โซยุซ (ท่อส่งแก๊ส)

โซยุซ (รัสเซีย: Союз) เรียกอีกอย่างว่าเส้นทางโอเรนบุร์ก–สหภาพโซเวียตตะวันตก เป็นเส้นทางท่อส่งแก๊สธรรมชาติคู่ขนานทางไกลจากเมืองโอเรนบุร์กในประเทศรัสเซีย (ที่ชายแดนกับคาซัคสถาน) ถึงเมืองอุฌฮอรอดในประเทศยูเครน

คนงานระหว่างการก่อสร้าง (ค.ศ. 1976)
แผนที่ของท่อส่งแก๊สเส้นทางต่าง ๆ จากรัสเซียไปยังยุโรปกลาง

เส้นทางนี้ทำหน้าที่ขนส่งแก๊สธรรมชาติจากแหล่งสำรองแก๊สขนาดใหญ่ในภาคใต้ของภูมิภาคอูราลและเอเชียกลางไปยังยุโรปตะวันออก และจากจุดนั้นทำการส่งต่อผ่านท่อส่งทรานส์แก๊ส (Transgas) ไปยังยุโรปกลางและยุโรปตะวันตกต่อไป[1][2]

ประวัติ แก้

ใน พ.ศ. 2509 แหล่งแก๊สธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเท่าที่ทราบในขณะนั้นถูกค้นพบทางทิศใต้ห่างประมาณ 30 กิโลเมตรจากเมืองโอเรนบุร์ก ระหว่างการเจาะสำรวจในแอ่งวอลกา-อูราล[3][4] นอกจากแก๊สแล้ว ยังมีแก๊สธรรมชาติเหลวและน้ำมันดิบในปริมาณที่คุ้มค่าในการลงทุน แก๊สมีส่วนผสมของฮีเลียมความเข้มข้นสูงเป็นพิเศษ ซึ่งทำให้คุ้มค่าที่จะสร้างโรงงานดักจับเพื่อนำมาใช้ประโยชน์[4] ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แหล่งแก๊สโอเรนบุร์ก ได้รับการพัฒนาโดยวิสาหกิจอุตสาหกรรมแก๊สของรัฐโซเวียต (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบริษัทกัซปรอม (รัสเซีย: Газпром) การผลิตและการแปรรูปในโรงงานแปรรูปโอเรนบุร์กได้ดำเนินการผลิตเต็มกำลังใน พ.ศ. 2517[5]

การก่อสร้างท่อส่งแก๊สโซยุซเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2518 ถึง 2522 โดยเป็นโครงการร่วมของประเทศในสภาเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ (คอมิคอน)[6] ซึ่งมีเป้าหมายในการรวม "สหายประเทศสังคมนิยม" ของสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญาวอร์ซอ และเพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติให้กับสาธารณรัฐโซเวียตทางตะวันตก (โดยเฉพาะสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน)[1][7] เพื่อแลกกับการจัดหาแก๊สธรรมชาติของสหภาพโซเวียต ห้าประเทศในคอมิคอน (สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี, สาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวัก, สาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์, สาธารณรัฐประชาชนบัลแกเรีย, สาธารณรัฐประชาชนฮังการี) ได้เข้าร่วมในการก่อสร้างระยะทางหนึ่งในห้าของเส้นทางทั้งหมด คือประมาณประเทศละ 550 กิโลเมตร แต่ละแห่งรวมถึงสถานีจัดการควบคุมแรงดันภายในประเทศของตน ส่วนของเส้นทางสร้างโดยคนงานชาวเยอรมันจากประเทศเยอรมนีตะวันออกในสมัยนั้น รู้จักกันในชื่อท่อส่งแก๊สดรุจบา (รัสเซีย: Дружба, มิตรภาพ) ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศยูเครน[8] ในการนี้คณะกรรมการบริหารของรัฐในคอมิคอน ได้มอบเหรียญรางวัลเชิดชูซึ่งผลิตโดยโรงกษาปณ์เลนินกราด (Ленинградский монетный двор) ให้กับคนงานที่มีผลการปฏิบัติงาน[9]

หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น ท่อส่งแก๊สโซยุซ ร่วมกับท่อส่งทรานส์แก๊สซึ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า ทอดไปทางทิศตะวันตกผ่านประเทศเชโกสโลวาเกีย ถูกนำมาใช้เพื่อส่งแก๊สไปยังยุโรปตะวันตกด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะสหภาพโซเวียตได้เริ่มการเจรจากับประเทศในยุโรปตะวันตก (อิตาลี, ออสเตรีย, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) เกี่ยวกับการจัดหาแก๊สในอนาคตในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เมื่อความขัดแย้งระหว่างตะวันออกและตะวันตกกำลังเข้าสู่ระยะของการผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เข้าร่วมในการจัดหาเงินทุนและ/หรือจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นล่วงหน้าสำหรับการก่อสร้างท่อส่งแก๊ส ข้อตกลงในเรื่องนี้ที่ใหญ่ที่สุดเป็นสัญญาท่อส่งแก๊สธรรมชาติระหว่างเยอรมัน–โซเวียต[2]

จากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2534 ซึ่งทำให้ยูเครนและคาซัคสถานเป็นอิสระทางการเมืองจากรัสเซีย ท่อส่งแก๊สได้ถูกแบ่งส่วนระหว่างแต่ละประเทศ โดยส่วนของรัสเซียยังคงอยู่กับผู้ดำเนินการรายเดิมคือบริษัทกัซปรอม ส่วนของยูเครนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐวิสาหกิจนัฟโตฮัซ (ยูเครน: Нафтогаз України) ส่วนบริษัทแก๊สของคาซัคสถาน คัซมูไนกัซ (คาซัค: ҚазМұнайГаз) และบริษัทย่อย คัซตรานส์กัซ (คาซัค: ҚазТрансГаз) ได้รับส่วนของท่อส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคชายแดนรัสเซีย–คาซัคสถานจากบริษัทกัซปรอม

ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสหัสวรรษ เกิดข้อพิพาทที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัสเซียและยูเครนเกี่ยวกับราคาและค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ที่ยูเครนควรได้รับสำหรับการส่งมอบหรือการขนส่งแก๊สของรัสเซีย ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ข้อพิพาทด้านแก๊สของรัสเซีย–ยูเครนได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในฝ่ายยูเครนและ/หรือรัสเซีย ซึ่งลดหรือขัดขวางการจัดหาและขนส่งแก๊ส ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงพยายามพัฒนาเส้นทางทางเลือกใหม่เพื่อลดการพึ่งพาการขนส่งผ่านยูเครน ซึ่งคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะกับท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีม และเซาท์สตรีม

ใน พ.ศ. 2555 ปริมาณแก๊สสำรองมากกว่าครึ่งหนึ่งในแหล่งโอเรนบุร์กถูกใช้ประโยชน์แล้ว มีการลดกำลังการผลิตลงตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990[4] อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการค้นพบแหล่งสำรองใหม่และถูกเชื่อมต่อเข้าระบบเพื่อชดเชยปริมาณที่ลดลง ซึ่งแก๊สจะถูกส่งผ่านเส้นทางโซยุซด้วย ทำให้การดำเนินการของท่อส่งแก๊สจะไม่ถูกยุติลง[10] ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ท่อส่งจะได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยการร่วมลงทุนของบริษัทก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและนักการเงินชาวเยอรมัน[11][12]

เส้นทาง แก้

เส้นทางของท่อส่งแก๊ส "โซยุซ" บางสถานี

ท่อส่งแก๊สเส้นทางนี้มีความยาวรวมประมาณ 2,750 กิโลเมตร โดยผ่านในประเทศคาซัคสถานประมาณ 300 กิโลเมตร, ผ่านประเทศยูเครน 1,600 กิโลเมตร และส่วนที่เหลือผ่านดินแดนรัสเซีย สถานีควบคุมสำหรับปรับเพิ่มแรงดันตั้งอยู่เป็นระยะห่างกันประมาณ 100 ถึง 150 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีทั้งหมด 21 สถานี โดย 12 สถานีอยู่ในยูเครน[12][13] และ 2 สถานีในคาซัคสถาน

เส้นทางโซยุซเริ่มต้นที่โรงงานแปรรูปใกล้โอเรนบุร์ก แก๊สถูกป้อนเข้าสู่ระบบจากแหล่งแก๊สใกล้เคียง (ประมาณ 30 กิโลเมตร ทางใต้ของเมืองโอเรนบุร์ก) และแหล่งแก๊สการาชรานัก (คาซัค: Қарашығанақ мұнай-газ конденсат кен орны) ประมาณ 100 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโอเรนบุร์กในประเทศคาซัคสถาน รวมถึงการส่งแก๊สจากแหล่งใกล้เขตดอมบารอฟสกี (รัสเซีย: Домбаровский райо́н) ประมาณ 400 กิโลเมตร ทางตะวันออกของโอเรนบุร์ก[14]

ท่อส่งแก๊สมีเส้นทางจากเมืองโอเรนบุร์ก ตามแนวแม่น้ำอูราลไปทางทิศตะวันตกและข้ามชายแดนคาซัคสถานหลังผ่านสถานีควบคุมแรงดันที่หมู่บ้านอะเลคเซียฟกา (รัสเซีย: Алексе́евка) จากนั้นเส้นทางจะวิ่งผ่านเมืองโวรัล (คาซัค: Орал) เป็นระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ในประเทศคาซัคสถาน

เส้นทางกลับเข้าสู่ดินแดนรัสเซียอีกครั้งใกล้กับหมู่บ้านอะเลคซานดรอฟ ไก (รัสเซีย: Алекса́ндров Гай) ในแคว้นซาราตอฟ เส้นทางนี้เชื่อมกับท่อส่งแก๊สซินตราลายา อาซิยา — ซินตร์ (รัสเซีย: Центральная Азия — Центр, CAC) ซึ่งนำแก๊สจากประเทศอดีตสาธารณรัฐโซเวียตในเอเชียกลางคือ เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน และคาซัคสถาน ไปยังศูนย์กลางเศรษฐกิจของรัสเซีย[14][15][16] จากจุดเชื่อมต่อซึ่งไม่มีสถานีควบคุมแรงดัน ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรผ่านอาณาเขตของคาซัคสถาน ก่อนที่จะข้ามพรมแดนไปยังรัสเซียอีกครั้งทางตะวันออกของเมืองปัลลาซอฟคา (รัสเซีย: Палла́совка) จากจุดนี้ผ่านหมู่บ้านอันติปอฟคา (รัสเซีย: Антиповка) และเมืองโฟรลาวา (รัสเซีย: Фро́лово) จะผ่านสถานีควบคุมแรงดันมากกว่า 6 แห่ง และระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตรจะถึงชายแดนรัสเซีย–ยูเครน

ทางตะวันออกของยูเครน ใกล้กับเมืองนอวึปสคอว์ (ยูเครน: Новопсков) และหมู่บ้านแชบือลึนกา (ยูเครน: Шебели́нка) แก๊สส่วนเพิ่มเติมถูกป้อนเข้าระบบจากแหล่งแก๊สในท้องถิ่นและรวมเข้ากับสาขาเล็ก ๆ ของท่อส่งเส้นทางอูเรนโกย — ปามารึย — อุฌฮอรอด (Уренгой — Помары — Ужгород) จากไซบีเรียตะวันตกเฉียงเหนือ ในส่วนตะวันตกของเส้นทางหลังจากเมืองแกรแมนชุก (ยูเครน: Кременчук) คือท่อส่งแก๊สดรุชบา ซึ่งสร้างโดยคนงานของเยอรมนีตะวันออก โดยมีสถานีควบคุมความดันอยู่ที่เมืองโอลึกซานดริฟกา (ยูเครน: Олександрівка), ตัลแน (ยูเครน: Тальне́) และไฮซิน (ยูเครน: Га́йсин) จนถึงเมืองบาร์ (ยูเครน: Бар)

หลังจากที่สายทางโซยุซผ่านพื้นที่ของเมืองโดลือนา (ยูเครน: Доли́на) ได้รวมเข้ากับแนวเส้นทางสายหลักอูเรนโกย — ปามารึย — อุฌฮอรอด และสาขาทางใต้ของสายยีมาล — ยิฟโรปา (รัสเซีย: Ямал — Европа)[17] เส้นทางร่วมมีจุดหมายปลายทางที่เมืองอุฌฮอรอด บนพรมแดนยูเครน–สโลวาเกีย จากที่นี่แก๊สจะถูกส่งต่อผ่านท่อส่งแก๊ส Transgas ซึ่งส่งก๊าซผ่านประเทศสโลวาเกียและสาธารณรัฐเช็ก ไปยังออสเตรีย, เยอรมนี และจากที่นั่นไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตก

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Pepe (2011). หน้า 107.
  2. 2.0 2.1 Luis-Martín Krämer (2011). "Inauguraldissertation zur Erlangung des Doktorgrades der Wirtschafts- und Sozialwissenschaftlichen Fakultät der Universität zu Köln". Die Energiesicherheit Europas in Bezug auf Erdgas und die Auswirkungen einer Kartellbildung im Gassektor (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Köln.
  3. Katy Unger (1999). "Seminararbeit". Die Erdöl- und Erdgas-Vorkommen der Russischen Tafel (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Freiberg: Institut für Geologie der TU Bergakademie Freiberg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-04-13. สืบค้นเมื่อ 2022-03-05.
  4. 4.0 4.1 4.2 Harald Elsner, และคณะ (กุมภาพันธ์ 2009). "Kurzstudie". ใน BGR Bundesanstalt für Geowissenschaften, Rohstoffe (บ.ก.). Die Rohstoffindustrie der Russischen Föderation (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Hannover: BGR.
  5. "About Gazprom / Subsidiary companies: Gazprom dobycha Orenburg (former Orenburggazprom)". Gazprom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
  6. Götz (2008).
  7. Jahrbuch der internationalen Politik und Wirtschaft. Institut für Weltwirtschaft und Internationale Beziehungen der Akademie der Wissenschaften der UdSSR, Institut für Internationale Beziehungen der Akademie für Staats- und Rechtswissenschaft der DDR (ภาษาเยอรมัน). Berlin: Staatsverlag der Deutschen Demokratischen Republik. 1980. p. 51. ISSN 0304-2197.
  8. "LexiTV: Das große Abenteuer". Mitteldeutscher Rundfunk (ภาษาเยอรมัน). 6 มิถุนายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
  9. "Medal for the Construction of the Main Natural Gas Pipeline Soyuz, late 1970s". CollectRussia.com. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
  10. Roland Götz (มีนาคม 2004). Rußlands Energiestrategie und die Energieversorgung Europas (PDF). SWP-Studien (ภาษาเยอรมัน). Vol. S 6. Berlin: Stiftung Wissenschaft und Politik. ISSN 1611-6372.
  11. "Ukraine: Deutsche Bank finanziert Pipeline-Modernisierung". OWC Verlag für Außenwirtschaft (ภาษาเยอรมัน). 13 ธันวาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 เมษายน 2013. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
  12. 12.0 12.1 "Naftogaz und Ferrostaal wollen ukrainische Pipeline modernisieren". OWC Verlag für Außenwirtschaft (ภาษาเยอรมัน). 12 กรกฎาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
  13. Centre for Global Energy Studies (ตุลาคม 2007). Natural Gas Pipeline Map (PDF). Energy Charter.
  14. 14.0 14.1 "Landkarte". Erdgasreserven und -pipelines in Zentralasien (PDF). Militärgeschichtliches Forschungsamt (ภาษาเยอรมัน). Potsdam: MGFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2022.
  15. "Central Asia – Center". Gazprom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2013.
  16. Yenikeyeff, Shamil (พฤศจิกายน 2008). "Kazakhstan's Gas: Export Markets and Export Routes" (PDF). Oxford Institute for Energy Studies. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008.
  17. "Major Gas Pipelines of the Former Soviet Union and Capacity of Export Pipelines". East European Gas Analysis (EEGA) (ภาษาอังกฤษ). 25 พฤศจิกายน 2011. สืบค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2013.

บรรณานุกรม แก้

  • Friedrich Götz (2008). Russlands Gas: Chance für Europa (ภาษาเยอรมัน). Books on Demand. ISBN 978-3-8334-7454-5.
  • Jacopo Maria Pepe (2011). Die Gasversorgung Europas: Das Dreieck EU – Russland – Ukraine zwischen Geopolitik, Geoökonomie und Securitization. Horizonte 21 (ภาษาเยอรมัน). Vol. 3. Universitätsverlag Potsdam. ISBN 978-3-86956-098-4.