ที่พักริมทาง

พื้นที่สาธารณะซึ่งมักจะอยู่ติดกับทางหลวงแบบปิด ใช้สำหรับพักผ่อนจากการเดินทาง

ที่พักริมทาง[a] คือสถานที่สาธารณะที่อยู่ติดกับเส้นทางสัญจรขนาดใหญ่ อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทางด่วน หรือทางหลวง ซึ่งผู้ใช้ทางสามารถใช้บริการในการหยุดรถเพื่อพักผ่อน รับประทานอาหาร หรือเติมน้ำมันเชื้อเพลิงได้ โดยไม่ต้องออกจากระบบหรือสายทาง

สถานีบริการน้ำมันในจุดพักรถบรรทุก ใกล้ทางด่วนเอาโทบาน ใน รัฐนีเดอร์ซัคเซิน เยอรมนี

ที่พักริมทางมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกหลายชื่อ ตามแต่ประเทศจะใช้เรียก เช่น พื้นที่บริการมอเตอร์เวย์ motorway service area (สหราชอาณาจักร), จุดบริการ services (สหราชอาณาจักร), ทราเวลพลาซา travel plaza, จุดพักรถ rest stop, โอเอซิส oasis (สหรัฐ), พื้นที่บริการ service area, พื้นที่พักรถและบริการ rest and service area: RSA, เรสโต resto, เซอวิสพลาซา service plaza, เลย์บาย lay-by และ ศูนย์บริการ service centre (แคนนาดา) ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในที่พักริมทางนั้น อาจจะรวมไปถึงพื้นที่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ห้องน้ำสาธารณะ น้ำพุ ร้านอาหาร สถานีจ่ายน้ำและที่ทิ้งของเสียของรถบ้านหรือรถบ้านแบบพ่วง

ที่พักริมทางที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะให้บริการ ได้แก่ เลย์บาย พื้นที่จอดรถ พื้นที่ชมวิว หรือจุดชมวิว ในทางหลวงแผ่นดินหรือถนนบางแห่งอาจมีจุดบริการที่เรียกว่าสวนสาธารณะริมทาง (wayside parks) สวนสาธารณะริมถนน (roadside parks) หรือพื้นที่ปิกนิก (picnic areas)

ภาพรวม แก้

สำหรับมาตรฐานของที่พักริมทางและการดูแลรักษานั้นแตกต่างกันไปตามเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ ที่พักริมทางมักจะประกอบไปด้วยลานจอดรถยนต์, รถบรรทุก, รถดัมพ์, รถโดยสารประจำทาง และรถบ้านแบบพ่วง

ที่พักริมทางที่ดำเนินการโดยรัฐส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและในพื้นที่ชนบท ซึ่งแทบจะไม่มีร้านอาหารจานด่วนหรือร้านอาหาร สถานีบริการน้ำมัน โรงแรม หรือจุดบริการนักท่องเที่ยวให้บริการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยที่พักริมทางในพื้นที่ห่างไกลมักจะมีป้ายแจ้งไว้บนสายทาง ข้อความบนป้ายอาจจะระบุว่า "ที่พักริมทางถัดไป 15 กิโลเมตร" หรือ "จุดพักรถถัดไป 10 กิโลเมตร"

ข้อมูลสำหรับการขับขี่และใช้เส้นทางมักจะมีให้บริการอยู่ในที่พักริมทาง เช่น แผนที่แบบพับและข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้น ๆ ที่พักริมทางบางแห่งมีซุ้มให้บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว หรือเจ้าหน้าที่ให้บริการข้อมูลอยู่ประจำ อาจจะมีตู้บริการน้ำดื่ม เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ โทรศัพท์สาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ภัตตาคาร/ศูนย์อาหาร หรือร้านสะดวกซื้อให้บริการอยู่ภายในพื้นที่พักริมทาง บางแห่งอาจให้บริการกาแฟฟรีสำหรับผู้ขับขี่และผู้ใช้บริการซึ่งใช้เงินทุนจากการบริจาคของผู้ขับขี่ ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ธุรกิจในท้องถิ่น หรือประชาชนในพื้นที่ หลายแห่งมีการให้บริการไวไฟฟรีรวมถึงร้านหนังสือ[1] นอกจากนี้ยังอาจมีพื้นที่สำหรับปิกนิค และอาจมีการให้บริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวในรูปแบบของ exit guides ซึ่งจะประกอบไปด้วยแผนที่พื้นฐานและโฆษณาสำหรับกิจการห้องพักริมทางในท้องถิ่นและสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณใกล้เคียง

การให้บริการเชิงพาณิชย์อาจจะอยู่ในรูปแบบของจุดพักรถบรรทุกที่มีสถานีบริการน้ำมัน เกมตู้ ศูนย์สำหรับนันทนาการ ห้องอาบน้ำและห้องซักรีด ร้านอาหารจานด่วน โรงอาหารหรือศูนย์อาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้โครงสร้างอาคารเดียวกันซึ่งอยู่ติดกับสายทาง บางแห่งมีการให้บริการทางธุรกิจเพิ่มเติมด้วย อาทิ ตู้กดเงินอัตโนมัติ บริการส่งโทรสาร ห้องทำงาน และบริการอินเทอร์เน็ต

ยุโรป แก้

ทั้งความถี่และคุณภาพของที่พักริมทางในยุโรปนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในบางประเทศ เช่น ที่พักริมทางในสเปนนั้นจะแตกต่างจากมาตรฐานทั่วไป ผู้ใช้บริการจะถูกนำทางไปยังสถานประกอบการที่ให้บริการทั้งผู้ใช้งานมอเตอร์เวย์ และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ ไม่ใช่ระบบปิดเฉพาะผู้ใช้มอเตอร์เวย์แต่อย่างใด ส่วนในประเทศอื่น ๆ นั้นผู้ที่จะใช้บริการที่พักริมทางนั้นจะต้องใช้บริการผ่านมอเตอร์เวย์เท่านั้น[2]

