โรงเรียนวิถีพุทธ

โรงเรียนวิถีพุทธ (อังกฤษ: Buddhist Oriented Schools) หมายถึงโรงเรียนในระบบปกติทุกระดับ ภายใต้การกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาตามหลักไตรสิกขามาบูรณาการประยุกต์ใช้ในการบริหาร และการพัฒนาผู้เรียนในภาพรวมของสถานศึกษา โดยเน้นกรอบการพัฒนาตามหลักไตรสิกขา ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม แสวงหาปัญญา และมีเมตตา [1] เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาของประเทศ[2]

โรงเรียนวิถีพุทธ มุ่งเน้นการเรียนการเรียนการสอนโดยให้โรงเรียนเป็นดุจกัลยาณมิตร หรือสหายทางปัญญา ภายใต้การพัฒนาตามหลักไตรสิกขา โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

โรงเรียนวิถีพุทธ มีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สังกัดสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธแห่งประเทศไทย (คขวท.) เป็นผู้ประสานงานและนิเทศส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัดอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธในปัจจุบัน [3]

โดยปัจจุบัน โรงเรียนวิถีพุทธ มีการศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการนิเทศติดตามเพื่อคัดเลือกและมอบโล่รางวัลเกียรติยศโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ (ปัจจุบันมีการมอบถึง รุ่นที่ 6)[3] และโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน[4] เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานแก่โรงเรียนที่ดำเนินงานภายใต้กรอบอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธทั้ง 29 ประการ[3] อีกด้วย

จากการดำเนินการในระยะแรกของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 79 โรงเรียน จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ รวมทั้งสิ้น กว่า 20,000 โรงเรียน ทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ[5]

ประวัติ แก้

 
โรงเรียนวิถีพุทธ ดำเนินงานภายใต้กรอบอัตลักษณ์ 29 ประการ ที่ผ่านการสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

การก่อรูปแนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธ แก้

แนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธ สืบเนื่องจากที่กระทรวงศึกษาธิการจัดการประชุม เรื่อง “หลักสูตรใหม่ เด็กไทยพัฒนา” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ให้เกียรติเป็นประธาน ที่ประชุมได้หารือถึงโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อสนองตอบความสามารถที่แตกต่างกันของบุคคล เพื่อนำพาเด็กและเยาวชนไทยก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในที่ประชุม ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทรวณิช เสนอให้มีการนำหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับการบริหารจัดการในโรงเรียน[6]

โดยหลังจากการประชุม กระทรวงศึกษาธิการได้นำความเห็นของที่ประชุมมาหารือต่ออีกหลายครั้ง ในเวลาต่อมา ในต้นปี พ.ศ. 2546 ดร. สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้ไปกราบขอคำแนะนำเรื่องการจัดโรงเรียนวิถีพุทธ จากพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)วัดญาณเวศกวัน และต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดประชุมเพื่อกำหนดกรอบแนวคิดอีกหลายครั้ง โดยมีพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมประชุมระดมความคิดด้วย[6]

จากการประชุมดังกล่าว กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธเบื้องต้น ในสาระสำคัญ 3 ด้าน[2] คือ ภาพสรุปโรงเรียนวิถีพุทธ, กรอบความคิดรูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ และแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น ” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในทางคุณค่าแท้ ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตา เป็นฐานการดำเนินชีวิตโดยมีผู้บริหารและคณะครูเป็นกัลยาณมิตรแห่งการพัฒนา ภายใต้ปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ

 
โรงเรียนวิถีพุทธ มุ่งเน้นการนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาบูรณาการกับการบริหารจัดการในโรงเรียน

โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ แก้

เมื่อมีการกำหนดกรอบแนวคิดการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธแล้วเรียบร้อยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้เริ่มรับสมัครโรงเรียนที่สนใจ[5] และจัดให้มีการปฐมนิเทศ เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนได้เข้าใจ แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งเป็นโรงเรียนรูปแบบหนึ่งใน 5 รูปแบบ ที่กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น มุ่งพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมแห่งการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับจุดเน้นการพัฒนาของประเทศในสมัยนั้น[6] คือ

  1. โรงเรียนวิถีพุทธ
  2. โรงเรียนในกำกับของรัฐ
  3. โรงเรียนสองภาษา
  4. โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ
  5. โรงเรียนต้นแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)

ลักษณะและรูปแบบโรงเรียนวิถีพุทธ แก้

โรงเรียนวิถีพุทธ เป็นสถานศึกษาในระบบปกติ ที่นำหลักพุทธธรรม หรือองค์ความรู้ที่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการจัดการศึกษา ของสถานศึกษานั้น โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ การนำหลักธรรมมาใช้ในระบบการพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา ซึ่งอาจเป็นการเรียนการสอนในภาพรวมของหลักสูตรสถานศึกษา หรือ การจัดเป็นระบบวิถีชีวิตในสถานศึกษาของผู้เรียนส่วนใหญ่ โดยนำไปสู่จุดเน้นของการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถ กิน อยู่ ดู ฟังเป็น คือใช้ปัญญา และเกิดประโยชน์แท้จริงต่อชีวิต และการจัดดำเนินการของสถานศึกษาจะแสดงถึงการจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศ(ปรโตโฆสะ)ที่เป็นกัลยาณมิตรเอื้อในการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้านด้วยวิถีวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทั้งนี้การพัฒนาผู้เรียนดังกล่าวจัดผ่านระบบไตรสิกขา ที่ผู้เรียนได้ศึกษาปฏิบัติอบรม ทั้งศีล หรือพฤติกรรม หรือวินัยในการดำเนินชีวิตที่ดีงามสำหรับตน และสังคม สมาธิ หรือด้านการพัฒนาจิตใจที่มีคุณภาพ มีสมรรถภาพ มีจิตใจที่ตั้งมั่นเข้มแข็งและสงบสุข และปัญญาที่มีความรู้ที่ถูกต้อง มีศักยภาพในการคิด การแก้ปัญหาที่เหมาะสม (โยนิโสมนสิการ) โดยมีครู และผู้บริหารสถานศึกษา เป็นกัลยาณมิตรสำคัญที่รักและปรารถนาดี ที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างดีที่สุดด้วยความเพียรพยายาม ระบบพัฒนาผู้เรียนด้วยไตรสิกขา โรงเรียนควรจัดสภาพในทุกๆด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรม อย่างบูรณาการ และส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาชีวิตให้สามารถกิน อยู่ ดู ฟังเป็น มีวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทั้งนี้ การจัดสภาพจะส่งเสริมให้เกิดลักษณะของปัญญาวุฒิธรรม ๔ ประการ คือ

