ประชา โพธิพิพิธ
ประชา โพธิพิพิธ หรือ "กำนันเซี้ยะ" เป็นนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 4 สมัย และเป็นบิดาของนักการเมืองในจังหวัดกาญจนบุรี คือ อัฏฐพล โพธิพิพิธ และธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ
ประชา โพธิพิพิธ | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 24 มกราคม พ.ศ. 2486 |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ |
คู่สมรส | ทวี โพธิพิพิธ (หย่า) เขมพร ต่างใจเย็น (นอกสมรส) |
ประวัติ แก้ไข
ประชา โพธิพิพิธ เกิดเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2486 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนวัดท่าเรืออุตสาหวิทยาคาร จังหวัดกาญจนบุรี และระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาเคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรนักปกครองท้องถิ่นระดับสูง (รุ่นที่ 8) จากวิทยาลัยการปกครอง
นายประชา สมรสกับนางทวี โพธิพิพิธ มีบุตรคือ อัฏฐพล โพธิพิพิธ และธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ[1][2] ต่อมาแต่งงานใหม่กับนางเขมพร ต่างใจเย็น อดีตภรรยาของแคล้ว ธนิกุล[3]
การทำงาน แก้ไข
ประชา โพธิพิพิธ เคยเป็นกำนันตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 และเคยได้รับรางวัลกำนันแหนบทองคำ เมื่อ พ.ศ. 2528 ต่อมาเป็นเทศมนตรีในเทศบาลตำบลท่าเรือพระแท่น และได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตำบลท่าเรือพระแท่น ในปี พ.ศ. 2534 จนกระทั่งได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 เขาได้ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 และในปี พ.ศ. 2542 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 นายประชาได้รับเลือกตั้งสมัยที่ 3 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมของปีเดียวกัน กกต. ได้มีคำวินิจฉัยสั่งการให้สมาชิกภาพของนายประชาสิ้นสุดลง เนื่องจากมีการร้องเรียนว่านายประชาซื้อเสียงในการเลือกตั้ง[4] และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่าพลตรี ศรชัย มนตริวัต จากพรรคความหวังใหม่เป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
นายประชาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 เป็น ส.ส.สมัยที่ 4 และเขาสนับสนุนให้ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ บุตรชาย ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
คดีความ แก้ไข
ในปี พ.ศ. 2559 เขาถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก เป็นเวลา 5 ปี ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ , กรรโชกทรัพย์ , หน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 ในปีต่อมาถูกตัดสินในคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุ จำนวน 1 พันกว่าไร่ ศาลฎีกาลดโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน [5]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 นายประชา ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปี ในคดีจัดตั้งกลุ่มบ้านใหญ่ ฮั้วประมูล[6]
ปัจจุบันอยู่ระหว่างหลบหนีคดี[3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้ไข
ประชา โพธิพิพิธ เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก่อนจะถูกเรียกคืนเนื่องจากต้องโทษจำคุก
- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[7]
- พ.ศ. 2542 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[8]
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ "กำนันเซี๊ยะ"ประสบอุบัติเหตุขับกระบะประสานงาสาหัส
- ↑ สะพัดเพื่อพ่อ!2ลูกชายกำนันเซี๊ยะทิ้ง'ปชป.'ซบพลังประชารัฐ-มาร์คทำใจ
- ↑ 3.0 3.1 ย้อนตำนาน กำนันเซี๊ย
- ↑ "คำวินิจฉัยสั่งการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ ๑๔๓/๒๕๔๔ เรื่อง การคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ ๕ จังหวัดกาญจนบุรี กรณี นายประชา โพธิพิพิธ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-09-27. สืบค้นเมื่อ 2021-02-09.
- ↑ ศาลฎีกาฯ จำคุก 10 ปี ‘กำนันเซี๊ยะ’ อดีต ส.ส.ปชป.ฮั้วรับเหมาเมืองกาญจน์-นับโทษจากคดีเก่า
- ↑ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑๓๑/๒๕๖๐ คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑๘๐/๒๕๖๐ ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์ นายประชา โพธิพิพิธ จำเลย)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓๘, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๖๘, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข
- http://www.parliament.go.th รัฐสภาไทย