ฝรั่งเศส แก้

 
ป้ายสำหรับพื้นที่พักริมทาง ใช้ในฝรั่งเศสบนทางด่วน

ในประเทศฝรั่งเศส ทั้งที่พักริมทางแบบเต็มรูปแบบและพื้นที่พักริมทางขนาดเล็กจะมีให้บริการบนเครือข่ายเส้นทางออโตรูท (autoroute)[3] โดยมีข้อกำหนดให้มีที่พักริมทางในทุก ๆ 20 กิโลเมตร (12.4 ไมล์) บนทางด่วนออโตรูท[4] ซึ่งที่พักริมทางทั้ง 2 รูปแบบอาจจะพบได้บนทางหลวงแผ่นดิน (N-class) เช่นกัน แต่น้อยกว่าบนเครือข่ายทางด่วนออโตรูทมาก[3] โดยรู้จักกันในชื่อ aires,[5] โดยเฉพาะ aire de service และ aire de pique-nique ตามลำดับ ในขณะที่ aire de repos (ที่พักริมทาง "rest area")[5] มักหมายถึงจุดแวะพักสำหรับปิกนิค โดยจะมีการระบุประเภทของที่พักริมทางเอาไว้บนป้ายด้วยสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน ประกอบกับชื่อเมืองหรือชื่อหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่พักริมทาง เช่น aire de Garonne

ฟินแลนด์ แก้

ที่พักริมทางในประเทศฟินแลนด์นั้นสร้างขึ้นและดูแลโดยรัฐบาลกลาง แต่เทศบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดทำแผนที่ให้บริการในแต่ละท้องที่ และให้บริการด้านสุขอนามัย หากที่พักริมทางมีการให้บริการในเชิงพาณิชย์ ร้านค้านั้นจะต้องเป็นผู้ดูแลความสะอาดของพื้นที่นั้น ๆ โดยที่พักริมทางจะถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่เดินทางระยะไกลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักจะมีการสร้างที่พักริมทางในทุก ๆ 20 กิโลเมตร (12.4 ไมล์)[6]

สหราชอาณาจักร แก้

 
จุดบริการมอเตอร์เวย์ส่วนใหญ่รองรับร้านอาหาร ร้านอาหารจานด่วน และร้านกาแฟ

เช่นเดียวกับไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรจะไม่ใช้คำว่าที่พักริมทาง แต่จะใช้งานคำว่า พื้นที่บริการมอเตอร์เวย์ motorway service areas (MSA) สถานีบริการมอเตอร์เวย์ motorway service stations หรือเรียกง่าย ๆ ว่า จุดบริการมอเตอร์เวย์ motorway services เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ บนโลก สถานที่เหล่านี้นั้นผู้ใช้เส้นทางสามารถขับออกจากมอเตอร์เวย์เพื่อเติมน้ำมัน พักผ่อน หรือรับบริการเครื่องดื่ม สถานีบริการส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยร้านอาหารจานด่วน ร้านอาหาร ร้านอาหารขนาดเล็ก และร้านกาแฟ สถานีบริการหลายแห่งมีห้องพักริมทางให้บริการด้วย โดยพื้นที่บริการมอเตอร์เวย์เกือบทั้งหมดในสหราชอาณาจักรเป็นของกรมการขนส่ง และปล่อยสัมปทานให้บริษัทเอกชนเช่าดำเนินการเป็นระยะเวลา 50 ปี

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2551 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับที่พักริมทาง ที่พักริมทาง อย่างเป็นทางการได้ถูกสร้างขึ้นแห่งแรกในเมือง Todhills ในส่วนที่เปิดใหม่ของทางด่วน M6 ระหว่างเมืองคาร์ไลล์ และพรมแดนสกอตแลนด์ และที่พักริมทางอีก 2 แห่งถูกสร้างขึ้นที่ Scotch Corner และ Leeming Bar ในปี พ.ศ. 2560 หลังจากถนนสาย A1 เดิมถูกยกระดับขึ้นเป็นมอเตอร์เวย์ ซึ่งที่พักริมทางทั้ง 3 แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสายทางที่เดิมเคยเป็นถนนสาย A ซึ่งสายทางมีขนาดเล็กเกินกว่าจะสร้างจุดบริการมอเตอร์เวย์ได้ จึงถูกกำหนดให้เป็นที่พักริมทาง

จุดบริการอาจมีให้บริการบนถนนสายอื่นที่ไม่ใช่มอเตอร์เวย์ได้เช่นกัน ซึ่งถนนสาย A ส่วนใหญ่มีให้บริการ แต่สิ่งอำนวยความสะดวกอาจจะไม่พร้อมเท่าของมอเตอร์เวย์ โดยอาจมีแค่สถานีบริการน้ำมัน และร้านอาหารหรือคาเฟ่ในบางจุด

เลย์บาย แก้

 
ป้ายบอกทางจุดเลย์บายขนาดใหญ่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกใกล้กับ Dorchester สหราชอาณาจักร

คำว่าเลย์บาย (Lay-bys) เป็นคำที่ใช้ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เพื่อให้ความหมายของที่จอดรถริมถนนหรือที่พักริมทางสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ เทียบเท่าคำจำกัดความในสหรัฐคำว่า "turnout" หรือ "pullout"

เลย์บายอาจมีขนาดที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ช่องจอดรถธรรมดาข้างถนนที่รองรับรถเพียงหนึ่งหรือสองคัน ไปจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ที่แยกออกจากถนนหลักด้วยขอบทางและรองรับยานพาหนะได้หลายสิบคัน

เลย์บายสามารถพบได้ตามริมถนนในพื้นที่ชนบทของสหราชอาณาจักร ยกเว้นมอเตอร์เวย์ที่ไม่ได้อยู่ในส่วนหนึ่งของระบบสมาร์ทมอเตอร์เวย์ (แต่สำหรับกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) ซึ่งไม่มีไหล่ทางสำหรับหยุดรถฉุกเฉิน โดยจะใช้เครื่องหมายสีน้ำเงิน กำกับด้วยตัวอักษร P สีขาว และควรจะมีการเตือนล่วงหน้าก่อนถึงจุดเลย์บาย[7][8]เพื่อสามารถที่จะลดความเร็วได้อย่างปลอดภัย

โดยปกตินั้นเลย์บายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้ขับขี่สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเพื่อแค่พักผ่อน ตรวจสอบเส้นทางที่จะไปต่อ การโทรศัพท์ (เนื่องจากการโทรศัพท์ขณะขับขี่รถเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเว้นเหตุฉุกเฉิน ตามกฎหมายทางหลวงข้อที่ 149) การพักเพื่อเหยียดแข้งเหยียดขา การพักดื่มน้ำ หรือกรณีรถเสีย

