นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

พันธุ์สัตว์ในพระนามาภิไธยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukaryota
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Hirundinidae
สกุล: Pseudochelidon
สกุลย่อย: Eurochelidon
สปีชีส์: P.  sirintarae
ชื่อทวินาม
Pseudochelidon sirintarae
Thonglongya, 1968
ตัวอย่างต้นแบบแรกจากบึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (บึงบอระเพ็ด)
ชื่อพ้อง
Eurochelidon sirintarae
(Thonglongya, 1968)

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง (อังกฤษ: White-eyed River-Martin; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pseudochelidon sirintarae) เป็นนกเกาะคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น มีลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ซึ่งเป็นนกนางแอ่นแม่น้ำอีกชนิดหนึ่งอย่างเพียงพอที่จะแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon[1] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรค้นพบครั้งแรกใน พ.ศ. 2511 และพบได้บริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวบนโลก คาดกันว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องจากไม่มีการพบเห็นอีกเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2523 แม้จะดำเนินการสำรวจเป้าหมายแล้วในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจยังหลงเหลืออยู่ในประเทศจีนหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภาพจิตรกรรมจีนที่ในตอนแรกสันนิษฐานว่าเป็นนกสายพันธุ์เดียวกัน ภายหลังจึงมีการพิสูจน์ใหม่แล้วว่าเป็นนกแอ่นทุ่ง (pratincole)

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรโตเต็มวัยเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีสีดำออกเขียวเหลือบ ตะโพกขาว และหางมีขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่มีขนหางคู่กลางที่มีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย ไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือแหล่งเพาะพันธุ์ของนกนางแอ่นแม่น้ำชนิดนี้ เช่นเดียวกับนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ และด้วยปากที่กว้างชี้ให้เห็นว่ามันอาจกินแมลงที่ตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น มันเกาะคอนในพงอ้อในฤดูหนาว และอาจทํารังในสันทรายแม่น้ําประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมก่อนฝนตกในฤดูร้อน มันอาจถูกมองข้ามก่อนจะมีการพบเจอ เพราะมันมักจะให้อาหารในตอนเช้าหรือตอนค่ำมากกว่าตอนกลางวัน

อนุกรมวิธาน

แก้

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสมาชิกหนึ่งในสองของนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae อีกชนิดหนึ่งคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidon eurystomina) ที่พบในลุ่มน้ำคองโกในทวีปแอฟริกา ทั้งสองชนิดมีคุณลักษณะพิเศษที่แยกนกทั้งสองชนิดออกจากนกนางแอ่นชนิดอื่น ประกอบไปด้วย เท้าและขาที่แข็งแรง และปากอวบ[2] จากลักษณะที่ต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและแยกไกลกันทางภูมิศาสตร์ของนกนางแอ่นทั้งสองชนิดแสดงว่านกเหล่านี้เป็นประชากรส่วนที่เหลือของกลุ่มสปีชีส์ที่แยกออกจากเชื้อสายหลักของนกนางแอ่นก่อนที่จะมีการวิวัฒนาการ[2]

ชื่อสกุล Pseudochelidon (Hartlaub, 1861) มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า "ปลอม" และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า "นกนางแอ่น"[3] และชื่อสปีชีส์ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งชื่อนกชนิดนี้[4]

ชนิดของ Pseudochelidon ทั้งเอเชียและแอฟริกาแตกต่างกันในขนาดของปากและตาแสดงว่ามีระบบนิเวศวิทยาการกินอาหารที่แตกต่างกัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจกินอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่า สปีชีส์ในประเทศไทยนั้นปากพอง ปากอ้าแข็ง (เนื้อด้านในของปาก) ไม่เหมือนนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่นุ่ม มีเนื้อมาก และปากอ้าได้กว้างน้อยกว่า[4]

ในปี พ.ศ. 2515 มีการเสนอว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีลักษณะต่างจากนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาอย่างเพียงพอที่จะแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon[5] แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมนักจากผู้แต่งคนอื่น ๆ ในภายหลัง อย่างไรก็ตามองค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International) ได้ใช้เป็นชื่อสกุล Eurochelidon ในปัจจุบัน[1]

