ยุทธการที่เซี่ยงไฮ้

ยุทธการที่เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในยี่สิบสองครั้งของการต่อสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ(์NRA) ของสาธารณรัฐจีน(ROC) และกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น(IJA) ของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงเริ่มต้นของสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1937 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 และเป็นหนึ่งในการต่อสู้รบครั้งใหญ่ที่สุดและนองเลือดมากที่สุดของสงครามทั้งหมด ซึ่งต่อมาได้รับการขนานนามว่า "สตาลินกราดบนแม่น้ำแยงซี"[2] มันจบลงด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น

ยุทธการที่เซี่ยงไฮ้
ส่วนหนึ่งของ สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง
A Chinese machine gun nest in Shanghai. Note the German M35 used by the NRA soldiers.
รังปืนกลของกองทัพปฏิวัติชาติในเมืองเซี่ยงไฮ้
วันที่13 สิงหาคม 1937 - 26 พฤศจิกายน 1937
(3 เดือน, 1 สัปดาห์และ 6 วัน)
สถานที่
ผล จักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองเซี่ยงไฮ้ จีนล่าถอยไปยังนานกิง
คู่สงคราม

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) สาธารณรัฐจีน

จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น

ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) เจียงไคเช็ก
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) เฟิง ยฺวี่เฉียง
สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) เฉิน เฉิง

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) จาง ซื่อจง

จักรวรรดิญี่ปุ่น เฮซุเกะ ยะนะงะวะ
จักรวรรดิญี่ปุ่น อิวะเนะ มะสึอิ

จักรวรรดิญี่ปุ่น คิโยะชิ ฮะเซะกะวะ
กำลัง
700,000 นาย 75 กองพลและ 9 กองพัน
เครื่องบิน 250 ลำ[1]
รถถัง 16 คัน
300,000 นาย 8 กองพลและ 6 กองพัน
เครื่องบิน 3000 ลำ[1]
รถถัง 300 คัน
เรือรบ 130 ลำ
ความสูญเสีย
เสียชีวิต 200,000
บาดเจ็บและสูญหาย 83,500
เสียชีวิต 70,000
บาดเจ็บและสูญหาย 22,640

นับตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกครองแมนจูเรียในปี ค.ศ. 1931 ตามมาด้วยญี่ปุ่นโจมตีเมืองเซี่ยงไฮ้ในปี ค.ศ. 1932 มีความขัดแย้งทางอาวุธอย่างต่อเนื่องระหว่างจีนและญี่ปุ่นโดยไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ในท้ายที่สุด ความขัดแย้งเหล่านี้ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนกรกฏาคม ค.ศ. 1937 เมื่อเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโลได้กระตุ้นให้เกิดการรุกอย่างเต็มตัวจากญี่ปุ่น[3] การต่อต้านของจีนอย่างดุเดือดที่เมืองเซี่ยงไฮ้นั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อขัดขวางการรุกของญี่ปุ่นโดยให้เวลาที่จำเป็นอย่างมากสำหรับรัฐบาลจีนในการเคลื่อนย้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญไปยังภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ได้พยายามที่จะนำความเห็นอกเห็นใจของมหาอำนาจตะวันตกมาสู่ฝั่งของจีน ในช่วงระหว่างการสู้รบอันดุเดือดเป็นเวลาสามเดือน กองกำลังทหารจีนและญี่ปุ่นได้ต่อสู้รบกันภายในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ ในนอกรอบเมืองและริมฝั่งแม่น้ำแยงซีและอ่าวหางโจว ซึ่งญี่ปุ่นได้ทำการยกพลขึ้นบกด้วยเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก

ทหารจีนต้องพึ่งพาอาวุธขนาดเล็กเป็นหลักในการปกป้องเมืองเซี่ยงไฮ้ ต่อกรกับการโจมตีอย่างล้นหลามของญี่ปุ่นด้วยพลังอำนาจอันน่าตกตะลึงจากทางอากาศ ทางเรือ และยานเกราะ[4] ในท้ายที่สุด เซี่ยงไฮ้ถูกยึดครอง และจีนก็สูญเสียกองกำลังที่ดีที่สุดส่วนหนึ่งไป ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการแทรกแซงจากนานาชาติ อย่างไรก็ตาม การต่อต้านของกองกำลังทหารจีน ทำให้ญี่ปุ่นต้องตกตะลึง ซึ่งได้รับการปลูกฝังด้วยแนวคิดเรื่องความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมและการต่อสู้รบ และทำให้กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นเกิดขวัญเสียอย่างมาก ในขณะที่การต่อสู้รบได้กินเวลาไปถึง 3 เดือน 1 สัปดาห์ และ 6 วัน ซึ่งเป็นการหักล้างความโอ้อวดของญี่ปุ่นว่าจะสามารถพิชิตเมืองเซี่ยงไฮ้ได้ภายในสามวันและประเทศจีนภายในสามเดือน

การต่อสู้รบสามารถแบ่งออกเป็นสามช่วงระยะ และในท้ายที่สุดก็มีกองกำลังทหารเกือบล้านนาย ช่วงระยะแรกกินเวลาไปตั้งแต่ 13 สิงหาคม ถึง 22 สิงหาคม ค.ศ. 1937 ในช่วงที่กองทัพปฏิวัติแห่งชาติได้พยายามที่จะกำจัดกองกำลังทหารญี่ปุ่นภายในตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงระยะที่สองซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 26 ตุลาคม ค.ศ. 1937 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นได้เปิดฉากการยกพลขึ้นบกด้วยเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกบนริมฝั่งแม่น้ำของเจียงซู และทั้งสองกองทัพต่างได้ต่อสู้รบกันด้วยการรบแบบบ้านต่อบ้านเหมือนแบบการรบที่สตาลินกราด ด้วยการที่ญี่ปุ่นได้พยายามที่จะเข้าควบคุมเมืองและพื้นที่บริเวณโดยรอบ ช่วงสุดท้าย ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1937 เป็นช่วงที่การล่าถอยของกองทัพจีน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีขนาบข้างของญี่ปุ่นและการต่อสู้รบที่ตามมาบนถนนที่นำไปสู่เมืองนานกิง เมืองหลวงของจีน

เบื้องหลัง แก้

 
เมืองเซี่ยงไฮ้ก่อนการรุกราน
สารคดีแสดงการรบในยุทธการเซี่ยงไฮ้ 1.การบุกเซี่ยงไฮ้ของกองทัพญี่ปุ่นโดยการยกพลขึ้นบก (ลูกศรสีดำ:ญี่ปุ่น) (ลูกศรสีขาว:จีน) 2.การทิ้งระเบิดเมืองเซี่ยงไฮ้ของเครื่องบินญี่ปุ่น

ยุทธการเซี่ยงไฮ้หรือที่ชาวจีนเรียกว่ายุทธการซ่งฮู้เป็นยุทธภูมิที่สำคัญในสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่สอง ก่อนที่เป่ยผิงจะถูกญี่ปุ่นยึดครองในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 จอมพลเจียงไคเช็คตั้งฐานที่มั่นที่เมืองท่าเซี่ยงไฮ้เพื่อล่อญี่ปุ่นให้เข้าใกล้ชายฝั่ง เหตุผลของเจียงไคเข็คที่ให้ทำเช่นนั้นเพื่อแน่ใจว่ากองทัพญี่ปุ่นบุกแนวป้องกันของจีนให้บุกมาทางทิศตะวันตกเพื่อให้ทหารจีนถอยกลับไปนานกิงและที่อื่นๆ หากกองทัพจีนวางกำลังที่นานกิงแทนที่จะเป็นเซี่ยงไฮ้ก็อาจทำให้ทหารญี่ปุ่นมีโอกาสเคลื่อนทัพระหว่างเมืองทั้งสองและยึดเซี่ยงไฮ้ เหตุผลอีกประการของเจียงไคเช็คที่ตั้งฐานที่มั่นในเซี่ยงไฮ้เพราะเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นเหมือนฐานสนับสนุนที่แข็งแกร่งที่สุดของเจียงไคเช็คและเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของจีน

ตั้งแต่ยุทธการเซี่ยงไฮ้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1932 พลเอกจางซีซงฝึกคนของเขาโดยปลอมเข้าไปในการฝึกของตำรวจ เส้นทางระหว่างนานกิงและเซี่ยงไฮ้มีแนวป้องกันหลายแห่งถูกสร้างภายใต้คำแนะนำของที่ปรึกษาชาวเยอรมัน โดยเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1937 การก่อสร้างเพิ่งเสร็จสมบูรณ์แต่ทหารจีนกลับไม่มีความรู้เรื่องการใช้ป้อมปราการ

