วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : College of Politics and Governance, Mahasarakham University) บ้างเรียก คณะการเมืองการปกครอง เป็นหน่วยงานไทยระดับคณะวิชาลำดับที่ 13 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นคณะรัฐศาสตร์แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 (พร้อมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์) โดยพัฒนามาจากภาควิชารัฐศาสตร์ของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2517 ต่อมาภายหลัง คณะสังคมศาสตร์ถูกรวมเข้ากับคณะมนุษยศาสตร์เป็นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และภาควิชาได้กลายเป็นส่วนงานหนึ่งของคณะดังกล่าว และได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยการเมืองการปกครองในเวลาต่อมา

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
College of Politics and Governance, Mahasarakham University
สิงห์น้ำตาล สัญลักษณ์ประจำสาขารัฐศาสตร์
ตราสิงห์น้ำตาล
สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัย
ชื่อย่อวมป. / วิดการเมือง / COPAG
คติพจน์ศูนย์กลางรัฐศาสตร์อีสาน เพื่อการรับใช้สังคม
สถาปนาภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์
· 21 สิงหาคม พ.ศ. 2518 (48 ปี)
วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
· 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 (20 ปี)
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณบดีผศ.เชิงชาญ จงสมชัย
ที่อยู่
อาคารวิทยบริการ D เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150
วารสารวารสารการเมืองการปกครอง
สี███ สีน้ำตาลอ่อน
มาสคอต
สิงห์น้ำตาล
เว็บไซต์www.copag.msu.ac.th

ประวัติ แก้

 
อาคารวิทยบริการ D ที่ตั้งวิทยาลัย

จุดเริ่มต้นของการสอนวิชารัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น ต้องย้อนไปในสมัยวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม โดยศาสตราจารย์ประสาท หลักศิลา คณบดีคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ สังกัดวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ส่วนกลาง) ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ ดร.วิชัย ตันศิริ ร่างหลักสูตรวิชาโทรัฐศาสตร์เพื่อเปิดสอนให้คณะวิชาดังกล่าวควบคู่ไปกับการเปิดสอนรายวิชาทางรัฐศาสตร์ให้กับหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกสังคมศึกษา ของทางคณะวิชาการศึกษาในทุกวิทยาเขต (รวมทั้งมหาสารคาม) โดยสังกัดแผนกวิชาสังคมศาสตร์ จวบจนเมื่อมีประกาศของทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2518 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 166 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2518[1]) ให้รวมวิทยาลัยวิชาการศึกษาทุกวิทยาเขต ยกฐานะขึ้นเป็น "มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ" ตามด้วยชื่อวิทยาเขตที่ตั้ง และมีการแบ่งหน่วยงานขึ้นใหม่ จึงได้มีการจัดตั้ง "ภาควิชารัฐศาสตร์ (Department of Political Science)" ให้เป็นส่วนราชการหนึ่งของ "คณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Sciences)" [2] และให้วิชาโทรัฐศาสตร์สังกัดภาควิชานี้ ในวิทยาเขตมหาสารคามนั้น คณะสังคมศาสตร์ได้รับผิดชอบในการผลิตบัณฑิตทางการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกสังคมศึกษาให้กับคณะศึกษาศาสตร์ โดยมอบหมายให้ภาควิชารัฐศาสตร์จัดการเรียนการสอนในรูปแบบวิชาโทด้านรัฐศาสตร์, การเมือง, การบริหารรัฐกิจ, วิชาศึกษาทั่วไป (GE), วิชาเลือกเสรี และจัดการเรียนการสอนร่วมกับภาควิชาอื่นๆ ในคณะสังคมศาสตร์ควบคู่ไปด้วย[3]

ต่อมาในปี 2537 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ได้รับการยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" คณะสังคมศาสตร์จึงถูกยุบรวมกับคณะมนุษยศาสตร์อีกครั้งเป็น "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ตามประกาศในพระราชกฤษฎีกา[4] ภาควิชารัฐศาสตร์ ที่เดิมสังกัดคณะสังคมศาสตร์ จึงได้โอนย้ายมาสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่ยังไม่ได้เปิดรับนิสิตวิชาเอก ให้จัดการเรียนการสอนเฉพาะวิชาศึกษาทั่วไป และวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องแทน

ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติให้จัดตั้ง "วิทยาลัยการเมืองการปกครอง (College of Politics and Governance)" ขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา โดยการผนวก 3 หน่วยงานสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ ภาควิชารัฐศาสตร์, ศูนย์ข้อมูลการเมืองท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และโครงการจัดตั้งหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต เข้าด้วยกัน ซึ่งได้รับการอนุมัติจัดตั้งในการประชุมครั้งที่ 6/2546 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546[5] และประกาศลงในระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2546[6] ในคราวประชุมครั้งที่ 7/2546 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2546 โดยแบ่งหน่วยงานเป็นสำนักงานเลขานุการคณะและงานวิชาการ วิชาโทรัฐศาสตร์จึงได้รับอนุมัติให้เปิดสอนเป็น หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.) และโครงการจัดตั้งหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ก็ได้รับอนุมัติเป็นหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) และเปิดรับนิสิตเข้าศึกษาอย่างเป็นทางในปี 2547 เป็นรุ่นแรก วิทยาลัยการเมืองการปกครอง จึงกลายเป็นคณะวิชาด้านรัฐศาสตร์แห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาต่างๆ ในด้านรัฐศาสตร์ ได้แก่[7]

ระดับปริญญาตรี หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.) สาขาวิชาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) สาขาวิชานิติศาสตร์, หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา และรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.) สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น

ระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) สาขาวิชานโยบายสาธารณะ และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.) สาขาวิชาการเมืองการปกครอง

วิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็นคณะในกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงปลายสมัยที่ 2 ของศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ในการดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (พ.ศ. 2538 - 2545) ในช่วงแรกของการดำเนินงานนั้น วิทยาลัยการเมืองการปกครองได้อาศัยใช้อาคารราชนครินทร์เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอนชั่วคราว และปัจจุบันวิทยาลัยการเมืองการปกครองย้ายมาตั้งอยู่ที่อาคารวิทยบริการ (อาคาร D) เป็นการถาวร

ปีการศึกษา 2557 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง เห็นว่าสาขานิติศาสตร์มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาจากสาขาในวิทยาลัยการเมืองการปกครองขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ได้[8] อันจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตซึ่งเป็นผู้เรียนและการจัดโครงสร้างการเรียนการสอนและการบริหารจัดการที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงได้อนุมัติแผนการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ ภายในปี พ.ศ. 2557 และได้มีมติให้จัดตั้ง "คณะนิติศาสตร์ (Faculty of Law)" เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เป็นคณะวิชาลำดับที่ 20 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปัจจุบัน วิทยาลัยการเมืองการปกครอง เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการในกำกับของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารงานออกเป็นสำนักงานเลขานุการวิทยาลัยการเมืองการปกครองและสาขาวิชารัฐศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี โทและเอกทั้งสิ้น 3 หลักสูตร 3 สาขาวิชา 7 วิชาเอกและในปีการศึกษา 2563 มีบุคคลากรทั้งหมดรวม 68 คน มีจำนวนนิสิตทั้งหมด 3,245 คน[9]

อัตลักษณ์ แก้

  • ที่มาของชื่อคณะ

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง เป็นหน่วยงานด้านรัฐศาสตร์ที่ไม่ได้ใช้ชื่อคณะว่ารัฐศาสตร์ สำหรับที่มาของชื่อคณะ เกิดจากแนวคิดที่ต้องการตั้งชื่อคณะให้มีความแตกต่าง และไม่ให้ซ้ำซ้อนกับชื่อคณะรัฐศาสตร์ที่ปรากฏทั่วไปตามมหาวิทยาลัยอื่นๆ เห็นตัวอย่างจากกรณีของชื่อมหาวิทยาลัย “ธรรมศาสตร์และการเมือง” จึงเห็นควรตั้งชื่อเป็น “วิทยาลัยการเมืองการปกครอง” ผลของการดำเนินการระยะแรกปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักเรียนภาคอีสานส่วนใหญ่หากเลือกเรียนด้านรัฐศาสตร์มักนิยมเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ดังนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามเปิดสาขารัฐศาสตร์ จึงเป็นการสร้างทางเลือกในการศึกษาแก่คนในภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นการผลิตแรงงานตอบสนองต่อหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[10]

  • สีประจำคณะ

  สีน้ำตาลอ่อน

  • สัญลักษณ์ประจำคณะ

สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แก่ "สิงห์น้ำตาล" โดย "สิงห์" หมายถึง ผู้ปกครองดั่งราชสีห์ ผู้เป็นจ้าวแห่งป่า และ "สีน้ำตาล" หมายถึง สีแห่งแผ่นดินของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ราบสูงโคราช) และสีประจำคณะ