  1. สัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี
  2. สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตร การเรียนการสอนที่ดี
  3. โยนิโสมนสิการ หมายถึง มีกระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี
  4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ หมายถึง ความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ และดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามธรรม

ปัญญาวุฒิธรรม ๔ ประการนี้ จะส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักไตรสิกขา ได้อย่างชัดเจน สำหรับแนวคิดเบื้องต้น ของการจัดสภาพในสถานศึกษา ที่เหมาะสมในด้านต่างๆ มีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ด้านกายภาพ โรงเรียนจะจัดอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม ห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา เช่น มีศาลาพระพุทธรูป เด่นเหมาะสม ที่จะชวนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ มีมุม หรือห้องให้ศึกษาพุทธธรรม บริหารจิต เจริญภาวนาเหมาะสม หรือมากพอที่จะบริการผู้เรียน หรือการตกแต่งบริเวณให้เป็นธรรมชาติ หรือใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนมีใจสงบ และส่งเสริมปัญญา เช่น ร่มรื่น มีป้ายนิเทศ ป้ายคุณธรรม ดูแลเสียงต่างๆ ไม่ให้อึกทึก ถ้าเปิดเพลงกระจายเสียงก็พิถีพิถันเลือกเพลงที่ส่งเสริมสมาธิ ประเทืองปัญญา เป็นต้น
  2. ด้านกิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต สถานศึกษาจัดกิจกรรมวิถีชีวิต ประจำวัน ประจำสัปดาห์ หรือในโอกาสต่างๆ เป็นภาพรวมทั้งสถานศึกษา ที่เป็นการปฏิบัติบูรณาการ ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา โดยเน้นการมีวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของการกิน อยู่ ดู ฟัง ด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นไปตามคุณค่าแท้ของการดำเนินชีวิต โดยมีกิจกรรมตัวอย่างดังนี้
๑).มีกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนเข้าเรียน และก่อนเลิกเรียนประจำวัน (เพื่อใกล้ชิดศาสนา)
๒.มีกิจกรรมรับศีล หรือทบทวนศีลทุกวัน อาจเป็นบทกลอน หรือเพลง เช่นเดียวกับกิจกรรม แผ่เมตตา (เพื่อให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข)
๓)มีกิจกรรมทำสมาธิรูปแบบต่าง ๆ เช่น นั่งสมาธิ ท่องอาขยานเพื่อสมาธิ สวดมนต์สร้างสมาธิ หรือทำสมาธิเคลื่อนไหวอื่น ๆ เป็นประจำวันหรือก่อนเรียน (เพื่อพัฒนาสมาธิ)
๔)มีกิจกรรมพิจารณาอาหารก่อนรับประทานอาหารกลางวัน (เพื่อให้กินเป็น กินอย่างมีสติ มีปัญญารู้เข้าใจ)
๕)มีกิจกรรมอาสาตาวิเศษ ปฏิบัติวินัยหรือศีล (เพื่อให้อยู่เป็น อยู่อย่างสงบสุข)
๖)มีกิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา) ประจำวัน (เพื่อให้อยู่เป็น)
๗)มีการสวดมนต์ ฟังธรรมประจำสัปดาห์ หรือในวันพระ (เพื่อพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา)
๘)มีกิจกรรมบันทึก และยกย่องการปฏิบัติธรรม (เน้นย้ำและเสริมแรงการทำความดี)
๙)ทุกห้องเรียน มีการกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน โดยเข้าใจเหตุผล และประโยชน์ที่มีต่อการอยู่ร่วมกัน (พัฒนาศีล /วินัย ด้วยปัญญา)ฯลฯ
  1. ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์

สถานศึกษาส่งเสริมบรรยากาศของการใฝ่เรียนรู้ และพัฒนาไตรสิกขา หรือส่งเสริมการมีวัฒนธรรม แสวงปัญญาและมีปฏิสัมพันธ์ ที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มีบรรยากาศของการเคารพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความเมตตา กรุณาต่อกัน ทั้งครูต่อนักเรียน นักเรียนต่อครู นักเรียนต่อนักเรียน และครูต่อครูด้วยกันและโรงเรียนส่งเสริมให้บุคลากร และนักเรียนปฏิบัติตน เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เช่น การลด ละ เลิกอบายมุข การเสียสละ เป็นต้น

  1. ด้านการบริหารจัดการ สถานศึกษาโดยบุคลากรในสถานศึกษา ร่วมกับผู้ปกครอง และชุมชน สร้างความตระหนัก และศรัทธา รวมทั้งเสริมสร้างปัญญาเข้าใจในหลักการ และวิธีดำเนินการโรงเรียนวิถีพุทธร่วมกัน ทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครู และผู้บริหารเพียรพยายามสนับสนุนโดยลักษณะต่าง ๆ และการปฏิบัติตนเอง ที่จะสนับสนุน และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาผู้เรียน ตามวิถีชาวพุทธสถานศึกษาวิเคราะห์จัดจุดเน้น หรือรูปแบบรายละเอียดโรงเรียนวิถีพุทธ ตามความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งแต่ละสถานศึกษา จะมีจุดเน้น และรายละเอียด รูปแบบที่แตกต่างกันได้ เช่น บางสถานศึกษาจะมีจุดเน้น ประยุกต์ไตรสิกขาในระดับชั้นเรียน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้รายวิชา บางโรงเรียนเน้นประยุกต์ในระดับ
  1. กิจกรรมวิถีชีวิตประจำวัน แบบภาพรวม บางโรงเรียนอาจทำทั้งระบบทุกส่วนของการจัดการศึกษา

ตามหลักการจัดวิถีพุทธสู่วิถีการเรียนรู้ บูรณาการพุทธธรรม สู่การจัดการเรียนรู้ และการปฏิบัติจริงที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อนำสู่การรู้ เข้าใจความจริง มีการจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

  1. ประสานความร่วมมือระหว่างวัด/คณะสงฆ์ และชุมชน ในการจัดการเรียนรู้หลักธรรมสำคัญ สู่การจัดการเรียนรู้โรงเรียนวิถีพุทธ ตามหลัก ไตรสิกขา กัลยาณมิตตตา ปรโตโฆสะ และโยนิโสมนสิการ ใช้หลักทำแนวการจัดการเรียนรู้โรงเรียนวิถีพุทธ ประกอบด้วย หลักสูตรสถานศึกษาสอดแทรก เพิ่มเติม พุทธธรรมในวิสัยทัศน์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนเพิ่มเติมคุณธรรม จริยธรรมในผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
  1. การบูรณาการพุทธธรรมในการจัดหน่วยการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ สอดแทรก ความรู้ และการปฏิบัติจริงในการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และสถานการณ์อื่นๆ นอกห้องเรียน ได้แก่ บูรณาการในการเรียนรู้บูรณาการในวิถีชีวิต และบูรณาการไตรสิกขา เข้าในชีวิตประจำวัน