กรณีโอยามะ แก้

 
กรณีโอยามะ

ในวันที่ 9 สิงหาคม เรือโทโอยามะ อิซาโอะสังกัดกองกำลังยกพลขึ้นบกพิเศษของราชนาวีญี่ปุ่นพยายามเข้าไปในพื้นที่ของสนามบินหงเฉียวในเซี่ยงไฮ้ เขาไม่ได้รับอนุญาตซ้อมรบตามเงื่อนไขสัญญาสงบศึกหลังจากการต่อสู้ปี 1932 เรือโทโอยามะถูกตำรวจกองกำลังพิทักษ์สันติราษฎร์ยิงเสียชีวิต วันต่อมากงสุลใหญ่ญี่ปุ่นในเซี่ยงไฮ้ขอโทษต่อสาธารณชนต่อการกระทำของโอยามะแต่เรียกร้องให้กองกำลังพิทักษ์สันติราษฎร์วางอาวุธ ด้วยกองกำลังที่มีอยู่ในเซี่ยงไฮ้ทำให้การกระจายข่าวการตายของเจ้าหน้าที่ระดับล่างบ่งบอกชัดเจนว่าญี่ปุ่นพยายามสร้างข้ออ้างสำหรับการรุกราน โอยามะละเมิดเงื่อนไขการรบในปี 1932 ทำให้เจียงไคเช็คหยุดเจรจาต่อรองโดยเคลื่อนทัพเข้าสู่เซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม

ในวันที่ 12 สิงหาคม มหาอำนาจตะวันตกประชุมเพื่อเป็นตัวแทนสันติภาพโดยแรงจูงใจหลักไม่ใช่การยับยั้งสงครามจีน-ญี่ปุ่นไม่ให้บานปลายแต่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมและการค้าที่พวกเขาถือกรรมสิทธิ์ในเมือง ในนานกิงผู้แทนญี่ปุ่นและจีนเข้าพบปะกันโดยญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอยุบกองกำลังรักษาสันติราษฎร์ออกจากเซี่ยงไฮ้แต่จีนยืนยันดังเดิม

ระยะแรก (13-22 สิงหาคม) แก้

เริ่มการรุกราน แก้

 
แนวป้องกันของกองทัพจีน
 
แนวรบของกองทัพญี่ปุ่น

เวลา 9.00 นาฬิกาของวันที่ 13 สิงหาคม มีทหารญี่ปุ่นกว่า 100,000 นายเข้ามาในชานเมืองเซี่ยงไฮ้และระบุจุดยึดที่เขตซาเป่ย, อู่ซ่ง, และเจียงวาน ในเวลาเที่ยงวันกองพลที่ 88 ของจีนโจมตีการบุกของญี่ปุ่นด้วยปืนครก ในเวลา 16.00 น. ของวันนั้นเรือจากกองเรือที่ 3 ของจักรวรรดินาวีญี่ปุ่นในแม่น้ำหวังปู้และแยงซีเกียงโจมตีเมืองเซี่ยงไฮ้ด้วยปืนประจำเรือ ในวันที่ 14 สิงหาคมอากาศยานจีนโจมตีทิ้งระเบิดตำแหน่งของญี่ปุ่นตามมาด้วยถ้อยแถลงป้องกันตัวเองและสงครามป้องกันของรัฐบาลเจียงไคเช็ค ทหารจีนโจมตีภาคพื้นดินกลับในเวลา 15.00 น. แต่ญี่ปุ่นเสริมกำลังป้องกันในเขตสัมปทานต่างชาติทำให้การตีโต้ของจีนล้มเหลว

ปฏิบัติการทางอากาศ แก้

 
ภายนอกของโรงแรมคาเธย์เซี่ยงไฮ้ หลังจากการระเบิดพลาดของฝ่ายจีน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 1937[5][6]
 
ภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงของเด็กทารกคนหนึ่งท่ามกลางซากปรักหักพังจากการระเบิดของสถานีรถไฟใต้เซี่ยงไฮ้ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1937[7]

ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคมนั้น กองทัพอากาศสาธารณรัฐจีนได้ทำการทิ้งระเบิดเรือธงของญี่ปุ่นอิซุโมะ[8][9][10] เป็นที่รู้จักในชื่อ "วันเสาร์ทมิฬ" เครื่องบินทิ้งระเบิดจากเครื่องบินสาธารณรัฐจีนทิ้งระเบิดพลาดในเขตสัมปทานนานาชาติเซี่ยงไฮ้[6][11] ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 700 คน [6][11] เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตพลเรือน 3,000 คนและได้รับบาดเจ็บอันเป็นผลมาจากการทิ้งระเบิดอย่างไม่ตั้งใจโดยส่วนใหญ่เกิดที่ศูนย์รวมความบันเทิงที่ผู้ลี้ภัยพลเรือนได้รวบรวมปักหลักลี้ภัยหลังจากหนีจากการสู้รบ[12] ขณะเดียวกันเครื่องบินญี่ปุ่นจากไต้หวันเริ่มทิ้งระเบิดเซี่ยงไฮ้ ประชาชนหนีออกจากเมืองจนเกิดเป็นความวุ่นวาย แต่การทิ้งระเบิดของญี่ปุ่นถูกกองบินที่ 4 ของเรืออากาศเอกเกาซีหางขัดขวางยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกไปหกลำโดยไม่ได้รับความสูญเสียใดๆทำให้มีการประกาศให้ถือว่าวันที่ 14 สิงหาคมเป็นวันกองทัพอากาศสร้างขวัญและกำลังใจ แต่เครื่องบินของจีนมีจำนวนน้อยและขาดอะไหล่ซ่อมแซม ในช่วงท้ายของการปฏิบัติการเครื่องบินจีนยิงเครื่องบินญี่ปุ่นรวม 81 ลำและจมเรือ 51 ลำแต่จีนสูญเสียเครื่องบิน 91 ลำซึ่งเท่ากับกำลังครึ่งหนึ่งของเครื่องบินจีนที่มีทั้งหมด

แม้ว่านักบินจีนจะดำเนินการต่อสู้อย่างห้าวหาญแต่เซี่ยงไฮ้ยังคงได้รับความเสียหายจากการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่น พลเรือนนับหมื่นคนเสียชีวิตจากการทิ้งระเบิด กำลังเสริมจีนสังกัดกองพลที่ 36 มาถึงและโจมตีท่าเรือที่ฮุ่ยซาน การโจมตีของกองพลที่ 36 ประสานงานกับการตีโต้ของกองพลที่ 87 ที่หยางชูปูสร้างแรงกดดันให้กับกองทัพญี่ปุ่น กองพลที่ 36 มีรถถังสนับสนุนฝ่าแนวป้องกันของญี่ปุ่นแต่ทหารราบและรถถังประสานงานไม่มีประสิทธิภาพทำให้สูญเสียท่าเรืออีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดการโจมตีก็ล้มเหลวโดยจีนสูญเสียนายทหาร 90 นายและทหาร 1,000 คน

เรือลาดตระเวนออกัสตาที่จอดอยู่ ณ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้สังเกตการณ์การรุกรานของญี่ปุ่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ในเขตสัมปทานต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นกลางแต่ก็ได้รับการโจมตีจากอากาศยานจีน เคราะห์ดีที่แค่เฉียดๆ ธงอเมริกาขนาดใหญ่ถูกวาดบนป้อมปืนสามป้อมหลักเพื่อแสดงถึงความเป็นกลางแต่เรือได้รับความเสียหายเมื่อกระสุนปืนใหญ่ต่อต้านอากาศยานจีนตกลงมาในวันที่ 20 สิงหาคม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจแต่ทำให้ความสัมพันธ์ของจีน-อเมริกันตรึงเครียด เรือออกัสตาอยู่ในเซี่ยงไฮ้จนถึงวันที่ 6 มกราคม 1938

การรุกรานระยะแรก แก้

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมจางซีซงเปลี่ยนแผนการใหม่แทนที่เขาจะตีโต้กลับแต่เขาสอนยุทธวิธีใหม่กับคนของเขาด้วยการลอบเข้าอาคารที่มั่นของญี่ปุ่นและระเบิดหรือเผาอาคาร เมื่อทหารญี่ปุ่นหนีออกมาพลปืนกลจะคอยยิงทหารที่หนีออกจากอาคาร ในวันที่ 17 สิงหาคมรถถังเบาของญี่ปุ่นแปรขบวนขับตรงไปยังกองทัพจีนโดยไม่มีการตอบโต้ จางซีซงถูกเจียงไคเช็ควิจารณ์อย่างหนักว่าไร้ความสามารถในเรื่องปล่อยให้กองทัพญี่ปุ่นเจาะแนวป้องกันเข้ามาโดยเฉพาะความสูญเสียเป็นจำนวนมากที่เขาได้รับทำให้เจียงไคเช็คเข้ามาดูแลการป้องกันเซี่ยงไฮ้ด้วยตนเอง

