วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร เดิมชื่อ วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 บริเวณที่ตั้ง เป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
ที่ตั้งเชียงใหม่-ฮอด ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อเพชร (จำลองจากวัดท่าหลวง)
เจ้าอาวาสพระสุวรรณเมธี (แสวง ปญฺญาปโชโต)
ความพิเศษประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และพระธาตุประจำปีเกิดของปีชวด
กิจกรรมงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทองวันที่15
หมายเหตุเว็บไซด์วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ตำนานและประวัติ

แก้

ตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ

แก้

ดอยจอมทอง มีสัณฐานเป็นภูเขาดินสูงจากระดับพื้นที่ราบอื่นยอดดอยลูกนี้ในสมัยพุทธกาล มีเมืองๆ หนึ่งชื่อว่า “เมืองอังครัฏฐะ” เจ้าผู้ครองเมืองนั้นชื่อว่า พระยาอังครัฏฐะ พระยาอังครัฏฐะ ได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า “บัดนี้พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ในโลกนี้“ เวลานี้ประทับอยู่เมืองราชคฤห์ ในประเทศอินเดีย จึงอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้วจึงเสด็จมาสู่เมืองอังครัฏฐะ ทรงแสดงธรรมและทรงพยากรณ์ ไว้ว่า “เมื่อเราตถาคตนิพพานแล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวาของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ดอยจอมทอง แห่งนี้” แล้วเสด็จกลับ ส่วนพระยาอังครัฏฐะทรงสดับพระดำรัสที่ตรัสพยากรณ์นั้นแล้ว ได้ทรงรับสั่งให้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทองด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้ กาลล่วงมาถึงรัชสมัยแห่งพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย พระองค์ได้เสด็จสู่ดอยจอมทอง ได้ขุดคูหูเปิดอุโมงคใต้พื้นดอยจอมทองแล้วทรงรับสั่งให้สร้างพระสถูปไว้ภายในคหูนนี้ ทรงอัญเชิญพระบรมธาตุที่อยู่ในสถูปที่พระยาอังครัฏฐะรับสั่งให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปประดิษฐานในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทองแล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำาคูหาไว้ ทรงอธิษฐานไว้ว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้ พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ฝูงชนให้ได้กราบไหว้สักการบูชา”

สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัด

แก้
  • พ.ศ. 1995 พ่อสร้อย แม่เม็ง สองสามีภรรยา บ้านอยู่ใกล้กับดอยจอมทอง จึงได้เริ่ม สร้างเป็นวัดขึ้นบนยอดดอยจอมทองนั้นแล้วให้ชื่อว่า วัดศรีจอมทอง การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี พ่อสร้อย แม่เม็ง ก็ได้ถึงแก่กรรมไป ต่อมาเมื่อ
  • พ.ศ. 2009 มีชาย 2 คน ชื่อสิบเงินและสิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจอมทองและก่อสร้างวิหารมุงหญ้าคาขึ้นหนึ่งหลังจนเสร็จ แล้วได้อาราธนาพระสารีปุตตเถระ มาเป็นเจ้าอาวาส

ค้นพบพระบรมธาตุ

แก้
 
พระวิหารหลวง วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร
  • พ.ศ. 2042 ในสมัยที่พระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาส มีตาปะขาวคนหนึ่งเกิดนิมิตฝันว่าเทวดามาบอกว่าที่ใต้พื้นวิหารบนยอดดอย ที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าและพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันให้เจ้าอาวาสฟัง ท่านจึงได้ทำการอธิษฐานว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้นขอให้พระบรมธาตุจงเสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด” เมื่ออธิษฐานแล้วในวันรุ่งขึ้น ได้พบพระบรมธาตุอยู่ในช่องใจกลางพระเกศโมลีของพระพุทธรูปซึ่งตั้งอยู่ภายในวิหารนั้นจึงได้เก็บรักษากันไว้ โดยเงียบๆ สืบมา
  • พ.ศ. 2058 สมัยที่พระมหาสีลปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส ได้มีพระมหาพุทธญาโณเถระ ได้นำตำนานพระทักขิณโมลีธาตุ มาจากเมืองพุกามจึงได้สั่งให้พระอานันทะ ผู้เป็นศิษย์ไปสืบดูพระบรมธาตุที่วัดศรีจอมทอง จึงได้ทำการสักการบูชาอธิษฐานอยู่ ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญเมื่อได้เห็นอาการดังนั้น จึงได้นำเอาพระบรมธาตุที่ได้เก็บรักษากันต่อๆกันออกมาแสดงให้พระอานันทะทราบ พระอานันทะจึงได้นำความไปแจ้งแก่พระมหาพุทธญาโณ ผู้เป็นอาจารย์ ฝ่ายพระมหาพุทธญาโณ เมื่อได้ทราบดังนั้น จึงได้นำความไปทูลพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ทรงทราบ
  • พ.ศ. 2060 พระเมืองแก้ว จึงอาราธนาให้พระมหาพุทธญาโณ เป็นหัวหน้าไปสร้างวิหารจตุรมุข และก่อปราสาทไว้ภายในวิหารนั้น แล้วอัญเชิญพระบรมธาตุเข้าประดิษฐานไว้ภายในปราสาทนั้น พระบรมธาตุจึงได้รับการเก็บรักษาไว้โดยวิธีนี้ ต่อๆ มาจนกระทั่งถึงกาลปัจจุบันนี้

ลำดับเจ้าอาวาส วัดพระธาตุศรีจอมทอง (เท่าที่มีบันทึก)