เลย์บายขนาดใหญ่บางพื้นที่มีการให้บริการอาหารและสินค้าโดยรถฟู๊ดทรัค รถโคชดัดแปลง ซึ่งให้บริการสะดวกและคล่องตัวกว่าร้านอาหารริมทาง ทำให้ร้านเหล่านี้เป็นที่นิยมสำหรับคนขับรถบรรทุก

เลย์บายบางแห่งมีข้อจำกัดในการจอดรถ เพื่อป้องกันการใช้เป็นที่สำหรับการจอดค้างคืน หรือถูกใช้เป็นที่เก็บของระยะยาวของรถบรรทุกพ่วง บางแห่งถูกปิดให้บริการอย่างถาวรเนื่องจากประสบปัญหาการถูกยึดครองโดยนักเดินทางชาวไอริชหรือนักเดินทางอื่น ๆ

ออสเตรียและเยอรมนี แก้

 
Raststätte Bad Fischau ที่ Süd Autobahn ในออสเตรีย

Raststätte (de:Autobahnraststätte) คือชื่อของที่พักริมทางบนทางด่วนเอาโทบานของเยอรมนีและออสเตรีย ประกอบไปด้วย สถานีบริการน้ำมัน โทรศัพท์สาธารณะ ร้านอาหาร ห้องน้ำ ที่จอดรถ และโรงแรมหรือห้องพักริมทางในบางครั้ง หากที่พักริมทางอยู่นอกมอเตอร์เวย์จะเรียกว่า Rasthof หรือ Autohof

ในขณะเดียวกัน พื้นที่จอดรถขนาดเล็กที่ถูกเรียกในชื่อว่า Rastplatz (de:Rastplatz) นั้นจะมีความถี่บนสายทางมากกว่า แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงโต๊ะปิกนิคและห้องน้ำ

ไอร์แลนด์ แก้

ในประเทศไอร์แลนด์ จะไม่ใช้คำว่าที่พักริมทาง แต่จะเรียกว่า จุดบริการมอเตอร์เวย์ motorway services หรือเรียกง่าย ๆ ว่า จุดบริการ services จุดบริการส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์ดำเนินการโดยบริษัท Circle K หรือ Applegreen ซึ่งให้บริการสถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถบรรทุก ร้านค้า และร้านอาหารจานด่วน เช่น แมคโดนัล เบอร์เกอร์คิงส์ ซับเวย์ อย่างไรก็ตาม จุดบริการในไอร์แลนด์แตกต่างจากสหราชอาณาจักรตรงที่มีจุดบริการเพียงแห่งเดียวที่มีโรงแรม คือจุดบริการ M7 ใน Portlaoise ในขณะที่ประเทศไอร์แลนด์มีจุดบริการทั้งหมด 22 แห่ง[9]

อเมริกาเหนือ แก้

แคนาดา แก้

 
ศูนย์บริการใน เมืองเคมบริดจ์ รัฐออนแทรีโอ

ในประเทศแคนาดา ที่พื้นที่ให้บริการริมทางเรียกว่าศูนย์บริการ (service centres) ส่วนใหญ่อยู่ในตัวเมือง ในบางที หากที่พักริมทางนั้นไม่มีร้านค้าให้บริการ มักจะเรียกว่า ที่พักริมทาง หรือ จุดหยุดส่งข้อความ ('halte-texto' ในภาษาฝรั่งเศส) ศูนย์บริการส่วนใหญ่มักจะกระจุกตัวอยู่ตามแนวทางหลวงหมวด 400 ของรัฐออนแทรีโอ และเครือข่ายถนนออโตรูทของรัฐเกแบ็ก ในขณะที่ที่พักริมทางมักจะถูกพบได้ตามเครือข่ายทางหลวงของทุก ๆ เมือง และทางหลวงสายทรานส์แคนาดา

รัฐโนวาสโกเชียมีการสร้างศูนย์บริการอย่างเต็มรูปแบบจำนวนไม่มากนัก ตามแนวทางหลวงหมวด 100

ในรัฐนิวบรันสวิก ที่พักริมทางแห่งเดียวคือสวนสาธารณะริมถนนที่ประกอบไปด้วยโต๊ะปิกนิกและห้องน้ำซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวนสาธารณะประจำรัฐ แต่หลายแห่งถูกปิดตัวลงด้วยปัญหางบประมาณ บางครั้งจะพบเพียงถังขยะตั้งอยู่ในพื้นที่ริมถนน

บริเวณที่ราบแพร์รีแคนาดา (ระหว่างรัฐซัสแคตเชวันและรัฐแมนิโทบา) มีจุดพักรถอยู่ตามแนวทางหลวงทรานส์แคนาดา (ทางหลวงหมายเลข 1) อย่างไรก็ตาม จุดพักรถเหล่านี้มีสถานะเป็นเพียงสถานที่พักผ่อนหรือเข้าห้องน้ำ ไม่ใช่การสร้างในรูปแบบศูนย์บริการเหมือนกับทางหลวงหมวด 400 ในออนแทรีโอ หรือระบบทางหลวงอินเตอร์สเตตของสหรัฐ

สหรัฐ แก้

 
ป้ายที่พักริมทางบนถนนอินเตอร์สเตต 95 ในฟลอริดา ป้ายนี้ยังระบุถึงการมีที่พื้นที่จอดรถค้างคืนที่ปลอดภัย และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในบริเวณที่พัก

ในประเทศสหรัฐ ที่พักริมทางโดยทั่วไปจะไม่ใช่พื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยองค์ประกอบพื้นฐานจะประกอบไปด้วยพื้นที่จอดรถและห้องน้ำให้บริการ ในสหรัฐมีที่พักริมทางให้บริการจำนวนทั้งสิ้น 1,840 แห่ง[10] ตามแนวทางหลวงระหว่างรัฐ บางแห่งอาจจะประกอบไปด้วยซุ้มให้บริการข้อมูล เครื่องขายของอัตโนมัติ และพื้นที่ปิกนิก ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ในขณะที่บางที่พักริมทางนั้นมีสถานีจ่ายน้ำและที่ทิ้งของเสียสำหรับรถบ้าน ซึ่งที่พักริมทางเหล่านี้มักจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานด้านการขนส่งของรัฐ อาทิ ที่พักริมทางในแคลิฟอร์เนียได้รับการดูแลโดยกรมการขนส่งแคลิฟอร์เนีย

ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลรัฐเริ่มปิดที่พักริมทางบางส่วนเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายทศวรรษที่ 2000

ในบางแห่ง อาทิ รัฐแคลิฟอร์เนีย มีกฎหมายไม่ให้ร้านค้าเข้ายึดครองจุดพักรถ กฎหมายของรัฐบาลกลางที่ออกมาโดยสภาคองเกรสยังห้ามไม่ให้รัฐอนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้าครอบครองที่พักริมทางตามทางหลวงระหว่างรัฐ เป็นข้อความระบุว่า

รัฐจะไม่อนุญาตให้สถานีบริการยานยนต์หรือสถานประกอบการเชิงพาณิชย์อื่น ๆ สำหรับให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์สร้างหรือตั้งอยู่บนสิทธิบนเส้นทางของระบบทางหลวงระหว่างรัฐ

เดิมทีกฎหมายข้อนี้กำหนดมาเพื่อปกป้องเมืองเล็ก ๆ เพื่อให้อยู่รอดด้วยการให้บริการริมทาง เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร และที่พัก จากเหตุนี้เองทำให้จุดพักรถบรรทุกเอกชนและทราเวลพลาซาเติบโตขึ้น มีมูลค่าสูงกว่า 171,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[11] ซึ่งกฎหมายข้อดังกล่าวถูกกำกับไว้ตอนท้ายไว้ว่ายกเว้นสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกริมทางที่สร้างก่อนวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1960 ซึ่งหลายแห่งยังคงเปิดให้บริการอยู่

จากกฎหมายนี้เอง ทำให้เอกชนจะต้องซื้อที่ดินที่อยู่ใกล้แนวทางออกของทางด่วน และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับนักเดินทาง ซึ่งมักจะสร้างป้ายที่สูงมาก เพื่อให้นักเดินทางสามารถมองเห็นได้แต่ไกล และมีเวลาตัดสินใจในการออกจากทางด่วนและมุ่งไปสู่จุดพักรถเอกชนดังกล่าวที่อยู่ห่างออกไป ซึ่งขณะเดียวกันก็ไม่สะดวกเนื่องจากต้องผ่านถนนท้องถิ่นและทางแยกมากมายก่อนจะถึงจุดพักรถเอกชน ต่างจากที่พักริมทางของรัฐที่เข้าถึงได้สะดวกกว่า

ป้ายบอกทางพิเศษสีน้ำเงินที่มีการระบุสัญลักษณ์สถานีบริการน้ำมัน ร้านอาหาร ที่พัก แคมป์ปิง และสถานที่ท่องเที่ยวริมทางใกล้กับทางด่วน สามารถพบได้ทั่วไปบนทางด่วนส่วนใหญ่ของสหรัฐ มีจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1970 ธุรกิจเอกชนได้รับอนุญาตให้แสดงโลโก้หรือเครื่องหมายการค้าบนป้ายดังกล่าว โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อยให้กับหน่วยงานด้านการขนส่ง (หรือผู้ได้รับสัมปทานของหน่วยงานขนส่ง) จนกระทั่งมีการกำหนดคู่มือเกี่ยวกับรูปแบบเครื่องหมายจราจรในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งกำหนดให้ป้ายเหล่านี้มีได้เฉพาะในพื้นที่ทางหลวงในชนบทเท่านั้น ต่อมาได้มีการเพิ่มบทบัญญัติให้สามารถเพิ่มป้ายเหล่านี้ในเขตเมืองได้ ตราบได้ที่สามารถรักษาระยะห่างระหว่างป้ายให้เพียงพอได้ ซึ่งในบางรัฐก็ยังคงใช้ข้อกำหนดเดิม คืออนุญาตให้ใช้งานได้ในพื้นที่ชนบท

พื้นที่บริการ แก้

 
ทราเวลพลาซา ตามทางหลวงระหว่างรัฐ 90 ในเมืองชิตเตนานโก รัฐนิวยอร์ก

ก่อนจะมีการสร้างระบบทางหลวงอินเตอร์สเตต หลายรัฐทางตะวันออกของเทือกเขาร็อกกีได้เริ่มมีการสร้างและเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง (ทางด่วน) ของตนเอง เพื่อเก็บค่าใช้จ่ายในการคืนทุนค่าก่อสร้าง รวมถึงเปิดสัมปทานที่พักริมทางให้เอกชนสามารถดำเนินการธุรกิจได้ นอกจากนี้ผู้ขับขี่ยังสามารถแวะทานอาหารและเติมน้ำมันได้โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านทางเพิ่มเติมเมื่อออกจากระบบสายทาง

รัฐเพนซิลเวเนียเป็นหนึ่งในรัฐที่ดำเนินการทางด่วนในรูปแบบดังกล่าว ได้เปิดให้บริการทางด่วนในปี พ.ศ. 2483 ต่อมาทางด่วนเพนซิลเวเนียจึงเป็นต้นแบบสำหรับทางด่วนในรูปแบบเดียวกันที่ก่อสร้างตามมาหลังจากนั้น แทนที่จะดำเนินการพื้นที่บริการ (Service areas) เอง Pennsylvania Turnpike Commission เลือกที่จะให้สัมปทานกับ Standard Oil of Pennsylvania (ต่อมาขายกิจการให้กับเอ็กซอนโมบิล) โดยให้บริการสถานีบริการน้ำมันพร้อมกับอู่ซ่อมรถ และเฟรนไชส์ร้านอาหาร ปัจจุบันทางด่วนได้ให้สัมปทานกับ Sunoco (ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่นแทนพื้นที่ของอู่ซ่อมรถ) และพื้นที่ส่วนที่เหลือให้สัมปทานกับ Applegreen[12]