หลักเกื้อกูลสัมพันธ์โรงเรียนวิถีพุทธและชุมชน

โดยโรงเรียนวิถีพุทธกับชุมชน ซึ่งประกอบด้วยบ้าน วัด และสถาบันอื่นๆ ในชุมชน มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน เกื้อกูลร่วมมือกันและกันในการพัฒนานักเรียน และพัฒนาชุมชนสังคมในวิถีแห่งพุทธธรรม เพื่อประโยชน์สุขร่วมกัน เพียรพัฒนาตน มีผลการพัฒนานักเรียนเป็นที่ยอมรับศรัทธาของชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน จัดระดมสรรพกำลังลักษณะต่างๆ อย่างหลากหลายในการพัฒนางานทุกด้านของโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานักเรียน บริการวิชาการ อาคารสถานที่ ร่วมมือสนับสนุนกับชุมชน ในการพัฒนาภูมิธรรม ภูมิปัญญา คุณธรรมจริยธรรม และกิจกรรมสัมมาอาชีวะต่างๆ เป็นต้น แก่ชุมชนสังคม ด้วยเมตตาธรรมและด้วยความเป็นกัลยาณมิตร เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามและสันติสุข โรงเรียนอาจพิจารณากำหนดและดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ และแผนปฏิบัติการของโรงเรียน ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นวิถีพุทธอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง จนบังเกิดผลที่ชัดเจนทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านลักษณะทางกายภาพ ด้านบุคลิกภาพและคุณธรรมของครู อาจารย์ นักเรียนและบุคลากรของโรงเรียนจนเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ผู้บริหารมีคุณธรรม มีการบริหารจัดการโดยใช้หลักเมตตาธรรม ครูมีความเป็นกัลยาณมิตร นักเรียนมีกริยาวาจาสุภาพ มีน้ำใจ มีคุณธรรม เป็นลักษณะเด่นที่บุคคลทั่วไปเห็นได้ชัดเจน พร้อมๆ กันโรงเรียนวิถีพุทธมีลักษณะเปิดกว้างสู่ชุมชนและสังคม พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ และพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนสังคมด้วยความเกื้อกูลกันและกันอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมเสนอแนะหลักเกื้อกูลสัมพันธ์

๑.โรงเรียน บ้าน วัด ชุมชน ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันตามประเพณี เช่น กิจกรรมหล่อเทียนพรรษา การทอดกฐินทอดผ้าป่า กิจกรรมวันพ่อวันแม่ ฯลฯ
๒. โรงเรียนนำนักเรียนร่วมกิจกรรมของวัด และชุมชน เช่น กิจกรรมทำความสะอาดวัด ซึ่งอาจจัดในชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือกิจกรรมช่วยเหลือสังคมอื่นๆ เช่น นำอาหารไปเลี้ยงคนชราที่บ้านพักคนชรา หรือบ้านเด็กกำพร้า ฯลฯ
๓.โรงเรียนต้องเป็นโรงเรียนของชุมชน โดยเปิดโรงเรียนต้อนรับผู้ปกครอง และชุมชนตลอดเวลา (Open House) เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสเสนอข้อคิดเห็น และมีส่วนร่วมในภารกิจต่างๆ เช่น ดูแลความสะอาดของโรงอาหาร ดำเนินการเชิญภูมิปัญญาทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาช่วยโรงเรียนในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
๔.เปิดห้องสมุดเพื่อให้ชุมชนใช้บริการได้ในวันหยุด รวมทั้งสนามกีฬา หอประชุม ฯลฯ
๕.เป็นศูนย์กลางของชุมชนในด้านวิชาการ วิชาชีพ เช่น จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในเรื่องอาชีพพิเศษต่างๆ จัดร้านค้าของโรงเรียนเพื่อให้ผู้ปกครองนำผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาขาย โดยนักเรียนเป็นผู้ดูแลกิจการ
๖.ร่วมกับวัดในชุมชน จัดการเรียนธรรมศึกษา กิจกรรมทางด้านศาสนาต่างๆ เช่น นิมนต์พระสงฆ์มาแสดงพระธรรมเทศนา เชิญวิทยากรมาให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องต่างๆ ในวันหยุด หรือจัดกิจกรรมทัศนศึกษาทางธรรม เป็นต้น
๗.จัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่าง โรงเรียน บ้าน วัด ชุมชน เช่น จัดการแข่งขันกีฬา จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศโดยเชิญผู้ปกครองมาร่วมนำอาหารมารับประทานร่วมกัน จัดค่ายครอบครัว
๘.เสริมความเข้มแข็งของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เช่น การเยี่ยมบ้านนักเรียนช่วยเหลือนักเรียนแก้ไขปัญหาครอบครัว ฯลฯ
๙.ประชาสัมพันธ์ผลงานของโรงเรียน ในรูปแบบต่างๆ เช่น จัดทำหนังสือพิมพ์โรงเรียน วารสารเผยแพร่แก่ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ชุมชน ฯลฯ
๑๐.ยกย่องเชิญชูเกียรติของผู้กระทำความดีทั้ง ครู อาจารย์ นักเรียน บุคลากรของโรงเรียนและบุคคลในชุมชน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลทั่วไป เพื่อให้วิถีพุทธเป็นวิถีชีวิตของคนทั้งชุมชน่่่

โรงเรียนวิถีพุทธในปัจจุบัน แก้

โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เป็นการดำเนินการส่งเสริมนวัตกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ระบบสมัครใจ ตามแต่ละสถานศึกษาจะพิจารณาดำเนินการตามบริบทของโรงเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลโดยตรง แต่จากผลการดำเนินการที่ส่งผลดีต่อผู้เรียน ผู้บริหาร คณะครู และชุมชนบ้านวัด ในบริบททางวัฒนธรรม ทำให้การดำเนินการตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธเป็นที่สนใจจากสถานศึกษาจำนวนมาก

จากการที่ผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 13/2547 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ปรารภว่า หากเจ้าคณะพระสังฆาธิการให้การสนับสนุนโรงเรียนวิถีพุทธในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านวิชาการ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ และให้ความร่วมมือจัดกิจกรรมของโรงเรียน เป็นต้น ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ บ้านเมือง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการดำรงชีวิต โดยส่วนรวมของประชาชน มหาเถรสมาคมจึงมีมติเห็นชอบ ให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนวิถีพุทธ[1]