“สิงห์” เป็นตราประจำกระทรวงมหาดไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดให้ชำระสะสางระเบียบราชการซึ่งเคยมีอยู่มากมาย แต่กระจัดกระจายหายไปบางส่วนครั้งเสียกรุงแก่พม่า ครั้นชำระแล้วให้ประทับตราพระราชสีห์ (สิงห์) พระคชสีห์ บัวแก้ว ไว้ทุกเล่มเป็นสำคัญเรียกกฎหมายนี้ว่า “กฎหมายตรา 3 ดวง” และ“สิงห์” ได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของบุคลากรสายงานด้านปกครองที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานของประเทศ ทำให้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ควบคู่กับสายงานด้านการปกครองป้องกันของประเทศไทย รวมทั้งสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนเกี่ยวข้องกับสายงานด้านการปกครองไม่ว่าจะอยู่ในระดับคณะ ภาควิชา หรือสาขาวิชาทางด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ นำโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ในปี พ.ศ. 2491 (สิงห์ดำ) ติดตามด้วยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดง) ในปีถัดมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2508 ก็ได้มีการจัดตั้งภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (คณะรัฐศาสตร์ฯ ในปัจจุบัน) (สิงห์ขาว)

ในปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีการให้ความสำคัญในวิชาทางด้านรัฐศาสตร์มากขึ้น โดยมีมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้เริ่มพัฒนาการศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์ โดยจัดตั้งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (สิงห์น้ำตาล) และภายในปี พ.ศ. 2548 จึงเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (สิงห์มอดินแดง) และมีการจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สิงห์แสด) ขึ้น[11]

หน่วยงานภายใน แก้

 
การบริหารงานภายในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ด้านการบริหารงาน ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและพัฒนา
  • สำนักเลขานุการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง[12]
    • งานบริหารและธุรการ
    • งานแผนและประกันคุณภาพ
    • งานวิชาการปริญญาตรี
    • งานการเงินและบัญชี
    • งานพัสดุและอาคารสถานที่
    • งานบุคคล
    • งานห้องสมุด
    • งานพัฒนานิสิต
    • งานโสตทัศนศึกษาและคอมพิวเตอร์
    • งานบริการวิชาการ
    • งานบัณฑิตศึกษา
  • สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เทียบเท่าภาควิชา)
    • กลุ่มวิชาการเมืองการปกครอง
    • กลุ่มวิชารัฐประศาสนศาสตร์และกิจการสาธารณะ
    • กลุ่มวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
    • กลุ่มวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา
  • ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสานและอาเซียน
  • ศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี
  • ศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์
  • โครงการผลิตวารสารการเมืองการปกครอง ( TCI กลุ่ม1 )
  • 1 คณะ 1 ศิลปวัฒนธรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชน
  • ห้องสมุดสีดา สอนศรี

หลักสูตร แก้

ปัจจุบัน วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการเรียนการสอนใน 3 หลักสูตร 3 สาขาวิชา ประกอบด้วย

 
หลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.)

  • สาขาวิชารัฐศาสตร์
    • วิชาเอกการเมืองการปกครอง
      (Politics and Government)
    • วิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์
      (Public Administration)
    • วิชาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
      (International Relations)

หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.)

  • สาขาวิชารัฐศาสตร์
    • วิชาเอกการเมืองการปกครอง
      (Politics and Government)
    • วิชาเอกบริหารรัฐกิจและนโยบายสาธารณะ
      (Public Administration and Public Policy)

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชารัฐศาสตร์
    • วิชาเอกการพัฒนาสังคมและนโยบายสาธารณะ
      (Social Development and Public Policy)
    • วิชาเอกการเมืองเปรียบเทียบและประเด็นร่วมสมัย
      (Comparative Politics and Contemporary Issues)

หลักสูตรที่เคยทำการเรียนการสอน

  • หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) สาขาวิชานิติศาสตร์ ปัจจุบันคือคณะนิติศาสตร์
  • หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษา ปัจจุบันเลิกทำการเรียนการสอน
  • หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.) สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น ปัจจุบันเลิกทำการเรียนการสอน
  • หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต (รป.ม.) สาขาวิชานโยบายสาธารณะ ปัจจุบันทำการสอนในหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (ร.ม.) วิชาเอกบริหารรัฐกิจและนโยบายสาธารณะ