จุดหยุดส่งข้อความ แก้

ในปี พ.ศ. 2556 รัฐนิวยอร์กได้เปิดตัวแคมเปญ รอได้ It Can Wait ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สนับสนุนให้ผู้ขับขี่หยุดพักที่จุดพักรถและที่จอดรถตามถนนของรัฐเพื่อส่งข้อความ (เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งข้อความขณะขับรถ) โดยกำหนดให้พื้นที่ทั้งหมดเป็น จุดหยุดส่งข้อความ (text stops) และติดตั้งป้ายบอกทางที่ระบุข้อความว่า โซนส่งข้อความ ก่อนถึงพื้นที่ที่กำหนด เพื่อหยุดรถและใช้งานอุปกรณ์พกพา อาทิ สมาร์ทโฟน[13]

ศูนย์ยินดีต้อนรับ แก้

 
ศูนย์ยินดีต้อนรับของรัฐในเวสต์เวอร์จิเนีย ศูนย์ยินดีต้อนรับของรัฐมักจะตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนรัฐหรือเขตเมือง

ที่พักริมทางที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขตแดนระหว่างเมืองหรือเขตแดนระหว่างรัฐในสหรัฐ บางครั้งจะถูกเรียกว่า ศูนย์ยินดีต้อนรับ (Welcome center) โดยจะมีขนาดใหญ่กว่าที่พักริมทางทั่วไป และมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในช่วงเวลาเทศกาลที่มีการเดินทางสูง โดยมีเจ้าหน้าที่ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปคอยให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวถึงข้อมูลต่าง ๆ ในการเดินทาง ศูนย์ต้อนรับบางแห่งมีพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กหรือตู้ให้บริการข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับรัฐนั้น ๆ

เนื่องจากการเดินทางทางอากาศทำให้การผ่านพรมแดนของรัฐไม่ได้ผ่านทางบกผ่านถนน บางรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย จึงมีศูนย์ต้อนรับอย่างเป็นทางการภายในเมืองใหญ่ที่ห่างจากแนวพรมแดนของรัฐ ในบางรัฐ (เช่น แมสซาชูเซตส์) ที่พักริมทางในรูปแบบเดียวกันนี้ถูกเรียกว่าศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว tourist information centers[14] และในรัฐอื่นๆ (เช่น นิวเจอร์ซีย์) เรียกว่าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว visitor center[15]

ประเภทอื่น ๆ แก้

ที่พักริมทางที่ไม่มีห้องน้ำสมัยหม่เรียกว่า จุดพักข้างทาง (waysides) สถานที่เหล่านี้จะประกอบไปด้วยที่จอดสำหรับรถยนต์และรถบรรทุก หรือสำหรับรถกึ่งพ่วงเท่านั้น บางแห่งมีห้องน้ำชั่วคราวและถังขยะ ในรัฐมิสซุรี สถานที่เหล่านี้เรียกว่า สวนสาธารณะริมถนน (Roadside Parks) หรือ โต๊ะริมถนน (Roadside Tables)

พื้นที่จอดรถธรรมดาที่ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกใด ๆ เลย จะประกอบไปด้วยพื้นที่บริเวณไหล่ทาง ซึ่งนักเดินทางสามารถหยุดพักได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ พื้นที่ชมวิว (scenic area) ที่มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่จอดรถ จัดเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติในระหว่างสายทาง พื้นที่เหล่านี้เรียกอีกอย่างนึงว่า จุดชมวิว (scenic overlooks)

เอเชีย แก้

ในประเทศมาเลเซีย อินโดนิเซีย อิหร่าน ซาอุดิอารเบีย และตุรกี ที่พักริมทางจะมีห้องละหมาด (มูโซลา musola) สำหรับชาวมุสลิมที่เดินทางมากกว่า 90 กิโลเมตร (56 ไมล์) (2 มาร์ฮาลาห์; 1 มาร์ฮาลาห์ ≈ 45 กิโลเมตร (28 ไมล์)) ในอิหร่านจะถูกเรียกว่า Esterāhatgāh (เปอร์เซีย: استراحتگاه) แปลว่า ที่พักผ่อนหรือที่พัก

ในประเทศไทยและเวียดนาม การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางนั้นถือเป็นเรื่องปกติ โดยปกติในการโดยสารรถประจำทางทางไกล จะมีการแวะจุดพักรถซึ่งออกแบบไว้สำหรับผู้โดยสารรถประจำทาง มักจะประกอบไปด้วยร้านอาหารเล็ก ๆ ร้านค้าเล็ก ๆ สำหรับซื้ออาหาร บางแห่งประกอบไปด้วยห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ รวมไปถึงร้านขายของที่ระลึก

เกาหลีใต้ แก้

ในประเทศเกาหลีใต้ ที่พักริมทางมักจะประกอบไปด้วยสวนสาธารณะและร้านอาหารประจำภูมิภาค โดยปกติที่พักริมทางของเกาหลีจะมีขนาดใหญ่และสะอาดมาก มีจุดชาร์จโทรศัพท์มือถือฟรี พร้อมทั้งบริการฟรีไวไฟทุกที่พักริมทาง

ญี่ปุ่น แก้

 
Honshū-Shikoku contact bridge ที่พักริมทาง ณ สะพานโอนารูโตะ ในญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น มีที่พักริมทาง 2 รูปแบบด้วยกันในระบบทางด่วนแบบเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายทางที่สร้างไว้สำหรับให้พักริมทางโดยไม่ต้องออกจากระบบทางด่วนซึ่งจะทำให้เสียค่าทางด่วนที่สูงขึ้น โดยที่พักริมทางทั้ง 2 รูปแบบของญี่ปุ่นประกอบไปด้วย[16]

  • ที่พักริมทางขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า "พื้นที่บริการ" Service Area เรียกโดยย่อว่า SA ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ สามารถรองรับรถยนต์ได้จำนวนหลายร้อยคันและรถโดยสารประจำทางจำนวนมาก ประกอบไปด้วย ห้องน้ำ พื้นที่สูบบุหรี่ ร้านสะดวกซื้อ พื้นที่ผ่อนคลายของสัตว์เลี้ยง ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกของภูมิภาค สถานีบริการน้ำมัน บางครั้งอาจมีสถานที่ท่องเที่ยวด้วย เช่น ชิงช้าสวรรค์ หรือจุดชมวิวสถานที่ที่มีชื่อเสียง ปกติจะมีระยะห่างประมาณ 1 ชั่วโมงในระบบสายทาง และมักถูกกำหนดให้เป็นจุดพักรถของรถโดยสารประจำทาง และทุก 2 พื้นที่บริการอาจจะมีการให้บริการห้องพักริมทาง
  • ที่พักริมทางอีกประเภทหนึ่งคือ "พื้นที่จอดรถ" Parking Area เรียกโดยย่อว่า PA มีขนาดเล็กกว่าพื้นที่บริการมาก และมีระยะห่างประมาณ 20 นาทีในระบบสายทาง โดยที่จอดรถขนาดเล็ก จะประกอบไปด้วย ห้องน้ำ ตู้จำหน่ายเครื่องดื่ม โดยเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในทุกพื้นที่จอดรถ พื้นที่จอดรถขนาดใหญ่ขึ้นมาจะมีร้านค้าขนาดเล็ก ร้านขายสินค้าท้องถิ่น และสถานีบริการน้ำมันในบางครั้ง แต่โดยรวมจะมีขนาดเล็กกว่าพื้นที่บริการซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก[16]

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา เมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีการสร้าง "สถานีริมถนน" Roadside stations ตามทางหลวงและทางสายหลักที่มีรถบรรทุกใช้งานสูง ซึ่งนอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานแล้ว ส่วนใหญ่ยังประกอบไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารท้องถิ่น รวมไปถึงผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น บางแห่งยังให้บริการข้อมูล ศาลาประชาคม บ่อน้ำพุร้อน สวนสาธารณะ และบริการเฉพาะจุดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานี ปัจจุบันเปิดให้บริการมากกว่าหนึ่งพันแห่งในประเทศญี่ปุ่น[17]

ไต้หวัน แก้

ในประเทศไต้หวัน ทีพักริมทางอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักทางด่วน (Freeway Bureau) และ กองอำนวยการทางหลวง (Directorate General of Highways) มีที่พักริมทางจำนวน 16 แห่ง ตามทางด่วนสายสำคัญ 4 สาย คือ ทางด่วนหมายเลข 1 (ทางด่วนซุนยัตเซ็น), 3 (ทางด่วนฟอร์โมซา), 5 (ทางด่วนอนุสรณ์เจียงเหว่ยสุ่ย), 6 (ทางด่วนสุ่ยชาเหลียน) และทางด่วนแบบเก็บค่าผ่านทาง 1 แห่ง (ทางด่วนชายฝั่งตะวันตก)

ฟิลิปปินส์ แก้

ในประเทศฟิลิปปินส์ ที่พักริมทางมักจะประกอบไปด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยร้านอาหารและพื้นที่การค้าเหนือสถานีบริการน้ำมัน ปัจจุบันมีที่พักริมทางจำนวน 10 แห่งในทางด่วนสาย North Luzon ที่พักริมทาง 9 แห่งในทางด่วนสาย South Luzon ที่พักริมทาง 3 แห่งในทั้งในเส้นทาง STAR Tollway และ SCTEX และน้ำมัน Caltex ในทางด่วนสาย Muntinlupa-Cavite

มาเลเซีย แก้

ในประเทศมาเลเซีย ที่พักริมทางนั้นเป็นรูปแบบของสะพานร้านอาหารเหนือเส้นทาง overhead bridge restaurant (OBR) เป็นที่พักริมทางที่มีลักษณะพิเศษที่มีการก่อสร้างไว้เหนือสายทางด่วน สามารถเข้าถึงได้จากทั้งสองทิศทางจราจรของทางด่วน ซึ่งต่างจากที่พักริมทางทั่วไปที่สามารถเข้าถึงได้จากทิศทางการจราจรเดียวเท่านั้น

โอเชียเนีย แก้

ออสเตรเลีย แก้

 
ที่พักริมทาง ริมถนน ตลอดระยะ 20 กิโลเมตร (12 ไมล์) ตอนเหนือของ เวนท์เวิร์ธ, นิวเซาท์เวลส์

ที่พักริมทางในประเทศออสเตรเลีย เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ชนบท อยู่ภายใต้การดูแลและรับผิดชอบจากหลายหน่วยงาน อาทิ หน่วยงานขนส่งของแต่ละมลรัฐ สำนักบำรุงทาง หรือรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานแต่ละจุดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ไม่มีการกำหนดมาตรฐานตายตัว ที่พักริมทางที่ได้รับการดูแลอย่างดีจะประกอบไปด้วยพื้นที่ปิกนิค ถังขยะขนาดเล็ก ก็อกบริการน้ำเย็น (บางครั้งใช้ถังรองน้ำฝนสำหรับให้บริการ) เตาบาร์บีคิว (มีทั้งแบบใช้แก๊สและไฟฟ้า) ห้องสุขา และห้องอาบน้ำพร้อมฟักบัว ซึ่งที่พักริมทางในพื้นที่ห่างไกลอาจจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบนี้ ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ที่พักริมทางอาจเป็นเพียงพื้นที่โล่งริมเขตทางพร้อมกับป้ายบอกทางที่ใช้ระบุตำแหน่งที่พักริมทางเท่านั้น ซึ่งอีกข้อแตกต่างของที่พักริมทางในออสเตรเลียกับที่พักริมทางโดยทั่วไปนั้นคือจะไม่มีสถานีบริการน้ำมันหรือร้านอาหารให้บริการ (เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวจะถูกเรียกว่าโรงแรมริมทาง roadhouses จุดพักรถบรรทุก truck stops) ถึงแม้จะมีการให้บริการเครื่องดื่มให้กับนักเดินทางโดยกองคาราวานสาธารณกุศล

ความสะดวกสบายและสุขอนามัยของที่พักริมทางเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่รับผิดชอบให้สำคัญ เนื่องจากที่พักริมทางในพื้นที่ห่างไกลมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและทำความสะอาดที่สูงมาก และมักถูกก่อกวน นอกจากนี้ออสเตรเลียต้องใช้โครงข่ายการขนส่งทางถนนด้วยยานพาหนะขนาดใหญ่ ทำให้ที่พักริมทางหลายแห่งมีการแข่งขันกันให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดผู้ใช้เส้นทางให้มาใช้บริการ ซึ่งโดยทั่วไปที่พักริมทางในออสเตรเลียจะไม่อนุญาตให้มีการจอดพักค้างคืน ยกเว้นในรัฐควีนส์แลนด์ ที่พักริมทางถูกบำรุงรักษาอย่างดี เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน และเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวใช้บริการ

