ปลาฉลามหางไหม้ (ไทย)

ปลาฉลามหางไหม้
ภาพถ่ายที่เชื่อว่าเป็นปลาฉลามหางไหม้ไทย เป็นภาพจากนิตยสารปลาสวยงามของนอร์เวย์ ไม่ทราบปี
สถานะการอนุรักษ์

อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว  (IUCN 3.1)[1]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Balantiocheilos
สปีชีส์: B.  ambusticauda
ชื่อทวินาม
Balantiocheilos ambusticauda
Ng & Kottelat, 2007

ปลาหางไหม้ หรือที่นิยมเรียกกันว่า ปลาฉลามหางไหม้ (อังกฤษ: Burnt-tailed barb, Siamese bala-shark; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balantiocheilos ambusticauda) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

ปลาหางไหม้ มีรูปร่างและทรวดทรงที่เพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ขยับปากอยู่ตลอดเวลา ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง สีส้มแดงและขอบเป็นแถบดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ว่ายน้ำได้ปราดเปรียวมาก และกระโดดขึ้นได้สูงจากน้ำมาก มีขนาดโตเต็มราว 20–30 เซนติเมตร

นิยมอยู่เป็นฝูง หากินตามใต้พื้นน้ำ ในอดีตพบชุกชุมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในประเทศไทย แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว เชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไปจนหมดแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการจับจากธรรมชาติเพื่อจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม [2] แต่ก็เพียงข้อสันนิษฐาน[3] โดยถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว แม้จะมีรายงานพบในลุ่มแม่น้ำโขง ในเวียดนาม, กัมพูชา และลาว แต่ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน และไม่เป็นที่ยอมรับจาก IUCN[3][1] ซึ่งในอดีตปลาหางไหม้ได้ถูกใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ร่วมกับปลาฉลามหางไหม้ชนิดที่พบในประเทศอินโดนีเซีย (B. melanopterus) และถูกใช้ชื่อวิทยาศาสตร์และข้อมูลนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2007 มีการจัดอนุกรมวิธานกันขึ้นมาใหม่ [3] โดยตัวอย่างต้นแบบแรกถูกเก็บโดยนักมีนวิทยาชาวเยอรมัน รอล์ฟ ไกสเลอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และตัวอย่างเพิ่มเติมถูกเก็บโดย โรดอล์ฟ เมเยอร์ เดอ เชาเวินซี ในปี ค.ศ. 1936 โดย เอ็ม. ฮาร์มันด์ ในปี ค.ศ. 1883 และโดย มารี เฟิร์มง โบคอร์ต ในปี ค.ศ. 1862

แต่ในทัศนะของ กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืดและสัตว์น้ำชาวไทย ซึ่งเป็นผู้ที่พบปลาหางไหม้ตัวสุดท้ายในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณสวนส้มบางมด ในเขตราษฎร์บูรณะ เมื่อปี ค.ศ. 1986 เห็นว่าปลาหางไหม้ ไม่น่าจะมีครีบต่าง ๆ เป็นสีแดงส้ม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คงมีการแยกชนิดกันชัดเจนมานานแล้ว แต่น่าจะเป็นมีแถบดำบริเวณครีบต่าง ๆ นั้นน้อยกว่าส่วนที่เป็นสีเหลืองอมขาว และมีส่วนหัวที่ทู่สั้นกว่า [4]


นอกจากนี้แล้ว ปลาหางไหม้ ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาหางเหยี่ยว" หรือ "ปลาหนามหลังหางดำ"

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Vidthayanon, C. (2011). "Balantiocheilos ambusticauda". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.2. สืบค้นเมื่อ 28 June 2013.
  2. Humphrey, S.R. & Bain, J.R. (1990). Endangered animals of Thailand. Sandhill Crane Press, Gainesville, 468 pp.
  3. 3.0 3.1 3.2 Ng, Heok Hee; Kottelat, Maurice (2007). "Balantiocheilos ambusticauda, a new and possibly extinct species of cyprinid fish from Indochina (Cypriniformes: Cyprinidae)". Zootaxa 1463: 13–20.
  4. กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์, ชวลิต วิทยานนท์ ดร., ปลาน้ำจืดหายากที่สุด ๑๐ ชนิดของไทย นิตยสาร Aquarium Biz หน้าที่ 62 ปีที่ 2 ฉบับที่ 16: ตุลาคม 2011

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้