ตราแผ่นดินของมาเลเซีย
ตราแผ่นดินของมาเลเซีย (มลายู: Jata Negara) ประกอบด้วยส่วนหลัก ๆ ห้าส่วนคือ โล่ เสือโคร่งสองตัว พระจันทร์เสี้ยวสีเหลือง และดาวสีเหลือง 14 แฉก และแถบผ้า ตราแผ่นดินของมาเลเซียนี้สืบทอดมาจากตราแผ่นดินสหพันธรัฐมาลายาระหว่างที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ตราในปัจจุบันจึงมีอิทธิพลของตราแบบตะวันตกอยู่มาก
ตราแผ่นดินของมาเลเซีย Jata Negara | |
---|---|
ตราอาร์มรุ่นต่าง ๆ | |
พ.ศ. 2506 - 2508 | |
รายละเอียด | |
เริ่มใช้ | ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 |
เครื่องยอด | จันทร์เสี้ยวและดาว 14 แฉก (ดาราแห่งสหพันธ์) สีเหลือง |
โล่ | หัวโล่บนสุด พื้นสีแดง มีรูปกริชมลายู 5 เล่ม, กลางโล่แบ่ง 4 ส่วนเท่ากัน แต่ละช่องสีแดง-ดำ-ขาว-เหลือง ขนาบซ้ายด้วยรูปต้นปาล์มปีนังและสะพานปีนัง ขนาบขวาด้วยต้นมะขามป้อมมะละกา, ท้องโล่เป็นตราอาร์มรัฐซาบะฮ์ ดอกชบา และตราอาร์มรัฐซาราวัก |
ประคองข้าง | เสือโคร่ง 2 ตัว |
คำขวัญ | มลายู: Bersekutu Bertambah Mutu ความเป็นเอกภาพคือพลัง (เขียนด้วยอักษรโรมัน (รูมี) และอักษรยาวี) |
การออกแบบ
แก้ตราแผ่นดินของมาเลเซียประกอบด้วยโล่ที่ประคองด้วยเสือสองตัว ด้านบนมีจันทร์เสี้ยวสีเหลืองและดาวแห่งสหพันธ์สีเหลือง 14 แฉก และมีแพรแถบแสดงคำขวัญอยู่ล่างสุด
เครื่องยอด
แก้เครื่องยอดประกอบด้วยรูปจันทร์เสี้ยวและดาว 14 แฉกซึ่งเรียกว่า "ดาราสหพันธ์" ("Bintang Persekutuan") ทั้งสองรูปนี้เป็นสีเหลือง หมายถึงยังดีเปอร์ตวนอากง กษัตริย์ผู้เป็นองค์อธิปัตย์ของสหพันธรัฐ นอกจากนี้รูปจันทร์เสี้ยวยังหมายถึงศาสนาอิสลามอันเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ ส่วนดาราสหพันธ์หมายถึงรัฐทั้ง 13 รัฐของสหพันธ์และดินแดนของรัฐบาลสหพันธรัฐ[1]
เดิมรูปดาว 14 แฉกนั้นใช้เป็นสัญลักษณ์แทนรัฐที่รวมเป็นประเทศมาเลเซียเมื่อแรกก่อตั้ง 14 รัฐ ซึ่งมีสิงคโปร์รวมอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อสิงคโปร์แยกตัวจากสหพันธรัฐ รูปดาว 14 แฉกนี้ก็มิได้มีการแก้ไข แต่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าดาวดังกล่าวได้รวมความหมายถึงดินแดนของสหพันธรัฐที่มีอยู่แทน
รูปโล่ในตราอาร์มนี้เป็นสัญลักษณ์แทนการรวมเป็นเอกภาพของรัฐต่าง ๆ ภายใต้สหพันธรัฐของชาวมลายู ภายในโล่แบ่งพื้นที่อย่างคร่าว ๆ ออกเป็น 3 ส่วน ตามแนวนอน หากแบ่งโดยละเอียดจะนับได้สิบส่วน ดังนี้
- ส่วนบนสุดหรือส่วนหัวของโล่ บรรจุภาพกริช 5 เล่มบนพื้นสีแดง หมายถึงอดีตรัฐมลายูที่อยู่นอกสหพันธรัฐมาลายา 5 รัฐ ได้แก่ รัฐยะโฮร์ รัฐตรังกานู รัฐกลันตัน รัฐเกอดะฮ์ (ไทรบุรี) และรัฐปะลิส
- ส่วนกลางโล่ประกอบด้วย
- ทางซ้ายสุด เป็นรูปต้นปาล์มปีนังอยู่เหนือแพรประดับสีฟ้า-ขาว หมายถึงรัฐปีนัง
- ถัดมาตรงกลางเป็นแถวช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า 4 แถว ประกอบด้วยสีของธงชาติสหพันธรัฐมาลายา ได้แก่ สีแดง สีดำ สีขาว และสีเหลือง เรียงจากซ้ายไปขวา สีเหล่านี้เป็นสีที่ใช้ประกอบในธงประจำรัฐสมาชิกในสหพันธรัฐมาลายา ได้แก่ รัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน (แดง-ดำ-เหลือง) รัฐปะหัง (ดำ-ขาว), รัฐเปรัก (ขาว-เหลือง) และรัฐเซอลาโงร์ (แดง-เหลือง)
- ทางขวาสุด เป็นรูปต้นมะขามป้อม (Indian gooseberry) อันเป็นสัญลักษณ์ของรัฐมะละกา
- ส่วนล่างหรือท้องโล่ แบ่งออกเป็นสามช่อง เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ดังนี้
- ทางซ้ายสุด เป็นรูปตราอาร์มประจำรัฐซาบะฮ์ (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2506)
- ตรงกลาง เป็นรูปดอกชบา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติ
- ทางขวาสุด เป็นรูปตราอาร์มประจำรัฐซาราวัก
ประคองข้าง
แก้รูปเสือโคร่งท่ายืนผงาดที่ประคองสองข้างของตราเป็นสัญลักษณ์ตามธรรมเนียมเดิมของชาวมลายู หมายถึงกำลังและความกล้า รูปดังกล่าวนี้มีที่มาจากตราเดิมของรัฐแห่งสหพันธ์มาลายา (Federated Malay States) และสหพันธรัฐมาลายา (Federation of Malaya)
คำขวัญ
แก้คำขวัญประจำดวงตราปรากฏอยู่ในตำแหน่งล่างสุดของโล่ ประกอบด้วยแพรแถบและข้อความ "Bersekutu Bertambah Mutu" อันมีความหมายว่า "ความเป็นเอกภาพคือพลัง"[2][3] ข้อความนี้เป็นภาษามลายู เขียนด้วยอักษรโรมันและอักษรยาวี ข้อความที่เป็นอักษรโรมันนี้ได้ถูกนำมาแทนที่ข้อความเดิมซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ("Unity is Strength") ภายหลังจากการประกาศเอกราชระยะหนึ่ง
วิวัฒนาการ
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
|
อ้างอิง
แก้- ↑ "Malaysia Coat of Arms". TalkMalaysia.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-27. สืบค้นเมื่อ 2009-09-15.
- ↑ "Malaysian Flag and Coat of Arms". The Malaysia Government's Official Portal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-11. สืบค้นเมื่อ 2008-08-06.
- ↑ Ian Macdonald (2007-07-28). "Coat-of-Arms (Malaysia)". CRW Flags. สืบค้นเมื่อ 2008-08-06.