ไทยไฟต์
ไทยไฟต์[1] (อังกฤษ: THAI FIGHT) หรือ THAI FIGHT[2] เป็นทัวร์นาเมนท์มวยไทยระดับโลกที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ซึ่งมีนักมวยไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากนานาประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน[3] โดยนักมวยไทยรายสำคัญที่มีโอกาสร่วมแข่งขันรายการดังกล่าว เป็นนักมวยไทยที่ผ่านรอบการคัดเลือกจากการแข่งขันในรอบก่อนหน้า อาทิ ฟาบิโอ ปินก้า, โค จองยุน, อับราฮัม โรเกนี, วูยิซิเล โคลอสซา รวมถึง บัวขาว ป.ประมุข, ยอดแสนไกล แฟร์เท็กซ์, ไทรโยค พุ่มพันธุ์ม่วง, สุดสาคร ส.กลิ่นมี[4] รวมไปจนถึงนักมวยไทยที่ได้รับการคัดเลือกจากการเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันมวยรอบอีซูซุอย่าง เพชรมั่นคง เพชรฟอร์กัส, เข้ม ศิษย์สองพี่น้อง[5] และสิงห์มณี แก้วสัมฤทธิ์[6]
ไทยไฟต์ | |
---|---|
สังเวียนศึกไทยไฟต์ 2012 | |
ประเภท | ถ่ายทอดสดการแข่งขันมวยไทย |
พัฒนาโดย | บริษัทไทยไฟท์จำกัด |
บรรยายโดย | สุริยนต์ อรุณวัฒนกูล เปรมณัช สุวรรณานนท์ |
ประเทศแหล่งกำเนิด | ไทย |
ภาษาต้นฉบับ | ไทย |
การผลิต | |
สถานที่ถ่ายทำ | สถานที่แตกต่างกันไปในครั้งที่ถ่ายทอดสด |
ออกอากาศ | |
เครือข่าย | สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 (พ.ศ. 2553 – 2562) ช่อง 3 เอชดี (พ.ศ. 2557 – 2562) ช่อง 3 เอสดี (พ.ศ. 2558 – 2562) ช่อง 8 (พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน) |
ออกอากาศ | พ.ศ. 2553 – ปัจจุบัน |
ประวัติ
แก้ในช่วงที่กระแสความนิยมของมวยไทยได้เริ่มแผ่ขยายไปทั่วโลก ทางรัฐบาลได้มีการสนับสนุนในการที่ผลักดันกีฬาประจำชาติสู่ระดับสากล โดยได้มีการยกระดับสู่การจัดรายการแข่งขันระดับโลก[7] การแข่งขันไทยไฟท์ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท สปอร์ต อาร์ต จำกัด มีนายนพพร วาทิน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร การแข่งขันไทยไฟต์เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553[2] ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก และจัดรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ฟาบิโอ ปินก้า ซึ่งเป็นนักมวยไทยชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ชนะคะแนนนักสู้ชาวไทย[8] และถือเป็นแชมป์คนแรกของรายการ[9] โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3[10] ซึ่งผู้ชนะการแข่งขันจะได้รับเงินรางวัล 2 ล้านบาท รวมถึงรถกระบะอีซูซุ 1 คันเป็นรางวัล[11]
พ.ศ. 2554 ได้มีแผนการจัดการแข่งขันขึ้นในหลายประเทศในแบบเอ็กซ์ตรีม[3][12] ทั้งเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส, เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง รวมถึงกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และในเดือนกันยายนของปีเดียวกันนี้ ได้จัดการแข่งขันที่ประเทศไทยอีกครั้งที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี[13] โดยมีการชิงแชมป์ใน 2 รุ่น ซึ่งได้แก่รุ่น 67 กก. และ 70 กก.[3] โดยมีนักมวยไทยอย่างบัวขาว ป.ประมุข และ เข้ม ศิษย์สองพี่น้อง ร่วมการแข่งขันในครั้งนี้[14] ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ เข้ม ศิษย์สองพี่น้อง เป็นฝ่ายชนะน็อค อเลสซิโอ แองเจลโล่ ซึ่งเป็นนักมวยไทยชาวอิตาลีในยกแรก[15] ส่วน บัวขาว ป.ประมุข ได้เป็นฝ่ายชนะคะแนน อับดาห์ลาห์ มาเบล นักมวยไทยชาวแคเมอรูน โดยเป็นคู่เอกของการแข่งขันในรอบ 8 คน[16] ภายหลังจากการแข่งรอบดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ได้มีการเตรียมจัดการแข่งขันรอบถัดไปในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่ศูนย์การประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และรอบชิงชนะเลิศซึ่งเตรียมจัดขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า[16][17] แต่เนื่องด้วยเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลให้เลื่อนการจัดรายการแข่งขันรอบดังกล่าวออกไป โดยมาจัดรอบเซมิไฟนอลในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ที่ห้างสรรพสินค้า อิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ[18] และรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า[19] โดยในปีนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศแก่นักมวยทั้งสองรุ่น