ในวันที่ 22 สิงหาคม กองพลที่ 3 ,8 และ 11 ของพลเอกมัตสุอิยกพลขึ้นบกที่ชวนชาโข่ว (川沙口), ซือจึหลิน (狮子林), และเป่าซาน (宝山) 50 กิโลเมตรทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ภายใต้การคุ้มกันจากปืนเรือรบทำให้ทหารจีนบางส่วนต้องถอนกำลังออกจากเมือง กองกำลังจีนตั้งแนวป้องกันที่ทางรถไฟสายสำคัญโหลเทียน-จวงเซาเท็นในวันที่ 11 กันยายน จอมพลเจียงไคเช็คกระตุ้นให้ทหารจีนที่ขาดแคลนอาวุธเตรียมสู้กับทหารญี่ปุ่นที่ฝึกดีกว่า พลเอกอาวุโสหลี่ซงเหรินให้คำแนะนำจอมพลเจียงว่าให้จำกัดภารกิจและรักษาความแข็งแกร่งของกองทัพสำหรับการเผชิญหน้าในอนาคตเพื่อจะได้เปรียบกว่าข้าศึก จอมพลเจียงปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าจะมีการหารือหลังจากสรุปเหตุการณ์จบ พลเอกจางซีจงและพลเอกจางฟากุ้ยควบคุมกองทหารจีนในเซี่ยงไฮ้

ระยะที่สอง (23 สิงหาคม - 26 ตุลาคม) แก้

ช่วงเวลาแห่งการสู้รบที่รุนแรงที่สุดและรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคมเมื่อกองเรือญี่ปุ่นเริ่มลงจอดในคลื่นจนถึง 26 ตุลาคม เมื่อเมืองเซี่ยงไฮ้กำลังวุ่นวายกับการสู้รบ ในช่วงเวลานี้การสู้รบได้เข้มข้นไปตามแนวเส้น 40 กิโลเมตรจากนครเซี่ยงไฮ้ไปยังเมือง หลิวเหอ (浏河) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบนชายฝั่งที่ญี่ปุ่นได้ลงจอด

การป้องกันการยกพลขึ้นบก (23 สิงหาคม - 10 กันยายน) แก้

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม กองทัพญี่ปุ่นนำโดย อิวะเนะ มะสึอิ เข้าสู่เมือง หลิวเหอ, อู่ซง (吴淞) และ ชวนชาโข่ว ซึ่งเจียงไคเช็กคาดว่าเมืองชายฝั่งเหล่านี้จะอ่อนแอต่อการยกพขึ้นบกของญี่ปุ่นและสั่งให้เฉิน เฉิงเสริมสร้างพื้นที่ด้วยกองทัพที่ 18 อย่างไรก็ตามชาวจีนไม่สามารถต้านทานกับอาวุธปืนของญี่ปุ่นได้ กองทัพญี่ปุ่นเริ่มโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกด้วยการโจมตีทางทะเลและทางอากาศที่รุนแรงของแนวป้องกันชายฝั่งของจีนและสนามเพลาะที่จีนสร้างขึ้น ทำให้กองทัพจีนเสียหายเกือบทั้งหมดจากการระดมทิ้งระเบิดจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามจีนก็ได้เสริมทัพเกือบจะทันทีเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่เพิ่งลงจอดหลังจากการทิ้งระเบิด

เมื่อพลเอกมัตสุอิตั้งกองยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ที่หลิวเหอ, อู่ซ่ง, และชวนชาโข่ว กองพลที่ 18 ของจีนภายใต้การบัญชาการของพลเอกเฉินเฉิงพยายามสู้กับทหารญี่ปุ่นที่หลั่งไหลเข้ามาแต่ก็ล้มเหลวเพราะอำนาจการยิงของปืนใหญ่เรือรบที่คอยสนับสนุนข้าศึก เขาหันไปใช้ยุทธวิธีรบยามวิกาลซึ่งได้ผลดีมากแต่ก็แพ้อีกครั้งเมื่อยามเช้า ในช่วงใกล้สิ้นเดือนสิงหาคม กองพลที่ 98 ของจีนถูกกวาดล้างในเปาซาน มีทหารจีนเพียงคนเดียวที่รอดจากการบุก

ในวันที่ 12 กันยายน ผู้แทนของจีนเรียกร้องให้สันนิบาตชาติเข้ามาแทรกแซงแต่สันนิบาตชาติก็ไม่ตอบสนอง จากจุดนั้นทำให้จอมพลเจียงมองไปยังอเมริกา หวังว่าอเมริกาจะรวบรวมการสนับสนุนของต่างประเทศให้กับจีน จอมพลเจียงยังคงออกคำสั่งให้ผู้บัญชาการภาคสนามยึดเซี่ยงไฮ้เป็นที่มั่นไม่ว่าจะสูญเสียเท่าไรเพื่อรอคอยเวทีการทูตระหว่างประเทศ

