ซีพี แอ็กซ์ตร้า

บริษัทประกอบธุรกิจการค้าส่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: CP Axtra Public Company Limited) (เดิม บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เดิม) และ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด) เป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการประกอบธุรกิจการค้าส่งและค้าปลีกในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยเกิดขึ้นจากการจดทะเบียนควบรวมบริษัทซีพี แอ็กซ์ตร้าเดิม กับบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือโลตัส ประเทศไทย บริษัทประกอบธุรกิจค้าขายเป็นธุรกิจหลักของบริษัท

บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:CPAXT
อุตสาหกรรมบริการ
ก่อนหน้าบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เดิม)
บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด
ก่อตั้ง1 ตุลาคม พ.ศ. 2567
สำนักงานใหญ่1468 ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร [1]
พื้นที่ให้บริการไทย ไทย
จีน จีน
ประเทศพม่า เมียนมาร์
อินเดีย อินเดีย
กัมพูชา กัมพูชา
มาเลเซีย มาเลเซีย
บุคลากรหลัก
บริการการพาณิชย์
เจ้าของซีพี ออลล์
เว็บไซต์http://www.cpaxtra.com

ประวัติ

แก้

สยามแม็คโคร จนถึง ซีพี แอ็กซ์ตร้า เดิม

แก้

ในช่วงปี พ.ศ. 2530 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ริเริ่มแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของซีพีตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ คือการผลิตสินค้าทางการเกษตร กลางน้ำ คือการจัดจำหน่าย ไปจนถึงปลายน้ำ คือการสร้างร้านค้าปลีกเพื่อจำหน่ายสินค้าของบริษัทไปสู่ผู้บริโภค[2] จึงเกิดการศึกษาความเป็นไปได้จนได้ข้อสรุปเป็นการประกอบธุรกิจ 3 ประการ คือ แม็คโคร ซันนี่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และเซเว่น อีเลฟเว่น[3] โดยแม็คโครได้เกิดขึ้นจากการที่ซีพีชักชวนบริษัทเอสฮาเฟโฮลดิงส์ บริษัทต่างชาติเพียงรายเดียวที่เป็นตัวกลางดำเนินแผนการธุรกิจกับจีนแผ่นดินใหญ่[4] ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการแม็คโครสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ให้เข้ามาทำร่วมทุนเปิดแม็คโครในประเทศไทย ในขณะที่แม็คโครกำลังรุกเข้ามาทำธุรกิจในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนเพื่อทำธุรกิจร่วมกันในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 และจดทะเบียนบริษัทในวันที่ 7 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ในนามบริษัท เอเซีย แม็คโคร จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 750 ล้านบาท[5] โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 51[6] เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์จําหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชําระเงินสดและบริการตนเอง (Cash & Carry)[7] ภายใต้ชื่อ แม็คโคร โดยมีเป้าหมายลูกค้าคือ ผู้ประกอบการร้านโชห่วย ธุรกิจบริการ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการจัดเลี้ยงต่าง ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2532 แล้วจึงเปิดให้บริการสาขาแรก ซึ่งยังเป็นสาขาแรกในทวีปเอเชียบนถนนลาดพร้าว แขวงคลองจั่นเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้วยพื้นที่ขาย 11,566 ตารางเมตร ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2532[5] แม็คโคร ทำหน้าที่เสมือนศูนย์กลางการนำสินค้าจากผู้ผลิตมาจำหน่ายให้ผู้ประกอบการ ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าโครงสร้างตลาดแบบเดิมที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายชั้น[8]