ในปี พ.ศ. 2555 ไทยไฟท์เริ่มจัดการชกแข่งขันรอบแรกเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี รอบที่สองจัดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ณ โรงยิมเนเซียม โคราช ชาติชาย ฮอลล์ ภายในพื้นที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จังหวัดนครราชสีมา และรอบชิงชนะเลิศกำหนดจัดในวันที่ 16 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันกีฬาแห่งชาติ ณ ลานพระราชวังดุสิต
ในปี พ.ศ. 2556 ไทยไฟท์จัดนัดชิงชนะเลิศ ณ ท้องสนามหลวง และในปี พ.ศ. 2557 ไทยไฟต์ได้กลับมาจัดอีกครั้ง โดยประเดิมครั้งแรกของปี ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ณ สวนหลวงราชินี 19 ไร่ ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และครั้งที่สองกำหนดจัดในวันที่ 6 เมษายน 2557 ณ ลานใกล้เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี[20]
การแข่งขัน
แก้เป็นการแข่งขันมวยไทยที่ลดจำนวนยก จาก 5 ยก ลงมาเหลือ 3 ยก[2] ยกละ 3 นาที ในการต่อสู้แบบมวยไทย นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้นักมวยไทยสวมกางเกงและนวม โดยเปลี่ยนจากฝ่ายแดงและฝ่ายน้ำเงิน มาเป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว[21]
ส่วนเพิ่มเติม
แก้ในช่วงพิธีเปิดมีการแสดงรำมวยไทยโบราณ, การเล่นดนตรีไทย ตลอดจนการแข่งขันที่สร้างความตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ชมเป็นอย่างมาก[11]
สิ่งสืบเนื่อง
แก้ปัจจุบัน ทางผู้จัดไทยไฟท์ ได้มีแผนการณ์จัดรายการแข่งขันอีกครั้งในแบบเอ็กซ์ตรีม โดยจะเปิดตัวในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่เมืองโกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย และดูไบ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อนที่จะโคจรมาเปิดตัวอีกครั้งที่ประเทศไทย เป็นปีที่ 3 ต่อไป[22] และในปี พ.ศ. 2557 ได้มีการเพิ่มเงินรางวัลสำหรับแชมป์ด้วยจำนวนเงิน 10 ล้านบาท นอกจากนี้ นพพร วาทิน ซึ่งเป็นประธานจัดการแข่งขัน ยังมีแผนเปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโดยใช้ชื่อ ไทยไฟต์ แชนแนล ที่ทำการถ่ายทอดออกอากาศใน 10 ประเทศทั่วโลก[1]
ระเบียงภาพ
แก้-
ไทยไฟต์ 2012 รอบชิงชนะเลิศ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า
-
น้าเน็ก และแมทธิว ดีน สองพิธีกร
-
การเปิดตัวของอังเดร คูเลบิน
-
การต่อสู้ระหว่างบัวขาว ป.ประมุข กับวิตาลี เกอร์คอฟ
พิธีกร
แก้- ปัจจุบัน
- สุริยนต์ อรุณวัฒนกูล (2559-ปัจจุบัน)
- เปรมณัช สุวรรณานนท์ (2559-ปัจจุบัน)
- พินิจ พลขันธ์ (มิสเตอร์ป๋อง) (2553-ปัจจุบัน)
- พันตรี สมจิตร จงจอหอ (2553-ปัจจุบัน)
- อดีต
- แม้ทธิว พอล ดีน (2553-2558)
- เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (2553-2557)
- ธนาสุทธิ์ วุฒิวิชัย (เสียงเปิดตัวแนะนำนักชก) (2553-ปัจจุบัน)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ตำนาน 'ไทยไฟต์' ใต้เงามายา. เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 20 ฉบับที่ 1038. วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555. ISSN 15135705. หน้า 13
- ↑ 2.0 2.1 2.2 The Global-Thai Backbone. กองบรรณาธิการ. THE COMPANY. ปีที่ 14 ฉบับที่ 166. กันยายน 2554. เลิฟแอนด์ลิฟเพรส. หน้า 88
- ↑ 3.0 3.1 3.2 "THAI FIGHT 2011 ทัวร์นาเมนท์ล้มมวย ที่ทั่วโลกจับตามอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-25. สืบค้นเมื่อ 2011-09-30.