สาขาวิชา แก้

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มีสาขาวิชาเอกต่างๆ ดังนี้

 
สาขาวิชาเอกในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สาขาวิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์
Major in Public Administration
สาขาวิชาเอกการเมืองการปกครอง
Major in Politics and Governance
สาขาวิชาเอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
Major in International Relations
 
  • ชื่อเรียกอื่น : สิงห์บริหาร, รัฐศาสตร์บริหาร
  • สัญลักษณ์ : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสิงห์น้ำตาล
  • ก่อตั้ง : พ.ศ. 2545 (21 ปี)
  • สี :   สีน้ำเงิน
  • อักษรย่อ : PA
  • หมายเหตุ : สาขารัฐประศาสนศาสตร์ทำการสอนครั้งแรกในปี 2546
    ปัจจุบันมีนิสิตจำนวน 21 รุ่น (ปีการศึกษา 2566)
    เป็นสาขาแรกที่ทำการสอนในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง
  • หลักสูตร ​: ร.บ. รัฐศาสตร์ (รัฐประศาสนศาสตร์)​
    ร.ม. รัฐศาสตร์​ (บริหารรัฐกิจและนโยบายสาธารณะ)​
    ปร.ด. รัฐศาสตร์​ (พัฒนาสังคมและนโยบายสาธารณะ​)​
 
  • ชื่อเรียกอื่น : สิงห์ปกครอง, รัฐศาสตร์การปกครอง
  • สัญลักษณ์ : ราชสีห์​แห่งที่ราบสูง
  • ก่อตั้ง : พ.ศ. 2546 (20 ปี)
  • สี :   สีขาว
  • อักษรย่อ : PO
  • หมายเหตุ : สาขาการเมืองการปกครองทำการสอนครั้งแรกในปี 2547
    ปัจจุบันมีนิสิตจำนวน 20 รุ่น (ปีการศึกษา 2566)
  • หลักสูตร ​: ร.บ. รัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครอง)
    ร.ม. รัฐศาสตร์​ (การเมืองการปกครอง)​
    ปร.ด. รัฐศาสตร์​ (การเมืองเปรียบเทียบและประเด็นร่วมสมัย)​
 
  • ชื่อเรียกอื่น : สิงห์การทูต, รัฐศาสตร์การทูต
  • สัญลักษณ์ : แผนที่โลกและกิ่งมะกอก
  • ก่อตั้ง : พ.ศ. 2547 (19 ปี)
  • สี :   สีชมพู
  • อักษรย่อ : IR
  • หมายเหตุ : สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำการสอนครั้งแรกในปี 2548
    ปัจจุบันมีนิสิตจำนวน 19 รุ่น (ปีการศึกษา 2566)
  • หลักสูตร : ร.บ. รัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์​ระหว่าง​ประเทศ)​

สถานที่ตั้งและพื้นที่ แก้

 
อาคารวิทยบริการ D ขณะก่อสร้างในปี 2548
 
อาคารวิทยบริการ D ในปี 2554

วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ตั้งอยู่ที่อาคารวิทยบริการ D มีอาณาเขตอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) ติดกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์และสำนักวิทยบริการ อยู่ตรงข้ามกับอาคารบรมราชกุมารี ที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มีพื้นที่ลานอัฐศิลป์หรือลานแปดเหลี่ยม เป็นสถานที่ทำกิจกรรมหลักและเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคณะ

อาคารวิทยบริการ D หรืออาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและศูนย์บริการเครือข่าย (อาคาร D) มีวงเงินงบประมาณที่ก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 94,700,000 บาท เลขที่สัญญาจ้างจ.49/2547 เริ่มมีการทำสัญญาจ้างลงเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 วันสิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ผู้ออกแบบคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ บริษัทที่ปรึกษาผู้ควบคุมงานคือ บริษัท เซ้าท์อี๊สท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด บริษัทผู้รับจ้างคือ บริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด มีลักษณะอาคารจะเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงทั้งหมด 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 11,000 ตารางเมตร

ปัจจุบันอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและศูนย์บริการเครือข่าย (อาคาร D) ประกอบด้วย[13]