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงให้มี "ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ" ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ต่อจากนั้นจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รับสมัคร และจัดปฐมนิเทศ โรงเรียนวิถีพุทธ ในแต่ละสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จากในปีแรกที่มีโรงเรียนในทุกระดับและทุกสังกัดสมัครเข้าร่วมโครงการ รวม 79 โรงเรียน เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ รวมทั้งสิ้น 18,577 โรงเรียน[5]

หลักธรรมที่ใช้ในการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ แก้

๑.กัลยาณมิตร 7 ประการ

1.)น่ารัก เป็นที่วางใจและรู้สึกสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าใจ
2.) น่าเคารพ ประพฤติตนสมควรแก่ฐานะทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย
3.) น่ายกย่อง มีความรู้และภูมิปัญญาที่แท้จริง เป็นผู้ที่ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยความซาบซึ้งใจ
4.) รู้จักพูด คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนเป็นที่ปรึกษาที่ดี
5.) อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำซักถามต่างๆอยู่เสมอ สามารถรับฟังได้ด้วยความอดทน ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
6.) สามารถชี้แจงเรื่องต่างที่ลึกซึ้งได้
7.) ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียเหลวไหล

๒.โยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการเป็นองค์ประกอบภายในตัวบุคคลที่จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รู้จักการใช้ความคิดอย่างถูกวิธี รู้จักพิจารณาสิ่งต่างๆตามความจริง รู้จักคิดหาเหตุผล รู้จักแยะแยะให้เห็นตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกด้านตัณหา อุปาทานของตนเข้าจับ เพื่อให้ปรโตโฆสะนำไปสู่โยนิโสมนสิการ ทำให้คนรู้จักคิดอันเป็นจุดเริ่มต้นที่จำป็นสำหรับการศึกษา จึงเสนอวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำไว้ 10 วิธี ดังนี้

1.) วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ การคิดพิจารณาให้รู้สึกสภาวะที่เป็นจริงของสิ่งต่างๆและผลกระทบที่อาจตามมาภายหลัง เป็นวิธีคิดขั้นพื้นฐานของโยนิโสมนสิการ
2.) วิธีคิดแบบแยกส่วนประกอบ เป้นการคิดที่มุ่งเน้นให้มองถึงความเป็นจริง เมื่อพิจารณาถึงความเป็นอนัตตา เป็นสิ่งไม่มีตัวตน ไม่มีความแน่นอน สิ่งต่างๆเกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลายอย่างมารวมกัน
3.) วิธีการคิดแบบสามัญลักษณ์ เป็นวิธีการคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา มองทุกสิ่งตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ คือ ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา หมายถึง สิ่งต่างๆเมื่อเกิดขึ้นมาไม่สามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป มีการเปลี่ยนแปลงและแตกดับไปเป็นธรรมดา
4.) วิธีคิดแบบแก้ปัญหาหรือคิดแบบอริยสัจ วิธีคิดแบบนี้มีหลักการที่สำคัญ คือ การเริ่มต้นจากปัญหาหรือทุกข์โดยทำความเข้าใจปัญหาแล้วค้นหาสาเหตุ เพื่อเตรียมแก้ไขโดยกำหนดเป้าหมายให้แน่ชัด มีความเป็นไปได้แล้ววิธีที่จะกำจักสาเหตุของปัญหาให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้
5.) วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นความคิดในระดับลงมือทำ คือการกระทำตามหลักการใดๆจะต้องสร้างเข้าใจหลักการและความมุ่งหมายของเรื่องนั้นๆ ว่าจะดำเนินไปเพื่ออะไรและปฏิบัติให้ได้ผลตามความมุ่งหมายนั้น
6.) วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออก เป็นการคิดที่มองสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงกล่าวคือ สิ่งทั้งหลายย่อมมีทั้งส่วนดีและส่วนเสียที่เป็นคุณและเป็นโทษ ดังนั้นการมองสิ่งทั้งหลายควรมองทั้ง 2 ด้าน และมองหาแนวทางที่จะปฏิบัติต่อสิ่งนั้นให้ได้ประโยชน์สุงสุด การคิดแบบนี้มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ 1) มองตามที่เป็นจริง ทั้งด้านดีและด้านเสีย ทั้งคุณและโทษ ไม่ใช่มองแค่ด้านดีหรือด้านเสียเพียงด้านเดียว 2) เมื่อจะแก้ปัญหาจะต้องมองเห็นทางออกมองเห็นจุดหมายและรู้ว่าจุดหมายนั้นคืออะไร ดีกว่าส่วนเสียของสิ่งหรือภาวะที่เป็นปัญหาอยู่อย่างไร
7.)วิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียม เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหา ตัดทางไม่ให้กิเลสเข้ามาครอบงำจิตใจ วิธีการคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอยปัจจัย 4 และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆมีหลักว่า คนเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพราะมีความต้องการและเห็นว่าสิ่งนั้น จะสนองความต้องการของเราได้และมีคุณค่าแก่เรา คุณค่านี้จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
7.1)คุณค่าแท้ หมายถึง คุณค่าที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรง อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่า เป็นคุณค่าที่สนองปัญญา
7.2)คุณค่าเทียม คือ คุณค่าที่พอกเสริม หมายถึง คุณค่าที่มนุษย์พอกเพิ่มให้เพื่อเสริมราคาคุณค่านี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่า วัดราคา เรียกว่า คุณค่าที่สนองตัณหา
8.)วิธีคิดแบบปลุกเล้าคุณธรรม เป็นวิธีคิดที่นำเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตมาปรุงแต่งให้เกิดประโยชน์ ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิมพร้อมกับได้สร้างนิสัยความเคยชินใหม่ที่ดีงามให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกัน
9.)วิธีคิดแบบอยู่กับปัจจุปัน เป็นการคิดในแนวทางของความหรือคิดด้วยปัญญาไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นอยู่ในอดีต ปัจจุบันหรืออนาคตก็จัดเป็นปัจจุบันทั้งสิ้น ดังนั้น การคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป้นการคิดในลักษณะของการมีสติสัมปัชญญะต่อสิ่งงที่กำลังคิด
10.)วิธีคิดแบบวิภัชชวาทหรือการคิดแบบแจกแจงหลายแง่มุม โดยพูดแยกแยะจำแนกแจกแจงหรือแถลงความแบบวิเคราะห์ หมายถึง การมองและแสดงความจริงโดยแยกแยะให้เห็นแต่ละแง่แต่ละด้านครบทุกด้าน ทำให้เกิดความคิดและการวินิจฉัยเรื่องต่างๆชัดเจนตรงตามความเป็นจริงตามธรรมชาติ