ยุทธการเจียงยิน แก้

เจียงยินตั้งอยู่ที่100 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ในปากแม่น้ำแยงซีเกียง พลเรือเอกเฉินเฉากวนผู้บัญชาการกองทัพเรือออกคำสั่งปิดน่านน้ำตั้งแต่ในวันที่ 7 สิงหาคมที่เจียงยิน, มณฑลเจียงสูเพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นส่งเรือรบเข้ามาในน่านน้ำแยงซีเกียง มีเรือลาดตระเวนห้าลำและเรือฝึกหนึ่งลำมาถึงเจียงยินในวันที่ 11 สิงหาคม ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคมถึง 25 สิงหาคม มีเรือรบถึง 43 ลำและเรือพาณิชย์ 185 ลำล่มในเส้นทางไปเจียงยินไปยังจุดปิดน่านน้ำป้องกันญี่ปุ่นเพราะทุ่นระเบิดถูกวางไว้ที่ปากแม่น้ำ หลิวซิงนายทหารบัญชาการการป้องกันที่เจียงยินออกคำสั่งให้กองเรือที่หนึ่งได้แก่เรือลาดตระเวนเบาหนิงไห่, ผิงไห่, ยี่เฉียน และเรือฝึกหยิงลุ่ย กองเรือที่สองในการบัญชาการของอูหยางเกอได้แก่เรือพิฆาตเจียนกาง เรือรบชูโยวและอื่นๆถูกส่งให้ล่องแม่น้ำขึ้นไปยังนานกิง

เมื่อทราบถึงกับดักที่จีนได้วางไว้โดยทราบมาจากการลาดตระเวนโดยอากาศยาน พลเรือเอกคิโยะชิ ฮะเซะกะวะแห่งกองเรือราชนาวีที่ 3 ออกคำสั่งทิ้งระเบิดแนวป้องกัน ความสูญเสียครั้งแรกของจีนเกิดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคมเรือลาดตระเวนหนิงไห่และผิงไห่ถูกอากาศยานญี่ปุ่นจมลงในบริเวณน้ำตื้น ตามมาด้วยเรือรบแปดลำในวันที่ 23 ตุลาคม 1937 กองทัพเรือจีนกู้ปืนใหญ่จากเรือรบที่จมลงเพื่อใช้ตั้งป้อมปืนชายฝั่งและเปลี่ยนกลยุทธ์การยึดครองเมืองท่าสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพเรือญี่ปุ่นแล่นขึ้นแม่น้ำแยงซีเกียง แม้ว่าจะมีป้อมปืนเพียงแค่ป้อมเดียวแต่ก็สามารถจมเรือรบญี่ปุ่นสองลำในวันที่ 30 ตุลาคม 1937

ยุทธการหลัวเตี่ยน แก้

 
กองทัพจีนทำการเข้ารบที่เมืองลัวเตียน

ในวันที่ 11 กันยายน 1937 ด้วยคำแนะนำของอเล็กซานเดอร์ วอน ฟอลเคนเฮาเซน ทหารจีน 300,000 นายตั้งรับที่หลัวเตี่ยน (羅店) เมืองที่ตั้งบริเวณชานเมืองเซี่ยงไฮ้ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญถึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ปืนใหญ่, รถถัง, การยิงสนับสนุนจากเรือและเครื่องบินพร้อมกับทหารญี่ปุ่น 100,000 นายโจมตีหลัวเตี่ยนหลังจากนั้นไม่นาน แม้ว่าได้รับอำนาจการยิงสูงแต่ทหารจีนก็ต่อสู้อย่างหัวชนฝา แนวหน้าจัดกำลังให้มีกำลังพลน้อยที่สุดในขณะทหารที่เหลือจัดเป็นกำลังสำรอง ทหารจีนจะบุกไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อปืนใหญ่และเรือรบจะหยุดยิงหรือกองทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามา อย่างไรก็ตามอัตราการสูญเสียของจีนสูงถึง 50% และถอยทัพในวันที่ 15 กันยายน

