แย้

(เปลี่ยนทางจาก Leiolepidinae)
แย้
แย้ธรรมดา หรือแย้เส้น (Leiolepis belliana)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Lacertilia
วงศ์: Agamidae
วงศ์ย่อย: Leiolepidinae
Fitzinger, 1843
สกุล: Leiolepis
Cuvier, 1829
ชนิด
ดูในเนื้อหา

แย้ หรือ สกุลแย้ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Leiolepis) เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Leiolepidinae ในวงศ์ Agamidae พบกระจายทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะภูมิภาคอินโดจีน พบทั้งหมด 9 ชนิด สำหรับในประเทศไทยพบทั้งหมด 4 ชนิด มีลักษณะเด่นคือ มีแถบหรือจุดสีสด และลำตัวไม่มีปุ่มหนาม

มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมาเลเซีย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย เวียดนาม[1] และอาจพบในหมู่เกาะรีวกีว (ญี่ปุ่น) และไหหลำ (จีน) [ต้องการอ้างอิง] สกุลแย้นี้มีทั้งชนิดที่สืบพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ และสืบพันธุ์โดยไม่ผสมพันธุ์

ลักษณะ

แก้

มีความแตกต่างจากกิ้งก่าในวงศ์ย่อย Agaminae ซึ่งเป็นวงศ์ย่อยที่มีจำนวนสมาชิกหลากหลายที่สุดของวงศ์ Agamidae คือ มีช่องเปิดบริเวณแอ่งเบ้าตาเล็ก และไม่มีช่องเปิดบริเวณกล่องหู[2] มีขนาดลำตัววัดจากปลายปากโดยตลอดยาวประมาณ 11.5 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 23.8 เซนติเมตร ตัวแบนหางราบ โคนหางแบนและแผ่บานออก สีข้างแผ่ขยาย ไม่มีแผงหนามที่สันหลัง ช่องหูใหญ่ เยื่อหูจมใต้ผิวหนัง หนังข้างคอมีรอยพับตามขวาง รอบลำตัวมีเกล็ดประมาณ 40 แถว หัวและหลังสีเขียวมะกอก โดยมีจุดสีเหลืองขอบดำเรียงเป็นแนวข้างตัว มีแถบดำสลับเหลืองคอมีลวดลายร่างแหดำ ประกอบสีครีม ท้องและอกสีส้มสด ตัวผู้จะมีพังผืดด้านข้างที่กางออกได้ และมีสีสดกว่าตัวเมีย โดยที่แย้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามสภาพแวดล้อมเหมือนสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ๆ

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

แก้

แย้ทุกชนิดเป็นสัตว์ที่หากินและอาศัยอยู่ในพื้นดินราบ เปิดโล่ง โดยเฉพาะพื้นที่ดินปนทราย[3] ไม่ขึ้นต้นไม้อย่างสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ที่อยู่ของแย้เป็นรู ลึกประมาณ 1 ฟุต เป็นโพรงข้างใน สามารถกลับตัวได้ ที่ปากรูจะมีรอยของหางแย้ เป็นรอยยาว ๆ และจะมีรูพิเศษอีกรูหนึ่ง ที่ใช้ป้องกันตัว เมื่อถูกศัตรูรุกรานเข้ารูด้านหนึ่ง แย้สามารถหลบรอดออกไปอีกรูหนึ่งได้อย่างแยบยล โดยรูนี้เรียกในภาษาลาว-อีสานว่า "แปว"

แย้สามารถสืบพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล กินแมลงต่าง ๆ เป็นอาหาร แย้ไม่สามารถที่จะว่ายน้ำได้ บางครั้งกินทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก (omnivore)[4]

นอกจากนี้แล้วในพฤติกรรมการสืบพันธุ์ แย้บางชนิดเป็นสัตว์ที่เป็นกะเทยหรือมีเพศที่ไม่แน่นอน สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยไม่ต้องอาศัยเพศผู้[5][6]

