ไซเรน (สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก)

(เปลี่ยนทางจาก Sirenoidea)
ไซเรน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่:
ครีเตเชียสยุคสุดท้าย - ปัจจุบัน, 95–0Ma
ไซเรน (บน: สกุล Pseudobranchus; ล่าง: สกุล Siren)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
ชั้นย่อย: Lissamphibia
อันดับ: Caudata
อันดับย่อย: Sirenoidea
วงศ์: Sirenidae
Gray, 1825
สกุล

ไซเรน (อังกฤษ: Sirens) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกจำพวกซาลาแมนเดอร์วงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Sirenidae จัดอยู่ในอันดับย่อย Sirenoidea

ไซเรน มีความแตกต่างจากซาลาแมนเดอร์จำพวกอื่น ๆ พอสมควร เนื่องจากมีลำตัวเรียวยาวคล้ายปลาไหลหรือเขียดงู ไม่มีขาคู่หลังและกระดูกเชิงกราน ขาคู่หน้าเล็กมากและนิ้วเท้าลดจำนวนลง ปากเป็นจะงอยแข็ง เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ยังคงรูปโครงสร้างของระยะวัยอ่อนไว้หลายประการ เช่น ไม่มีเปลือกตา, มีเหงือก, มีช่องเปิดเหงือก 1 คู่ หรือ 3 ช่อง, ไม่มีฟัน, ไม่มีกระดูกแมคซิลลา หรือมีขนาดเล็กมาก รวมทั้งลักษณะโครงสร้างของผิวหนัง

มีความยาวของลำตัวประมาณ 10–90 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา เช่น บึง, ทะเลสาบ หรือแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไม่แรง และมีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น กินอาหารจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก เช่น กุ้ง, ปู, แมลงน้ำ, หนอนแดง, ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น โดยกินด้วยการดูด ในช่วงฤดูแล้งจะฝังตัวอยู่ใต้โคลน โดยสร้างปลอกหุ้มตัวคล้ายดักแด้ของแมลง การปฏิสนธิของไซเรน เกิดขึ้นภายนอกตัว และไม่พบมีพฤติกรรมเกี้ยวพาราสี และไม่มีต่อมโคลเอคัลซึ่งเป็นต่อมที่ตัวผู้ของซาลาแมนเดอร์จำพวกอื่นใช้สร้างสเปอร์มาโทฟอร์ และของตัวเมียใช้เก็บสเปิร์ม ตัวเมียวางไข่ติดกับพืชน้ำหรือสร้างรังอยู่ในกอของพืชน้ำที่อยู่ใต้น้ำ บางชนิดมีพฤติกรรมเฝ้าไข่[2]

การจำแนก

แก้

แบ่งออกได้เป็น 2 สกุล 4 ชนิด ได้แก่

ไซเรน พบกระจายพันธุ์อยู่บริเวณแม่น้ำมิสซิสซิปปีในสหรัฐอเมริกา และทางตอนบนของเม็กซิโกในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ[2]

อ้างอิง

แก้
  1. Habrosaurus Gilmore 1928 (siren) (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 หน้า 308, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  3. "Sirenidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้