ตำนานพระเจ้าเลียบโลก

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นวรรณกรรมทางศาสนาพุทธ ที่แพร่หลายในภาคเหนือของไทย รัฐฉานของพม่า และสิบสองปันนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จมาเยือนดินแดนล้านนาทางภาคเหนือของไทย สิบสองปันนา รัฐฉาน และล้านช้าง ตลอดถึงบางพื้นที่แถบภาคอีสาน เพื่อโปรดคนพื้นเมือง และทรงประทานสิ่งของสำหรับคนพื้นไว้สักการะบูชา เช่น พระเกศา หรือทรงประทับรอยพระบาท รอยพระหัตถ์ไว้ รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ของพระองค์ เช่น ไม้สีฟัน สถานที่ทรงตากจีวร ณ สถานที่ต่างๆ และต่อมาสถานที่เหล่ายนั้น มีการสร้างพระบรมธาตุ พระธาตุเจดีย์ หรือวัดที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเอาไว้ ตำนานพระเจ้าเลียบโลกจึงเป็นเสมือนตำนานเกี่ยวกับเจดียสถานสำคัญต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือและพื้นที่โดยรอบ [1]

ที่มา แก้

หนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก คัดลอกมาจากศิลจารึกในมหาเศลอาราม ประเทศศรีลังกา โดยพระเถระชาวมองที่มีนามว่า พระมหาสามีธรรมรส เมื่อ พ.ศ 2050 จากนั้นท่านก็เดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาท องค์พระธาตุเจดีย์ตามสถานที่ต่าง ๆ ตามที่ปรากฎเนื้อหาในศิลาจารึกนั้น ต่อในในปีก่าเม็ด (มะแม) จุลศักราช 885 หรือ พ.ศ. 2066 มาพระมหาโพธิสมภาร แห่งอาวาสท่าหัวเคียน ใกล้ดอยเกิ้ง ได้ขอคัดลอกต่อไว้เป็นภาษาล้านนามีความยาวถึง 12 ผูก หรือ 12 กัณฑ์ ส่วนในสิบสองปันนาสำรวจพบว่ามีมากถึง 22 ผูก [2]

ในตอนท้ายของหนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ยังระบุนามและสถานที่อยู่ของบุคคลที่คัดลอกตำนานนี้ต่อ ๆ มา เช่นกล่าวว่า มีมหาเถรองค์หนึ่งชื่อว่า อรัญญิกวัตร ได้คัดลอกเอาจากสำนักพระมหาเถรโพธิสมภารในปีเบิกไส้ (มะเส็ง) จุลศักราชได้ 890 เดือน 7 แรม 8 ค่ำ วันเสาร์ไทยว่าวันกัดไส้ ต่อจากนั้นมาพระมหาสามีเชตวันคัดลอกอีก ต่อจากนั้นนั้นมา องค์พระอนุรุทธอยู่วัดมหาธาตุในเมืองหริภุญชัยนคร ได้คัดลอกเอาจากพระมหาสามีวัดป่าเชตวันในปีล้วงเหม้า (เถาะ) จุลศักราช 893 เดือน 4 ขึ้น 5 ค่ำ วันศุกร์ไทย ว่า วันยี เป็นต้น แล้วพรรณนาผู้คัดลอกเรื่อยมา จนสุดที่ต้นฉบับล่าสุด [3]

เนื้อหา แก้

ในเอกสารใบลานเรื่อง ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดกู่คำมีจำนวน 12 ผูก จำนวนหน้าลาน 470 หน้า ผูกที่ 1 ถึงผูกที่ 11 เป็นเนื้อหาของเรื่องพุทธตำนานหรือตำนานพระธาตุพระบาทโดยสมบูรณ์ ส่วนเนื้อหาผูกที่ 12 เป็นเรื่องย่อใจความในผูกที่ 1 ถึงผูกที่ 11

ผูกที่ 1 เสด็จเมืองลี้ ถึงท่าหัวเคียน เสด็จถึงอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) เสด็จไปยังเมืองลื้อ อาณาจักรสิบสองปันนา เสด็จต่อไปยังอุตรปัญจนคร (แสนหวี) เสด็จยังเมืองวิเทหะ (หนองแส) เป็นต้น

ผูกที่ 2 กล่าวถึงพระธาตุเมืองระแหง ในเขตอาณาจักรทวารวดี กล่าวถึงการประดิษฐานพระเกศาบนดอยสิงกุตรในเขตเมืองหงสาวดี

