ยุพา อุดมศักดิ์

นักการเมืองไทย

ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ (เกิด 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2471) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร 4 สมัย โดยเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (สส.หญิงคนแรกจากการเลือกตั้งที่ได้เป็นรัฐมนตรี)

ยุพา อุดมศักดิ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
24 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 – 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523
นายกรัฐมนตรีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 (95 ปี)
จังหวัดพิจิตร
คู่สมรสศ.นพ.สุจินดา อุดมศักดิ์

ประวัติ แก้

นางยุพา อุดมศักดิ์ เกิดเมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ที่อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากวอชิงตันมิชชั่นนารีคอลเลจ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ ระดับปริญญาโทด้านการศึกษา วิชาเอกสุขศึกษา จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิโบลตัน และระดับปริญญาเอก ด้านการศึกษา วิชาเอกสุขศึกษา วิชาโทสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทคาโรไลน่า ณ เมืองแชพเพลฮิลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนองค์การอนามัยโลก

นางยุพาสมรสกับศาสตราจารย์นายแพทย์สุจินดา อุดมศักดิ์ (เสียชีวิต) มีธิดา 3 คน

การทำงาน แก้

ดร.ยุพา อุดมศักดิ์ เริ่มรับราชการด้วยการเป็นอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จัดตั้งแผนกวิชาสุขศึกษาขึ้นครั้งแรกในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยเป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก) รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยอยามัยชนบทเบ็ดเสร็จ สูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงาน โดยแนวคิดคือ การแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนและอนามัยชุมชน จะต้องยึดประชาชนและชุมชนเป็นที่ตั้ง ผลการฝึกภาคสนาม เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก USOM ได้มาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Adventure in Training โดยขออนุญาตดร.ยุพา อุดมศักดิ์ ในการนำกระบวนการฝึกงาน รวมทั้งทฤษฎีด้านการเรียนการสอนไปเป็นเนื้อหาของภาพยนตร์ โดยหลายประเทศได้นำไปใช้เป็นแนวทางด้านวิชาการในการฝึกภาคสนามของนักศึกษา ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษา ณ องค์การอนามัยโลก ก่อนลาออกจากชีวิตราชการใน พ.ศ. 2518 ดร.ยุพาเป็นรองคณบดี คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตนเองมีส่วนร่วมก่อตั้งมาแต่ต้น โดยเป็นหัวหน้าภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการโครงการประชากรศึกษาซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งเป็นกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิทยาเขตศาลายา และเป็นผู้พัฒนาหลักสูตรด้านสังคมศาสตร์ให้กับนักศึกษาของทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาชีพได้มีโอกาสเรียนรู้กลุ่มวิชาที่จะเสริมสร้างวิสัยทัศน์ด้านสังคมมนุษย์ โดยนับเป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มีแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้น

ก่อนเข้าสู่วงการเมือง ดร.ยุพา อุดมศักดิ์เป็นข้าราชการชั้นเอก ตำแหน่งทางวิชาการคือรองศาสตราจารย์ โดยรับราชการรวมเวลาทั้งสิ้น 16 ปี

ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 ได้มีการจัดตั้งห้องสมุด 'ดร.ยุพา อุดมศักดิ์' ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งภาควิชาสุขศึกษาขึ้นครั้งแรกและเป็นหัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาคนแรกของคณะฯ [1]

งานการเมือง แก้

ดร.ยุพา ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2518 ในเขตกรุงเทพมหานคร แต่ได้รับเลือกตั้งในครั้งถัดมา ที่จังหวัดพิจิตร ใน พ.ศ. 2519 สังกัดพรรคพัฒนาจังหวัด และได้รับเลือกติดต่อกัน จนถึง พ.ศ. 2529 รวมทั้งสิ้น 4 สมัย [2]

ดร.ยุพา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในพ.ศ. 2522 ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์[3] กระทั่งพ้นจากตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523[4]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้

นางยุพา อุดมศักดิ์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 4 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคพัฒนาจังหวัด
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคกิจสังคม
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2526 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคชาติไทย
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดพิจิตร สังกัดพรรคชาติไทย

ระหว่างทำงานด้านการเมือง ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ประธานคณะกรรมาธิการสังคมและวัฒนธรรม คณะกรรมการบริหารหน่วยสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิค (APPU) ประธานคณะกรรมการปีเด็กสากลแห่งชาติ ฯลฯ

ในช่วงปี 2519 หลังมีการปฏิวัติ ได้ไปเป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสตรี ให้กับองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย โดยได้ผลักดันให้เกิดแผนพัฒนาสตรี เด็ก และเยาวชน ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเป็นครั้งแรก โดยมีความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์การยูนิเซฟ เพื่อทำการศึกษา และสำรวจข้อมูลปัญหาสตรี เด็ก และเยาวชนในประเทศไทย

หลังยุติบทบาททางการเมืองในปี 2531 ได้ดำเนินการประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นประธานและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร (2541-ปัจจุบัน) และเป็นผู้ตั้งกองทุนการศึกษา 'คุณแม่ทองดี พัฒนรัฐ' ณ โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม (2530-ปัจจุบัน) จนกระทั่งในช่วงที่มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอย่างท่วมท้นให้เป็น สสร. ด้วยคะแนนเป็นที่ 1 ในจำนวน สสร. 99 คนของประเทศ โดยต่อมาดร.ยุพาได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญคนที่สอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. http://www.ph.mahidol.ac.th/prph/2559/01/11_01_59/
  2. ศูนย์ข้อมูลนักการเมือง
  3. "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๔ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-09-23. สืบค้นเมื่อ 2019-10-29.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๗ ราย)
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๓, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