สุรา
สุรา หรือภาษาไทคําดั้งเดิม เหล้า (อังกฤษ: liquor หรือ spirit) หมายถึง น้ำเมาที่ได้จากการกลั่นสารบางประเภท อาทิ เอทิลแอลกอฮอล์ และ เมรัย คือ น้ำเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่ให้เกิดสารบางประเภท เมื่อดื่มแล้วสารนั้นจะออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง หากดื่มไม่มากอาจรู้สึกผ่อนคลายเนื่องจากสารกดจิตใต้สำนึกที่คอยควบคุมตนเองทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น แต่เมื่อดื่มมากขึ้นก็จะกดสมองบริเวณอื่น ๆ ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด จนแม้กระทั่งหมดสติในที่สุด
ประเทศต่าง ๆ ได้วางกฎเกณฑ์สำหรับการผลิต การขาย และการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ตัวอย่างเช่น กฎหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับผู้ที่สามารถบริโภคได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีสำหรับประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรียและสวิสเซอร์แลนด์, ไม่ต่ำกว่า 20 ปีในประเทศไทย หรือไม่ต่ำกว่า 21 ปีในสหรัฐอเมริกา
การบริโภคทั้งสุราและเมรัยเป็นข้อห้ามในข้อสุราเมรยมัชปมาทัฏฐานหรือข้อที่ 5 แห่งเบญจศีลของพุทธศาสนา ซึ่งว่า "สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ" แปลได้ว่า "เราจักถือศีลโดยเว้นจากการบริโภคสุรายาเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท"
การผลิต
แก้การทำเมรัยอาศัยยีสต์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดหนึ่งเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์ เมรัยผลิตได้จากวัตถุดิบทุกอย่างที่มีน้ำตาล แต่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เมรัยทำจากน้ำตาลโตนดเรียกว่าน้ำตาลเมาหรือตวาก จากน้ำตาลขององุ่นเรียกว่าไวน์ เป็นต้น มนุษย์ยังรู้จักใช้เชื้อรา (บางชนิด) เปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลได้ ทุกอย่างที่เป็นแป้ง เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ สามารถใช้ผลิตเมรัยได้ สาโท น้ำขาว อุ และ กระแช่ ผลิตจากแป้ง หากต้องการให้มีฤทธิ์แรงขึ้นก็นำเอาไปกลั่นเป็นสุรา หลังจากนั้นสามารถนำไปดื่มหรือนำไปหมักหรือบ่มต่อไป
เภสัชวิทยาของเหล้า
แก้เหล้ามีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แม้ว่าในเหล้าชนิดต่าง ๆ ยังมีสารอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์ของเหล้าชนิดนั้น ๆ โดยเฉพาะเหล้าที่นำมาหมักดองกับสมุนไพรเพื่อปรุงแต่งสี กลิ่น รสชาติและสรรพคุณ เช่น เหล้าดองยาของไทย เหล้าเซี่ยงชุนของจีน เหล้าแคมปารี ของอิตาลี เป็นต้น สารปรุงแต่งเหล่านี้เมื่อดื่มในปริมาณมาก หรือ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อผู้ดื่มได้ แต่เมื่อดื่มในระยะเฉียบพลัน อาการต่าง ๆ ของผู้ดื่มนับได้ว่าเกิดจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น
แอลกอฮอล์เป็นของเหลว ใส ระเหยได้ง่าย ละลายน้ำได้ดี มีกลิ่นเฉพาะตัว และ ติดไฟได้ง่าย แอลกอฮอล์เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยคาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ความรุนแรงของการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับปริมาณของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่ในกระแสโลหิต แอลกอฮอล์ที่กินได้ คือแอลกอฮอล์ชนิดเอทิล ส่วนแอลกอฮอล์ชนิดอื่นล้วนกินไม่ได้และเป็นพิษต่อร่างกายมากยิ่งไปกว่าเอทิล ถ้าเอาแอลกอฮอล์ชนิดอื่น เช่น เมทิลแอลกอฮอล์มาผสมเป็นเหล้า กินเข้าไปแล้วทำให้ปวดหัว ตาพร่า จนบอด และถึงกับเสียชีวิตได้
เมื่อกินเหล้าเข้าไปผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้เล็ก แอลกอฮอล์ในเหล้าจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อกินอาหารมาก่อน แอลกอฮอล์ใช้เวลา 1 ถึง6 ชั่วโมง จึงจะถูกดูดซึมไปถึงระดับสูงสุดในเลือด แต่ถ้ากินเหล้าในขณะที่ท้องว่าง แอลกอฮอล์ใช้เวลาถูกดูดซึมสู่ ระดับสูงสุดในเลือด เพียง 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง แอลกอฮอล์ในร่างกายถูกกำจัดโดยตับเป็นส่วนใหญ่ (95 เปอร์เซ็นต์) ที่เหลือถูกขับออกทางลมหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ น้ำนม และน้ำลาย
แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เกิดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย แอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดอาการอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ผู้ที่กินเหล้าจึงปัสสาวะบ่อย สูญเสียน้ำและรู้สึกกระหายน้ำมากในเวลาต่อมา อีกประการหนึ่ง บรรยากาศวงเหล้า ผนวกกับพลังงานที่ได้จากเหล้ามักทำให้ผู้ดื่มไม่รู้สึกอยากอาหาร ดังนั้นผู้ที่กินเหล้าเป็นนิจจึงอาจขาดสารอาหารได้ ที่สำคัญแอลกอฮอล์ทำให้เกิดความเสียหายที่เนื้อตับ คนกินเหล้าจึงมีโอกาสเป็นตับอักเสบมากกว่าคนไม่กินและอาจพัฒนาไปถึงขั้นตับวายได้
เหล้ากับคน
แก้มีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับฤทธิ์ของเหล้าและแอลกอฮอล์ ถูกบ้างผิดบ้าง ผู้ที่นิยมดื่มก็มักอ้างฤทธิ์อันเป็นคุณของเหล้าหรือแอลกอฮอล์มาบดบังฤทธิ์ที่ก่อให้เกิดโทษซึ่งมีมากกว่าหลายเท่านัก เช่น แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้จริงแต่ไม่สามารถทำลายไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิที่ปะปนมากับกับแกล้มดิบ ๆ สุก ๆ ได้ และยิ่งไม่สามารถฆ่าพยาธิ์ตัวแก่ในลำไส้ได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ผู้นิยมดื่มก็มักอ้างว่ากินเหล้าเพื่อให้เลือดลมดี ซึ่งก็เป็นจริงเมื่อกินเหล้าในปริมาณน้อย (ถึงน้อยมาก) แต่เมื่อกินเหล้ามาก แอลกอฮอล์จะกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้พูดจาไม่ชัด ทรงตัวลำบาก สายตาพร่ามัว ขาดสติ ตับแข็ง และอาจเกิดอันตรายนานับปการต่อผู้ดื่มและคนรอบข้าง นอกจากนั้นแล้วการดื่มสุรามากจะทำให้ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันลดลง เช่น การขับรถ การทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เป็นต้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
การเลิกเหล้า
แก้เนื่องจากเหล้าและแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มมึนเมา ทำให้ขาดสติ ผู้ดื่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ จากสุราทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง และอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนหมู่มาก[1] ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องเสียภาษีให้รัฐบาลในอัตราที่สูงมากด้วย[2] ซึ่งกระทบกับการเงินของตนเอง กระทบต่อความเป็นอยู่ของคนรอบข้าง ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า 'เงินพ่อลงขวดเหล้า ใครจะซื้อกับข้าวให้หนู'[3] รัฐบาลจึงมีนโยบายรณรงค์ เรื่อง 'ให้เหล้าเท่ากับแช่ง'[4] โดยมีชุดพวงหรีดเป็นไฮไลท์ประกอบแคมเปญเพื่อรณรงค์[5] และมีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การเลิกเหล้า" สำหรับผู้ดื่ม โดยสามารถปรึกษาแพทย์ที่คลินิคเพื่อการเลิกสุราในโรงพยาบาลของรัฐ[6] หรือสามารถโทรศัพท์ไปที่ 'สายด่วนเลิกเหล้า 1413' ของศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[7] ได้อีกทางหนึ่ง
ประเภท
แก้วัตถุดิบ | ผลิตผลที่ทำโดยการหมัก (เมรัย) | ผลิตผลที่ทำโดยการกลั่น (สุรา) |
---|---|---|
ข้าวบาร์เลย์ | เบียร์ เอล ไวน์บาร์เลย์ | สก๊อตวิสกี้ ไอริชวิสกี้, ยิน |
ข้าวไรย์ | เบียร์ข้าวไรย์ | วิสกี้ข้าวไรย์ Roggenkorn กอร์น (เยอรมนี) |
ข้าวโพด | เบียร์ข้าวโพด | เหล้าข้าวโพด, เบอร์เบิ้นวิสกี้ |
ข้าวสาลี | เบียร์ข้าวสาลี | วิสกี้, Weizenkorn (เยอรมนี) |
ข้าว | เหล้าสาเก, sonti, makkoli, tuak, thwon | โชจู อะวะโมะริ (ญี่ปุ่น), โซจู (เกาหลี), หวงจิ่ว เชาจิ่ว (จีน) |
ผลไม้ที่ไม่ใช่แอปเปิลและลูกแพร์ | ไวน์ (ส่วนใหญ่ทำจากองุ่น) | บรั่นดี, คอนญัก (ฝรั่งเศส), Branntwein (เยอรมนี), ปิสโก (ชิลีและเปรู) |
แอปเปิล | ("hard") เหล้าแอปเปิล, apfelwein (เยอรมนี) | บรั่นดีแอปเปิล, กาลวาโดส, cider, lambig |
แพร์ | perry, or pear cider | pear brandy |
อ้อยหรือกากน้ำตาล | basi, betsa-betsa (regional) | เหล้ารัม, cachaça, aguardiente, guaro, โชจู (ญี่ปุ่น) |
อะกาเว | pulque | เตกีลา (เม็กซิโก), mezcal |
ลูกพลัม | ไวน์พลัม | slivovitz, tzuica, palinca |
กากผลไม้ | pomace wine | tsipouro, raki, tsikoudia (กรีซ), grappa (อิตาลี), Trester (เยอรมนี), marc (ฝรั่งเศส), zivania (ไซปรัส) |
น้ำผึ้ง | เหล้าน้ำผึ้ง | น้ำผึ้งหมัก |
มันฝรั่ง หรือ ธัญพืช | เบียร์มันฝรั่ง | วอดก้า (โปแลนด์และรัสเซีย) ส่วน aquavit หรือ brännvin (สวีเดน), akvavit (เดนมาร์ค), akevitt (นอร์เวย์), brennivín (ไอซ์แลนด์) ทำจากมันฝรั่งของไอร์แลนด์, Poitín, โชจู (ญี่ปุ่น) |
นม | เหล้านมม้า | Araka |
อ้างอิง
แก้- ↑ "สถานการณ์ปัญหาผลกระทบจากการดื่มของผู้อื่น ภัยเหล้ามือสองของประเทศไทย – Centre for Alcohol Studies".
- ↑ กรมสรรพสามิต. 2566. การจัดเก็บภาษีและการคำนวณภาษีสุรา. (Online). https://www.excise.go.th/cs/groups/public/documents/document/mjaw/mdy1/~edisp/webportal16200065697.pdf สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566.
- ↑ "เงินพ่อลงขวดเหล้า ใครจะซื้อกับข้าวให้หนู". www.sanook.com/health. 2017-08-11.
- ↑ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. 2557. คนไทยเห็นด้วย “ให้เหล้าเท่ากับแช่ง”. (Online). https://www.thaihealth.or.th/คนไทยเห็นด้วย-ให้เหล้า/ สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566.
- ↑ โฆษณารณรงค์สสส. แคมเปญ ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ชุด ให้พวงหรีด, สืบค้นเมื่อ 2023-12-19
- ↑ "คลินิกเลิกบุหรี่/สุรา | Bangkruai Hospital" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-10-03.
- ↑ "ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา 1413.in.th". www.1413.in.th.
- Blue, Anthony Dias (2004). The Complete Book of Spirits: A Guide to Their History, Production, and Enjoyment. New York: HarperCollins Publishers. p. 324. ISBN 0-06-054218-7.
- Forbes, Robert. Short History of the Art of Distillation from the Beginnings up to the Death of Cellier Blumenthal. Brill Academic Publishers; ISBN 90-04-00617-6; hardcover, 1997.
- Multhauf, Robert, The Origins of Chemistry. Gordon & Breach Science Publishers; ISBN 2-88124-594-3; paperback, 1993.