ในปี พ.ศ. 2533 แม็คโคร ได้เปิดสามสาขาที่ แจ้งวัฒนะ ศรีนครินทร์ และบางบอน เพื่อให้ครบพื้นที่สี่มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร และยังได้ร่วมกับผู้ถือหุ้นเปิดบริษัท แม็คโคร พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 235 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินให้บริษัทเช่าสำหรับเปิดสาขา ในเดือนมิถุนายน แม็คโคร ยังได้เริ่มต้นจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของตนเอง เช่น Makpak Makon M&K เป็นต้น[5] ในปี พ.ศ. 2536 แม็คโคร ยังได้ขยายสาขาสู่ภูมิภาคเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ได้จดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่า "บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)" ทะเบียนเลขที่ บมจ.299 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2537 แม็คโคร ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2,400 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีหุ้นสามัญจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 4,800 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท[9] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 แม็คโคร ได้เปิดศูนย์บริการรถยนต์ แม็คโคร ออโต เอ็กซ์เพรส เป็นแห่งแรกที่สาขาลาดพร้าว ซึ่งเป็นศูนย์บริการเปลี่ยนอุปกรณ์รถยนต์อย่างเร่งด่วน และได้เปิดศูนย์เครื่องใช้สำนักงานแม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์เป็นแห่งแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินงานขายเครื่องใช้สำนักงาน และเฟอร์นิเจอร์สำนักงานให้แก่ลูกค้าทั่วไป โดยจะเป็นร้านที่แยกออกมาจากสาขาใหญ่ของแม็คโคร ในปี พ.ศ. 2540 ทั้งสองธุรกิจได้พัฒนาขึ้นจนได้ดำเนินการเป็นเอกเทศในรูปบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาททั้งสองบริษัท[5]

หลังการเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซีพีตัดสินใจขายหุ้นร้อยละ 75 ของโลตัส ให้กับกลุ่มเทสโก้ เพื่อให้ได้เงินไปใช้หนี้ต่างประเทศ เพื่อให้รักษาธุรกิจหลักคือ การเกษตรให้ได้ แต่แล้วซีพีก็จำเป็นที่ต้องเลือกขายหุ้นของสยามแม็คโครโดยส่วนใหญ่ เพราะการขายโลตัสยังคืนหนี้ได้ไม่หมด ซึ่งหากคืนหนี้ได้ไม่หมดซีพีจะล้มละลายไปด้วย[10][11] หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2551 สยามแม็คโครได้ขายหุ้นแม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์ให้กับ บจก.ออฟฟิซ คลับ (ไทย) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งต่อมาแม็คโครออฟฟิศเซ็นเตอร์ได้เปลี่ยนเป็นออฟฟิศดีโป้ และออฟฟิศเมทตามลำดับ[12]

ใน พ.ศ. 2564 ซีพีออลล์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของแม็คโคร ได้แจ้งโอนกิจการ โลตัส ให้กับแม็คโครทั้งหมด พร้อมกับปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นแม็คโครใหม่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่ซีพี ออลล์ถือหุ้นใหญ่ เป็นให้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด มาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก จากกระบวนการดังกล่าวทำให้แม็คโครกลายเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีก และยังช่วยให้แม็คโครและโลตัสสามารถบริหารงานกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น เป็นการลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่มซีพีจากการที่กลุ่มมีแผนนำโลตัสเข้าตลาดหลักทรัพย์ และยังเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องคุณสมบัติการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยของสยามแม็คโคร ซึ่งเกิดจากการเข้าซื้อหุ้นของซีพี ออลล์ พร้อม ๆ กันในคราวเดียว

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 แม็คโครได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นชื่อ Makro PRO เพื่อสร้างมิติใหม่ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย เปิดพื้นที่ขายให้เอสเอ็มอีรายใหม่ ๆ ได้เข้ามาร่วมมีโอกาสเติบโตร่วมไปกับแม็คโครอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้เปิดตัว ญาญ่า–อุรัสยา เสปอร์บันด์ เป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของแอพพลิเคชั่น[13] นอกจากนี้ในเวลาต่อมา ทางบริษัทยังได้เปิดตัวณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นพรีเซ็นเตอร์ของแม็คโคร ก่อนที่คณะกรรมการของสยามแม็คโครได้บรรจุวาระการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) รวมถึงเปลี่ยนแปลงตราประทับ และเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์เป็น CPAXT ให้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาในวันที่ 20 เมษายน [14] ทั้งนี้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า ยังคงใช้ตราสินค้า "แม็คโคร" และ "โลตัส" สำหรับธุรกิจของบริษัทเช่นเดิม[15]

