แย้เส้น

(เปลี่ยนทางจาก Leiolepis belliana)
แย้เส้น
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Lacertilia
วงศ์: Agamidae
วงศ์ย่อย: Leiolepidinae
สกุล: Leiolepis
สปีชีส์: L.  belliana
ชื่อทวินาม
Leiolepis belliana
(Hardwicke & Gray, 1827)
ชนิดย่อย[1]

แย้เส้น หรือ แย้ธรรมดา[2] (อังกฤษ: Common butterfly lizard; ชื่อวิทยาศาสตร์: Leiolepis belliana) เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จำพวกแย้ (Leiolepidinae) เป็นแย้ชนิดที่พบได้ทั่วไปและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด เป็นสัตว์ที่มีการบริโภคกันในท้องถิ่นในบางพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน โดยนำไปปรุง เช่น ย่าง หรือผัดเผ็ด

มีลำตัวแบนราบ ไม่มีหนามสันหลัง ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว บนหลังมีจุดสีเทาเหลืองเรียงชิดต่อกัน ตั้งแต่บริเวณโคนหางตามแนวความยาวของลำตัวไปที่บริเวณท้ายทอย บนหลังมีจุดเล็ก ๆ เรียงห่างกันระหว่างเส้น โคนหางแบนและแผ่แบนออกข้าง ตัวผู้มีเขี้ยวขนาดเล็ก ส่วนตัวเมียไม่มีเขี้ยว ตัวผู้มีสีสันและลวดลายสวยกว่าตัวเมีย ลำตัวยาวประมาณ 11.5 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 23.8 เซนติเมตร[3]

พบกระจายพันธุ์ทั่วไปตามพื้นดินที่เป็นที่ดอนแห้ง ไม่มีน้ำท่วมขัง หรือมีไม้พุ่มเตี้ย ๆ หรือหญ้าขึ้นแซม หรือป่าโปร่ง ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ยกเว้นสิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค รวมถึงพบบนเกาะต่าง ๆ ด้วย เช่น เกาะกลางในพื้นที่เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่[4] โดยจะขุดรูลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร เรียกว่า "แปว"[3] อาศัยอยู่ จัดแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[2] [1]

เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่วิ่งได้เร็วมาก โดยจะอาศัยอยู่ในรูไม่โผล่หน้ามาให้เห็น พฤติกรรมในการเข้าออกรูสามารถนำไปพยากรณ์การตกของฝนได้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะเป็นสัตว์ที่จะอาศัยอยู่ในที่แห้ง จึงไวต่อสภาพอากาศ ออกหากินเวลากลางวันที่มีอากาศแจ่มใสแดดไม่จัด ในช่วงแดดจัดจะพักผ่อนอยู่ในรู อาหารหลัก ได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ อาศัยอยู่รูละตัวอาจจะอยู่ใกล้ ๆ กัน มีการผสมพันธุ์ในช่วงฤดูร้อนจนถึงฤดูฝน และวางไข่หมกดินครั้งละ 6-8 ฟอง ไข่มีลักษณะยาวรี สีขาว เปลือกเหนียวนิ่ม และเริ่มวางไข่ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 5-6 วัน ลูกวัยอ่อนต้องพึงพาอาศัยแม่ในการเลี้ยงดู

[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Leiolepis belliana (HARDWICKE & GRAY, 1827) (อังกฤษ)
  2. 2.0 2.1 แย้ ๑ น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  3. 3.0 3.1 อนุรักษ์แย้...สัตว์ที่น่ารัก เพาะเลี้ยงไว้ ณ เขาเขียว จากไทยรัฐ
  4. "วิเคราะห์คอลัมนิสต์ 02 06 59". ฟ้าวันใหม่. 2 June 2016. สืบค้นเมื่อ 3 June 2016.
  5. "แย้ จากเว็บไซต์เครือข่ายกาญจนาภิเษก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-11-26. สืบค้นเมื่อ 2012-12-18.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้