ระวี ภาวิไล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ระวี ภาวิไล (17 ตุลาคม พ.ศ. 2468 — 17 มีนาคม พ.ศ. 2560) เป็นราชบัณฑิต อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย นับเป็นบุคคลที่บุกเบิกการศึกษาด้านดาราศาสตร์รุ่นแรก ๆ ของไทย และมีส่วนให้สังคมไทย โดยเฉพาะเยาวชนให้ความสนใจการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์มากขึ้น สำหรับบุคคลทั่วไป อาจเริ่มรู้จักท่านดีในช่วงการมาเยือนของดาวหางฮัลเลย์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2529 ระวีมีผลงานงานประพันธ์และงานแปลที่น่าสนใจมากมายทั้งทางด้าน วิทยาศาสตร์ พุทธศาสนา วรรณกรรม และปรัชญา
ระวี ภาวิไล | |
---|---|
![]() | |
เกิด | 17 ตุลาคม พ.ศ. 2468 กรุงเทพมหานคร |
เสียชีวิต | 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 (91 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร |
อาชีพ | นักดาราศาสตร์, นักเขียน |
หัวข้อ | ดาราศาสตร์, อภิธรรม, พุทธธรรม |
คู่สมรส | อุไรวรรณ ภาวิไล |
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ระวี ภาวิไล หรือที่รู้จักกันในนาม ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล ได้รับการคัดเลือกเป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (ของประเทศไทย) พ.ศ. 2549
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ระวี ภาวิไล สมรสกับ อุไรวรรณ ภาวิไล มีบุตร 3 คน คือ
- ภาสุรี ภาวิไล (เอื้อง)
- พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ชื่อเดิมนิรันดร์ ภาวิไล ปัจจุบันบวชเป็นพระและเป็นผู้อำนวยการธรรมสถานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัดฝายหิน)
- อรุณ ภาวิไล (ซูโม่ตุ๋ย)
การศึกษาแก้ไข
- มัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโททางฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย
- ปริญญาเอกทางดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย
การทำงานแก้ไข
เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตั้งแต่อายุ 19 ปี สอนหนังสืออยู่ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2529
ผลงานทางดาราศาสตร์เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ เคยร่วมประชุมและรับเชิญทำงานวิจัยในต่างประเทศเกือบ 20 ครั้ง มีผลงานค้นคว้าวิจัยสำคัญ ดังเช่นเรื่องโครงสร้างละเอียดของโครโมสเฟียร์ ดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างอาณาจักรบริเวณกัมมันต์บนดวงอาทิตย์ เรื่องโครงสร้างและการเคลื่อนไหวของบรรยากาศระดับโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ เรื่องบรรยากาศของดวงอาทิตย์ เป็นต้น
มีความสนใจทางด้านศาสนาและปรัชญา เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม รวมทั้งงานแปลวรรณกรรมคลาสสิก และปรัชญาศาสนา
ในด้านพุทธศาสนาได้คิดค้นแบบจำลองจิต-เจตสิก ใช้ในการช่วยศึกษาและเข้าใจพระอภิธรรม เป็นแบบจำลองที่สามารถแสดงการประกอบของเจตสิกในจิตแต่ละดวงได้สมบูรณ์มากใช้ในการศึกษาเพื่อหาองค์ธรรมในพระสูตรได้ด้วย ช่วยให้สามารถศึกษาพระอภิธรรมได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
เคยเป็นกรรมการบริหารโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย และเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1]
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ระวีได้รับแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ศาสตราจารย์กิตติคุณ ผู้อำนวยการธรรมสถานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้พาตัวเองเข้าสู่ทางธรรมอย่างเต็มตัว และติดตามโลกวิทยาศาสตร์อยู่ห่าง ๆ แต่ก็ยังได้รับเชิญให้ไขข้อสงสัยในปรากฏการณ์วิทยาศาสตร์อยู่เสมอ เช่น การส่งจรวดขึ้นไปยิงดาวหางเทมเปิล-1 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ ก็ให้ความเห็นว่า เป็นเพียงการสร้างภาพของ "พี่เบิ้ม" เท่านั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ต้องใส่ใจ นอกจากนี้ยังศึกษาค้นคว้าเรื่องการกำเนิดของจักรวาล การวิจัยเรื่องอุกกาบาตที่ตกในประเทศไทย ทำงานแปลและงานเขียนบรรยายเรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ศาสนา และปรัชญา และเป็นหนึ่งในบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
ระวีเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 สิริอายุ 91 ปี
งานหนังสือแก้ไข
- คุณค่าชีวิต
- ชีวิตดีงาม
- ดาวหาง
- ดาราศาสตร์และอวกาศ
- ทรายกับฟองคลื่น โดย ญิบรอน เคาะลีล ญิบรอน
- ปรัชญาชีวิต โดย ญิบรอน เคาะลีล ญิบรอน
- สาธนา : ปรัชญานิพนธ์ โดย รพินทรนาถ ฐากุร
- ปีกหัก โดย ญิบรอน เคาะลีล ญิบรอน
- พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
- สู้ชีวิต
- รู้สึกนึกคิด
- ศาสนากับปรัชญา (ความสงัด)
- สุริยุปราคา 24 ตุลาคม 2538
- หัวใจของศาสนาพุทธ
- หิ่งห้อย ปรัชญานิพนธ์ โดย รพินทรนาถ ฐากุร แปลร่วมกับ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา
- อภิธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่
- เพ่งพินิจเรื่องชีวิต
- บุปผชาติแห่งชีวิต
- โลกทัศน์ชีวทัศน์เปรียบเทียบวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา
- ดอกไม้ในสวน
- อลิซผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ โดย เลวิส คาร์โรล แปลเป็นไทยและเรียบเรียงโดย ระวี ภาวิไล
เครื่องราชอิสริยาภรณ์แก้ไข
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2526 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) [2]
- พ.ศ. 2530 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[3]
- พ.ศ. 2550 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[4]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย) เล่ม ๑๐๐ ตอน ๒๐๗ ฉบับพิเศษ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๖
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๐)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๐เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๒ ข ๗ มกราคม ๒๕๕๑ หน้า ๑๒๑