นกนางแอ่นแม่น้ำ

นกนางแอ่นแม่น้ำ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Hirundinidae
วงศ์ย่อย: Pseudochelidoninae
Shelley, 1896
สกุล: Pseudochelidon
Hartlaub, 1861
สปีชีส์

นกนางแอ่นแม่น้ำ หรือ นกนางแอ่นเทียม (อังกฤษ: river martins) เป็นสกุลนกนางแอ่นในวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae ที่อยู่ในวงศ์นกนางแอ่น (Hirundinidae) ประกอบไปด้วย 2 สปีชีส์คือ นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidon eurystomina) ที่พบในสาธารณรัฐคองโกและประเทศกาบอง และนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) ที่พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีขนส่วนใหญ่เป็นสีดำ บินจับแมลงกินเป็นอาหาร พวกมันดูเหมือนจะใช้ชีวิตอยู่บนพื้นมากกว่านกนางแอ่นชนิดอื่น อาจเดินมากกว่าเกาะคอน และนกนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจหากินในเวลากลางคืน นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาทำรังบนตลิ่งทรายริมแม่น้ำโดยการขุดโพรงลงไป ส่วนแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังไม่ทราบ

เมื่อมีการค้นพบนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ (Gustav Hartlaub) คิดว่ามันเป็นนกตะขาบและผู้แต่งหลังจากนั้นก็จัดวางมันอยู่ในวงศ์ของตนเองหรืออยู่ในวงศ์นกแอ่นพง จากการศึกษาทางกายวิภาคพบว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับนกในวงศ์นกนางแอ่น แต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างคือมีขาและเท้าแข็งแรงและมีปากอวบ สิ่งเหล่านี้แสดงว่าควรแยกมันออกเป็นวงศ์ย่อยต่างหาก นกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดจัดอยู่ในสกุลเดียวกันคือสกุล Pseudochelidon เพราะทั้งสองมีโครงสร้างที่คล้ายกัน แต่ บรูก เสนอว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรควรแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกามีการกระจายพันธุ์ในวงแคบในหลายพื้นที่แต่สถานะภาพที่แท้จริงยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ส่วนนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรค้นพบในปี พ.ศ. 2512 และทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวมันน้อยมากจากตัวอย่างและหลักฐานเพียงเล็กน้อย ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบในธรรมชาติแล้ว และแหล่งผสมพันธุ์วางไข่ก็ไม่เป็นที่ทราบ มันอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว แม้ว่าจะมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันในปี พ.ศ. 2547

อนุกรมวิธาน แก้

เมื่อตัวอย่างของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาจากประเทศกาบองได้รับการจัดจำแนกครั้งแรกโดยนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ (Gustav Hartlaub) ในปี ค.ศ. 1861[1] มันไม่ได้ถูกระบุบเป็นนกนางแอ่น ฮาร์ทเลาบ์กลับจัดวางมันในวงศ์นกตะขาบ และผู้แต่งคนอื่นๆหลังจากนั้นก็จัดวางมันอยู่ในวงศ์ของมันเองหรือไม่ก็ในวงศ์นกแอ่นพง จากการศึกษากายวิภาคของนกชนิดนี้โดย เพอร์ซี โลว์ในปี ค.ศ. 1938 แสดงให้เห็นว่ามันเป็นญาติใกล้ชิดกับนกนางแอ่นแต่ก็มีลักษณะที่แตกต่างเพียง พอที่จะแยกออกมาเป็นวงศ์ย่อย Pseudochelidoninae[2] ชื่อสกุล Pseudochelidon มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า "ปลอม" และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า "นกนางแอ่น" เพื่อสะท้อนถึงความแตกต่างของมันจากนกนางแอ่นที่ "แท้จริง"[3][4]

เป็นเวลาหลายปีที่นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาเป็นเพียงชนิดเดียวในสกุลและวงศ์ย่อยจนกระทั่งมีการค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon eurystomina) โดยนักปักษีวิทยาชาวไทย กิตติ ทองลงยา ในปี ค.ศ. 1968[5] แม้ว่าผู้แต่งบางคนอย่างเช่น บรูค จะจัดวางนกชนิดนี้ไว้ในสกุล Eurochelidon ที่แยกออกมาต่างหากเพราะลักษณะที่เป็นมีนัยยะสำคัญแต่งจากชนิดแอฟริกา แต่ก็ยังอยู่ในวงศ์ย่อยเดียวกัน[6][7] จากการศึกษาทางพันธุศาสตร์ยืนยันว่านกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดมากจากเครือบรรพบุรุษที่ต่างกันกับนกนางแอ่นในวงศ์ย่อย Hirundininae[8]

