นกฟินฟุต

(เปลี่ยนทางจาก Heliopais personata)
นกฟินฟุต
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Gruiformes
วงศ์: Heliornithidae
สกุล: Heliopais
Sharpe, 1893
สปีชีส์: H.  personata
ชื่อทวินาม
Heliopais personata
(Gray, 1849)
ชื่อพ้อง
  • Podica personata Gray, 1849

นกฟินฟุต (อังกฤษ: Finfoot, Masked finfoot, Asian finfoot, ชื่อวิทยาศาสตร์: Heliopais personata) เป็นนกชนิดหนึ่ง จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Heliopais[2]

นกฟินฟุตจัดเป็นนกที่หากินในน้ำและอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ป่าชายเลน, ป่าพรุ ด้วยเป็นนกที่จับสัตว์น้ำ, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ กินเป็นอาหาร

มีขนหนาแน่นสีน้ำตาล แลดูคล้ายเป็ด ปากแหลมสีเหลือง ส่วนหน้าสีดำคล้ายสวมหน้ากาก คอยาวเรียวเล็ก ขาสีเขียว นิ้วเท้ามีทั้งหมด 4 นิ้ว มีพังผืดเชื่อมติดกัน ปกติมักอาศัยเพียงตัวเดียว หรือเป็นคู่ นกตัวผู้กับตัวเมียคล้ายคลึงกัน แต่มีส่วนต่างกันที่สี โดยที่ตัวผู้จะมีสีที่เข้มกว่า ขณะที่ตัวเมียจะมีเส้นสีขาวผ่านจากใต้คอลงมาถึงหน้าด้านของลำคอ มีเส้นสีดำจากหลังตามาล้อมกรอบแถบสีขาว ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 52–54.5 เซนติเมตร ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย

นกฟินฟุตเป็นนกที่มีถิ่นอาศัยในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ แต่โดยปกติแล้วไม่ใช่นกประจำถิ่นของไทย แต่จะอพยพผ่านเพื่อหากินและแพร่ขยายพันธุ์วางไข่เท่านั้น โดยจะพบในพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ของภาคใต้ อาทิ เกาะตะรุเตา, ป่าพรุโต๊ะแดง, ทะเลบัน, ป่าชายเลนที่จังหวัดกระบี่ เป็นต้น และพบได้น้อยในพื้นที่ภาคกลาง

จัดเป็นนกที่หายากมากชนิดหนึ่ง โดยมีสถานะใน IUCN อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ [1]คาดว่าทั่วทั้งโลกมีจำนวนประชากรราว 2,500–9,900 ตัว

ขยายพันธุ์ในช่วงฤดูฝน วางไข่ในรังครั้งละ 5–7 ฟอง ไข่มีสีขาวเจือด้วยสีเขียวจาง ๆ มีจุดกลมเล็ก ๆ สีน้ำตาลกระจายไปทั่ว รังทำมาจากกิ่งไม้หรือเศษไม้ขัดกันในพื้นที่สูงจากพื้นราว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 37 เซนติเมตร ลึกประมาณ 20 เซนติเมตร[3]

จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 BirdLife International (2012). "Heliopais personatus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. "Heliopais". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. "นกฟินฟุต". เบิร์ดออฟไทยแลนด์.[ลิงก์เสีย]
  4. "สัตว์ป่าคุ้มครอง (รายชื่อ)". สวนสัตว์อุบล.