึกษา
  • หน่วยงานวิจัย
  • หน่วยวิจัยดนตรีและศิลปวัฒนธรรม (ดนตรีผู้ไท)
  • วงแคน

การศึกษา

แก้

หลักสูตรที่เปิดสอน

แก้

ปัจจุบัน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนในหลักสูตร[11] ได้แก่

 
หลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาควิชา ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
ภาควิชาดุริยางคศิลป์พื้นบ้าน

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีพื้นบ้าน

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

หลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีพื้นบ้าน
    • เอกหมอลำ
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ไทย

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีไทย

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีตะวันตก

หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

หลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีวิทยา
    • เอกดนตรีศึกษา
    • เอกการจัดการดนตรีและศิลปะการแสดง
    • เอกบริหารธุรกิจดนตรีและเทคโนโลยีดนตรี
    • เอกการประพันธ์เพลง

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีวิทยา
    • เอกดนตรีศึกษา
    • เอกการบริหารจัดการทางดนตรี
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันออก

หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)

  • สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
    • เอกดนตรีเอเชีย

หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี

แก้

หลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)

หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี

  • โครงการพิเศษ ห้องเรียนศิลป์-ดนตรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ทำเนียบผู้บริหาร

แก้

ตั้งแต่เปิดทำการสอน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีคณบดีดำรงตำแหน่งในสังกัดต่าง ๆ ของวิทยาลัย ตามลำดับต่อไปนี้

 
คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รศ.ดร.สุพรรณี เหลือบุญชู พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2555
2. ผศ.ดร.ปราโมทย์ ด่านประดิษฐ์ พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2559
3. ผศ.ดร.คมกริช การินทร์ พ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน 

ความร่วมมือกับภาคเอกชน

แก้

สถาบันดนตรียามาฮ่า (สยามกลการ) ผู้นำดนตรีศึกษารายแรกของเมืองไทย จับมือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ณ ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านบาท[12][13] เตรียมปั้นบุคลากรดนตรีครั้งใหญ่ โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นเทรนเนอร์ คัดเลือกนิสิต นักศึกษาคนรุ่นใหม่ เปิดประสบการณ์ดนตรีสร้างรายได้มหาศาล เตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015 บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด มองเห็นความสำคัญในการผลิตบุคลากรด้านดนตรี นับเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาดนตรี ควบคู่ไปกับการพัฒนานิสิต นักศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรี เพื่อเสริมศักยภาพของนิสิตไทยสู่บุคลากรดนตรี มืออาชีพ และก้าวสู่ระดับสากล อีกทั้ง เตรียมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015 โดยมีความพร้อมในการขยายเครือข่ายร่วมกับพันธมิตรธุรกิจดนตรี คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ณ ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ติดกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยได้รับความร่วมมือคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในการเป็นเทรนเนอร์ของโรงเรียนในแขนงวิชาต่าง ๆ อาทิ เปียโน กีตาร์คลาสสิค กีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์เบส กลองชุด ไวโอลิน และหลักสูตรอื่น ๆ ของสถาบัน ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรดนตรีในสาขาดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้าน เพื่อเปิดสอนให้กับบุคคลทั่วไป และยังเป็นการผลิตบุคลากรนักดนตรีที่มีความรู้ และมีคุณภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนต้องได้มาตรฐานสากล เพื่อรักษาระดับมาตรฐานทางด้านการเรียนการสอนเอาไว้ให้ดีที่สุดในเมืองไทย ตอบสนองความต้องการของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจอยากศึกษาดนตรี

สถานที่ตั้งและพื้นที่

แก้

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตั้งอยู่ที่อาคารวิทยบริการ C มีอาณาเขตอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) ติดกับวิทยาลัยการเมืองการปกครองและสำนักคอมพิวเตอร์ อยู่ตรงข้ามกับอาคารบรมราชกุมารี ที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีพื้นที่ลานอัฐศิลป์หรือลานแปดเหลี่ยม เป็นสถานที่ทำกิจกรรมหลักของคณะเช่นเดียวกับวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