นกนางแอ่นแม่น้ำอยู่ตรงกลางระหว่างนกนางแอ่นทั่วไปและนกจับคอนชนิดอื่น พวกมันมีปากอวบ เท้าใหญ่และขาแข็งแรงซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากนกหากินกลางอากาศชนิดอื่น มันมีอวัยวะส่วนที่ส่งเสียงมีขนาดใหญ่ และโครงสร้างที่แตกต่างกันของหลอดลม จากลักษณะของมันที่แตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์ที่กว้างมากของนกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองแสดงว่าประชากรของกลุ่มสปีชีส์ได้แยกตัวออกจากเชื้อสายหลักของนกนางแอ่นตอนต้นของการวิวัฒนาการ[2] และพวกมันอาจเป็นนกนางแอ่นชนิดที่โบราณที่สุด[9] มันก็เหมือนนกนางแอ่นโบราณต้นเชื้อสายชนิดอื่นๆที่ทำรังในโพรงแทนที่จะทำหลุมรังหรือรังโคลน[10]

การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย แก้

   
นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (ซ้าย) พบตลอดปีในประเทศกาบอง (สีม่วง) และสาธารณรัฐคองโก (สีฟ้า) และพบเฉพาะฤดูผสมพันธุ์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (สีแดง) นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (ขวา) พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

นกนางแอ่นแม่น้ำทั้งสองชนิดมีพิสัยทางภูมิศาสตร์ของถิ่นอาศัยที่แยกออกจากกัน นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาผสมพันธุ์วางไข่ตลอดแม่น้ำคองโกและแม่น้ำอูบองชีในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก[11] มันเป็นนกอพยพฤดูหนาวในที่ราบชายฝั่งในทางตอนใต้ของประเทศกาบองและสาธารณรัฐคองโก เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบรักของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาบริเวณสันชายหาดและทุ่งหญ้าในพื้นที่ชายฝั่งที่อาศัยในฤดูหนาว[2][11] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบเพียงแหน่งเดียวจากพื้นที่อาศัยในฤดูหนาวที่บึงบอระเพ็ดในประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์[12] มันอาจเป็นนกอพยพ แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบ แม้ว่าหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านในภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนนั้นอาจจะเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่[2] หรืออาจเป็นประเทศกัมพูชาหรือพม่า[12] แต่ยังมีข้อสงสัยว่ามันจะเป็นนกอพยพทั้งหมดหรือไม่[13]

แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของชนิดแอฟริกาประกอบไปด้วย ป่าริมแม่น้ำ หรือเกาะที่มีตลิ่งทรายสำหรับทำรัง พื้นที่ทำรังของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังไม่ทราบแต่ถ้าแหล่งผสมพันธุ์วางไข่คล้ายคลึงกันจากความสัมพันธ์กับชนิดแอฟริกาก็จะเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านซึ่งมีตลิ่งทรายและเกาะสำหรับทำรัง และมีป่าให้นกบินจับแมลงกิน[2] นางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาใช้ที่ราบชายฝั่งเป็นถิ่นอาศัยในฟดูหนาว บนพื้นฐานถิ่นอาศัยในฟดูหนาวเท่าที่ทราบซึ่งไม่ใช่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรหากินในบริเวณพื้นที่เปิดโล่งใกล้แหล่งน้ำและเกาะคอนนอนตามพงอ้อหรือพืชน้ำในเวลากลางคืน[12]

ลักษณะ แก้

นกนางแอ่นทั้งสองชนิดเป็นนกขนาดกลาง ยาว 14-18 ซม. ขนสีดำคล้ายนกนางแอ่นส่วนใหญ่ มีหัวขนาดใหญ่ สีเหลือบฟ้า ลำตัวเจือสีเขียว ปีกสีน้ำตาล ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวแผ่ตรงปลาย ตะโพกขาว ตาและวงขอบตาขาว และปากสีเหลือง นกนางแอ่นแอฟริกามีวงตาและปากสีแดง ไม่มีแต้มตรงตะโพก นกวัยอ่อนของทั้งสองชนิดคล้ายนกโตเต็มวัย แต่มีหัวสีน้ำตาล นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรไม่มีขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมา[2]