- ↑ The Global-Thai Backbone. กองบรรณาธิการ. THE COMPANY. ปีที่ 14 ฉบับที่ 166. กันยายน 2554. เลิฟแอนด์ลิฟเพรส. หน้า 89
- ↑ หมัดเด็ด อีซูซุสาย เอ 'ลุ้นระทึก'. วัชรพล. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6622. วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554. หน้า 10
- ↑ ISUZU CUP SUPER FIGHT[ลิงก์เสีย]
- ↑ มวยไทยไทยไฟต์[ลิงก์เสีย]
- ↑ เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์. กีฬา. เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 20 ฉบับที่ 1009. วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554. ISSN 15135705. หน้า 88
- ↑ "บัวขาวเหนือชั้นต้อนมวยแซมบ้านิ่มศึกไทยไฟต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-21. สืบค้นเมื่อ 2011-10-01.
- ↑ ขาว บางจาก. 'ไทยไฟต์' จะยิ่งใหญ่. มวยตู้. ปีที่ 26 ฉบับที่ 1307. วันศุกร์ 7 ต.ค. 2554. ISBN 974909107-8. หน้า 25
- ↑ 11.0 11.1 【ムエタイ】世界16カ国が参加したビッグトーナメントで日本の宮越がMVP獲得!格闘技ウェブマガジンGBR 2010年8月29日 (ญี่ปุ่น)
- ↑ 【ムエタイ】タイの副首相も出席、首相官邸で記者会見!世界5カ国でThai Fight開催格闘技ウェブマガジンGBR 2011年4月5日 (ญี่ปุ่น)
- ↑ 9.25 Thai Fight(タイファイト) 67kg、70kg、対戦カード決定!! (ญี่ปุ่น)
- ↑ ลัดฟ้ามวยไทย ไปกับป๋อง ลำปาง 2011. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6588. วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554. หน้า 27
- ↑ yai_2522. MUAYTHAI AROUND THE WORLD. มวยตู้. ปีที่ 26 ฉบับที่ 1307. วันศุกร์ 7 ต.ค. 2554. ISBN 974909107-8. หน้า 57
- ↑ 16.0 16.1 มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6601. วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554. หน้า 18
- ↑ น็อกเอาต์ฉบับมวยสยาม. ปีที่ 23 ฉบับที่ 1980. วันที่ 28 ก.ย.-4 ต.ค. 2554. ISSN 15135438. หน้า 10
- ↑ ""บัวขาว-เข้ม" พร้อมลุยไทยไฟต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-30. สืบค้นเมื่อ 2011-11-27.
- ↑ ลัดฟ้ามวยไทย ไปกับป๋อง ลำปาง 2011. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6637. วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554. หน้า 27
- ↑ ′ไทรโยก′ชน′ชนะจน′มวยไทยไฟต์ จักรีนฤเบศร 6 เม.ย.นี้ : มติชนออนไลน์
- ↑ กร กฤษดา. ปากกาพาไป. มวยตู้. ปีที่ 26 ฉบับที่ 1307. วันศุกร์ 7 ต.ค. 2554. ISBN 974909107-8. หน้า 30
- ↑ ลัดฟ้ามวยไทยไปกับป๋องลำปาง. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6702. วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555. หน้า 8
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- THAI FIGHT เก็บถาวร 2012-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ไทย อังกฤษ)