ทินกร พันธุ์กระวี
นาวาอากาศโท ทินกร พันธุ์กระวี เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก และเป็นประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด[1] อดีตนายกสมาคมอัสสัมชัญ[2]
นาวาอากาศโท ทินกร พันธุ์กระวี | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน | |
ดำรงตำแหน่ง 11 มีนาคม พ.ศ. 2524 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ |
ก่อนหน้า | อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ |
ถัดไป | ดำรง ลัทธพิพัฒน์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 14 มีนาคม พ.ศ. 2461 |
เสียชีวิต | 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 (94 ปี) |
พรรคการเมือง | ชาติไทย |
ประวัติ
แก้ทินกร พันธุ์กระวี เกิดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2461 เป็นบุตรของนายเจริญ กับนางแช่ม พันธุ์กระวี และเป็นน้องชายร่วมสายโลหิตของท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยสมัยเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญเขาได้รับทุนการศึกษาตลอดจนจบ ด้วยเหตุที่เขาได้เลขประจำตัว อสช ที่ 10000[3] พอดี จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางวิศวกรรมเครื่องกล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2486 ด้านครอบครัว สมรสกับคุณหญิงวิบูลวรรณ พันธุ์กระวี มีบุตรด้วยกัน 4 คน
การทำงาน
แก้นาวาอากาศโท ทินกร พันธุ์กระวี เข้ารับราชการในกองทัพอากาศ และเคยได้รับตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ประจำประเทศอังกฤษ และเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก 6 สมัย ครั้งแรกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[4] สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา และในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500[5] หลังจากนั้นจึงเว้นว่างทางการเมืองไปจนกระทั่งกลับมาได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 สังกัดพรรคชาติไทย และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2526 รวมทั้งสิ้น 6 สมัย
ทินกร เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ครม.36)[6] ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (ครม.37[7], ครม.38)[8] แต่คณะรัฐมนตรีคณะนี้สิ้นสุดลง เพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อันมี พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ได้กระทำการยึดอำนาจ การปกครองแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519[9] จึงเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีอายุสั้นที่สุดด้วยคือ 12 วัน และได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณเพียงวันเดียวก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ทำให้ได้รับฉายาว่า "รัฐบาลวันเดียว"
และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม[10] ในปี พ.ศ. 2523 และถูกปรับมารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ครม.42) ในปี พ.ศ. 2524[11][12]
ผลงานสำคัญ
แก้นาวาอากาศโท ทินกร เป็นผู้ริเริ่มงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย อาทิ โครงการชลประทานเขื่อนนเรศวร การรื้อฟื้นโครงการสนามบินหนองงูเห่า การผลักดันโครงการการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานของประเทศ การสร้างสถานีรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง การจัดตั้งสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการสร้างเมืองวิทยาศาสตร์
ถึงแก่อนิจกรรม
แก้น.ท.ทินกร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้นาวาอากาศโท ทินกร พันธุ์กระวี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของประเทศไทยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของต่างประเทศต่างๆ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[13]
- พ.ศ. 2523 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[14]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[15]
- พ.ศ. 2524 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1[16]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- ญี่ปุ่น:
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงคลรัตน์ ชั้นที่ 1[17]
อ้างอิง
แก้- ↑ "งานสวดพระอภิธรรม นท.ทินกร พันธุ์กระวี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2013-07-17.
- ↑ "อดีตนายกสมาคมอัสสัมชัญ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-12-06.
- ↑ "อุโฆษสมัย" ECHO DEL'LASSOMPTION) ฉบับที่ 77 ประจำเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1933 หน้า 70-76
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
- ↑ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๖ ราย)
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๕ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-11-06.
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๓ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2015-06-30.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แถลงการณ์ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (แถลงการณ์การยึดอำนาจการปกครอง) เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๑๒๐ วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
- ↑ "พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๗ ราย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-10-25. สืบค้นเมื่อ 2015-09-21.
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ รัฐมนตรีลาออก ให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและตั้งรัฐมนตรี (ปรับปรุงคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน ๒๖ ราย)
- ↑ "คณะรัฐมนตรีคณะที่ 42 จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-27. สืบค้นเมื่อ 2013-07-17.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๓, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑
- ↑ รายพระนามและนามผู้ที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี ๒๕๒๔ จากเว็บไชต์ thaiscouts
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2022-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๑๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๑
ก่อนหน้า | ทินกร พันธุ์กระวี | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (11 มีนาคม พ.ศ. 2524 – 19 มีนาคม พ.ศ. 2526) |
ดำรง ลัทธพิพัฒน์ |