ควบกิจการกับ โลตัส ประเทศไทย เป็น ซีพี แอ็กซ์ตร้า

แก้

อีกหนึ่งปีถัดจากนั้น ซีพี แอ็กซ์ตร้า ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ซีพี แอ็กซ์ตร้า จะดำเนินการจัดระเบียบบริษัทใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากรับโอนหุ้นของ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด จาก บริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้โลตัสส์ สโตร์ส เข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนเพื่อเลิกกิจการ จากนั้นทั้งสองบริษัทจะจดทะเบียนควบรวมบริษัทกันเพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่[16] ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท มีมติจัดตั้งบริษัทใหม่คือ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กำหนดให้ใช้ชื่อหลักทรัพย์ใหม่ว่า CPAXT ทำให้ระหว่างนี้หลักทรัพย์เดิมของบริษัทถูกเปลี่ยนชื่อเป็น CPAXTT ก่อนยุติการซื้อขายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567 เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ออกแล้วเปลี่ยนใหม่ กระบวนการจดทะเบียนควบกิจการแล้วเสร็จในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 และเริ่มดำเนินการซื้อขายหุ้นใหม่ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

การประกอบธุรกิจ

แก้

การประกอบธุรกิจของบริษัทฯ สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • ธุรกิจการค้าส่ง (Wholesale) แบ่งออกเป็น
    • ศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโคร : เป็นธุรกิจหลักของบริษัท คือการดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบด้วยสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายประเภท นอกจากสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปแล้ว บริษัทยังมีการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองด้วย [17]
    • ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น : ธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายสินค้าแช่แข็งและแช่เย็น พร้อมบริการด้านจัดเก็บและจัดส่งโดยบริษัท สยามฟูด เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สยามแม็คโครถือหุ้นร้อยละ 99.9 โดยบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูง พร้อมบริการจัดส่ง รวมถึงให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ แก่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหาร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโรงแรมและการบริการนักท่องเที่ยว รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง (“โฮเรก้า”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ให้บริการอาหารจานด่วน กลุ่มภัตตาคารและโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ในเขตกรุงเทพมหานครและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ[17]
    • แม็คโครออนไลน์ : เป็นธุรกิจช้อปออนไลน์ E-Commerce ภายใต้ชื่อ “Makro PRO” ซึ่งเป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่รวบรวมสินค้าโปรโมชั่นราคาพิเศษที่สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ [18]
  • ธุรกิจค้าปลีก (Retail) ภายใต้ชื่อ "โลตัส" ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ และในมาเลเซีย

การถือหุ้นในบริษัทอื่น

แก้

นอกจากการประกอบธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งภายใต้แบรนด์โลตัส และแม็คโครแล้ว บริษัทยังถือหุ้นในบริษัทอื่นดังต่อไปนี้

  • บริษัท แม็คโคร อาร์โอเอช จำกัด : ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าตัวเอง (สินค้าเฮาส์แบรนด์) ภายใต้แบรนด์เอโร่ รวมถึงประกอบธุรกิจค้าส่งในประเทศจีน อินเดีย และกัมพูชา
  • บริษัท สุขุมวิท มิกซ์-ยูส จำกัด : ประกอบธุรกิจบริหารศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานริมถนนสุขุมวิท (ถือหุ้นร่วมกับแม็กโนเลีย ควอลิตี ดีเวลลอปเมนต์ คอร์ปอเรชัน และเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ในสัดส่วนร้อยละ 37.50)
  • บริษัท สุขุมวิท ลิฟวิ่ง จำกัด : ประกอบธุรกิจก่อสร้างและขายส่งต่อโครงการห้องชุด วิสซ์ดอม คราฟซ์ เอส50 (ถือหุ้นร่วมกับแม็กโนเลีย ควอลิตี ดีเวลลอปเมนต์ คอร์ปอเรชัน และเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ในสัดส่วนร้อยละ 37.50)
  • บริษัท ซินเนอร์จิสติก พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด : ประกอบธุรกิจบริหารศูนย์การค้า (ถือหุ้นร่วมกับเซ็นทรัลพัฒนา ในสัดส่วนร้อยละ 50)
  • บริษัท โลตัส มันนี่ เซอร์วิสเซส จำกัด : ประกอบธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคลภายใต้แบรนด์ โลตัสส์ มันนี่ (ถือหุ้นร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในสัดส่วนร้อยละ 50)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