  • ชั้น 1 ห้องสมุด สีดา สอนศรี, ศูนย์อาหาร, สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ศูนย์รับถ่ายเอกสาร
  • ชั้น 2 ห้องสโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง, ห้องเรียน, ห้องนั่งสมาธิ, ห้องซ้อมดนตรี, ห้องศูนย์จัดการข้อมูลสาธารณะ
  • ชั้น 3 สำนักงานวิทยาลัยการเมืองการปกครอง, ห้องแนะแนวนิสิต, ห้องศูนย์คอมพิวเตอร์
  • ชั้น 4 ห้องประชุม ทองใบ ทองเปาด์, ห้องประชุม ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร, ห้องประชุม จำลอง ดาวเรือง, ห้องเรียน

ศูนย์บริการทางวิชาการ[14] แก้

  • ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสานและอาเซียน
  • ศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี
  • ศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะเชิงสร้างสรรค์
  • โครงการผลิตวารสารการเมืองการปกครอง ( TCI กลุ่ม1 )
  • 1 คณะ 1 ศิลปวัฒนธรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชน
  • ห้องสมุดสีดา สอนศรี

ห้องสมุดสีดา สอนศรี แก้

ห้องสมุดสีดา สอนศรี เริ่มแรกเป็น ห้องสมุดภายในวิทยาลัยการเมืองการปกครองซึ่งอยู่ที่ชั้น 2 ของวิทยาลัย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ทำการย้ายห้องสมุดลงมายังชั้น 1 ตามเจตนารมณ์ ของผู้บริหาร ณ ขณะนั้นที่อยากให้ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่เข้าถึงง่าย สะดวก เพื่อ ให้นิสิตและผู้สนใจเข้ามาใช้บริการกันอย่างกว้างขวาง โดยให้บริการหนังสือด้าน รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาเซียน กฎหมาย และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ต่อมาในปี 2560 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ห้องสมุดสีดา สอนศรี เพื่อเป็นการเชิดชูดเกียรติ รศ.สีดา สอนศรี (อดีตคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปี 2552-2560) โดยห้องสมุดสีดา สอนศรี ได้บริการแก่ผู้ใช้ ซึ่งได้แก่ อาจารย์ นิสิตทั้งภายใน และภายนอกวิทยาลัย และนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัยด้วย โดยภายในห้องสมุดมีการแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 ห้องที่อยู่ด้านในที่มีหนังสือเป็นโซนชื่อว่า “โซนเงียบกริบ” ให้บริการนั่งอ่านและค้นคว้าหนังสือภายใต้ความเงียบ ห้ามใช้เสียง
  • ส่วนที่ 2 เป็นห้องอาเซียน ซึ่งรวบรวมทรัพยากรเกี่ยวกับอาเซียนและท้องถิ่นในห้องนี้
  • ส่วนที่ 3 ห้องโซนด้านนอกชื่อ “โซนกระซิบได้” โซนนี้สามารถใช้เสียงได้นิดหน่อย เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานในห้องสมุดได้สะดวกขึ้น
  • ส่วนที่ 4 เป็นห้องประชุมเพื่อบริการกลุ่มนิสิตที่ต้องการปรึกษาหารือ ประชุม หรือทำงานกลุ่ม ซึ่งได้เปิดให้บริการในปีการศึกษา 2561

ทำเนียบคณบดี แก้

รายนามคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

 
รายนามคณบดี วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ลำดับ รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
รักษาการ ผศ.ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ 17 ก.ค. 2546 - 16 ก.ค. 2548
รักษาการ ศ.นพ.อดุลย์ วิริยะเวชกุล ราชบัณฑิต 17 ก.ค. 2549 - 31 ม.ค. 2551
รักษาการ ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริมงคล 1 ก.พ. 2551 - 12 มี.ค. 2552[15]
1 รศ.สีดา สอนศรี 13 มี.ค. 2552 - 27 ก.พ. 2556 (วาระที่ 1)[16] 28 ก.พ. 2556 - 23 ก.พ. 2560 (วาระที่ 2)[17]
2 ผศ.เชิงชาญ จงสมชัย 24 ก.พ. 2560 - 19 มี.ค. 2564 (วาระที่ 1)[18]
3 ผศ.กันตา วิลาชัย 20 มี.ค. 2564 - 10 มี.ค. 2566[19]
รักษาการ ผศ.ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล 11 มี.ค. 2566 - 28 พ.ค. 2566[20]
4 ผศ.เชิงชาญ จงสมชัย 29 พ.ค. 2566 - ปัจจุบัน (วาระที่ 2)[21]

