กากน้ำตาล (อังกฤษ: molasses, /məˈlæsɪz, m-/, "โมลาส" หรือ black treacle) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “melaço” ในภาษาโปรตุเกส[1] กากน้ำตาลเป็นของเหลวลักษณะเหนียวข้นสีน้ำตาลดำ ที่เป็นผลพลอยจากการผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งไม่สามารถจะตกผลึกน้ำตาลได้อีก เป็นเนื้อของสิ่งที่ไม่ใช่น้ำตาลที่ละลายปนอยู่ในน้ำอ้อย ซึ่งประกอบด้วยน้ำตาลซูโครส น้ำตาลอินเวิร์ต (invert sugar) และสารเคมี เช่น ปูนขาว ที่ใช้ในการตกตะกอนให้น้ำอ้อยใส[2] กากน้ำตาลมีระดับพลังงานระดับต่ำถึงปานกลางขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำที่มีอยู่ในกากน้ำตาล มีโพแทสเซียม และมีปริมาณน้ำในระดับสูง ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย กากน้ำตาลแบ่งได้หลายชนิด

กากน้ำตาลดำ

ชนิดของกากน้ำตาล แก้

  • กากน้ำตาลจากอ้อย : เกิดจากกรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยโดยเริ่มจากการนำอ้อยเข้าหีบได้น้ำอ้อย กรองเอากากออกจากน้ำอ้อยแล้วเคี่ยวน้ำอ้อยจนได้ผลึกของน้ำตาลทรายตกตะกอนออกมา แยกผลึกน้ำตาลทรายด้วยหม้อปั่น[3] ผลพลอยได้จะมี ขี้ตะกอน กากอ้อย และ กากน้ำตาล
  • กากน้ำตาลจากหัวบีท : เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลจากหัวบีท[4]
  • กากน้ำตาลจากส้ม : น้ำตาลที่ได้จากส้มมีกลิ่นและรสต่างจากกากน้ำตาลอ้อย[4]
  • กากน้ำตาลจากข้าวโพด : กากน้ำตาลจากข้าวโพด มีน้ำตาลมากกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ หวานและหอมกว่าน้ำตาลอ้อย[4]
  • กากน้ำตาลจากไม้ : เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมกระดาษ[4]

ประโยชน์และส่วนประกอบของกากน้ำตาล แก้

ประโยชน์ของกากน้ำตาลสามารถใช้ได้ในหลายอุตสหกรรมเช่น ใช้ทำปุ๋ย ใช้เลี้ยงสัตว์ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ ใช้ในอุตสาหกรรมยีสต์ ใช้ทำผงชูรส และใช้ทำกรดน้ำส้ม แต่ส่วนใหญ่จะใช้ผลิตแอลกอฮอล์ และใช้เป็นอาหารสัตว์[5] สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแอลกอฮอล์สำหรับการผลิตสุรา และการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตแก๊สโซฮอล์ นอกจากนี้ ยังใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตผงชูรส อุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการผลิตยีสต์ ตลอดจนการนำกากน้ำตาลไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมรายย่อยต่าง ๆ เช่น นำกากน้ำตาลไปใช้หมักทำปุ๋ยน้ำ ใช้ทำน้ำสกัดชีวภาพ ใช้เพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อใช้ในฟาร์มกุ้ง ตลอดจนใช้ในการบำบัดน้ำทิ้ง

  • เหล้ารัม: เป็นสุรากลั่นที่ผลิตจากวัตถุดิบจำพวกน้ำอ้อย น้ำเชื่อมของน้ำผลไม้และกากน้ำตาล[6]
  • เหล้ายิน: หรือ "ไดร์ยิน"[7] โดยการนำกากน้ำตาลที่ทำให้บริสุทธิ์ไปหมักและกลั่น
  • น้ำส้มสายชู: ได้จากการหมักกากน้ำตาล
  • ซีอิ๊วดำ: ทำจากซีอิ๊วขาวผสมกับกากน้ำตาล แล้วนำไปต้มจนได้ความเข้มข้นพอเหมาะ สามารถนำไปใช้สำหรับปรุงอาหาร[8]
  • อาหารสัตว์: กากน้ำตาลใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย แพะ เพราะกากน้ำตาลจะช่วยเพิ่มรสชาติแก่อาหารสัตว์แล้วยังช่วยกระตุ้นการทำงานของบัคเตรีในกระเพาะซึ่งจะช่วยย่อยอาหารหยาบ เช่น ยอดอ้อย ฟางข้าว[5] การใช้กากน้ำตาลเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ใช้เพื่อเพิ่มความน่ากิน ลดฝุ่นและเพื่อยึดเม็ดอาหารให้แน่นขึ้น หรือใช้เป็นพาหะสำหรับยา[4]
  • แอลกอฮอล์: โดยนำเอากากน้ำตาลมาทำให้เจือจางด้วยน้ำแล้วหมักโดยอาศัยเชื้อยีสต์เปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นแอลกอฮอล์ จากนั้นก็นำมากลั่นแยกแอลกอฮอล์ออกซึ่งจะได้แอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธ์ประมาณ 95% ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้แตกต่างกันไปตามคุณภาพของกากน้ำตาล ตลอดจนกรรมวิธีการผลิตแอลกอฮอล์ของโรงงานนั้น โดยกากน้ำตาลหนัก 1 ตันจะให้แอลกอฮอล์ประมาณ 238-340 ลิตร[9][5]
  • ผลิตไฟฟ้า: โดยการย่อยสลายสารอินทรีย์จากกากน้ำตาลในบ่อหมักจะได้ก๊าซชีวภาพออกมา ซึ่งประกอบด้วยก๊าซหลัก ได้แก่ แก๊สมีเทน 65% เป็นก๊าซติดไฟ ให้ความร้อน 9,000 กิโลแคลอรีต่อลูกบาศก์เมตร ร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ 35% และก๊าซอื่น ๆ เช่น ก๊าซไข่เน่า ก๊าซไนโตรเจน และความชื้น[10]

ส่วนประกอบของกากน้ำตาล[11]

ส่วนประกอบ เปอร์เซ็นต์ %
น้ำตาลที่ใช้หมักเชื้อ 50.1
ซูโครส 36.66
น้ำ 20.65
เถ้าซัลเฟต 15
น้ำตาลรีดิวซ์ 13
โพแทสเซียม K2O 4.19
ยางและแป้ง 3.43
แคลเซียม CaO 1.35
แมกนีเซียม MgO 1.12
ไนโตรเจน 0.95
ซิลิกาในรูป SiO2 0.46
ขี้ผึ้ง 0.38
ฟอสเฟต P2O5 0.12

อ้างอิง แก้

  1. Origin of MOLASSES. merriam-webster.
  2. ธุรกิจต่อเนื่อง เก็บถาวร 2016-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Thai Sugar Mill Group.
  3. กระบวนการผลิตน้ำตาลทราย. ไทยชูการ์ มิลเลอร์.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "เทคนิคอาหารสัตว์เคี้ยวเอี้อง". การผลิตโคนม. คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013.
  5. 5.0 5.1 5.2 เกษม สุขสถาน (บ.ก.). "การใช้ประโยชน์น้ำตาล". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 5. guru.sanook.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2013.
  6. กำเนิดเหล้ารัม. uncle tom house.
  7. GIN การกำเนิดเหล้ายิน. uncle tom house.
  8. ซีอิ๊วดำ. thaicuisinenetwork.
  9. กระบวนการผลิตเอทานอล[ลิงก์เสีย] สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลแห่งประเทศไทย.
  10. โรงไฟฟ้า “กากน้ำตาล” บุกบ้านแพ้ว คำถาม-ความกังวลที่ไร้คำตอบ. Sakhononline.com.
  11. กระบวนการ R-phenylacetylcarbinol ไบโอทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบสองเฟสที่ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพชนิดเซลล์รวมในสภาวะเขย่า. คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.