ที่พักริมทางในประเทศไทย แก้

ในประเทศไทย ที่พักริมทาง (Rest Area) ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของทางหลวง ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 3[18] จัดให้มีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกบริการต่าง ๆ อาทิ สถานีบริการเชื้อเพลิง ศาลาพักผ่อน ห้องน้ำ ร้านอาหาร และบริการอื่น ๆ ให้กับผู้ใช้เส้นทางในการผ่อนคลายจากการเดินทาง[19]

ทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน แก้

ในระบบทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน กรมทางหลวงได้มีการกำหนดมาตรฐานของที่พักริมทาง (Rest Area) โดยจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวพพื้นฐานที่ครบถ้วนและจำเป็น อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบรองรับขยะ ของเสียและสิ่งปฏิกูล สิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการ ทุพพลภาพและคนชรา มีสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม อยู่ในจุดที่มีความปลอดภัยด้านการจราจร รวมถึงพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนและผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ในอาคาร โดยจะต้องมีพื้นที่สูบบุหรี่แยกออกมาในบริเวณที่เหมาะสม[20]

สำหรับที่พักริมทางตามมาตรฐานหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน 3 ประเภทนั้น ประกอบไปด้วย

ศูนย์บริการทางหลวง แก้

 
สถานที่บริการทางหลวงบางปะกง 1 บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7

ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) คือที่พักริมทางขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ตั้งแต่ประมาณ 50 ไร่ขึ้นไป มีระยะห่างกับศูนย์บริการทางหลวงอื่นประมาณ 60 - 100 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นจุดพักหลักของผู้ใช้เส้นทาง ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานจำนวน 13 ข้อ[20] ดังนี้

  1. พื้นที่จอดรถสำหรับยานพาหนะทุก ๆ ประเภท โดยไม่มีการเก็บค่าบริการอย่างน้อย 4 ชั่วโมงแรกที่จอด
  2. ห้องน้ำ ห้องส้วม รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้งานโดยไม่คิดค่าบริการ และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
  3. พื้นที่นั่งพักผ่อนภายในร่ม
  4. สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
  5. โทรศัพท์สาธารณะและบริการโทรศัพท์ฉุกเฉิน
  6. มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือครอบคลุมพื้นที่ของที่พักริมทาง
  7. มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ของที่พักริมทาง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยไม่คิดค่าบริการอย่างน้อย 1 ชั่วโมงแรก
  8. การบริการข้อมูลเส้นทางและการจราจร
  9. สถานีบริการเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ รวมถึงบริการปั๊มลมและน้ำสำหรับเติม
  10. สถานที่เปลี่ยนผ้าอ้อมของเด็ก รองรับการใช้งานได้ทุกเพศ
  11. สนามเด็กเล่น และพื้นที่สีเขียวสำหรับผ่อนคลายและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม
  12. ศูนย์ปฐมพยาบาล
  13. หน่วยกู้ภัยฉุกเฉินและหน่วยระงับอัคคีภัย

สถานที่บริการทางหลวง แก้

สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) คือที่พักริมทางขนาดกลาง มีเนื้อที่ตั้งแต่ประมาณ 20 ไร่ขึ้นไป มีระยะห่างกับศูนย์บริการทางหลวงหรือสถานที่บริการทางหลวงอื่นประมาณ 30 - 60 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นจุดพักหลักของผู้ใช้เส้นทาง ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานจำนวน 11 ข้อ[20] เหมือนกับศูนย์บริการทางหลวง ยกเว้นข้อ 12 - 13 คือไม่มี ศูนย์ปฐมพยาบาล และหน่วยกู้ภัยฉุกเฉิน/หน่วยระงับอัคคีภัย

จุดพักรถ แก้

จุดพักรถ (Rest Stop) คือที่พักริมทางขนาดเล็ก มีเนื้อที่ตั้งแต่ประมาณ 5 ไร่ขึ้นไป มีระยะห่างกับศูนย์บริการทางหลวงหรือสถานที่บริการทางหลวงอื่นประมาณ 10 - 30 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นจุดพักเสริมสำหรับผู้ใช้เส้นทาง หรือสร้างขึ้นสำหรับผู้ใช้ทางเฉพาะประเภท เช่น จุดพักรถสำหรับรถบรรทุก ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานจำนวน 9 ข้อ[20] ดังนี้

  1. พื้นที่จอดรถสำหรับยานพาหนะทุก ๆ ประเภท โดยไม่มีการเก็บค่าบริการอย่างน้อย 4 ชั่วโมงแรกที่จอด
  2. ห้องน้ำ ห้องส้วม รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้งานโดยไม่คิดค่าบริการ และพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
  3. พื้นที่นั่งพักผ่อนภายในร่ม
  4. สถานที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
  5. โทรศัพท์สาธารณะและบริการโทรศัพท์ฉุกเฉิน
  6. มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือครอบคลุมพื้นที่ของที่พักริมทาง
  7. มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ของที่พักริมทาง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยไม่คิดค่าบริการอย่างน้อย 1 ชั่วโมงแรก
  8. การบริการข้อมูลเส้นทางและการจราจร
  9. พื้นที่สีเขียวสำหรับผ่อนคลายและส่งเสริมสิ่งแวดล้อม

ทางหลวงแผ่นดิน แก้

ในระบบทางหลวงแผ่นดิน กรมทางหลวงได้จัดให้มีที่พักริมทางหลายประเภทตามคุณลักษณะการใช้งาน อาทิ ที่พักริมทาง ศูนย์บริการทางหลวง จุดจอดพักรถบรรทุก

 
ป้ายแสดงตำแหน่งที่พักริมทางในประเทศไทย

ที่พักริมทาง แก้

ที่พักริมทาง (Rest Area) หรือ จุดพักรถ เป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับผู้ที่ใช้ทางหลวงในการเดินทาง มีให้บริการอยู่ตามแนวสายทางหลวงแผ่นดินทั่วประเทศ บริเวณสำนักงานหมวดทางหลวง ประมาณ 500 แห่ง[21] และจุดชมวิวที่สวยงามต่าง ๆ บนสายทาง[22] ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน คือห้องน้ำ และห้องน้ำสำหรับผู้พิการ ทุพพลภาพและคนชรา รวมถึงบางแห่งในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถพักผ่อนค้างคืนได้ในบริเวณจุดกางเต็นท์[21]