การค้นพบ

แก้

ในปี พ.ศ. 2510 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) ได้ทำการดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์[6] เพื่อทำการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และในระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 กิตติ ทองลงยา[7] ได้ค้นพบนกตัวหนึ่งที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน

จากการตรวจสอบขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะจำแนกนกชนิดนี้เข้ากับนกสกุลใด ๆ ของประเทศไทยได้ กิตติจึงได้เก็บตัวอย่างของตัวเบียน คือ เห็บ เหา และไร ของนกส่งไปให้สถาบันสมิธโซเนียนและพิพิธภัณฑ์บริติชช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลก็คือมันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นแม่น้ำสกุล Pseudochelidon ซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโกของแอฟริกา และจากนั้นได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่าง ๆ ภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidoninal eurystominal) จึงลงความเห็นได้ว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุล Pseudochelidon อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดนี้ นักปักษีวิทยาทั่วโลกจึงยอมรับว่าเป็นนกสกุล Pseudochelidon ชนิดใหม่ของโลก

นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างมีความเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” และมีชื่อในภาษาอังกฤษว่า White-eyed River Martin (Pseudochelidon sirintarae)

ลักษณะ

แก้
 
ตัวอย่างของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีสีดำออกเขียวเหลือบ ตะโพกขาว หางมีขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย วงรอบตาสีขาวหนา ปากสีเหลืองสดออกเขียว ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน แต่นกวัยอ่อนไม่ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมา สีขนออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีความยาวจากปากจดหางประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณตะโพกสีขาวแยกบริเวณหลังสีดำเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มและตอนบนของหางสีเดียวกันออกจากกัน หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน[2] ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลมแต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม.ปลายแผ่เล็กน้อย มองเห็นได้ชัดเจน[8]

ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อ ๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่แข็งแรงมีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ยังไม่ทราบ[2]

ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน นกวัยอ่อนมีหัวสีน้ำตาล คอแกมขาว ลำตัวออกสีน้ำตาลมากกว่านกโตเต็มวัย ไม่มีขนเส้นเรียวเล็กที่ปลายหาง[9] นกวัยอ่อนจะผลัดขนในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์[2]

อุปนิสัย

แก้

แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรนั้นยังไม่มีการค้นพบ จึงไม่ทราบในชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกเลย แต่คาดกันว่ามันน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดยทำรังตามโพรงบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำ[10] วางไข่ชุดละ 2-3 ฟอง อาจเป็นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมก่อนฝนจากมรสุมจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น[2] แต่ความแตกต่างทางกายวิภาคของรูปร่างเท้าและขาทำให้รู้ว่ามันไม่สามารถขุดโพรงได้[11] ในฤดูหนาวพบว่ามันเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่น ๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อและใบสนุ่น[10] บางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงเป็นอาหารเหมือนกับนกนางแอ่นชนิดอื่นรวมถึงพวกด้วงด้วย มันจับเหยื่อโดยการโฉบจับในอากาศ[2] จากขนาดและโครงสร้างปากที่พิเศษของนก มันอาจกินแมลงที่ตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น[4] นกชนิดนี้มีลักษณะการบินที่ บินเรื่อย ลอยตัว ไม่รวดเร็วเท่านกนางแอ่นชนิดอื่น และก็เหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่ไม่ค่อยมีพฤติกรรมเกาะคอน[2] จากรูปทรงเท้าที่ผิดไปจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการที่พบโคลนที่เท้าในตัวอย่างหนึ่งของนกชนิดนี้แสดงว่านกชนิดนี้อาจจะอยู่บนพื้นมากกว่าเกาะคอน[12]

พาเมลา ซี. รัสมูสเซน (Pamela C. Rasmussen) เสนอว่าด้วยดวงตาที่ใหญ่ผิดปกติ นกชนิดนี้อาจหากินเวลากลางคืนหรืออย่างน้อยก็ช่วงพลบค่ำหรือรุ่งเช้า ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้มันดูลึกลับและอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมนกที่เหลือถึงไม่พบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าข้อเท็จจริงที่คาดว่าตัวอย่างแรกจับมาได้ขณะเกาะคอนในเวลากลางคืนในพงอ้ออาจจะขัดแย้ง แต่อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่ได้ถูกจับขณะเกาะคอน หรือพฤติกรรมของมันอาจจะสามารถหากินได้ทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืนขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือสภาวะแวดล้อม[11]