นกนางแอ่นแอฟริการ้อง ชี ชี หรือ เชียร์-เชียร์-เชียร์ เมื่อบินกันเป็นฝูง ระหว่างการอพยพจะส่งเสียงร้องห้าวคล้ายนกนางนวลและเสียงกรุ๋งกริ๋งคล้ายกระพรวน ไม่มีการบรรยายถึงเสียงร้องของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร[2]

พฤติกรรม แก้

 
แม่น้ำคองโกเป็นแหล่งพื้นที่หลักในการผสมพันธุ์วางไข่ของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา

พฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่เรารู้แค่เพียงพฤติกรรมของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา มันทำรังเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ อาจมีมากถึง 800 ตัวในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำลดลง คู่นกจะขุดโพรงลึก 1-2 เมตรบนตลิ่งทรายที่เปิดโล่ง ปลายสุดของโพรงจะมีรังทำด้วยกิ่งไม้และใบไม้ มันวางไข่ 2-4 ฟอง สีขาวไม่มีจุด มีพฤติกรรมการบินไล่กวดกันนอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมนี้บนพื้นดินด้วยแต่ยังไม่เป็นที่ทราบว่าทำเพื่ออะไร มันจะไม่ค่อยจับคอนในฤดูผสมพันธุ์แต่จะเดินบนพื้นดินแทน[2] แม้ว่าจะมีการสมมุติว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจะมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์วางไข่คล้ายนกชนิดแอฟริกาแต่ลักษณะของเท้าที่ต่างกันแสดงว่ามันอาจไม่ได้ใช้เท้าขุดโพรงเพื่อทำรัง[14]

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาออกหากินเป็นฝูงเหนือแม่น้ำและป่า บ่อยครั้งที่หากินไกลจากแหล่งน้ำ มันกินแมลงส่วนมากจะเป็นมดมีปีก บินได้แข็งแรงและเร็ว ร่อนบ้างบางครั้ง ในฤดูหนาวนกจะเกาะบนยอดไม้ สายไฟ และหลังคาบ้านเสมอๆ[2] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรกินแมลงอาจรวมถึงพวกด้วงด้วยซึ่งเป็นอาหารที่จับได้ระหว่างการบิน[2] ด้วยปากที่กว้างมันอาจกินแมลงตัวใหญ่กว่านกนางแอ่นชนิดอื่น[13] นกชนิดนี้บินนุ่มนวล ลอยเรื่อย และไม่ค่อยเกาะคอนเหมือนนกชนิดแอฟริกา[2] พฤติกรรมนี้สันนิษฐานจากรูปทรงเท้าที่ผิดไปจากนกนางแอ่นชนิดอื่นและการที่พบโคลนที่เท้าใน ตัวอย่างหนึ่งของนกชนิดนี้แสดงว่านกชนิดนี้อาจจะอยู่บนพื้นมากกว่าเกาะคอน[15] ในฤดูหนาว พบมันเกาะคอนรวมกับนกนางแอ่นบ้านตามพืชจำพวกอ้อ[16] พาเมลา ซี. รัสมูสเซน (Pamela C. Rasmussen) เสนอว่าด้วยดวงตาที่ใหญ่ผิดปกติ นกชนิดนี้อาจหากินเวลากลางคืนหรืออย่างน้อยก็ช่วงพลบค่ำหรือรุ่งเช้า ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้มันดูลึกลับและอธิบายได้บางส่วนว่าทำไมนกที่เหลือถึง ไม่พบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าข้อเท็จจริงที่คาดว่าตัวอย่างแรกจับมาได้ขณะเกาะคอนในเวลากลางคืนในพง อ้ออาจจะขัดแย้ง แต่อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่ได้ถูกจับขณะเกาะคอน หรือพฤติกรรมของมันอาจจะสามารถหากินได้ทั้งทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน ขึ้นอยู่กับฤดูกาลหรือสภาวะแวดล้อม[14]

สถานะการอนุรักษ์ แก้

 
กุสทัฟ ฮาร์ทเลาบ์ ผู้จัดจำแนกนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แก้

