เออิจิ เนงิชิ
เออิจิ เนงิชิ (ญี่ปุ่น: 根岸 英一; โรมาจิ: Negishi Ei'ichi, 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นที่เกิดในประเทศแมนจู เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู[2] ผลงานที่สำคัญที่สุดของเนงิชิคือการค้นพบปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิ[3] เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี "สำหรับปฏิกิริยาคู่ควบแบบไขว้ในเคมีอินทรีย์ที่มีแพลเลเดียมเร่งปฏิกิริยา" ร่วมกับริชาร์ด เฮ็กและอากิระ ซูซูกิ[4]
เออิอิ เนงิชิ | |
---|---|
根岸英一 | |
เนงิชิใน พ.ศ. 2553 | |
เกิด | 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ซินกิง ประเทศแมนจู (ฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ประเทศจีนในปัจจุบัน) |
เสียชีวิต | 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564 (85 ปี) อินเดียแนโพลิส รัฐอินดีแอนา สหรัฐ |
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
พลเมือง | ญี่ปุ่น[1] |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย |
มีชื่อเสียงจาก | ปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิ |
คู่สมรส | ซูมิเระ ซูซูกิ (พ.ศ. 2502–2561, เสียชีวิต) |
บุตร | 2 |
รางวัล | รางวัลโนเบลสาขาเคมี (พ.ศ. 2553) บุคคลทรงคุณค่าด้านวัฒนธรรม (พ.ศ. 2553) เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัฒนธรรม (พ.ศ. 2553) |
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | เคมี |
สถาบันที่ทำงาน | เทจิน มหาวิทยาลัยเพอร์ดู มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ |
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก | อัลลัน อาร์. เดย์ |
มีอิทธิพลต่อ | เฮอร์เบิร์ต ชาลส์ บราวน์ |
วัยเด็กและการศึกษา
แก้เนงิชิเกิดที่ซินกิง เมืองหลวงของประเทศแมนจู (หรือในปัจจุบันคือนครฉางชุน มณฑลจี๋หลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478[5] สองปีถัดมา บิดาของเขาถูกย้ายไปทำงานให้กับการรถไฟแมนจูเรียใต้ ครอบครัวของเขาจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ฮาร์บิน[6]จนถึง พ.ศ. 2486 เมื่อเขาอายุได้ 9 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ย้ายที่อยู่อีกครั้งไปยังเกาหลี พวกเขาอาศัยอยู่ที่อินช็อนก่อนจะย้ายไปยังคย็องซ็อง (หรือกรุงโซลในปัจจุบัน) ในปีถัดมา สามเดือนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ครอบครัวเนงิชิย้ายกลับไปที่ญี่ปุ่น เนงิชิจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2501 และฝึกงานที่บริษัทเทจินอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจนจบปริญญาเอกใน พ.ศ. 2506 โดยมีศาสตราจารย์อัลลัน อาร์ เดย์ เป็นที่ปรึกษา
งานวิชาการ
แก้หลังจบปริญญาเอก เนงิชิตั้งใจจะกลับมาเป็นนักวิจัยในสถาบันการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มีตำแหน่งงานว่าง[7][8] จึงยังคงทำงานต่อที่เทจินจนถึง พ.ศ. 2509 ก่อนจะลาออกไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูกับเฮอร์เบิร์ต ชาลส์ บราวน์ (เช่นเดียวกับอากิระ ซูซูกิที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีเดียวกัน บราวน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเช่นกันใน พ.ศ. 2522) เขาสอนหนังสือที่เพอร์ดูระหว่าง พ.ศ. 2511 และ 2515[9] ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซีราคิวส์และเลื่อนชั้นขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์ใน พ.ศ. 2522 และกลับไปเป็นศาสตราจารย์ที่เพอร์ดูในปีเดียวกัน[9]
เขาค้นพบปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิซึ่งควบแน่นสารประกอบอินทรีย์ของสังกะสีและสารประกอบเฮไลด์อินทรีย์โดยใช้แพลเลเดียมหรือนิกเกิลเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสร้างพันธะคาร์บอน–คาร์บอน ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน พ.ศ. 2553[10] นอกจากนี้ เขายังค้นพบด้วยว่าสารประกอบอินทรีย์ของอลูมิเนียมและเซอร์โคเนียมก็ใช้ในปฏิกิริยาควบแน่นแบบไขว้ได้เช่นกัน เนงิชิเลือกที่จะไม่จดสิทธิบัตรปฏิกิริยาของเขาเช่นเดียวกับอากิระ ซูซูกิ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิใช้ปฏิกิริยานี้สังเคราะห์สารประกอบได้[11] สารประกอบ Zr(C5H5)2 ซึ่งเตรียมจากการรีดิวซ์เซอร์โคโนซีนไดคลอไรด์ยังมีชื่อเรียกว่า เนงิชิรีเอเจนต์ และใช้ในการสังเคราะห์เบนซีนที่มีหมู่แทนที่หลายหมู่ เซอร์โคโนซีนไดคลอไรด์เป็นสารประกอบในกลุ่มเมทัลโลซีน (Metallocene) เช่นเดียวกับเฟอร์โรซีน
อ้างอิง
แก้- ↑ https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/chemistry/laureates/2010/press.html
- ↑ "Ei-ichi Negishi". Department of Chemistry Faculty Directory. Purdue University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-14. สืบค้นเมื่อ 26 March 2018.
- ↑ Anthony O. King, Nobuhisa Okukado and Ei-ichi Negishi (1977). "Highly general stereo-, regio-, and chemo-selective synthesis of terminal and internal conjugated enynes by the Pd-catalysed reaction of alkynylzinc reagents with alkenyl halides". Journal of the Chemical Society, Chemical Communications (19): 683. doi:10.1039/C39770000683.
- ↑ Press release, Great art in a test tube, Royal Swedish Academy of Sciences. Accessed 6 October 2010.
- ↑ ノーベル化学賞に鈴木、根岸氏. 琉球新報. 2010-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-30. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
- ↑ (私の履歴書)根岸英一(2) 1年早く就学 8歳まで満州で生活 遊びに熱中、冬はスケート. The Nikkei. 2012-10-02. สืบค้นเมื่อ 2015-08-30.
- ↑ (私の履歴書)根岸英一(10) 帝人に復帰 大学で「優」連発、自信に 新製品阻まれ学会へ転進、日本経済新聞、2012年10月10日
- ↑ ノーベル化学賞:根岸さんうっすら涙「来るものが来た」 เก็บถาวร 2012-07-19 ที่ archive.today、毎日新聞(電子版)、2010年10月7日
- ↑ 9.0 9.1 Editors of Encyclopaedia Britannica (April 24, 2017). "Negishi Ei-ichi". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 15 March 2018.
{{cite web}}
:|last1=
มีชื่อเรียกทั่วไป (help) - ↑ "ノーベル化学賞に鈴木名誉教授と根岸氏". Sankei Shimbun. 2010-10-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
- ↑ "根岸・鈴木氏、特許取得せず…栄誉の道開く一因". Yomiuri Shimbun. 2010-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2010-10-08.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ประวัติของเออิจิ เนงิชิที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู เก็บถาวร 2018-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน