วัดราชผาติการามวรวิหาร

พระอารามหลวงในเขตดุสิต

13°46′48″N 100°30′19″E / 13.780092°N 100.505230°E / 13.780092; 100.505230

วัดราชผาติการามวรวิหาร
ด้านหลังของพระอุโบสถวัดราชผาติการาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง)
ที่ตั้ง147 ถนนราชวิถี เชิงสะพานกรุงธน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระประธานหลวงพ่อสุก
เจ้าอาวาสพระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนฺทราโภ)
ความพิเศษเป็นสถานที่ปรดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และ 5
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดราชผาติการามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนราชวิถี เชิงสะพานกรุงธน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตรงข้ามกับบ้านอาจารย์ฝรั่ง สร้างขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผาติกรรมวัดส้มเกลี้ยงเดิม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียนเซนต์คาเบรียลในปัจจุบัน และได้รับการทำนุบำรุงโดยดีมาตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรพระราชทานพระนามใหม่แก่วัดว่า "วัดราชผาติการาม" อันมาจากคำว่า "ราช-" คือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน, "ผาติกรรม" คือการทำผาติกรรมที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงทำ และ "อาราม" คือวัด จึงแปลความได้ว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทำผาติกรรมขึ้นมา วัดได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระราชทานพระราชทรัยพ์ส่วนพระองค์มูลค่า 250 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมโบราณ พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นเรื่องพระมหาชนก

ภายในวัดราชผาติการามวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ในกล่อศิลาด้านหลังพระอุโบสถ ไม่ปรากฏนามผู้ที่นำพระบรมอัฐิมามอบให้ บริเวณวัดราชผาติการามยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดราชผาติการาม วัดราชผาติการามในปัจจุบันอยู่ภายใต้การอนุรักษ์และปรับปรุงของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

อาณาเขต

แก้

ประวัติ

แก้

การผาติกรรมและก่อสร้างวัด

แก้

วัดราชผาติการาม เดิมชื่อวัดส้มเกลี้ยง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา แต่เดิมวัดส้มเกลี้ยงนั้นตั้งอยู่ทางทิศใต้ของที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งสามเสน ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชาวญวนและชาวมอญซึ่งนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคอลิก ซึ่งลี้ภัยการเมืองมายังราชอาณาจักรสยามได้ตั้งชุมชนที่อยู่อาศัยและศาสนสถาน ได้แก่ โบสถ์ญวน (โบสถ์เซนต์ฟรัง) และ โบสถ์เขมร (โบสถ์คอนเซ็ปชัญ) ภายใต้การควบคุมดูแลของพระวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) ซึ่งนับถือโรมันคาทอลิก ในที่ดินพระราชทานขนาดใหญ่ในบริเวณทุ่งสามเสน ใกล้วัดส้มเกลี้ยง ต่อมาเมื่อเริ่มมีผู้ลี้ภัยและประชากรมากขึ้น ทำให้บริเวณชุมชนมีความแออัด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงขยายพื้นที่โดยทรงทำการผาติกรรมวัดส้มเกลี้ยง ซึ่งอยู่ในสภาพรกร้างและทรุดโทรมเนื่องจากถูกนำอิฐรื้อถอนไปก่อสร้างบ้านเรือนประชาชนตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์จึงมีรับสั่งให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดส้มเกลี้ยงขึ้นใหม่ โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยศิลปะแบบญวน เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงชาวญวนที่อพยพมาในบริเวณ

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช การก่อสร้างวัดยังไม่แล้วเสร็จ จึงทรงสานต่อพระราชปนิธานของพระบรมราชชนก โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงควบคุมการก่อสร้างต่อ แต่พระองค์เสด็จทิวงคตก่อน การก่อสร้างจึงหยุดชะงักลง ต่อมาเมื่อมีการสร้างถนนราชวิถี ตัดผ่านในบริเวณกุฏิสงฆ์ของวัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ย้ายกุฏิสงฆ์ออกจากจุดที่ถนนจะตัดผ่าน และสร้างกำแพงล้อมรอบบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้วยเดิมทีไม่มีการกำหนดพื้นที่บริเวณวัด พื้นที่สีมาของวัดนั้นกินพื้นที่สังฆาวาสปะปนอยู่กับพื้นที่พุทธาวาส และกินพื้นที่ถนนราชวิถีด้วย ด้วยเหตุเดียวกันนี้ทำให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมได้ไม่สะดวก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชในขณะนั้นจึงโปรดให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ทำพิธีผูกพันธสีมาขึ้นเฉพาะบริเวณพระอุโบสถของวัด เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2471 จึงสามารถสังเกตได้จากใบสีมาของวัดราชผาติการามนั้นจะประดิษฐานอยู่บนผนังอาคารอุโบสถ ไม่ได้อยู่บนลานวัดเหมือนวัดอื่น ๆ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรพระราชทานพระนามใหม่แก่วัดส้มเกลี้ยงว่า "วัดราชผาติการาม" อันแปลว่าวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทำผาติกรรม ซึ่งตรงกับประวัติของวัดที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำการผาติกรรมวัดแห่งนี้มาในครั้งแรก พื้นที่ของวัดต่อมาได้ปรับปรุงใหม่หลังการก่อสร้างสะพานกรุงธนในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2501 ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโดยตลอด โดยพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชวงศ์ เจ้าอาวาสวัดทุกรูป เมื่อปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 12 ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานพระอุโบสถ ภายหลังการบูรณะพระอุโบสถครั้งใหญ่ และไดรับพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทรงยกฉัตรเจ็ดชั้นกั้นหลวงพ่อสุก พระประทานในพระอุโบสถ