มีรายงานการพบเห็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิริธรในปี ค.ศ. 1972, 1977 และ 1980 และก็ไม่มีการพบเห็นอีกเลยจนปัจจุบัน[2] แม้จะมีรายงานว่าพบนกจากประเทศไทยในปี ค.ศ. 1986[12] และจากประเทศกัมพูชาในปี ค.ศ. 2004 แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน[17] สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีการประมาณจำนวนของนกชนิดนี้ว่าลดลงหรือจะลดลงถึง 80% ภายในสามรุ่น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ IUCN จะไม่พิจารณาว่านกชนิดสูญพันธุ์จนกว่าได้ดำเนินการสำรวจเป้าหมายครอบคลุม[7] แม้มีการปกป้องด้วยกฎหมายภายใต้บัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)[18] นกยังคงถูกจับไปพร้อมๆกับนกนางแอ่นชนิดอื่นในฤดูหนาวของแต่ละปีเพื่อขายเป็นอาหารหรือเป็นนกปล่อยทำบุญในพุทธศาสนา และหลังจากการค้นพบ มีการดักจับนกได้ถึงเกือบ 120 ตัวเพื่อขายให้กับผู้อำนวยการสถานีประมงนครสวรรค์ และแน่นอนว่าไม่สามารถรักษาชีวิตของนกเหล่านั้นไว้ได้[14] อาจด้วยเพราะมีจำนวนประชากรเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆทำให้ไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายนัก[2]

ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดโอกาสในการค้นพบคือมีการลดจำนวนลงอย่างมากของประชากรนกนางแอ่นในบึงบอระเพ็ดจากหนึ่งแสนตัวใน ราวปี ค.ศ. 1970 เหลือเพียง 8,000 ตัวที่นับได้ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1980–1981 แม้ว่าจะยังไม่แน่ใจ แต่เหตุการณ์นี้คือการแสดงถึงการลดลงหรือเปลี่ยนถิ่นเนื่องมาจากการถูกรบกวน[13] สาเหตุอื่นที่ทำให้นกชนิดนี้ลดจำนวนลงประกอบด้วย จากการรบกวนบริเวณตลิ่งทรายแม่น้ำ การสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ การแก้ไขอุทกภัย การประมง การตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเพื่อการเกษตร[12] อย่างน้อยนกนางแอ่นก็ยังชอบจับคอนตามพืชน้ำในบึงบอระเพ็ดมากกว่าตามไร่อ้อย แต่ก็ไม่ค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรในฝูงนกจับคอนเหล่านั้น[13] บึงบอระเพ็ดได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์เพื่อพยายามจะปกป้องนกชนิดนี้[12] แต่จากการสำรวจค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือรอดซึ่งประกอบด้วยการสำรวจ ที่บึงบอระเพ็ดหลายครั้ง การสำรวจแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำวังในภาคเหนือของประเทศไทยปี ค.ศ. 1969 และการสำรวจของแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาวในปี ค.ศ. 1996 กลับประสบความล้มเหลวในการค้นหานกชนิดนี้[12] มีการพบเห็นที่เป็นไปได้แต่ยังไม่มีการตรวจสอบว่าพบนกชนิดนี้ในปี ค.ศ. 2004[17]

นกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา แก้

ขนาดประชากรของนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกายังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ตอนปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 สามารถพบเห็นได้บ่อยในท้องถิ่นและพบเห็นนกอพยพจำนวนมากในประเทศกาบอง แต่ไม่เป็นที่ทราบมากนักถึงจำนวนประชากรในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และไม่เป็นที่ทราบความถึงสัมพันธ์ของการผสมพันธุ์วางไข่ของนกในสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยคองโกกับการผสมพันธุ์วางไข่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของประเทศ กาบองและสาธารณรัฐคองโก มีการพบฝูงนกถึง 15,000 ตัวในปี ค.ศ. 1997 ซึ่งถ้ารวมนกจาบคาสีกุหลาบ (Merops malimbicus) ด้วยแล้วจะมีนกถึง 100,000 ตัว เนื่องจากไม่มีรายละเอียด นกชนิดนี้จึงถูกจัดสถานะการอนุรักษ์เป็นยังไม่มีข้อมูล (DD) โดย IUCN ในคริสต์ทศวรรษ 1950 นกแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดนจับและรับประทานจำนวนมากในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกโดยคนท้องถิ่น และการกระทำเช่นนี้อาจกำลังเพิ่มขึ้น แม้อาณานิคมการผสมพันธุ์วางไข่ของนกบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำมีแนวโน้มที่จะถูกน้ำท่วม[11] แต่ก็มีนกจำนวนหลายพันตัวมาผสมพันธุ์วางไข่บริเวณทุ่งหญ้าทางตะวันออกของเมืองแกมบา (Gamba) เมื่อปี ค.ศ. 2005[19]