ผูกที่ 3 เสด็จเข้าสู่เขตสุวรรณภูมิ สมัยอาณาจักรทวารวดีถึงเมืองเชียงของ จากนั้นเสด็จเมืองเชียงตุง และเสด็จต่อไปยังดอยมหิยงค์ (เมืองยอง) เป็นต้น

ผูกที่ 4 เสด็จเมืองฮ่อ เขตยูนาน และย้อนกลับมาเมืองลื้อ เขตสิบสองปันนา เมืองอาฬวี (เมืองลา) เสด็จเมืองเชียงใต้ เชียงเหนือ เป็นต้น

ผูกที่ 5 เสด็จออกจากดอยผาแรม เมืองซางหลวง เมืองลา เมืองบาน บ้านลวงพันแข้ง บ่อแร่ (บ้านบ่อหลวง) บ่อเป็นล้างแต่ง เมืองลาใต้ ลาเหนือ เป็นต้น

ผูกที่ 6 เสด็จเมืองลวงใต้ ลวงเหนือ เมืองเสี้ยว (เชียงคา) เมืองงาด เมืองคราง เป็นต้น

ผูกที่ 7 เสด็จปราบอาฬวกยักษ์ เมืองอาฬวี และเสด็จเขตเขมรัฐ คือเมืองเชียงตุง เป็นต้น

ผูกที่ 8 เสด็จงแม่น้ำพยาก เมืองเพียะ เสด็จเข้าเมืองช้างแสน (เชียงแสน) เสด็จเมืองชีราย (เชียงราย) จากนั้นเสด็จเมืองพระยาว (พะเยา) จากนั้นเสด็จเมืองลัมพาง (ลำปาง) จากนั้นเสด็จเมืองแพร่ และท่าลอย เสด็จต่อไปท่าทราย (เขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่) จากนั้นเสด็จไปทางป่าทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลี้ และ ดอยเกิ้ง (อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)

ผูกที่ 9 เสด็จประทับดอยคำหลวง 1 คืน รุ่งเช้าเสด็จประทับรอยพระบาทบนหินใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ทรงรำพึงในพระทัยว่าบริเวณที่นี้ต่อไปจะเป็นมหานคร คือเมืองเชียงใหม่ ภายหน้าพระพุทธศาสนาจักรุ่งเรืองจะเกิดมีมหาอาราม 8 แห่งได้แก่ บุปผาราม (วัดสวนดอก) เวฬุวันอาราม (วัดป่าหกหรือวัดป่าไผ่ได้แก่วัดกู่เต้า) วัดบุพพาราม อโศการาม (วัดป่าแดง) พีชอาราม (วัดหลวงศรีเกิด) สังฆาราม (วัดเชียงมั่น) นันทอาราม (วัดนันทา) และโชติอาราม (วัดเจดีย์หลวง) ในแต่ละแห่งพระองค์ได้ประทานเกศาธาตุเพื่อประดิษฐานแห่งละ 1 องค์ เป็นต้น

ผูกที่ 10 เนื้อเรื่องกล่าวถึงคำทำนายของพระพุทธองค์ต่อพระอินทร์ เกี่ยวกับความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในช่วง 5,000 ปี

ผูกที่ 11 กล่าวถึงพุทธประวัติโดนย่อ และสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในดินแดนไทยและประเทศใกล้เคียง รวมถึงสรุปจำนวนรอยพระพุทธบาทในแต่ละเมือง

ผูกที่ 12 เป็นการกล่าวสรุปเรื่องราวในผูกที่ 1 - 11 [4]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. เธียรชาย อักษรดิษฐ์. ตำนานพระเจ้าเลียบโลก: การศึกษาพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ภูมินาม ตำนาน ผู้คน
  2. สิงฆะ วรรณสัย. พุทธตำนาน พระเจ้าเลียบโลก
  3. สิงฆะ วรรณสัย. พุทธตำนาน พระเจ้าเลียบโลก
  4. สิงฆะ วรรณสัย. พุทธตำนาน พระเจ้าเลียบโลก
บรรณานุกรม
  • เธียรชาย อักษรดิษฐ์. ตำนานพระเจ้าเลียบโลก: การศึกษาพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ภูมินาม ตำนาน ผู้คน. เชียงใหม่ : ธารปัญญา, 2552.
  • สิงฆะ วรรณสัย. พุทธตำนาน พระเจ้าเลียบโลก. โครงการหนังสือธรรมะ ธรรมทาน. เชียงใหม่ : คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2553.

ต้นฉบับ แก้