ยุทธการต่าฉาง แก้

กำลังเสริมกองใหม่จากญี่ปุ่นและไต้หวันข้ามแม่น้ำยุนเซาบินทางตอนใต้ของลัวเตียน กองทัพญี่ปุ่นเล็งเมืองดาชางซึ่งเป็นศูนย์กลางสื่อสารของกองทัพบก ถ้าหากต่าฉาง (大場) ถูกยึดแนวรบตะวันออกของเซี่ยงไฮ้จะถูกเปิดเผย การต่อสู้การเป็นสงครามสร้างความสูญเสียอย่างรวดเร็วซึ่งสร้างความยากลำบากให้ทหารจีนที่ใช้วิธีสละชีวิตบุกเข้าไปในรังปืนกลและที่ตั้งปืนใหญ่เป็นวิธีเดียวที่สามารถสู้กับอำนาจการยิงของญี่ปุ่น แต่ในวันที่ 17 ตุลาคมแสงสว่างเล็กๆของคนจีนมาพร้อมกับกองทัพกวานซีที่บัญชาการโดยพลเอกอาวุโสหลี่ซงเหรินและพลเอกอาวุโสไป๋ชงซี การตอบโต้บัญชาการได้อย่างรวดเร็วแต่ดำเนินการได้ไม่สัมฤทธิ์ผลมากนักจนถูกผลักดันถอยอย่างรวดเร็วทำให้ต้าชางถูกญี่ปุ่นยึดในวันที่ 25 ตุลาคม เมื่อต่าฉางถูกยึด ทหารจีนเริ่มถอนทัพเข้าไปตั้งหลักที่เซี่ยงไฮ้

การลุกฮือที่ต่าฉาง แก้

หลังจากที่กองทัพยี่ปุ่นเข้ายึดเมืองต่าฉาง ชาวจีนที่ต่างพากันโกรธแค้นต่อการกดขี่ข่มเหงของทหารญี่ปุ่น จึงได้พากันลุกฮือขึ้นต่อต้าน ได้เกิดกองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นโดยกลุ่มผู้ต่อต้านได้รวบรวมผู้คนกว่า 500 คน ต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น โดยบุกเข้าวางระเบิดโจมตีฐานทัพที่มั่นของญี่ปุ่นและสังหารนายทหารระดับสูงไปหลายนาย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม กองทัพญี่ปุ่นก็เข้าควบคุมสถานการณ์ได้เป็นปกติเหมือนเดิม กองกำลังต่อต้านญี่ปุ่นที่ต่าฉางถูกปราบปรามจนสำเร็จ หลังเหตุการณ์การลุกฮือครั้งนี้ พลเรือนจีนเสียชีวิตไปกว่า 200 คน ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 36 นาย

การเสียเมืองเซี่ยงไฮ้ แก้

 
เจ้าหน้าที่กองทหารจีนขณะทำการวางแผน
 
ทหารของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นขณะเข้ายึดเมืองเซี่ยงไฮ้

วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 กองทัพที่ 10 ของญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จินซานเว่ย (金山衛) ทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้ เพราะว่าเมืองมีลักษณะผังเมืองเป็นวงกลมและไม่เห็นผลลัพธ์ที่ดีออกมาจากการประชุมที่บรัสเซลส์ ในที่สุดจอมพลเจียงออกคำสั่งให้ถอนกำลังในวันที่ 8 พฤศจิกายนและในวันที่ 12 พฤศจิกายนทั้งเมืองไม่มีทหารจีนเหลืออยู่ การบุกของญี่ปุ่นทลายทหารจีนที่ป้องกันที่คุนซานในวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่แนวอู๋ฟูในวันที่ 19 พฤศจิกายน และที่แนวป้องกันซีเฉิงในวันที่ 26 พฤศจิกายน ในวันที่ 1 ธันวาคมกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนที่เข้าใกล้เจียงยินและยึดเมืองในเวลาต่อมา ป้อมปืนชายฝั่งใกล้เจียงยินถูกทำลายในวันที่ 3 ธันวาคม กองทัพจีนยังคงล่าถอยจนไปถึงเมืองหลวงนานกิง

ผลสรุป แก้

เริ่มแรก ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าได้ชัยชนะยึดเซี่ยงไฮ้ภายในเวลาสามวัน แต่การต่อสู้กินเวลาสามเดือน แต่การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้าขนาดใหญ่ครั้งแรกของญี่ปุ่นและจีนและเป็นยุทธการที่นองเลือด ผลสัมฤทธิ์ของจีนคือการสร้างความสูญเสียให้กับทหารญี่ปุ่นถึง 40,000 นายจาก 300,000 นายทำให้แรงผลักดันของญี่ปุ่นชะลอตัวลงแต่ผลสัมฤทธิ์ที่ได้มาต้องแลกมาด้วยราคาแพง จีนสูญเสียทหาร 250,000 นายจาก 700,000 นายและที่เลวร้ายที่สุดในกลุ่มทหารที่เสียชีวิตรวมถึงทหารชั้นยอดที่ถูกฝึกมาจากเยอรมนีของกองทัพจีน การสูญเสียนายทหารที่มีประสบการณ์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ที่ตามมาของสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งที่สอง ผลทางด้านการเมืองทำให้เจียงไคเช็กซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำสาธารณรัฐจีนที่สั่นคลอนจากการสูญเสียครั้งนี้แต่การป้องกันอย่างไม่สนใจใครทำให้ประชาคมระหว่างประเทศมีความมั่นใจในความสามารถของการต่อสู้ของชาวจีนบางส่วน