การคิดแบบโยนิโสมนสิการเป็นการฝึกใช้ความคิดอย่างมีระเบียบ รู้จักวิเคราะห์ ไม่มองสิ่งต่างๆอย่างผิวเผินเป็นการสร้างปัญญา ทำให้ทุกคนเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติมีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นและนำไปสู่จุดหมายของวิถีพุทธอย่างแท้จริง

ไตรสิกขา หลักการพัฒนามนุษย์รูปแบบไตรสิกขาว่า เป็นการฝึกอบรมกาย วาจา และจิตใจของมนุษย์ให้สามารถค้นพบ เรียนรู้ และพัฒนาตนเอง โดยต้องมีปัญญาอยู่ในระดับของความเชื่อในหลักการที่ถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ เมื่อเชื่อแล้วจะนำไปสู่การศึกษา ดังนั้นในขั้นเตรียมความพร้อมก็คือ การเตรียมปัญญาและปัญญาจะพัฒนาได้ดีหรือไม่ต้องอาศัยอินทรีย์ เช่น ดู ฟัง อาศัยการเคลื่อนไหว ใช้วาจาสื่อสารได้ดีโดยมีทักษะ(ศีล) ต้องอาศัยภาวะและคุณสมบัติของใจ (สมาธิ) เช่น ความสนใจ ใฝ่ใจ ความมีใจเข้มแข็งสู้ปัญหา ความขยันอดทน มีใจแน่วแน่ มีสมาธิ จึงจะทำให้เกิดการพัฒนาไตรสิกขาได้อย่างบูรณาการ

แต่ปัจจุบันกลายเป็นระบบการศึกษาไม่สามารถตามเหตุการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทัน จนสะท้อนออกทางผลผลิต คือ “สภาพบุคคลในสังคม” ต้องผจญกับปัญหาต่าง ๆ มากขึ้นทั้งปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาชีวิต รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมอื่น ๆ รุมเร้าเข้ามารอบด้าน เป็นการศึกษาที่หย่อนยานด้านวินัยด้านคุณธรรมเพราะไม่สามารถพัฒนาให้สมดุลกับความรู้ได้ การพัฒนาด้านคุณธรรมของบุคคลจะให้เกิดผลดีนั้นจะต้องใช้วิธีการของศาสนาเข้ามาผสมผสาน เพราะหลักการของศาสนาทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่ออบรมสั่งสอน ปลูกฝังคุณธรรมแก่บุคคลให้เป็นคนดี มีปัญญามีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น แนวความคิดและคำสั่งสอนของทุกศาสนา จึงเป็นหลัก “ปรัชญาชีวิต” ที่ใช้เป็น “หลักการของชีวิต” ได้ดียิ่งเพราะได้วางกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติไว้อย่างละเอียดให้บุคคลได้ดำเนินชีวิตตามด้วยความราบรื่น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีสันติสุข ซึ่งเป็นหลักการชีวิตที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาชีวิตบุคคลไปในทิศทางเดียวกันกับจุดมุ่งหมายของการศึกษาโดยทั่วไป ฉะนั้นเพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือแห่งกระบวนการที่ใช้พัฒนาบุคคลได้สมบูรณ์ยิ่งทั้งในด้านการพัฒนาจิตใจ การปลูกฝังวินัยคุณธรรม ให้เกิดความสำนึกรับผิดชอบต่อชีวิตตน สังคมเป็นบุคคลที่มีคุณภาพตามจุดมุ่งหมายจึงควรนำหลักการศึกษาแบบ “ไตรสิกขา”ของศาสนามาผสานให้กลมกลืนเป็นกระบวนการเดียวกันกับระบบการศึกษาในปัจจุบันเพื่อ “พัฒนานิสัยทำงานด้วยใจรัก”ให้มากขึ้น จุดประสงค์หลักของการนำหลักไตรสิกขามาผสานเข้ากับระบบการศึกษา คือ

  • เพิ่มเติมความสมบูรณ์ด้านวินัยคุณธรรมแก่บุคคลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  • เพื่อพัฒนาจิตใจให้สงบ หนักแน่น เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นสูงขึ้น
  • เพื่อเตรียมพลังจิตใจไว้รับการเรียนรู้ทุกสถานการณ์
  • เพื่อพัฒนานิสัยให้เป็นนักสร้างสรรค์ สร้างงาน สร้างชีวิต
  • เพื่อให้นำหลักวินัยคุณธรรมใช้เป็น หลักยึดในการดำรงชีวิต

เมื่อนักเรียนได้รับการพัฒนาจิตใจ ตามกระบวนการของหลัก “ไตรสิกขา”ได้มั่นคงดีแล้วจึงให้เรียนความรู้ด้านวิชาการไว้เป็นพื้นฐานในการใฝ่เรียนวิชาชีพและใฝ่เรียนวิชากรขั้นสูงต่อไปอันเป็นการพัฒนาบุคคลด้วยความรู้ให้คู่กับคุณธรรม โรงเรียนวิถีพุทธดำเนินการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างบูรณาการ ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการพัฒนา “การกิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” คือ มีปัญญารู้เข้าใจในคุณค่าแท้ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมแสวงหาปัญญา และมีวัฒนธรรมเมตตาเป็นฐานการดำเนินชีวิต โดยมีผู้บริหาร และคณะครูเป็นกัลยาณมิตร ช่วยกันพัฒนาดำเนินการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีวิถีการทำงาน วิถีชีวิต วิถีการเรียนรู้ วิถีวัฒนธรรมต่าง ๆ ตามหลัก “ไตรสิกขา” ที่นำไปสู่ “ปัญญา” วิถีชีวิตที่ดีงามตามหลักไตรสิกขาทั้ง ๓ ด้าน

  1. ศีล (พฤติกรรม)
  • มีกิริยามารยาท กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น
  • รู้จักพิจารณาเลือกเสพสิ่งบริโภค และสื่อต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ด้วยปัญญา
  • รู้จักความพอดี พอประมาณ ในการแสวงหา บริโภค สะสมสิ่งต่าง ๆ
  • ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ภายนอกที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดวินัยในตนเอง
  • ไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่นโดยมีศีล ๕ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต
  • มีชีวิตที่สัมพันธ์ด้วยดีกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
  1. จิตใจ (สมาธิ)
  • มีสมรรถภาวะที่ดี คือ มีสมาธิ มีความตั้งมั่น เข้มแข็ง มุ่งมั่นทำดี ด้วยจิตใจกล้าหาญ อดทน สู้สิ่งยาก ขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อสามารถฟันฝ่าอุปสรรคผ่านความยากลำบากไปได้ พึ่งตนเองได้
  • มีคุณภาวะ คือ มีความกตัญญูรู้คุณ มีจิตใจเมตตา กรุณาโอบอ้อมอารีมีน้ำใจ ละอายชั่วกลัวบาป ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ กล้ารับผิด เกิดจิตที่เป็นบุญกุศลอย่างสม่ำเสมอ
  • มีสุขภาวะที่ดี คือ มีความสุข ความร่าเริง เบิกบาน มองโลกในแง่ดี มีกำลังใจ เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ในการร่วมกิจกรรมงานต่าง ๆ
  1. ปัญญา
  • มีศรัทธาเลื่อมใสและมีความเข้าใจในพระรัตนตรัย ในกฎแห่งกรรม และในหลักบาปบุญคุณโทษ
  • มีทักษะและอุปนิสัยในการเรียนรู้ทีดี จูงใจ ใฝ่รู้ รู้จักการค้นคว้าการจดบันทึกให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การคิดวิเคราะห์ประมวลผลสามารถนำเสนอถ่ายทอดได้ทั้งแบบกลุ่มและรายบุคคล
  • มีทักษะชีวิตเท่าทันต่อสิ่งเร้าภายนอกและกิเลสภายในตนสามารถแก้ปัญหาชีวิตได้สามารถนำหลักธรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้มีฐานชีวิตที่ดีมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติธรรม เกิดปัญญาเข้าใจในสัจธรรมในชีวิต
  • ได้ตามวุฒิภาวะของตน สามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่ปการปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญงอกงามในธรรมที่สูงยิ่งขึ้นไป
  • เน้นการจัดสภาพทุกๆ ด้าน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนพัฒนาตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการ


ปัญญาวุฒิธรรม ๔ คือ คุณธรรมที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางสติปัญญาเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้โรงเรียนวิถีพุทธ[7] ประกอบด้วย

1 สัปปุริสังเสวะ หมายถึง การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครู อาจารย์ดี มีข้อมูล มีสื่อที่ดี กำหนดคุณลักษณะผู้สอนในโรงเรียนวิถีพุทธ[8] ดังนี้
1.1) เป็นตัวอย่างที่ดีในลักษณะ “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” อย่างสม่ำเสมอ
1.2) เป็นกัลยาณมิตรของผู้เรียน มีเมตตาธรรม ความอ่อนโยน อดทนอดกลั่นและสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้เรียนอยู่เสมอ
2 สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง การมีหลักสูตรการสอนที่ดีดังนี้

หลักสูตรเป็นหัวใจสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอนเพราะหลักสูตรเป็นเมือนแม่บทมีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาทุกประเภท กำหนดแนวการจัดหลักสูตรสถาศึกษาโรงเรียนวิถีพุทธมีดังนี้

2.1) เพิ่มเติมพุทธธรรมในวิสัยทัศน์ คุณลักษณ์อันพึ่งประสงค์ของผู้เรียน
2.2) เพิ่มเติมคุณธรรม จริยธรรม ในตัวชี้วัดและคำอธิบายรายวิชา
2.3) มีการบูรณาการพุทธธรรมในการจัดหน่วยการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระ
2.4) สอดแทรกความรู้และการปฏิบัติจริงทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนบูรณาการไตรสิกขาเข้าในชีวิตประจำวันทั้งในและนอกห้องเรียน
3 โยนิโสมนสิการ หมายถึง กระบวนการคิดวิเคราะห์พิจารณาเหตุผลที่ดีและถูกวิธีมีความสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้สถานศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนเกิดโยนิโสมนสิการและธัมมานุธัมมปฏิปัตติ [9] ดังนี้
3.1) พัฒนาผู้เรียนรอบด้านทั้งกาย (กายภาวนา) ความประพฤติ (สีลภาวนา) จิตใจ (จิตภาวนา) ปัญญา (ปัญญาภาวนา)
3.2) ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้มีโอกาสเรียนรู้และปฏิบัติธรรมอย่างสอดคล้องกับชีวิต
3.3) สร้างเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแสวงหาปัญญาและวัฒนธรรมเมตตา
3.4) เน้นให้เกิดการเรียนรู้แบบโยนิโสมนสิการ เข้าใจและค้นพบคุณค่าแท้

การเรียนรู้ตามนัยแห่งพุทธธรรม เป็นการจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์การจัดบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมกับการฝึกหัดอบรมกาย วาจา ใจ การเผชิญสถาณการณ์ การแก้ไขปัญหาด้วยการรู้คิดอย่างถูกต้องและแยบคาย กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงจึงเกิดผลอย่างสมบูรณ์แก่ผู้เรียน คือ สร้างความรู้ ความคิด ความสามารถและความดี วิถีการเรียนรู้ มีรากฐานที่สำคัญที่สุด คือ ความรักและความเข้าใจ

4.ธัมมานุธัมมปฏิปัติ หมายถึง ความสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดภาพแห่งความเจริญงอกงามแห่งปัญญา ตามที่ เมตตา ภิรมย์ภักดิ์ สรุปเป็นภาพดังภาพ[10]

ปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาตามหลักไตรสิกขาได้อย่างชัดเจรสำหรับแนวคิดเบื้องต้นขิงการจัดสภาพในสถานศึกษาที่เหมาะสมในด้านต่างมีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ด้านกายภาพ

สถานศึกษาจะจัดอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อมห้องเรียน และแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริม การพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา เช่น มีศาลาพระพุทธรูปเด่นเหมาะสมที่จะชวนให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยอยู่เสมอ มีมุมหรือห้องให้ศึกษาพุทธรรม บริหารจิตเจริญภาวนาเหมาะสม หรือมากพอที่จะบริการผู้เรียน หรือตกแต่งบริเวณให้เป็นธรรมชาติหรือใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนให้มีใจสงบ และส่งเสริมปัญญา เช่น ร่มรื่น มีป้ายนิเทศ ป้ายคุณธรรม ดูแลเสียงต่างๆ มิให้อึกทึก ถ้าเปิดเพลงกระจายเสียงก็พิถีพิถันเลือกเพลงที่ส่งเสริมสมาธิ ประเทืองปัญญา เป็นต้น