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

แก้

พระธรรมปัญญาจารย์ (สุพจน์ ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสรูปที่ 13 ของวัดได้เริ่มดำเนินโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการาม เพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ภายใต้การร่วมมือของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยกรมศิลปากรดูแล นอกจากนี้ทางวัดยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มูลค่า 250 ล้านบาทเพื่อร่วมบูรณปฏิสังขรณ์วัดในครั้งนี้ด้วย

ในครั้งนี้ได้จัดเขียนจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถขึ้น โดยเกิดจากเมื่อครั้น พ.ศ. 2520 เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงสดับฟังพระธรรมเทศนา "มหาชนกชาดก" โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) เจ้าอาวาสวัดรูปที่ 12 แล้วเกิดความสนพระราชหฤทัยขึ้นเป็นอย่างมาก จึงทรงเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องมหาชนกชาดกอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงพระราชนิพนธ์โดยแก้เนื้อหาบางตอนให้ทันสมัย และเพิ่มเทคนิคการปลูกมะม่วงเข้าไปในตอนจบของเรื่องเพื่อสอดแทรกแนวคิดเกษตรกรรมที่พระองค์ทรงศึกษามา เป็นพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษจัดพิมพ์แก่ประชาชน ด้วบความทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เรื่องมหาชนก ประกอบกับที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ซึ่งเป็นผู้จุดประกายความสนพระราชหฤทัยและก่อให้เกิดเรื่องมหาชนก เป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดราชผาติการาม จึงได้จัดให้วาดจิตรกรรมฝาผนังภาายในวัดขึ้นเป็นเรื่องพระมหาชนก ตามเนื้อเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น โดยใช้ศิลปะการเขียนภาพจิตรกรรมแบบไทยประยุกต์กับสมัยใหม่ พร้อมทั้งสอดแทรกอุปกรณ์เครื่องใช้ในสมัยปัจจุบัน เช่น แท็บเล็ต หูฟัง และได้วาดภาพพระราชวังเมืองมิถิลานครแทนด้วย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมภาพผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะทำงาน ศิลปิน และเจ้าอาวาสของวัดร่วมไปในภาพเขียนด้วย

นอกจากการวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถแล้ว โครงการได้ปรับปรุงอาคารต่าง ๆ โดยคงไว้ด้วยลักษณะทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมเดิมไว้ พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบวัดให้สวยงาม สะอาด และทันสมัย โครงการได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2558 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เปิดพระอุโบสถที่ปรับปรุงใหม่และบริเวณวัด

ลำดับเจ้าอาวาส

แก้
ลำดับ  นาม  ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.) หมายเหตุ
1. พระครูโกณฑัญญูธรรมธาดา (ดิศ) เป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง ภทฺทิโย) ประมาณ 2420 - 2431 ครองวัดประมาณ 8-9 ปี จึงโปรดให้ไปเป็นเจ้าคณะจังหวัดสงขลา และเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา
3. พระครูโกฑัญญูธรรมธาดา (โต) ภายหลังลาสิกขาไปรับราชการในพระนคร
4. พระครูวินัยธร (จันทร์) ย้ายมาจากวัดโสมนัส ภายหลังลาสิกขาไปรับราชการในพระนคร
5. พระภัทรธรรมธาดา (แจ้ง ภทฺทิโย) 2438 - ? โปรดให้ย้ายกลับมาจากวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา
6. พระภัทรสีลสังวร (เทศ) ย้ายจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
7. พระครูวินยาณลังการ (เย็น) ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้ย้ายไปวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร
8. พระธรรมวิโรจน์ (เชย อหิํสโก) 2459 - 2475 โปรดให้ย้ายมาจากวัดราชาธิวาส
9. พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) 2475 - ? ต่อมาโปรดให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส
10. พระวิบูลศีลขันธ์ (จำเรียง) ? - 2503 ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้ย้ายไปอยู่วัดราชาธิวาส
11. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) 2503 - 2536
12. พระธรรมปัญญาจารย์ (สุพจน์ ปภสฺสโร) 2536 - 2556
13. พระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนทราโภ) 2556 - ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  • สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (2559). ราชผาติกานุสรณ์ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชผาติการาม. กรุงเทพฯ: ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด. ISBN 978-974-8259-97-0.
  • ราชบัณฑิตยสถาน (2539). วัดราชผาติการาม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • อรทัย แสนบุตร (รวบรวม) (2544). หนังสือที่ระลึกในการที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายพระภิกษุที่จำพรรษา ณ วัดราชผาติการามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2544. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.