ชีวิตนิสิต แก้

ชมรม แก้

ชมรมต่อไปนี้เป็นชมรมสังกัดสโมสรนิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

  • ชมรมสิงห์น้ำตาลอาสา
  • ชมรมดนตรีโคแพก
  • ชมรมโคแพกนิว

กิจกรรมและการสัมมนาของคณะ แก้

  • กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์

“กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์”[22] เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (วิดการเมือง), คณะวิทยาการสารสนเทศ (วิดยาการ), วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (วิดดุ), คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิดวะ) และคณะวิทยาศาสตร์ (วิดยา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยมีจุดประสงค์ให้ทั้ง 5 คณะ เกิดความผูกพัน มิตรภาพไมตรี และเกิดความสามัคคีแน่นแฟ้นต่อกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความสนุกสนามเพลิดเพลินและผ่อนคลาย

ส่วนในกีฬานั้นจะแบ่งออกเป็น 2ประเภท คือกีฬาสากล กับกีฬาพื้นบ้าน ส่วนในเรื่องของแสตนเชียร์และผู้นำเชียร์ได้มีการตกลงถึงกฎ กติกา มารยาทในการแข่งขันกีฬา เช่น มีชักกะเย่อ ส่งลูกปิงปอง และเพิ่มสีสันด้วยกีฬาผู้นำคือให้ผู้นำแต่ละคณะได้ลงมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมีการโชว์สแตนด์เชียร์ จัดกีฬาพื้นบ้านขึ้นมา เพื่อให้น้องที่สแตนด์มีส่วนร่วมด้วยเป็นประจำทุกปี เรียกได้ว่าเป็นประเพณีไปแล้ว สำหรับการเวียนเจ้าภาพ จะเวียนเป็นวงกลมตามภูมิลักษณะของมหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ

  • โคแพกเกมส์

เป็นกิจกรรมกีฬาภายในวิทยาลัยการเมืองฯ จัดโดยสโมสรนิสิตร่วมกับคณะกรรมการทั้ง 3 สาขาวิชาเอก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีของสาขาวิชาต่าง ๆ นอกจากจะมีการแข่งขันกีฬาชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังมีการแข่งขันสแตนด์เชียร์ หรือบางปีจัดเป็นกิจกรรมเต้นสันทนาการ และผู้นำเชียร์

  • กิจกรรมและค่ายสาขาวิชาเอก

ในแต่ละสาขาวิชาเอก จะมีการจัดกิจกรรมและค่ายของสาขาตนเองขึ้น เช่น

  • สิงห์บริหารสัมพันธ์ สาขา PA
  • กิจกรรมเปิดถ้ำสิงห์ สาขา PO
  • ค่ายรัฐศาสตร์สานสัมพันธ์ IR

กิจกรรมและการสัมมนาระหว่างมหาวิทยาลัย แก้

  • สิงห์อีสานสัมพันธ์

เป็นกิจกรรมที่มี นักศึกษา หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต ทั่วภาคอีสาน กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แต่ละสถาบันการศึกษา ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์ในการพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรของแต่ละสถาบัน การแสดงผลงานทางวิชาการ และสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบัน[23]

  • สิงห์ตักสิลาสัมพันธ์

เป็นกิจกรรมการสัมมนาและแข่งขันกีฬา ระหว่าง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กับ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ จัดครั้งแรกในปี 2560 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายในงานมีกิจกรรมสันทนาการและการเล่นกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันกีฬาฟุตบอล และพิธีมอบธงกีฬาสัมพันธ์ โดยมีนิสิตนักศึกษาจากทั้ง 2 สถาบันเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 150 คน[24]

  • สิงห์ร้อยแก่นสารสินธุ์

เป็นกิจกรรมการสัมมนา ระหว่างมหาวิทยาลัยในเขตจังหวัด ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ จัดครั้งแรกในปี 2566 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

  • สิงห์สัญจรสัมพันธ์

เป็นโครงการสืบเนื่องจาก สิงห์ร้อยแก่นสารสินธุ์ เป็นการขยายเครือข่ายนอกกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ ครั้งที่ 1 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยามหาสารคาม, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

  • กิจกรรมพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาต่างชาติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม (Outbound)

เป็นกิจกรรมการสัมมนาระหว่างประเทศของสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) โดยปี 2566 จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติมาเลเซีย (Universiti Sains Malaysia) รัฐปีนัง สหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งในปีก่อนหน้านั้นได้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ความร่วมมือ แก้