อนุกรมวิธาน

แก้

มีทั้งหมดอย่างน้อย 9 ชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • แย้ ที่สืบพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ (sexual spicies) ซึ่งลักษณะทางกายภาพของแย้ประเภทนี้ จะเห็นความแตกต่างระหว่างเพศที่ชัดเจน
    • แย้ธรรมดา หรือ แย้เส้น Leiolepis belliana Hardwicke & Gray, 1827 — พบได้ทั่วไปในประเทศไทยทุกภาค แม้กระทั่งตามเกาะแก่งต่าง ๆ กลางทะเล ในอดีตเคยแบ่งออกเป็นชนิดย่อย 2 ชนิด คือ L. b. belliana และ L. b. rubritaeniata และปัจจุบันยังไม่เป็นที่ชัดเจนในการระบุชนิดของอีกชนิดย่อยคือ Leiolepis belliana ocellata Peters, 1971 ซึ่งอาจแยกออกเป็น Leiolepis ocellata ตามการศีกษาดีเอ็นเอซึ่งพบไมโครโครโมโซมเพียง 11 คู่และยังอาจถูกระบุให้เป็น asexual spicies[3][7]
    • แย้อีสาน Leiolepis rubritaeniata Mertens, 1961 — พบมากที่สุดในภาคอีสานของประเทศไทย ทางตะวันออกสุดที่ปากช่อง และตะวันตกสุดพบที่ช่องเม็ก รวมทั้งประเทศลาว และบริเวณชายแดนเวียดนาม - กัมพูชา ในจังหวัดซาลาย
    • แย้ยักษ์ Leiolepis guttata
    • Leiolepis peguensis
    • แย้เหนือ Leiolepis reevesii

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

แก้

แย้จัดเป็นอาหารดั้งเดิมของมนุษย์มาช้านานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในถิ่นอีสานของไทย ชาวอีสานจะนิยมจับแย้กินเป็นอาหาร โดยมีรสชาติคล้ายเนื้อไก่ นิยมนำไปทำเป็นเมนูได้หลากหลาย เช่น ปิ้ง หรือ ลาบ

ปัจจุบัน สถานะของแย้เมื่อเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ๆ แล้ว นับว่าใกล้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ในบางพื้นที่จึงมีการส่งเสริมการเลี้ยงแย้ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจและอนุรักษ์ไว้ด้วย เช่นที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เป็นต้น[11]

นอกจากนี้แล้ว จากพฤติกรรมที่อาศัยอยู่ในรู จึงทำให้การละเล่นพื้นบ้านที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการละเล่นที่เรียกว่า "แย้ลงรู"[12]

อ้างอิง

แก้
  1. "The IUCN Red List of Threatened Species". IUCN Red List of Threatened Species.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 374 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  3. 3.0 3.1 วรัญญา อรัญวาลัย. ความหลากหลายของชนิดและลักษณะพื้นที่อาศัยของแย้ในประเทศไทย.[ลิงก์เสีย] 2546.
  4. Grismer, Jesse L.; Grismer, L. Lee (2010). "Who's your mommy? Identifying maternal ancestors of asexual species of Leiolepis Cuvier, 1829 and the description of a new endemic species of asexual Leiolepis Cuvier, 1829 from Southern Vietnam" (PDF). Zootaxa. 2433: 47–61.
  5. Grismer, J.L. and Grismer, L.L. 2010. Who’s your mommy? Identifying maternal ancestors of asexual species of Leiolepis Cuvier, 1829 and the description of a new endemic species of asexual Leiolepis Cuvier, 1829 from Southern Vietnam. Zootaxa. 2433: 47–61. http://www.mapress.com/zootaxa/2010/f/z02433p061f.pdf
  6. 6.0 6.1 เลื้อยๆ คลานๆ วิวัฒนาการสูง “โคลนตัวเอง” แพร่พันธุ์ไม่ง้อเพศผู้ [ลิงก์เสีย]ผู้จัดการออนไลน์
  7. Leiolepis ocellata. IUCN - Red List. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2564.
  8. Boehme's butterfly lizard Thai National Park. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2564.
  9. Böhme’s Butterfly Lizard. IUCN - Red List. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2564.
  10. Assessment), Lee Grismer (SRLI Reptile; Malaysia), Evan Quah (University Sains (2017-05-23). "IUCN Red List of Threatened Species: Leiolepis triploida". IUCN Red List of Threatened Species.
  11. อนุรักษ์แย้..สัตว์ที่น่ารัก เพาะเลี้ยงไว้ ณ เขาเขียว จากไทยรัฐ
  12. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์---. กรุงเทพ:ม.ป.ส., 2544. หน้า 85.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Leiolepis ที่วิกิสปีชีส์