อาคารวิทยบริการ C หรือ อาคารเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติการเครือข่าย (อาคาร C) ก่อสร้างโดยมีวงเงินงบประมาณที่ก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น 64,500,000 บาท มีการทำสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 (เลขที่สัญญาจ้างจ.28/2548) วันสิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ 17 มิถุนายน 2549 ผู้ออกแบบคือ บริษัท CAPE จำกัด บริษัทที่ปรึกษาผู้ควบคุมงานคือ บริษัท CAPE จำกัด บริษัทผู้รับจ้าง คือ บริษัท บิลเลียนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงจำนวน 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 11,000 ตารางเมตร ต่อมาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะล่าสุดในกลุ่มศิลปกรรมศาสตร์/วิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์จึงได้ย้ายเข้ามายังอาคารเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติการเครือข่าย (อาคาร C) ใช้เป็นที่ทำการใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2555

ปัจจุบันอาคารเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติการเครือข่าย (อาคาร C) หรืออาคารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ประกอบด้วย

  • ชั้น 1 ห้องเรียนวิชาดนตรีตะวันตก
  • ชั้น 2 สำนักงานวิทยาลัยดุริยางคศิลป์, ห้องประชุมบุญชม ไชยโกษี
  • ชั้น 3 ห้องประชุมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
  • ชั้น 4 ห้องเรียนวิชาดนตรีพื้นบ้าน, ห้องเรียนวิชาดนตรีไทย

กิจกรรม

แก้

กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์

แก้

“กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์”[14] เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (วิดการเมือง), คณะวิทยาการสารสนเทศ (วิดยาการ), วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (วิดดุ), คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิดวะ) และคณะวิทยาศาสตร์ (วิดยา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยมีจุดประสงค์ให้ทั้ง 5 คณะ เกิดความผูกพัน มิตรภาพไมตรี และเกิดความสามัคคีแน่นแฟ้นต่อกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความสนุกสนามเพลิดเพลินและผ่อนคลาย

ส่วนในกีฬานั้นจะแบ่งออกเป็น 2ประเภท คือกีฬาสากล กับกีฬาพื้นบ้าน ส่วนในเรื่องของแสตนเชียร์และผู้นำเชียร์ได้มีการตกลงถึงกฎ กติกา มารยาทในการแข่งขันกีฬา เช่น มีชักกะเย่อ ส่งลูกปิงปอง และเพิ่มสีสันด้วยกีฬาผู้นำคือให้ผู้นำแต่ละคณะได้ลงมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมีการโชว์สแตนด์เชียร์ จัดกีฬาพื้นบ้านขึ้นมา เพื่อให้น้องที่สแตนด์มีส่วนร่วมด้วยเป็นประจำทุกปี เรียกได้ว่าเป็นประเพณีไปแล้ว สำหรับการเวียนเจ้าภาพ จะเวียนเป็นวงกลมตามภูมิลักษณะของมหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ

สานสัมพันธ์ 3 ศิลป์

แก้

“โครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์”[15] เป็นโครงการที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น พิธีบายศรี สู่ขวัญ กีฬาสานสัมพันธ์ และงานเลี้ยงต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ บริเวณคอร์ดกลางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เพื่อให้คณาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ได้แสดงความต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสมัครสมานสามัคคี และเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ระหว่าง 3 คณะต่อไป

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗. เก็บถาวร 2022-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  2. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย. การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๒๙. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  3. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ประวัติโดยย่อ. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
  4. สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
  5. กลุ่มงานประชุม. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 19 เมษายน 2565.
  6. คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. "ประวัติคณะศิลปกรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-04. สืบค้นเมื่อ August 3, 2021.
  7. "ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ August 3, 2021.
  8. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง จัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ พ.ศ. 2551 เก็บถาวร 2021-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564.
  9. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รายงานข้อมูลพื้นฐานประจำปี 2560 หน้า 18 เก็บถาวร 2021-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 มิถุนายน 2564
  10. วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. โครงสร้างการบริหารงาน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. 30 กรกฎาคม 2565.
  11. หลักสูตรวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส
  12. สยามดนตรียามาฮ่า, สถาบันดนตรียามาฮ่าจับมือพันธมิตรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 29 มิถุนายน 2564.
  13. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มมส จับมือ สถาบันดนตรียามาฮ่า ปั้นบุคลากรดนตรี เก็บถาวร 2021-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 29 มิถุนายน 2564.
  14. สื่อมวลชล. “กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์” สานสัมพันธ์ 5 คณะ มมส. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 6 ตุลาคม 2565.
  15. ข่าวประชาสัมพันธ์ มมส. มมส จัดโครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 6 ตุลาคม 2565.