พฤติกรรม

แก้

พฤติกรรมเป็นที่ทราบน้อยมากรวมถึงแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ คาดว่าเหมือนนกนางแอ่นชนิดอื่นที่บินจับแมลงกินกลางอากาศ และเกาะคอนนอนตามพืชน้ำในฤดูหนาว

แหล่งที่อยู่อาศัยและการกระจายพันธุ์

แก้

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบในบริเวณบึงบอระเพ็ด เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม คาดว่าถิ่นอาศัยในช่วงฤดูหนาวจะเป็นบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งน้ำจืดที่เปิดโล่งเพื่อสำหรับหาอาหาร และมีอ้อและพืชน้ำสำหรับจับคอนนอนในเวลากลางคืน[13] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจเป็นนกอพยพ แต่พื้นที่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบ อาจเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านอย่างภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน[2] อย่างไรก็ตามมีการอ้างว่าลักษณะของนกชนิดนี้ในม้วนภาพเขียนจีนนั้นคล้ายกับนกแอ่นทุ่งใหญ่ (Glareola maldivarum)[14] มีการเสนอว่าเป็นไปได้ที่ประเทศกัมพูชาและพม่าเป็นถิ่นอาศัยของนกชนิดนี้[13] และยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเป็นนกอพยพเสียทั้งหมดหรือไม่[4]

ถ้าถิ่นอาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเหมือนกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ถิ่นอาศัยจะเป็นป่าในหุบเขาที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน มีตลิ่งทรายและเกาะสำหรับทำรัง และมีป่าไม้มากพอที่นกจะสามารถจับแมลงกินได้[2]

สถานภาพในปัจจุบัน

แก้

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลกคือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ จากรายงานการพบเห็นในปี พ.ศ. 2515, 2520 และ 2523 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน[2] แม้จะมีรายงานว่าพบนกในปี พ.ศ. 2529 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน[13] สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) และ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง[15] มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลงหรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดสูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุมแล้ว แต่นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก[1]

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)[16] นอกจากนี้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกด้วย

สาเหตุของการใกล้สูญพันธุ์

แก้

ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แม้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย แต่ก็ยังถูกจับไปพร้อม ๆ กับนกนางแอ่นชนิดอื่นในฤดูหนาวของแต่ละปีเพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกปล่อยทำบุญในพุทธศาสนา และหลังจากการค้นพบ มีการดักจับนกได้ถึงเกือบ 120 ตัวเพื่อขายให้กับผู้อำนวยการสถานีประมงนครสวรรค์ และแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาชีวิตของนกเหล่านั้นไว้ได้[11] และด้วยเพราะมีจำนวนประชากรเป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายนัก[2] แต่อาจมีรายงานที่ไม่ยืนยันว่าพบเห็นนกในประเทศกัมพูชาในปี พ.ศ. 2547[17]

มีการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรนกนางแอ่นในบึงบอระเพ็ดจากหนึ่งแสนตัวในราวปี พ.ศ. 2513 เหลือเพียง 8,000 ตัวที่นับได้ในฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2523-2524 แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจ แต่เหตุการณ์นี้คือการแสดงถึงการลดลงหรือเปลี่ยนถิ่นเนื่องมาจากการถูกรบกวน[4] สาเหตุอื่นที่ทำให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงประกอบด้วย จากการรบกวนบริเวณตลิ่งทรายแม่น้ำ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ การแก้ไขอุทกภัย การประมง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเพื่อการเกษตร[13] อย่างน้อยนกนางแอ่นก็ยังชอบจับคอนตามพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดมากกว่าตามไร่อ้อย แต่ก็ไม่ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในฝูงนกจับคอนเหล่านั้น[4]

บึงบอระเพ็ดได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์เพื่อพยายามจะปกป้องนกชนิดนี้[13] แต่จากการสำรวจค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือรอดซึ่งประกอบด้วยการสำรวจที่บึงบอระเพ็ดหลายครั้ง การค้นหานกชนิดนี้ การสำรวจแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำวังในภาคเหนือของประเทศไทยปี พ.ศ. 2512 และการสำรวจของแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาวในปี พ.ศ. 2539 กลับประสบความล้มเหลว[13]

การเผยแพร่ในสื่ออื่น

แก้

มีการจัดพิมพ์แสตมป์รูปนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจำนวน 3,000,000 ดวงร่วมกับนกชนิดอื่นอีก 3 ชนิดคือนกแซวสวรรค์ขาว-แดง นกพญาปากกว้างหางยาว และนกติตสุลต่านในชุดนกไทย ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2518 แสตมป์มีราคา 75 สตางค์[18] และในปี พ.ศ. 2517 มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าเป็นเหรียญทองคำมีราคาหน้าเหรียญ 5,000 บาทซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอยู่ในท่าบิน[19][20]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "BirdLife International Species factsheet: Eurochelidon sirintarae ". BirdLife International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-03. สืบค้นเมื่อ 2009-11-15.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Turner, Angela K; Rose, Chris (1989). A handbook to the Swallows and Martins of the World. Bromley: Christopher Helm. pp. 86–88. ISBN 0-7470-3202-5.
  3. "Scientific bird names explained". uk.r.b. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Tobias, Joe (June 2000). "Little known Oriental Bird: White-eyed River-Martin: 1". Oriental Bird Club Bulletin. 31.
  5. Brooke, Richard (1972). "Generic limits in Old World Apodidae and Hirundinidae". Bulletin of the British Ornithologists’ Club. 92: 53–7.
  6. Humphrey, Stephen R.; Bain, James R. (1990). Endangered Animals of Thailand. CRC Press. pp. 228–9. ISBN 1877743070.
  7. Kitti, Thonglongya (1968). "A new martin of the genus Pseudochelidon from Thailand". Thai National Scientific Papers, Fauna Series no. 1.
  8. Robson, Craig (2004). A Field Guide to the Birds of Thailand. New Holland Press. ISBN 1843309211. p206
  9. หมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย หน้า 324 ISBN 978-974-619-181-4
  10. 10.0 10.1 Lekagul, Boonsong; Round, Philip (1991). A Guide to the Birds of Thailand. Bangkok: Saha Karn Baet. ISBN 974-85673-6-2. p233
  11. 11.0 11.1 11.2 Collar, N J; Andreev, A V; Chan, S; Crosby M J.; Subramanya, S; Tobias, J A, บ.ก. (2001). Threatened Birds of Asia; The BirdLife International Red Data Book (PDF). BirdLife International. pp. 1942–1947. ISBN 0-946888-44-2. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-25. สืบค้นเมื่อ 2020-02-02.
  12. Tobias, Joe (June 2000). "Little known Oriental Bird: White-eyed River-Martin: 2". Oriental Bird Club Bulletin. 31: 45–48. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 10, 2007.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 editor, Erik Hirschfeld (2007). Rare Birds Yearbook 2008. England: MagDig Media Lmtd. p. 208. ISBN 978-0-9552607-3-5. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  14. Smallwood, John A (1992). "Recent literature" (PDF). Journal of Field Ornithology. 63 (2): 217–240. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-21. สืบค้นเมื่อ 2013-03-20.
  15. ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) ข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม สืบค้นวันที่ 2010-06-30
  16. "Appendices I, II and III" (PDF). Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, valid from 13 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  17. "Investigating a possible sighting of White-eyed River-Martin". Thaibirding.com. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  18. "White-eyed River Martin". Birds of the World on Postage Stamps. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  19. "Thailand 5000 Baht 1975 st". Goldmünzen. Münzhandlung Ritter GmbH. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-09. สืบค้นเมื่อ 2008-01-04. (เยอรมัน)
  20. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า[ลิงก์เสีย] ข้อมูลเหรียญ,ผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ กรมธนารักษ์
  • อนุสาร อ.ส.ท. 24, 7 (ก.พ. 27) 36
  • รศ.โอภาส ขอบเขต.1998, Bird of Bung Boraphet., Office of Environmental Policy and Planning.
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้