พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ)

พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) น.ธ.เอก ป.ธ.7 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

พระพรหมจริยาจารย์

(สมุท รชตวณฺโณ)
ส่วนบุคคล
เกิด5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 (86 ปี 202 วัน ปี)
มรณภาพ24 ธันวาคม พ.ศ. 2549
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
กรุงเทพมหานคร
นิกายมหานิกาย
การศึกษาเปรียญธรรม 7 ประโยค
นักธรรมชั้นเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบท27 พฤษภาคม พ.ศ. 2483
พรรษา66 ปี 211 วัน
ตำแหน่งอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม
อดีตเจ้าคณะใหญ่หนใต้
อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร

ประวัติ แก้

พระพรหมจริยาจารย์ มีนามเดิมว่าสมุท รัชฏาวรรณ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก ณ บ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 4 ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง โยมบิดา-โยมมารดาชื่อนายฟอง และนางแก้ว รัชฏาวรรณ ในช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมบริบูรณ์ ณ โรงเรียนประชาบาลวัดโบสถ์ราษฎร์ศรัทธา ตำบลบางระกำ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เมื่อสมัยเป็นเด็ก ได้เข้ามาอยู่วัดเบญจมบพิตรฯ เป็นศิษย์วัดเรียนบาลี ซึ่งเป็นศิษย์วัดรุ่น “ราชปะแตน” คือ นุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อราชปะแตนขาวอย่างชาววัง

กระทั่งอายุได้ 16 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) ครั้งดำรงพระสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ปลด กิตฺติโสภโณ) ครั้งดำรงพระสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลวัตรกวี (คอน นนฺทิโย ป.ธ.3) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระสรภาณกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระราชเวที (ดอกไม้ อุตฺตรภทฺโท ป.ธ.6) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “รชตวณฺโณ”

วิทยฐานะ แก้

งานปกครอง แก้

  • พ.ศ. 2489 เป็นเลขานุการคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2496 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
  • พ.ศ. 2505 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะอำเภอบางเขน และเป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ
  • พ.ศ. 2507 เป็นรองเจ้าคณะภาค 11
  • พ.ศ. 2508 เป็นเจ้าคณะภาค 11 (จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สุรินทร์)
  • พ.ศ. 2516 เป็นเจ้าคณะภาค 5 (จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก)
  • พ.ศ. 2516 เป็นรองเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
  • พ.ศ. 2538 เป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
  • พ.ศ. 2539 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้

งานการศึกษา แก้

  • พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรม-บาลีสนามหลวง
  • พ.ศ. 2488 เป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดพระสิงห์วรมหาวิหารและวัดพันอ้น จังหวัดเชียงใหม่
  • พ.ศ. 2490 เป็นพระอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
  • พ.ศ. 2495-2537 เป็นเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง

งานกวีนิพนธ์ แก้

พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) ฉายแววอัจฉริยะในด้านกวีนิพนธ์ จนได้รับการยกย่องเป็น“รัตนกวี” รูปหนึ่งของวงการคณะสงฆ์ไทยและชาวพุทธทั่วไป ด้วยมีผลงานร้อยกรอง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ที่รวมบทกวีตีพิมพ์ออกมา อาทิ คาถาพระธรรมบทคำกลอน เบญจมราชาสดุดี เบญจวรรณ (รวมบทกวี กาพย์เห่เรือ กลอน โคลง และฉันท์) เป็นต้น ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ท่านได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้แต่งคำฉันท์ต่าง ๆ อาทิ

  • แต่งบทประพันธ์อาเศียรวาทราชสดุดี ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ พ.ศ. 2526
  • แต่งบทประพันธ์อาเศียรวาทรัชมังคลาภิเษกสมโภช เนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531
  • แต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ กลอนสุภาพ ในพระราชพิธี พิธีสำคัญ หรือโอกาสสำคัญ ตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย
  • แต่งคำฉันท์สดุดี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พ.ศ. 2533
  • แต่งคำฉันท์สดุดี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เนื่องในมงคลวโรกาสเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา พ.ศ. 2536
  • แต่งคำฉันท์สดุดี พระธรรมิกมหาราชากาญจนาภิเษก เนื่องในการพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
  • แต่งกาพย์ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดท่าสุทธาวาส บ้านบางเสด็จ ตำบลบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง พระพรหมจริยาจารย์ได้แต่งคำประพันธ์กาพย์เห่เรือ และจัดแห่เรือถวาย

เป็นสหชาติกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ แก้

วันเดือนปีเกิดของพระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) นั้นตรงกันกับวันเดือนปีเกิดของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์วัดเบญจมบพิตรฯ รูปที่ 3 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์กับพระพรหมจริยาจารย์จึงเป็นสหชาติคือเกิดพร้อมกัน ตลอดจนยังได้มาอยู่วัดเดียวกันด้วยคือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม การศึกษาก็จบ ป.ธ.7 เหมือนกันอีก โดยขณะที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ พระพรหมจริยาจารย์ก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาส สนองงานสมเด็จพระพุทธชินวงศ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2537 พระพรหมจริยาจารย์จึงได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์วัดเบญจมบพิตรฯ เป็นรูปที่ 4 มาตั้งแต่บัดนั้น นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์

สมณศักดิ์ แก้

มรณภาพ แก้

พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) เข้ารับการผ่าตัดก้อนนิ่วจากคณะแพทย์ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่านมีอาการอาพาธเป็นประจำ ต้องเดินทางเข้าออกรับการรักษาจากโรงพยาบาลเป็นประจำ และก่อนหน้านี้ยังเคยเข้ารับการผ่าตัดลำไส้ ต่อมาในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ท่านเจ้าคุณมีอาการท้องเสีย แต่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมาก คณะศิษยานุศิษย์จึงได้นำท่านเจ้าคุณส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อรับการรักษาอาการด้วยการผ่าตัด แต่สุดท้ายไม่สามารถยื้ออาการไว้ได้ ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคปอดติดเชื้อ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2549 เวลา 20:10 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุได้ 86 พรรษา 66[6]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 70, ตอน 78 ง, 22 ธันวาคม พ.ศ. 2496, หน้า 5356
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 75, ตอน 109, 23 ธันวาคม พ.ศ. 2501, หน้า 3135
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอน 122 ง ฉบับพิเศษ, 27 ธันวาคม พ.ศ. 2506, หน้า 3
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 91, ตอน 229 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม พ.ศ. 2517, หน้า 2
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 108, ตอนที่ 98, 1 มิถุนายน พ.ศ. 2534, หน้า 4-7
  6. "พระพรหมจริยาจารย์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ถึงมรณภาพ" (PDF). มหาเถรสมาคม. 10 มกราคม 2550. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]