  1. ด้านกิจกรรมพื้นฐานวิถีชีวิต

สถานศึกษาจัดกิจกรรมวิถีชีวิต ประจำวันประจำสับดาห์ หรือในโอกาศต่างๆเป็นภาพรวมทั้งสถานศึกษา ที่เป็นการปฏิบัติบูรณาการทั้งศีล สมาธิ และปัญญา โดยเน้นการมีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของการกิน อยู่ ดู ฟัง ด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นไปตามคุณค่าแท้ของการดำเนินชีวิต โดยมีกิจกรรมตัวอย่างดังนี้

1.) มีกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ ก่อนเข้าเรียนและก่อนเลิกเรียนประจำวัน (เพื่อใกล้ชิดศาสนา)
2.) มีกิจกรรมรับศีล หรือทบทวนศีลทุกวันอาจเป็นบทกลอนหรือเพลง เช่นเดียวกับกิจกรรมแผ่เมตตา (เพื่อให้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข)
3.) มีกิจกรรมทำสมาธิรูปแบบต่าง เช่น นั่งสมาธิ ท่องอาขยานเพื่อสมาธิ สวดมนต์สร้างสมาธิ หรือทำสมาธิเคลื่อนไหวอื่นๆ เป็นประจำหรือก่อนเรียน (เพื่อพัฒนาสมาธิ)
4.) มีกิจกรรมพิจารณาอาหารก่อนรับประทานอาหารกลางวัน (เพื่อให้กินเป็น กินอย่างมีสติ มีปัญญารู้เข้าใจ)
5.) มีกิจกรรมอาสาตาวิเศษปฏิบัติวินัยหรือศีล (เพื่อให้เป็น อยู่อย่างสงบสุข)
6.) มีกิจกรรมประเมินผลการปฏิบัติธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา) ประจำวัน (เพื่อให้อยู่เป็น)
7.) มีการสวดมนต์ ฟังธรรมประจำสัปดาห์ หรือในวันพระ เพื่อการพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญา)
8.) มีกิจกรรมบันทึกและยกย่องการปฏิบัติธรรม (เน้นย้ำและส่งเสริมแรงการทำความดี)
9.) ทุกห้องเรียนมีการกำหนดข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน ดดยเข้าใจเหตุผลประโยชน์ที่มีต่อการอยู่ร่วมกัน (พัฒนาศีล/วินัย ด้วยด้วยปัญญา) ฯลฯ
  1. ด้านการเรียนการสอน

สถานศึกษามีการจัดหลักสูตรสถานศึกษาหรือจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการพุทธธรรมเพื่อพัฒนาการผู้เรียนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างชัดเจน เพื่อเป็นการพัฒนาผู้เรียนด้วยหลักพุทธธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น

1.) หลักสูตรสถานศึกษามีการดำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ที่สะท้อนการพัฒนาไตรสิกขาไปพร้อมกัน
2.) การจัดหน่วยการเรียนรู้ทุกชั้นให้มีการบูรณาการพุทธธรรมในการเรียนรู้และปฏิบัติ
3.) การจัดการเรียนรู้แต่ละครั้งนำพุทธธรรมมาเป็นฐานในการคิด หรือเป็นเกณฑ์ตรวจสอบการเรียนรู้การปฏิบัติ หรือเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่หลักธรมในการพัฒนาตนและผู้อื่น
4.) ประสานร่วมมือกับวัด/คณะสงฆ์ในการจัดการเรียนรู้ ทั้งสารพระพุทธศาสนาและกลุ่มสาระหรือกิจกรรมอื่นๆเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนใกล้ชิดกบพระพุทธศาสนาในบริบทต่างๆ

ทั้งนี้กระบวนการจัดการเรียนรู้ควรมีลักษณะ “สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” โดยนักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาทั้งด้านกาย (กายภาวนา) ด้านความประพฤติ (สีลภาวนา) ด้านจิตใจ (จิตตภาวนา) และด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา) โดยมุ่งให้นักเรียนมีคุณลักษณะ “กิน อยู่ ดู ฟัง เป็น” เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนและสังคมโดยไม่เบียดเบียนผู้ใดและเกื้อกูลในการพัฒนาวัฒนธรรมแสวงปัญญาและวัฒนธรรมเมตตา เช่น “การกิน อยู่ เป็น” เพื่อยังเป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตที่อยู่ได้เหมาะสมเป็นไปตามคุณค่าแท้ หรือ “การดู ฟัง เป็น” เพื่อเน้นประโยชน์ในการเรียนรู้เพิ่มพูนปัญญา

  1. ด้านบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์

สถานศึกษาส่งเสริมบรรยากาศของการใฝ่รู้ และพัฒนาไตรสิกขา หรือส่งเสริมการมีวัฒนธรรมแสวงปัญญา และมีปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลป์ยานมิตรต่อกัน มีบรรยากาศของการเคารพอ่อนน้อม ยิ้มแย้มแจ่มใส การมีความเมตตา กรุณาต่อกัน ทั้งครูต่อนักเรียน นักเรียนต่อครู นักเรียนต่อนักเรียน และครูต่อครูด้วยกัน และสถานศึกษาส่งเสริมให้บุคลากรและนักเรียนปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เช่น การลด ละ เลิกอบายมุข การเสียสละ เป็นต้น

  1. ด้านการบริหารจัดการ

สถานศึกษาโดยบุคลากรในสถานศึกษาร่วมกับผู้ปกครองและชุมชน สร้างความตระหนักและศรัทธา รวมทั้งเสริมสร้างปัญญาเข้าใจในหลักการและวิถีการดำเนินการโรงเรียนวิถีพุทธร่วมกันทั้งนี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูและผู้บริหารเพียรพยายามสนับสนุนโดยลักษณะต่างๆและการปฏิบัติตนเอง ที่จะสนับสนุนและเป็นตัวอย่างในการพัฒนาผู้เรียนตมวิถีชาวพุทธ สถานศึกษาวิเคราะห์จัดจุดเน้นหรือรูปแบบรายละเอียดโรงเรียนวิถีพุทธ ตามความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ซึ่งแต่ละสถานศึกษาจะมีจุดเน้นและลายละเอียดรูปแบบที่แตกต่างกันได้ เช่น บางสถานศึกษาจะมีจุดเน้น ประยุกต์ไตรสิกขาในระดับชั้นเรียน (การจัดกระบวนการเรียนรู้รายวิชา) บางสถานศึกษาเน้นประยุกต์ในระดับกิจกรรมวิถีชีวิตประจำวันภาพรวม บางสถานศึกษาอาจทำทั้งระบบทุกส่วนงานการจัดการศึกษาก็เป็นไปได้

อัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ ๒๙ ประการ แก้

 
โรงเรียนวิถีพุทธ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านพฤติกรรม ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียนให้เป็นกัลยาณมิตรที่เอื้อต่อแห่งการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในเชิงบวก

โรงเรียนวิถีพุทธ มีสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และส่วนวางแผนและพัฒนาการอบรม สังกัดสถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นผู้วิเคราะห์ สังเคราะห์ แนวทางดำเนินการ รวมทั้งประสานงาน และนิเทศส่งเสริมการดำเนินงาน ตามเกณฑ์ตัวชี้วัดแนวทางในการประเมินตนเองตามอัตลักษณ์โรงเรียนวิถีพุทธ 5 ด้าน รวม 29ประการ ซึ่งสร้างขึ้นจากการวิเคราะห์ สังเคราะห์ แนวทางดำเนินการเดิมในปี พ.ศ. 2546 โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553[3] โดยใช้คำว่า "แนวทางดำเนินการ 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ " ประกอบด้วย

ด้านกายภาพ ๗ ประการ คือ มีป้ายโรงเรียนวิถีพุทธ, มีพระพุทธรูปหน้าโรงเรียน, มีพระพุทธรูปประจำห้องเรียน, พระพุทธศาสนสุภาษิต วาทะธรรม พระราชดำรัสติดตามที่ต่าง ๆ, มีความสะอาด สงบ ร่มรื่น, มีห้องพระพุทธศาสนาหรือลานธรรม และไม่มีสิ่งเสพติดเหล้าบุหรี่ 100 %

ด้านกิจกรรมประจำวันพระ ๔ ประการ คือ ใส่เสื้อขาวทุกคน, ทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์, รับประทานอาหารมังสวิรัติในมื้อกลางวัน และสวดมนต์แปล

 
อัตลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของโรงเรียนวิถีพุทธคือ สนับสนุนให้มีพระสงฆ์เข้ามาสอนศีลธรรมอย่างสม่ำเสมอ

ด้านการเรียนการสอน 5 ประการ คือ มีการบริหารจิต เจริญปัญญา ก่อนเข้าเรียน เช้า บ่าย ทั้งครู และ นักเรียน, มีการบูรณาการวิถีพุทธ ทุกกลุ่มสาระ และในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา, ครู พานักเรียนทำโครงงานคุณธรรม กิจกรรมจิตอาสาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง, ครู ผู้บริหาร และ นักเรียน ทุกคน ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดเดือนละ 1 ครั้ง มีวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ และครู ผู้บริหาร และ นักเรียนทุกคน เข้าค่ายปฏิบัติธรรมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ด้านพฤติกรรม ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน 5 ประการ คือ ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียนรักษาศีล 5, ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียนยิ้มง่าย ไหว้สวย กราบงาม, ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน ก่อนรับประทานอาหารจะมีการพิจารณาอาหาร รับประทานอาหารไม่ดัง ไม่หก ไม่เหลือ เป็นต้น, ครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน มีความประหยัด]ออม ถนอมใช้ เงิน และ สิ่งของ และครู ผู้บริหารโรงเรียนและนักเรียน มีนิสัยใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก

ด้านการส่งเสริมวิถีพุทธ 8 ประการ คือ ไม่มีอาหารขยะขายในโรงเรียน, ครู ผู้บริหารโรงเรียนไม่ดุ ด่า นักเรียน, ครู ผู้บริหารโรงเรียน ชื่นชมคุณความดี หน้าเสาธงทุกวัน, มีโฮมรูมเพื่อสะท้อนความรู้สึก เช่นความรู้สึกที่ได้ทำความดี, ครู ผู้บริหาร และนักเรียน มีสมุดบันทึกความดี, ครู ผู้บริหาร และนักเรียน สอบได้ธรรมศึกษาตรีเป็นอย่างน้อย, ครู ผู้บริหารโรงเรียน และนักเรียน บริหารจิต เจริญปัญญา ก่อนการประชุมทุกครั้ง และมีพระมาสอนอย่างสม่ำเสมอ[3]

รางวัลโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ แก้

ในปี พ.ศ. 2553 สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ริเริ่มส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนดำเนินการตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธอย่างต่อเนื่องให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อนำเป็นคะแนนในตัวชี้วัดตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ARS โดยมีการจัดการเยี่ยม ประเมิน เสนอแนะ เพื่อการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธ ใน 2 ปีงบประมาณ จำนวนเกือบ 4,000 โรงเรียน โดยได้คัดเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ ปีละ 1 รุ่น ๆ ละ 100 โรงเรียน โดยได้ดำเนินการคัดเลือกมาจนถึงรุ่นที่ 4 ในปี พ.ศ. 2556 เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินการตามโครงการโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำเหล่านั้น ให้เป็นแบบอย่างแก่โรงเรียนวิถีพุทธอื่น ๆ[3]

โดยโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ 100 โรงเรียน ในแต่ละรุ่น ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ชี้วัดอัตลักษณ์ 29 ประการ ซึ่งได้ผ่านการประเมินคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับประเทศ จะได้รับโล่โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ และใบประกาศเกียรติคุณจากสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย[3]


รางวัลโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน แก้

ในปี พ.ศ. 2557 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ริเริ่มดำเนินการให้มีการประเมินคัดเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำดีเด่น จำนวน 27 โรงเรียน ทั่วประเทศ เพื่อเข้ารับรางวัล "โรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน" ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดของการดำเนินงานส่งเสริมโรงเรียนวิถีพุทธในประเทศไทย[4]

แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ ๕๔ ตัวชี้วัด แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. (2557). มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 13/2547 มติที่ 207 เรื่อง ส่งเสริมและสนับสนุนโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.mahathera.org เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
  2. 2.0 2.1 คณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา. (2557). โรงเรียนวิถีพุทธ . [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.moe.go.th . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.). (2557). แนวทางดำเนินการ 29 ประการสู่ความเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.vitheebuddha.com . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
  4. 4.0 4.1 สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2557). รายงานการตรวจเยี่ยมประเมิน เพื่อคัดเลือกโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ รุ่นที่ 5 โครงการศึกษาและพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธสู่อัตลักษณ์ 29 ประการ (ประจำปี พ.ศ. 2557) : โรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำระดับโล่พระราชทาน . พระนครศรีอยุธยา : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อัดสำเนา
  5. 5.0 5.1 5.2 สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.). (2557). ความเป็นมาโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.vitheebuddha.com . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57
  6. 6.0 6.1 6.2 กระทรวงศึกษาธิการ. (2557). สู่เส้นทางโรงเรียนวิถีพุทธ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : www.moe.go.th . เข้าถึงเมื่อ 5-5-57

แหล่งข้อมูลอื่น แก้