พระเจ้าตนหลวง เป็นพระประธานอยู่ในวิหารวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2034 ตรงกับรัชสมัยของพญายอดเชียงราย กษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนล้านนา

พระเจ้าตนหลวง
ชื่อเต็มพระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา
ชื่อสามัญพระเจ้าตนหลวง
ประเภทพระพุทธรูป
ศิลปะปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน
ความกว้าง14 เมตร
ความสูง16 เมตร
วัสดุปูนปั้น ปิดทอง
สถานที่ประดิษฐานพระวิหาร วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา
ความสำคัญพระพุทธรูปสำคัญ ของจังหวัดพะเยา
หมายเหตุพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

พระเจ้าตนหลวงเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพะเยา เดิมชื่อ พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา เนื่องจากสร้างขึ้นบริเวณริมหนองเอี้ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงได้มีการก่อสร้างประตูกั้นน้ำ ทำให้น้ำแม่อิงและลำห้วยต่าง ๆ เอ่อล้นท่วมหนองเอี้ยงเป็นบริเวณกว้าง จนเกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ ซึ่งภายหลังเรียกว่ากว๊านพะเยา ทำให้พระเจ้าตนหลวงประดิษฐานอยู่ริมกว๊านพะเยามาจนถึงทุกวันนี้

ตำนานพระเจ้าตนหลวง แก้

เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จเดินทางออกโปรดสัตว์ในดินแดนสุวรรณภูมิตามตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้เสด็จมาเมืองพะเยา ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งไม่ได้กินอะไรมา 7 วัน เห็นพระพุทธเจ้าจึงไล่เลยไปจนเหนื่อย พระพุทธเจ้าจึงประทับรอยพระบาทบนแผ่นหิน ยักษ์คิดในใจว่าชายผู้นี้มีแรงมากแท้ สามารถเหยียบหินให้มีรอยเท้าได้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดและให้ยักษ์รับศีลห้าไว้ และตรัสกับพระอานนท์ว่า ยักษ์วิ่งไล่เลย ภายหลังโจรจะมาอยู่ที่นี่และเรียกว่าเวียงเลย และได้พบกับตายายสองผัวเมีย ตายายสองผัวเมียไม่มีข้าวจึงถวายพลูและครกหินตำหมากพลู พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า ตายายสองผัวเมียได้ถวายพลูและครกหินตำหมากพลู ภายหน้าที่นี่จะเรียกว่าพลูปอ และเมืองนี้จะมีหินมากนัก พระพุทธเจ้าได้เสด็จขึ้นสู่จอมดอยและได้พบกับนายช่างทอง นายช่างทองได้ถวายข้าวปลาอาหารแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้วได้ลูบพระเศียรประทานพระเกศาให้แก่นายช่างทอง นายช่างทองรับใส่กระบอกไม้รวก ภายหลังคือพระธาตุจอมทอง (ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา) พระพุทธเจ้าทรงกระหายน้ำ รับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำตรงหนองตีนดอยมาถวาย พระอานนท์จะตักน้ำแต่พญานาคชื่อธุมมสิกขีขัดขวางและเนรมิตหงอนให้เป็นควันปิดหนองไว้ พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปประทับยืนข้างหนองน้ำ พญานาคจะพ่นควันแผ่พังพอนใส่ แต่ก็เห็นพระวรกายของพระพุทธเจ้าเต็มไปด้วยฉัพพรรณรังสี จึงทูลถามว่าเป็นใคร พระพุทธเจ้าได้แนะนำตัวและแสดงอภินิหารเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ประทับนั่ง พระวรกายสูง32ศอก และเหยียบพญานาคธุมมสิขีจมลงไปในหนอง พญานาคธุมมสิกขีจึงรีบไปนำก้อนหินที่พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้าเคยประทับนั่งฉันภัตตาหาร มาให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งฉันน้ำ พระพุทธเจ้ามีพุทธทำนายว่า ภายหลัง ตายายสองผัวเมียที่ถวายหมากพลูจะได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระกกุสันธพุทธเจ้าและสั่งให้พญานาคธุมมสิกขีนำคำ (ภาษาเหนือเรียกทองคำว่า คำ) มามอบให้ตายายสองผัวเมีย

ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว พญายอดเชียงรายเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระเมืองยี่เป็นเจ้าเมืองพะเยา ตายายสองผัวเมียที่เคยถวายหมากพลูได้มาเกิดเป็น ตายายสองผัวเมีย ทำอาชีพเลี้ยงเป็ดเลี้ยงห่านขาย พญานาคธุมมสิกขีจึงเนรมิตกายเป็นชายนุ่งขาวห่มขาวนำคำ 420,500 บาท มามอบและบอกให้ตายายสองผัวเมียสร้างสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่าพระกกุสันธพุทธเจ้า และเนรมิตกายตนให้เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่เท่ากับพระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า ประทับนั่ง พระวรกายสูง 32 ศอก และหนีหายไป พ.ศ. ๒๐๓๔ ตายายสองผัวเมียจึงเริ่มถมสระหนองเอี้ยงและทำการปั้นอิฐ ใช้เวลาถึง ๓๓ ปีจึงทำการปั้นองค์พระ ทาปูน ทารัก ปิดทอง สำเร็จใน พ.ศ. ๒๐๖๗ ในรัชสมัยพญาแก้วเป็นกษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา พญาแก้วมีศรัทธาสร้างพระวิหารหลวงครอบพระเจ้าตนหลวง กำหนดเขตแดนของวัด และพญาแก้ว พระเมืองตู้ ได้กัลปนาถวายข้าพระ 20 ครัวเรือน ให้เป็นข้าพระเจ้าตนหลวง ตั้งชื่อวัดว่า วัดศรีโคมคำ (เพราะเมื่อแรกสร้างพระเจ้าตนหลวง ตายายสองผัวเมียได้นำทองคำไปผูกกับปลายไม้แล้วปักลงกลางหนองเอี้ยง และประกาศให้คนนำดินมาปาทั้งกลางวันกลางคืน จนดินเต็มหนอง ตอนกลางคืนก็จุด "ผางกม"(ผางประทีบ) เพื่อให้คนได้เห็นคำ จนเป็นที่มาของคำว่า "กมคำ" (จุดกมขว้างคำ)และเป็น สะหรีกมคำ-เพี้ยนเป็น ศรีโคมคำ และ วัดศรีโคมคำในที่สุด)

เทศกาลแปดเป็ง แก้

จังหวัดพะเยาจัดงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงขึ้นทุกปี ในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคม ช่วงสัปดาห์วิสาขบูชา เรียกว่าเทศกาลแปดเป็ง แปดเป็งหมายถึงคืนวันเพ็ญในเดือนแปด (นับตามปฏิทินจันทรคติแบบล้านนา) ตรงกับเดือนพฤษภาคม แปดเป็งมีความสำคัญ เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าตนหลวง 5 ประการ ได้แก่

  • เป็นวันที่เริ่มโยนหินก้อนแรกลงถมหนองเอี้ยง (กว๊านพะเยาในปัจจุบัน) เพื่อปรับปรุงพื้นที่ใช้สำหรับก่อปูนขึ้นเป็นองค์พระ
  • เป็นวันเริ่มก่อสร้างองค์พระเจ้าตนหลวง
  • เป็นวันที่สร้างองค์พระเสร็จสมบูรณ์
  • เป็นวันเฉลิมฉลององค์พระครั้งแรก
  • เป็นประเพณีที่ชาวบ้านถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันวิสาขบูชาหรือวันแปดเป็ง

เทศกาลแปดเป็ง จัดขึ้นภายในวัดศรีโคมคำ ช่วงกลางวันมีการทำบุญฉลององค์พระเจ้าตนหลวง พระประธานในวิหาร ช่วงกลางคืนมีการออกร้านขายของและมหรสพต่าง ๆ นอกจากงานเทศกาลแปดเป็งภายในวัดศรีโคมคำแล้ว สัปดาห์วันวิสาขบูชาของจังหวัดพะเยา นอกจากทางวัดศรีโคมคำจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวงในช่วงดังกล่าวแล้ว วัดติโลกอาราม ซึ่งเป็นวัดที่จมอยู่ใต้กว๊านพะเยา ยังมีพิธีเวียนเทียนกลางน้ำในช่วงวันวิสาขบูชา ถือเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นใกล้กัน นักท่องเที่ยวสามารถชมความงามของวัดศรีโคมคำ พระเจ้าตนหลวง กว๊านพะเยาและพิธีเวียนเทียนกลางน้ำของวัดติโลกอารามได้ในช่วงเวลาเดียวกัน

ตราสัญลักษณ์จังหวัดพะเยา แก้

พระเจ้าตนหลวง ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง จึงมีการอัญเชิญไว้ในตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด

 
ตราสัญลักษณ์จังหวัดพะเยา

อ้างอิง แก้