อ้างอิง แก้

  1. Hartlaub, Gustav (1861). "Ueber einige neue Vögel Westafrica's". Journal für Ornithologie. 9 (1): 12. doi:10.1007/BF02002444. (เยอรมัน)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 Turner, Angela K; Rose, Chris (1989). A handbook to the swallows and martins of the world. Bromley: Christopher Helm. pp. 85–88. ISBN 0-7470-3202-5.
  3. "Scientific bird names explained". uk.r.b. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  4. Lowe, P R (1938). "Some anatomical notes on the genus Pseudochelidon Hartlaub with reference to its taxonomic position". Ibis. 2: 429–437.
  5. Kitti, Thonglongya (1968). "A new martin of the genus Pseudochelidon from Thailand". Thai National Scientific Papers, Fauna Series no. 1.
  6. Brooke, Richard (1972). "Generic limits in Old World Apodidae and Hirundinidae". Bulletin of the British Ornithologists’ Club. 92: 53–7.
  7. 7.0 7.1 "BirdLife International Species factsheet: Eurochelidon sirintarae ". BirdLife International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-03. สืบค้นเมื่อ 2009-11-15.
  8. Sheldon, Frederick H; Whittingham, Linda A; Moyle, Robert G; Slikas, Beth; Winkler, David W (April 2005). "Phylogeny of swallows (Aves: Hirundinidae) estimated from nuclear and mitochondrial DNA". Molecular Phylogenetics and Evolution. 35 (1): 254–270. doi:10.1016/j.ympev.2004.11.008. PMID 15737595.
  9. Olson, S L (1973). "A classification of the Rallidae". Wilson Bulletin. 65: 381–416.
  10. Winkler, David W; Sheldon, Frederick H (June 1993). "Evolution of nest construction in swallows (Hirundinidae): A molecular phylogenetic perspective". Proceedings of the National Academy of Sciences USA. 90 (12): 5705–5707. Bibcode:1993PNAS...90.5705W. doi:10.1073/pnas.90.12.5705. PMC 46790. PMID 8516319.
  11. 11.0 11.1 11.2 "BirdLife International Species factsheet: Pseudochelidon eurystomina ". BirdLife International. สืบค้นเมื่อ 2009-11-15.
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 12.5 12.6 Hirschfeld, Erik (editor) (2007). Rare Birds Yearbook 2008. England: MagDig Media Lmtd. p. 208. ISBN 978-0-9552607-3-5. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 Tobias, Joe (June 2000). "Little known oriental bird: White-eyed River-Martin: 1". Oriental Bird Club Bulletin. 31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-04. สืบค้นเมื่อ 2010-07-04.
  14. 14.0 14.1 14.2 Collar, N J; Andreev, A V; Chan, S; Crosby M J; Subramanya, S; Tobias, J A, บ.ก. (2001). Threatened birds of Asia; the BirdLife International Red Data Book (PDF). BirdLife International. pp. 1942–1947. ISBN 0-946888-44-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-17.
  15. Tobias, Joe (June 2000). "Little known oriental bird: White-eyed River-Martin: 2". Oriental Bird Club Bulletin. 31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-10. สืบค้นเมื่อ 2010-07-04.
  16. Lekagul, Boonsong; Round, Philip (1991). A guide to the birds of Thailand. Bangkok: Saha Karn Baet. ISBN 974-85673-6-2. p233
  17. 17.0 17.1 Judell, Doug (2006). "Investigating a possible sighting of the White-eyed River-Martin". Thaibirding.com. สืบค้นเมื่อ 2009-11-13.
  18. "Appendices I, II and III" (PDF). Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora, valid from 13 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-05-10. สืบค้นเมื่อ 2008-01-03.
  19. Angehr, G R; Schmidt, B K; Njie, F; Gebhard, C (May 2005). "Significant records and annotated site lists from bird surveys in the Gamba Complex, Gabon" (PDF). Malimbus. 27: 72. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-17.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้