ภาษาแอราเมอิก[1] (อังกฤษ: Aramaic language) เป็นภาษาตระกูลเซมิติกที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 3,000 ปีเป็นภาษากลางของบริเวณตะวันออกใกล้ในช่วง 157 ปีก่อนพุทธศักราชถึง พ.ศ. 1243 ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยภาษาอาหรับ ภาษาแอราเมอิกโบราณเป็นภาษาหลักของจักรวรรดิเปอร์เซีย บาบิโลเนีย และอัสซีเรีย แพร่กระจายไปจนถึงกรีซและอินเดีย หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทำลายจักรวรรดิเปอร์เซีย ภาษาแอราเมอิกกลายเป็นภาษาทางการของรัฐสำคัญ ๆ ในสมัยนั้น เมื่อมีการใช้พูดแพร่หลายจึงเกิดความแตกต่างเป็นสำเนียงตะวันตกและตะวันออก เป็นภาษาเริ่มต้นของหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลของดาเนียลและเอซรา และเป็นภาษาหลักในทัลมุด เชื่อกันว่าภาษาแอราเมอิกเป็นภาษาแม่ของพระเยซู ภาษาแอราเมอิกใหม่ยังคงใช้พูดเป็นภาษาแม่ โดยเฉพาะในหมู่ชาวอัสซีเรีย

ภาษาแอราเมอิก
ܐܪܡܝܐ / ארמיא / 𐡀𐡓𐡌𐡉𐡀 /
Ārāmāyā อารามายา
ประเทศที่มีการพูดอาร์มีเนีย, อาเซอร์ไบจาน, อินเดีย (สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช), อิหร่าน, อิรัก, อิสราเอล, ปาเลสไตน์, ประเทศจอร์เจีย, เลบานอน, รัสเซีย, ซีเรีย, ตุรกี
ภูมิภาคตลอดตะวันออกกลาง, เอเชียกลาง, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย
จำนวนผู้พูด445,000 คน  (ไม่พบวันที่)
ตระกูลภาษา
ระบบการเขียนอักษรแอราเมอิก, อักษรซีเรียค, อักษรฮีบรู, อักษรมันดาอิก
รหัสภาษา
ISO 639-2arc
ISO 639-3มีหลากหลาย:
arc – ภาษาแอราเมอิก (ตายแล้ว)
aii – ภาษาแอราเมอิกใหม่อัสซีเรีย
aij – ภาษาลิชานิด โนชาน
amw – ภาษาแอราเมอิกใหม่ตะวันตก
bhn – ภาษาแอราเมอิกใหม่โบห์ตัน
bjf – ภาษาแอราเมอิกใหม่บาร์ซานีของชาวยิว
cld – ภาษาแอราเมอิกใหม่แคลเดีย
hrt – ภาษาเฮทเตวิน
huy – ภาษาฮูลัวลา
kqd – ภาษากอย ซันจัก ซูรัต
lhs – ภาษามลาห์โซ
lsd – ภาษาลิชานา เดนี
mid – ภาษามันดาอิกใหม่
myz – ภาษามันดาอิกคลาสสิก
sam – ภาษาแอราเมอิกซามาริทัน
syc – ภาษาซีเรียค (คลาสสิก)
syn – ภาษาเซยานา
tmr – ภาษาแอราเมอิกบาบิโลเนียของชาวยิว
trg – ภาษาลิชาน ดิดาน
tru – ภาษาตูโรโย

ภาษาแอราเมอิกเป็นภาษาสำคัญภาษาหนึ่งของชาวยิว ปรากฏในม้วนหนังสือแห่งทะเลสาบเดดซี ยังคงใช้ในพิธีสวดของชุมชนชาวคริสต์ในซีเรีย เลบานอน และอิรัก ยังคงใช้พูดโดยคนกลุ่มเล็ก ๆ ในอิหร่าน อาร์มีเนีย จอร์เจีย ซีเรีย และอิรัก โดยทั่วไปปัจจุบันเขียนด้วยอักษรซีเรียค แต่สามารถเขียนด้วยอักษรละติน อักษรฮีบรู และอักษรซีริลลิกได้