การตั้งรับเป็นเวลาสามเดือนทำให้อุตสาหกรรมมีเวลาเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่นในแผ่นดินได้ แม้ว่าจำนวนนเครื่องจักรที่ย้ายมาจะมีจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสูญเสียความหวังต่อสู้กับญี่ปุ่นเพราะว่านิคมอุตสาหกรรมที่เซี่ยงไฮ้ถูกญี่ปุ่นยึด

หลังจากชัยชนะของญี่ปุ่น กองทหารของญี่ปุ่นในเซี่ยงไฮ้เพิ่มเป็น 300,000 นาย ในเวลานั้นทหารอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อเมริกา, และจีนที่เข้ามาอาศัยในเขตข้อตกลงสัมปทานต่างชาติมีน้อยกว่า 8,000 นายแต่เมื่อเข้าสู่เดือนธันวาคม 1941 ที่เกิดสงครามแปซิฟิกเขตสัมปทานต่างชาติถูกญี่ปุ่นยึดครองโดยปราศจากการตอบโต้

เซี่ยงไฮ้ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น แก้

หลังจากญี่ปุ่นเข้ายึดเมืองเซี่ยงไฮ้ได้มีการสังหารชาวจีนที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยว่าจะมีการต่อต้าน ในระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้าควบคุมเมืองนั้นชาวจีนต้องประสบกับชะตากรรมที่น่าเศร้า มีการปล้นสะดม ข่มขืนและมีการจับหญิงชาวจีนที่เคราะห์ร้ายมาเป็นนางบำเรอ (Comfort Woman) เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้าควบคุมบรรดาเขตเช่าสัมปทานของชาวตะวันตกในเซี่ยงไฮ้ สื่อข่าวตะวันตกในเขตเช่าในเซี่ยงไฮ้ต่างประโคมข่าวว่าเป็น "ช่วงเวลาแห่งฝันร้าย"

แต่อย่างไรก็ตามชาวจีนในเซี่ยงไฮ้ยังไม่ยอมแพ้และรวมกำลังตั้งขบวนการใต้ดินสู้รบกับญี่ปุ่นต่อไป ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากและเจ้าหน้าที่ของพวกเขาถูกลอบสังหารโดยขบวนการใต้ดินของจีน ดังนั้นในตอนท้ายของทุก ๆ ถนนจะมีรั้วลวดหนามที่พร้อมที่จะปิดถนนเพื่อหยุดการหลบหนีของมือสังหาร แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ถูกจับ


อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 一寸河山一寸血: 淞沪会战 Chinese Program on the Battle of Shanghai
  2. Harmsen, Peter (2013). Shanghai 1937: Stalingrad on the Yangtze (1st ed.). Casemate. ISBN 978-1612001678.
  3. "Articles published during wartime by former Domei News Agency released online in free-to-access archive". The Japan Times Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-11-02. ISSN 0447-5763. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-04. สืบค้นเมื่อ 2019-06-04.
  4. Hsiung, James (1992). China's Bitter Victory. Armonk: M.E. Sharpe. p. 143. ISBN 978-0-87332-708-4.
  5. "Shanghai's Cathay Hotel on August 14, 1937". North China Daily News. 1937-08-15 {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  6. 6.0 6.1 6.2 "1,000 Dead In Shanghai/Devastation By Chinese Bombs". London: The Times. 1937-08-16 {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  7. Faber, John (1978). Great news photos and the stories behind them (2 ed.). Courier Dover Publications. pp. 74–75. ISBN 0-486-23667-6.
  8. "Idzumo Class". Battleships-Cruisers.co.uk{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  9. "Japanese Cruiser Sails.; Idzumo Leaves San Francisco and Will Clear for Action at Sea". New York Times. August 23, 1914 {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  10. "Missiles Hit in Crowded Streets". The Evening Independent. St. Petersburg, Florida. 14 August 1937. pp. 1–2.
  11. 11.0 11.1 Frederic E. Wakeman (September 1996). Policing Shanghai, 1927–1937. University of California Press. p. 280. ISBN 0-520-20761-0. สืบค้นเมื่อ 2010-06-14.
  12. Frederic E. Wakeman (September 1996). Policing Shanghai, 1927–1937. University of California Press. p. 281. ISBN 0-520-20761-0. สืบค้นเมื่อ 2010-06-14.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้