แก้
  1. พระสารีปุตตเถระ พ.ศ. 2009-2013
  2. พระเทพกุลเถระ พ.ศ. 2013-2018
  3. พระธมฺมปญฺโญเถระ พ.ศ. 2018-2046
  4. พระอานนฺโท พ.ศ. 2046-2047
  5. พระเหมปญฺโญ พ.ศ. 2047-2049
  6. พระญาณมงคละ พ.ศ. 2049-2050
  7. พระพุทธเตชะ พ.ศ. 2050-2052
  8. พระอรญฺญวาสี พ.ศ. 2052-2054
  9. พระธมฺมรกฺขิต พ.ศ. 2054-2055
  10. พระเอยฺยอปฺปกะ พ.ศ. 2055-2056
  11. พระมหาสีลปญฺโญ พ.ศ. 2056-2071
  12. พระมหาสงฺฆราชสทฺธมฺมทสฺสี พ.ศ. 2071-2087
  13. พระมหาสงฺฆราชาญาณมงฺคละ พ.ศ. 2087-2099
  14. พระมหาสงฺฆราชชวนปญฺโญโสภิตขิตินทริยวงฺโส พ.ศ. 2099-2109
  15. พระมหาสามิคณาจิตฺต พ.ศ. 2109
  16. ครูบาพุทธิมาวงฺโส พ.ศ. 2314
  17. ครูบามหาวัน พ.ศ. 2409-2462
  18. พระครูพุทธศาสน์สุประดิษฐ์ (อินถา ทาริโย) พ.ศ. 2462-2483
  19. พระครูสุวิทยธรรม (สม สุมิตโต) พ.ศ. 2483-2533
  20. พระพรหมมงคล (ทอง สิริมงฺคโล) พ.ศ. 2534-2562
  21. พระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ) (รักษาการ) พ.ศ. 2562-2563
  22. พระสุวรรณเมธี (แสวง ปญฺญาปโชโต) พ.ศ. 2563-ปัจจุบัน [1]

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส

แก้
  1. พระอมรเวที (อ๊อด ชยาภินนฺโท ป.ธ.๘)
  2. พระศรีศิลปาจารย์ (ประมวล ปญฺญาวโร)
  3. พระครูโสภณสุวรรณาทร วิ. (เพชร วชิรญาโณ)
  4. พระครูอาทรสมาธิวัตร วิ. (สันติ ถาวโร อภิธรรมบัณฑิต)​
  5. พระครูพิจิตรสรการ (ประเสริฐ สิริปุญโญ ป.ธ. ๔)
  6. พระครูปลัดสุวัฒนมงคลสิทธิคุณ (ยุวรัตน์ ยสิสฺสโร ป.ธ.๗)
  7. พระครูวิบูลสุวรรณวัฒน์ (อิศรา อภิวฑฺฒโน อภิธรรมบัณฑิต)
  8. พระมหาธนวัฒน์ ธนวฑฺฒโน เปรียญธรรม ๙ ประโยค
  9. พระมหาคัมภีร์ ภูริวฑฺฒโน เปรียญธรรม ๙ ประโยค
  10. พระมหามงคล สนฺตจิตฺโต เปรียญธรรม ๖ ประโยค
  11. พระมหาพฤฒิ ปภสฺสโร เปรียญธรรม ๗ ประโยค
  12. พระมหาธวัชชัย ธรรมกุสกโล เปรียญธรรม ๓ ประโยค
  13. พระครูสังฆรักษ์สมศักดิ์ ฐานวโร
  14. พระครูภาวนาพุทธิวิเทศ (ชเนศร์ ชุตินฺธโร)

ความสำคัญ

แก้

พระธาตุศรีจอมทอง เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณ เมล็ดพุทรา สัณฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

แก้

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 0ง วันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ [2]

สำนักวิปัสสนากรรมฐาน

แก้

สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดเชียงใหม่แห่งที่ 1 มีพระธรรมมังคลาจารย์ (ทอง สิริมงฺคโล) (ในขณะนั้น) หัวน้าพระวิปัสสนาจารย์หนเหนือ กองการวิปัสสนาธุระ เป็นเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน ให้การสอน การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สำหรับภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนผู้ที่สนใจ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ และมีการจัดให้สอบอารมณ์ ทุกวัน (ยกเว้นวันพระ)

การเดินทาง

แก้

การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ถึง จ.นครสวรรค์ เข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่าน จ.ตาก ถึง อ.เถิน จ.ลำปาง แยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 ไปทาง จ.ลำพูน ก่อนถึง อ.บ้านโฮ่ง จะมีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1010 ไป อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามทาง วัดอยู่ฝั่งซ้าย สำหรับรถโดยสาร มีรถโดยสารเดินทางจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต)-จอมทอง

ในส่วนของการเดินทางโดยเครื่องบิน สายการบินไทย สายการบินไทยสไมล์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลออนแอร์ มีเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ออกทุกวัน

สำนักวิปัสสนาสาขาในต่างประเทศ

แก้
  • สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพระธาตุศรีจอมทอง เยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
  • สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดพุทธปิยวราราม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
  • สำนักวิปัสสนากรรมฐาน ธัมมจารี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

อ้างอิง

แก้

http://www.watchomtong.org/ เก็บถาวร 2014-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

  1. "มหาเถรสมาคม The Sangha Supreme Council of Thailand". www.mahathera.onab.go.th. ครั้งที่ 04/2565, มติที่ 137/2565 "เรื่อง พระราชดำริโปรดแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง"
  2. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

18°25′12.5″N 98°40′43.5″E / 18.420139°N 98.678750°E / 18.420139; 98.678750