สำเนียง

แก้

ภาษาแอราเมอิกอยู่ในตระกูลแอฟโฟร-เอเชียติก สาขาเซมิติก สาขาย่อยเซมิติกตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในสาขาเดียวกับภาษาคานาอันไนต์และภาษาฮีบรู แต่ละสำเนียงของภาษาแอราเมอิกมีการออกเสียงต่างกันออกไป มีหน่วยพื้นฐานของเสียงต่างกันถึง 25 - 40 หน่วยเสียง โดยสำเนียงเก่าจะมีเสียงมากกว่าสำเนียงใหม่ ตัวอย่างเช่น การออกเสียงภาษาแอราเมอิกของชาวยิวจะไม่มีลำดับของพยัญชนะที่เน้นเสียง สำเนียงต่าง ๆ มักเกิดจากจากการยืมคำและอิทธิพลของภาษาข้างเคียงเช่น ภาษาอาหรับ ภาษาเคิร์ด ภาษาอาเซอรีและภาษาตุรกี

ไวยากรณ์

แก้

รากศัพท์ในภาษาแอราเมอิกเป็นเช่นเดียวกับภาษากลุ่มเซมิติกทั่วไปคือเป็นรากศัพท์พยัญชนะสามตัว ซึ่งสื่อความหมายอย่างกว้าง เช่น k-t-b หมายถึงการเขียน เมื่อเพิ่มเสียงสระเข้าไประหว่างพยัญชนะจะได้ความหมายที่เปลี่ยนไป เช่น

  • Kṯāḇâ, ลายมือเขียน จารึก ตัวหนังสือ
  • Kṯāḇê, คัมภีร์ไบเบิล
  • Kāṯûḇâ, เลขานุการ
  • Kṯāḇeṯ, ฉันเขียนแล้ว
  • Eḵtûḇ, ฉันจะเขียน

คำนามแบ่งเป็นสองเพศคือบุรุษลึงค์และสตรีลึงค์ มีรูปเอกพจน์และพหูพจน์ รวมทั้งรูปทวิพจน์สำหรับนามที่ต้องอยู่เป็นคู่ ปัจจุบันนามทวิพจน์ค่อยๆหายไปจากภาษาแอราเมอิกสมัยใหม่ คำนามและคำคุณศัพท์มีสามสถานะ ซึ่งใกล้เคียงกับการกในภาษาอื่น สถานะสัมบูรณ์ เป็นรูปแบบพื้นฐานของคำนาม (เช่น, kṯâḇâ, 'ลายมือเขียน') สถานะโครงสร้างเป็นรุปแบบที่ใช้กับวลีแสดงความเป็นเจ้าของ (เช่น, kṯāḇaṯ malkṯâ, ลายมือของพระราชินี) สถานะเน้นใช้เหมือนกับคำนำหน้านามในภาษาอังกฤษ (เช่น, kṯāḇtâ, ลายมือเขียน (เน้น)) ภาษาแอราเมอิกไม่มีคำนำหน้านาม

คำกริยาในภาษาแอราเมอิก เมื่อมีการเปลี่ยนรูปรากศัพท์จะทำให้หน้าที่ของคำเปลี่ยนไป เช่น รูปถูกกระทำ (eṯkṯeḇ, มันถูกเขียน), การเน้นหนัก (katteḇ, เขาสั่งให้เขียน'ความหมายกว้างขึ้น (aḵteḇ, เขาประพันธ์) หรือการรวมกันระหว่างหน้าที่ดังกล่าว มีสองกาลคือ กาลสมบูรณ์และกาลไม่สมบูรณ์ การเรียงประโยคโดยมากเป็นแบบกริยา-ประธาน-กรรม ภาษาแอราเมอิกในเปอร์เซียเรียงประโยคแบบ ประธาน-กรรม-กริยา แบบเดียวกับภาษาอัคคาเดีย ซึ่งเป็นอิทธพลมาจากภาษาเปอร์เซีย

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 459