อากิระ ซูซูกิ (ญี่ปุ่น: 鈴木 章โรมาจิSuzuki Akira) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน พ.ศ. 2553 เขาค้นพบและตีพิมพ์ปฏิกิริยาซูซูกิ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาในเคมีอินทรีย์ระหว่างกรดโบโรนิกที่มีหมู่แอริลหรือไวนิลกับแอริลหรือไวนิลเฮไลด์โดยใช้สารประกอบโคออร์ดิเนชันของแพลเลเดียมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเมื่อ พ.ศ. 2522[1][2][3][4]

อากิระ ซูซูกิ
ซูซูกิใน พ.ศ. 2553
เกิด12 กันยายน พ.ศ. 2473 (93 ปี)
มูกาวะ จังหวัดฮกไกโด (กิ่งจังหวัดอิบูริ) ประเทศญี่ปุ่น
สัญชาติญี่ปุ่น
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยฮกไกโด
มีชื่อเสียงจากปฏิกิริยาซูซูกิ
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาเคมี (พ.ศ. 2553)
บุคคลทรงคุณค่าด้านวัฒนธรรม (พ.ศ. 2553)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัฒนธรรม (พ.ศ. 2553)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยฮกไกโด
มหาวิทยาลัยเพอร์ดู
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอกายามะ
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และศิลปะคูราชิกิ
มีอิทธิพลต่อเฮอร์เบิร์ต ชาลส์ บราวน์

วัยเด็กและการศึกษา แก้

ซูซูกิเกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2473 ที่เมืองมูกาวะ กิ่งจังหวัดอิบูริ จังหวัดฮกไกโด บิดาของซูซูกิเสียชีวิตตั้งแต่ซูซูกิยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเข้าศึกษาวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยฮกไกโดจนจบระดับปริญญาเอกและทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันเดียวกัน ในวัยเด็กซูซูกิสนใจคณิตศาสตร์มากกว่า[5] แต่ความสนใจของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้อ่านตำราเคมีอินทรีย์สองเล่มได้แก่ Textbook of Organic Chemistry โดยหลุยส์ ฟีเซอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและ Hydroboration โดยเฮอร์เบิร์ต ซี. บราวน์จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู[6]

งานวิชาการ แก้

 
(จากซ้าย) ซูซูกิ เนงิชิ และเฮ็ก

ซูซูกิเข้าทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ถึง 2508 กับเฮอร์เบิร์ต ซี. บราวน์ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮกไกโด ที่มหาวิทยาลัยฮกไกโด ซูซูกิได้นำประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดูมาใช้ศึกษาปฏิกิริยาควบแน่นร่วมกับผู้ช่วยได้แก่โนริโอะ มิยาอูระ (ญี่ปุ่น: 宮浦憲夫โรมาจิMiyaura Norio) และนำไปสู่การค้นพบปฏิกิริยาซูซูกิใน พ.ศ. 2522[7] ข้อได้เปรียบของปฏิกิริยานี้คือกรดโบโรนิกเสถียรในน้ำและอากาศ ทำให้ใช้งานได้ง่ายกว่าปฏิกิริยาควบแน่นแบบอื่น ๆ [8] กลไกการเกิดปฏิกิริยาซูซูกิแสดงด้านล่าง

 
Suzuki Coupling Full Mechanism 2

ซูซูกิลาออกจากมหาวิทยาลัยฮกไกโดเมื่อ พ.ศ. 2537 ก่อนจะไปทำงานมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอกายามะจนถึง พ.ศ. 2538 แล้วย้ายไปที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และศิลปะคูราชิกิจนถึง พ.ศ. 2542[9] (ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในจังหวัดโอกายามะ) และยังได้เป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูใน พ.ศ. 2544 และมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันใน พ.ศ. 2545

ซูซูกิได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับริชาร์ด เฮ็กและเออิจิ เนงิชิเมื่อ พ.ศ. 2553[10]

มุมมอง แก้

ซูซูกิมองว่าเคมีมักถูกมองเป็นตัวร้ายที่ก่อมลพิษ แต่ในความเป็นจริงแล้วเคมีเป็นวิชาที่สำคัญที่ทำให้ชีวิตในปัจจุบันสะดวกสบาย เขามองว่ากระบวนการผลิตสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยในบทสัมภาษณ์ในนิตยสารยูเนสโกคูเรียร์ใน พ.ศ. 2554 เนื่องในโอกาสปีสากลแห่งเคมี ซูซูกิกล่าวว่า[11]

"Today some people see chemistry just as a polluting industry, but that is a mistake......Without it, productivity would drop and we could not enjoy the life we know today. If there is pollution, it is because we are releasing harmful substances. Obviously, we have to adapt treatment and management regimes and work to develop chemical substances and manufacturing processes that respect the environment."

ครั้งหนึ่งเมื่อนักศึกษาชาวแคนาดาเชื้อสายจีนคนหนึ่งถามว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นนักเคมีที่ดีได้ ซูซูกิตอบว่าสิ่งสำคัญคือต้องมองทะลุสิ่งที่มองเห็นภายนอกเพื่อค้นพบใจความสำคัญข้างใน[12]

ซูซูกิไม่จดสิทธิบัตรปฏิกิริยาของเขาเนื่องจากเขาคิดว่างานวิจัยของเขาได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ[13] ทำให้เทคโนโลยีนี้เผยแพร่ไปสู่วงกว้าง[14] จนถึงปัจจุบัน สิทธิบัตรและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาซูซูกิมีมากกว่า 6,000 ฉบับ[6]

อ้างอิง แก้

  1. Miyaura, Norio; Yamada, Kinji; Suzuki, Akira (1979). "A new stereospecific cross-coupling by the palladium-catalyzed reaction of 1-alkenylboranes with 1-alkenyl or 1-alkynyl halides". Tetrahedron Letters. 20 (36): 3437–3440. doi:10.1016/S0040-4039(01)95429-2.
  2. Miyaura, N.; Suzuki, A. Chem. Commun. 1979, 866.
  3. Suzuki, A. Pure Appl. Chem. 1991, 63, 419–422. (Review)
  4. Suzuki, A. J. Organometallic Chem. 1999, 576, 147–168. (Review)
  5. 『朝日小学生新聞』2010年10月8日
  6. 6.0 6.1 『朝日新聞』2010年10月7日
  7. 宮浦憲夫; 萬代忠勝 (2004). "辻二郎先生, 鈴木章先生日本学士院賞を受賞". 有機合成化学協会誌. 有機合成化学協会. 62 (5): 410. doi:10.5059/yukigoseikyokaishi.62.410. 和書.
  8. 世界の化学者データベース「鈴木章」
  9. Miyaura, Norio; Suzuki, Akira (1995). "Palladium-Catalyzed Cross-Coupling Reactions of Organoboron Compounds". Chemical Reviews. 95 (7): 2457–2483. doi:10.1021/cr00039a007.
  10. "The Nobel Prize in Chemistry 2010" (Press release). Royal Swedish Academy of Sciences. 6 October 2010. สืบค้นเมื่อ 6 October 2010.
  11. http://unesdoc.unesco.org/images/0019/001906/190645e.pdf#nameddest=190724
  12. 为什么有些人很聪明?他们遇到问题时的思维方式与我们差别在哪呢? - 知乎
  13. 『朝日新聞』2010年10月7日
  14. "根岸・鈴木氏、特許取得せず…栄誉の道開く一因". 読売新聞. 2010-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2010-10-08.