วิทยาลัยการเมืองการปกครองได้ดำเนินงานตามพันธกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน โดยวิทยาลัยการเมืองการปกครองได้วางรากฐานทางปัญญาอย่างต่อเนื่องผ่านการจัดตั้งโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เน้นการเสริมสร้างความรู้คู่คุณธรรมและการทำงานเพื่อส่วนรวม อาทิ โครงการลงชุมชนของนิสิต โครงการติวนิสิต (Copag Tutor) โครงการให้นิสิตริเริ่มทำกิจการ (Copag Creative) โครงการสร้างวิทยาลัยสีเขียว (Copag Green) ตลอดจนได้จัด Copag Open House และ Copag Open Book เพื่อเปิดบ้านวิทยาลัยให้บุคคลภายนอกได้ทราบกิจกรรมต่าง ๆ ของวิทยาลัย รวมทั้งการทำความตกลงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลวังแสง เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันนอกจากนี้ วิทยาลัยการเมืองการปกครองได้ทำข้อตกลงร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้ทางวิชาการ เช่น คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว, ผู้แทนจากลักแซมเบิร์ก, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, องค์กรพัฒนาเอกชนทางด้านกฎหมาย (BABSEA CLE Foundation Thailand), เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม เพื่อร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนนิสิต อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

อันดับ แก้

มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการจัดอันดับเป็นสถาบันที่มีสาขารัฐศาสตร์ที่ดีที่สุดอันดับที่ 14 ในประเทศไทย จัดอันดับโดยอีดียูแรงก์ (EduRank) ด้านปรัชญา อยู่ในอันดับที่ 15[25]

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา. การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2518. 29 มีนาคม 2565.
  2. ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประวัติภาควิชารัฐศาสตร์. เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 29 มีนาคม 2565.
  3. สาร MSU Online. โครงการก่อสร้างอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศและศูนย์บริการเครือข่าย (อาคาร D). 12 พฤษภาคม 2565.
  4. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, กองกลาง สำนักงานอธิการบดี : พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564.
  5. วิทยาลัยการเมืองการปกครอง เก็บถาวร 2021-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2564
  6. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง พ.ศ. 2546 สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2564.
  7. รัฐศาสตร์+การเมือง สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2564
  8. mgronline. "นิติศาสตร์ ม.มหาสารคามร้องขอแยกเป็นคณะ". สืบค้นเมื่อ March 29, 2019.
  9. สถิติจำนวนนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามปีการศึกษา 2563 โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2564.
  10. สาร MSU Online. ย้อนที่มาชื่อ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง. 12 พฤษภาคม 2565.
  11. สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ทำไมต้องสิงห์. 25 กรกฎาคม 2565"
  12. COPAG. สำนักงานเลขานุการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง. 28 กุมภาพันธ์ 2565.
  13. สาร MSU Online. อาคาร D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง. 12 พฤษภาคม 2565.
  14. COPAG. ศูนย์บริการทางวิชาการ. 28 กุมภาพันธ์ 2565.
  15. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 297/2550. 23 มีนาคม 2564.
  16. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 876/2552. 23 มีนาคม 2564.
  17. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 817/2556. 23 มีนาคม 2564.
  18. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 690/2560. 23 มีนาคม 2564.
  19. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. กลุ่มงานประชุม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 474/2564. 28 กุมภาพันธ์ 2565.
  20. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. กลุ่มงานประชุม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 602/2566 28 มีนาคม 2566.
  21. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. กลุ่มงานประชุม. คำสั่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ 1368/2566. 28 พฤษภาคม 2566.
  22. สื่อมวลชล. “กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์” สานสัมพันธ์ 5 คณะ มมส. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 6 ตุลาคม 2565.
  23. วิทยาลัยการเมืองการปกครอง. วิทยาลัยฯ ร่วมงานประเพณีเครือข่าย “สิงห์อีสานสัมพันธ์ ครั้งที่ 9” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566.
  24. วิทยาลัยการเมืองการปกครอง. สิงห์ตักสิลาสัมพันธ์ครั้งที่ 2. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2566.
  25. "23 Best universities for Education Majors in Thailand". edurank.org. สืบค้นเมื่อ October 12, 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  1. เว็บไซต์ทางการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เก็บถาวร 2014-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. เว็บไซต์ทางการห้องสมุดสีดา สอนศรี
  3. เว็บไซต์ทางการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม