แมวป่า
แมวป่า | |
---|---|
แมวป่าบนต้นไม้ที่สุนทรวัน รัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Felidae |
สกุล: | Felis |
สปีชีส์: | F. chaus |
ชื่อทวินาม | |
Felis chaus Schreber, 1777 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของแมวป่า |
แมวป่า, เสือกระต่าย หรือ เสือบอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Felis chaus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ Felidae มีรูปร่างคล้ายแมวบ้าน มีลักษณะเด่นคือ มีหูแหลมยาวเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีกระจุกขนยื่นออกมาจากปลายใบหูแลดูคล้ายกระต่าย จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า "เสือกระต่าย"
มีขายาว หางสั้นมีลายสีเข้มสลับเป็นปล้อง ๆ ขนปลายหางมีสีดำตามลำตัวมีสีน้ำตาลเหลือง บริเวณหลังมีสีน้ำตาลเข้ม สีขนบริเวณท้องจะอ่อนกว่าลำตัว แมวป่านับเป็นเสือในสกุล Felis ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวและหัว 50–56 เซนติเมตร ความยาวหาง 26–31 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 4–6 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่ภาคเหนือของทวีปแอฟริกาจรดเอเชียตะวันออก พบในภาคตะวันออกของซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, อิรัก, อิหร่าน, จอร์แดน, ภาคตะวันออกของตุรกี, อิสราเอล, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, เนปาล, ภูฏาน, บังกลาเทศ, ภาคใต้ของจีน, อินเดีย, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชาและเวียดนาม
มักอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรังที่ไม่รกชัฏนัก จับสัตว์ขนาดเล็กที่อาศัยบนพื้นดินกินเป็นอาหาร เช่น กระต่ายป่า, กบ, หนู, กิ้งก่า หรือนกที่อาศัยอยู่บนพื้นดินกินเป็นอาหารหลัก ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่มักพบบ่อยในช่วงเช้า และช่วงเย็น จากกายภาพที่มีขายาว แต่หางสั้นไม่สมดุลกันเช่นนี้ ทำให้แมวป่ามีการทรงตัวที่ไม่ดีเมื่ออยู่บนต้นไม้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยปีนขึ้นไปบนต้นไม้นัก
ในประเทศไทย นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักนิยมไพรและนักเขียนได้บันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2519 ว่าแมวป่าพบกระจายในป่าผลัดใบตั้งแต่พื้นที่ภาคกลางจนถึงภาคเหนือ และไม่พบปรากฏในประเทศอีกเลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2560 มีการบันทึกภาพไว้ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยพบทั้งตัวผู้และตัวเมียที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 มีการจับกุมผู้ค้าสัตว์ป่าหลายชนิดผ่านทางเฟซบุกได้ หนึ่งในนั้นเป็นแมวป่า ผู้ค้าอ้างว่าเป็นแมวป่ามาจากจังหวัดนราธิวาส ทางภาคใต้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ Cat Specialist Group (2002). Felis chaus. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 05 May 2006. Database entry includes justification for why this species is of least concern
- ↑ "ล่อซื้อ "เสือกระต่าย" ขายผ่านเฟซบุ๊กส่งทางรถทัวร์". เดลินิวส์. 2018-02-21. สืบค้นเมื่อ 2018-02-22.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Felis chaus ที่วิกิสปีชีส์