แก้
  • ข้อมูลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ภายหลังกระจายหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทซีพี แอ็กซ์ตร้าเดิม (CPAXTT) ในสัดส่วน 1:0.5 และหุ้นของบริษัทเอก-ชัยในสัดส่วน 1:10 [19]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 3,640,861,753 34.91%
2 บริษัท สยามแม็คโคร โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด 2,608,119,739 25.01%
3 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 1,663,774,369 15.96%
4 บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด 992,559,731 8.85%
5 บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 364,800,889 3.50%

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 รายละเอียดบริษัท/หลักทรัพย์เซ็ทเทรดดอตคอม
  2. 5 จุดเปลี่ยนเซเว่น อีเลฟเว่น ก่อนที่จะเป็นเบอร์ 1 แบบแกร่งทั่วแผ่น Brand Age Online เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดย R.Somboon สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  3. ถอดกรณีศึกษา “ซีพีแรม” กับบทบาทเติมเต็ม “ปลายน้ำ” ของค้าปลีกกลุ่มซีพี 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดย CP E-News สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  4. ซีพี …ขยับแผนค้าปลีก เขียนเมื่อ 12 กันยายน พ.ศ.2565 โดยวิรัตน์ แสงทองคำ มติชนสุดสัปดาห์สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2541
  6. จากอดีตสู่อนาคต “สยามแม็คโคร” ในร่มเงา ซีพี เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2557 สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  7. แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) (แบบ 56-1)
  8. [bangkokbiznews.com/business/501961 'แม็คโคร'ในมือ'ซีพีออลล์'ขุมพลังครือข่าย] เขียนเมื่อ 24 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยกรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  9. รายงานประจำปี บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (แบบ 56-2)
  10. เจ้าสัวธนินท์ ยกเคส “ต้มยำกุ้ง” แนะคาถาฝ่าวิกฤตมืดแปดด้าน เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยประชาชาติธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  11. ถอดคมคิดธุรกิจและการใช้ชีวิตของ “เจ้าสัวธนินท์” สู่ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” หนังสือที่เจ้าสัวใช้เวลาเขียนถึง 8 ปี เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยบรรเจิดลักษณ์ สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน พ.ศ. 2565
  12. "เซ็นทรัลเทคแม็คโครออฟฟิศ อัด320ล.ยึดตลาดออฟฟิศเซ็นเตอร์". mgronline.com. 2008-05-30.
  13. แม็คโคร พลิกโฉมธุรกิจเปิดตัวแอป“Makro PRO” ดึง'ญาญ่า'เป็นพรีเซ็นเตอร์
  14. "MAKRO เปลี่ยนชื่อเป็น "ซีพี แอ็กซ์ตร้า" ชื่อหุ้น CPAXT". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-02-20. สืบค้นเมื่อ 2023-02-21.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "แม็คโครเปลี่ยนชื่อเป็น ซีพี แอ็กซ์ตร้า รวมทั้งชื่อหลักทรัพย์". 2023-02-21.
  16. ฐานเศรษฐกิจ (2024-02-15). "CPAXT ซีนเนอร์ยีกลุ่ม ควบรวม"เอก-ชัยฯ"ตั้งบริษัทใหม่ หลังรับโอนโลตัสส์". thansettakij.
  17. 17.0 17.1 การประกอบธุรกิจของแต่ละสายผลิตภัณฑ์แบบรายงาน56-1 สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประจำปี :2555
  18. [https://www.makro.pro/
  19. http://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=MAKRO&ssoPageId=6&language=th&country=TH

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้