ศูนย์บริการทางหลวง แก้

ศูนย์บริการทางหลวง (Service Area) เป็นที่พักรถสำหรับให้บริการผู้ใช้เส้นทาง ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาทิ สถานีบริการน้ำมัน ห้องน้ำ ร้านอาหาร โทรศัพท์สาธารณะ พื้นที่ปฐมพยาบาล เครื่องถอนเงินอัตโนมัติ สิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการ ทุพพลภาพและคนชรา ปัจจุบันมีจำนวน 4 ศูนย์[23]

จุดจอดพักรถบรรทุก แก้

จุดจอดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area) เป็นที่พักรถสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ อยู่ร่วมกับสถานีตรวจสอบน้ำหนักของกรมทางหลวง[24] ซึ่งมีบริเวณที่กว้างขวางสำหรับพักรถบรรทุกโดยเฉพาะ มีห้องน้ำและเครื่องดื่มให้บริการ รวมถึงให้บริการข้อมูลเส้นทางและสภาพการจราจรสำหรับใช้ในการวางแผนการเดินทาง และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนเนื่องจากสภาวะเหนื่อยล้าของผู้ขับขี่รถบรรทุก[25] ตามแผนแม่บทของสำนักงานนโยบายแผละแผนการขนส่งและจราจร[26] ปัจจุบันมึจำนวน 21 แห่ง[27] ตามแนวเส้นทางขนส่งสำคัญ[28]

ทางหลวงชนบท แก้

ในทางหลวงชนบทของกรมทางหลวงชนบทนั้น ที่พักริมทางจะใช้คำว่า จุดพักรถ (Rest Area) สามารถพบได้ในสายทางที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ อาทิ ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ถนนเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย

หมายเหตุ แก้

  1. ใช้คำว่าที่พักริมทาง ตามการให้ความหมายภาษาไทยของกรมทางหลวง

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Reed, Aaron (January 18, 2008). "Wi-Fi on the Highway: Rest Stops Go High-Tech". Road Trip America. สืบค้นเมื่อ June 7, 2011.
  2. "Section 710 : Motorway Service Areas/Major Road Service Areas". Valuation Ovvice Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-27. สืบค้นเมื่อ July 12, 2013. MSAs must ... not ... allow rear access to the site to be used other than by MSA staff, delivery vehicles, and the emergency services
  3. 3.0 3.1 "CBRD – Reference – International – France". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 21, 2010. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  4. "motorway aires, an introduction / France zone at abelard.org". สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  5. 5.0 5.1 "motorway aires – aire de Garonne, A62 / France zone at abelard.org". สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  6. "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ January 20, 2013. สืบค้นเมื่อ May 22, 2012.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  7. Lay-by and advance warning of lay-by signage from the Irish highway code.
  8. Advance signage of lay-bys instructions in Standards for Highways เก็บถาวร 2011-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, sections 4.8 and 4.9, from the Highways Agency.
  9. "Find Motorway Services". Motorway Services Online. สืบค้นเมื่อ March 4, 2021.
  10. "Rest Areas Near Me". iamforeverlost.com. September 21, 2022. สืบค้นเมื่อ September 21, 2022.
  11. Gordon Dickson, "Government Work Zone," Fort Worth Star-Telegram, August 4, 2003, sec. Metro, p. 3.
  12. "Service Plazas". Pennsylvania Turnpike Commission. สืบค้นเมื่อ November 26, 2021.
  13. Press release (September 23, 2013). "Governor Cuomo Unveils 'Texting Zones' Along NYS Thruway and Highways for Drivers to Pull Over and Use Their Cell Phones". Office of the Governor of New York. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-05. สืบค้นเมื่อ 2023-04-04.
  14. "Travel Service Plazas & Tourist Information Centers – Traffic & Travel Resources – Highway Division". Massachusetts Department of Transportation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 28, 2017. สืบค้นเมื่อ September 16, 2011.
  15. "NJTA – Service Area Listing". State.nj.us. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 13, 2007. สืบค้นเมื่อ July 16, 2009.
  16. 16.0 16.1 What Driving in Japan is Like (ภาษาอังกฤษ), เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 21, 2021, สืบค้นเมื่อ August 5, 2021
  17. Michi-no-Eki — Japan's roadside stations - Discover more about Japan's diverse roadside stations
  18. "พ.ร.บ. ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 – MOTORWAY".
  19. "ที่พักริมทาง (Rest Area) บนโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง – Intercity Motorway Projects" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 "ข้อกำหนดกรมทางหลวง เรื่อง มาตรฐานและลักษณะที่พักริมทางในเขตทางหลวงพิเศษ และทางหลวงสัมปทาน พ.ศ. 2560 – MOTORWAY".
  21. 21.0 21.1 "กรมทางหลวง พร้อมให้บริการ ห้องน้ำสะอาด และจุดพักรถ พักคน กว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563". msoh.go.th.
  22. ชิลไปไหน. "แจกพิกัด! จุดพักรถกรมทางหลวงวิวสวย ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2566". Chillpainai (ภาษาอังกฤษ).
  23. "กรมทางหลวง". www.doh.go.th (ภาษาอังกฤษ).
  24. "กรมทางหลวงเปิดจุดพักรถ-สถานีตรวจน้ำหนัก 73 แห่งทั่วประเทศ บริการประชาชน ช่วงสงกรานต์". mgronline.com. 2021-04-06.
  25. "สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง". www.highwayweigh.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-01. สืบค้นเมื่อ 2023-04-04.
  26. "จุดพักรถบรรทุก พลิกโฉมระบบโลจิสติกส์ประเทศไทย". thansettakij. 2017-12-03.
  27. "กรมทางหลวง มีมาตรการคุมเข้มในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินตามที่กฎหมายกำหนด". www.thaigov.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. "สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง". www.highwayweigh.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-01. สืบค้นเมื่อ 2023-04-04.