เมียวะดีมี่นจี้ อู้ซะ

(เปลี่ยนทางจาก เมียวดีมิงจีอูซะ)

เมียวะดีมี่นจี้ อู้ซะ (พม่า: မြဝတီမင်းကြီး ဦးစ, ออกเสียง: [mja̰wədì mɪ́ɰ̃dʑí ʔú sa̰], แปลว่า อู้ซะ เจ้าเมืองเมียวดี; 28 ตุลาคม ค.ศ. 1766 – 6 สิงหาคม ค.ศ. 1853) เป็นกวี นักดนตรี นักประพันธ์ นาฏศิลปิน แม่ทัพ และรัฐบุรุษของพม่าในสมัยราชวงศ์โก้นบอง ตลอดระยะเวลาที่รับราชการในราชสำนักพม่ายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ เขาได้ถวายการรับใช้แก่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์โก้นบองถึง 4 รัชกาลในหลากหลายหน้าที่ และได้ทำหน้าที่เป็นราชเลขานุการในพระองค์ของพระเจ้าจักกายแมงมาเป็นระยะเวลายาวนาน อู้ซะผู้มากความสามารถผู้นี้เป็นที่จดจำมากที่สุดในฐานะผู้สรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ในวงการดนตรีและนาฏศิลป์พม่าดั้งเดิม และในฐานะแม่ทัพนายกองผู้มีความเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง

เมียวะดีมี่นจี้ อู้ซะ
မြဝတီမင်းကြီး ဦးစ
เกิด28 ตุลาคม 1766[1]
หมู่บ้านมีจองเตะชอง ซะไกง์ ราชอาณาจักรพม่า[2]
เสียชีวิต6 สิงหาคม ค.ศ. 1853(1853-08-06) (86 ปี)[1]
อังวะ ราชอาณาจักรพม่า
รับใช้ราชวงศ์โก้นบอง
แผนก/สังกัดกองทัพราชอาณาจักรพม่า
ประจำการ1808–1836[2]
ชั้นยศนายกอง (1808–1814)
แม่ทัพ (1814–1828)
เสนาบดีทหารบก (1828–1836)
การยุทธ์การผนวกมณีปุระ (1814)
สงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง (1824–1826)
บำเหน็จเนเมียวชัยสุระ
สิริมหาชัยสุระ, เจ้าเมืองเมียวดี[3]
งานอื่นนักดนตรี, นักประพันธ์เพลง, นักประพันธ์บทละคร, นักการทูต

อู้ซะได้ประพันธ์บทเพลงต่าง ๆ หลากหลายแนวจากอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมชาติต่าง ๆ ทั้งยังรังสรรค์การแสดงและบทละครเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการแปลบทละครจากภาษาไทยและภาษาชวาให้เป็นบทละครภาษาพม่า เขายังเป็นผู้คิดค้นพิณซองเกาะแบบ 13 สาย และริเริ่มการเล่นหุ่นละครชักขึ้นในราชสำนักอังวะอีกด้วย ในด้านการทหาร อู้ซะยังมีความสามารถในการบัญชาการกองทัพ จนทำให้พระเจ้าปดุงสามารถพิชิตเมืองมณีปุระได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1813 และในฐานะแม่ทัพในยุทธบริเวณอาระกันภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพใหญ่มหาพันธุละในช่วงสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1824–1826 อู้ซะยังนำทัพจนได้รับชัยชนะ อันนับเป็นชัยชนะเพียงไม่กี่ครั้งในสงครามอันนำหายนะมาสู่พม่าครั้งนั้น

หลังสิ้นสงคราม อู้ซะได้รับตำแหน่งเสนาบดีทหารบก และได้รับเมืองเมียวดี (อยู่ในภาคมะกเวปัจจุบัน) เป็นบำเหน็จเมื่อปี ค.ศ. 1828 เขาได้เป็นผู้นำคณะทูตฝ่ายพม่าในการเปิดเจรจาให้ฝ่ายอังกฤษล้มเลิกการอ้างสิทธิ์การปกครองเหนือเขตหุบเขากะบอ (Kabaw Valley) ในปี ค.ศ. 1830 ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1836–1839 พระเจ้าแสรกแมงผู้แย่งชิงอำนาจมาจากพระเจ้าจักกายแมงได้สั่งจำคุกอู้ซะ เมื่อพ้นโทษแล้วเขาก็ไม่ได้กลับมามีตำแหน่งใด ๆ ในทางราชการอีก แต่ยังคงประพันธ์บทเพลงและบทละครถวายพระเจ้าแผ่นดินสืบมาจนถึงรัชกาลพระเจ้าพุกามแมง

ปฐมวัย แก้

หม่องซะเกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1766 ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือนตะดี้นจุ (ตรงกับเดือนอัสสยุชในภาษาบาลี หรือเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติไทย) มรันมาศักราช/จุลศักราช 1128 (พ.ศ. 2309) ที่หมู่บ้านมีจองเตะชอง (Migyaungtet Chaung) ใกล้เมืองซะไกง์ ในครอบครัวข้าราชสำนักซึ่งสืบเชื้อสายกันมายาวนานกว่า 200 ปี บิดาชื่อ เปาะจอ (Pauk Kyaw) บุตรของนายทหารในกรมล้อมวัง (Royal Household Guards) มารดาชื่อ เญนตะ (Nyein Tha) เป็นหลานสาวชั้นหลานปู่/หลานตาของพญาจานดอ (Binnya Gyandaw) เสนาบดีชาวมอญในรัชกาลพระเจ้าตาลูนแห่งราชวงศ์ตองอู เขาได้รับการศึกษาตามธรรมเนียมโบราณที่วัดปรมะในเมืองอังวะ [4] เมื่อจำเริญวัยขึ้น หม่องซะได้แต่งงานกับมะเอ (Ma Aye) ธิดาของนายญูน (Nyun) ช่างทองหลวงแห่งเมืองซะไกง์ และทำงานในฐานะช่างทองและพ่อค้า เมื่อภรรยาของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1785 ขณะที่หม่องซะมีอายุได้เพียง 19 ปี[2] หม่องซะได้กลายเป็นนักดนตรีในช่วงสั้น ๆ รับจ้างเล่นฆ้องวง (kye-waing) ให้กับวงดนตรีของครูอู้ตะโยะ (U Tayoke) ในเมืองอังวะ และเริ่มมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในฐานะนักดนตรีฝีมือดี ความทราบถึงพระมหาอุปราชตะโดเมงสอ ซึ่งกำลังทรงรวมรวบศิลปินรุ่นหนุ่มฝีมือดีให้เข้ามาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระองค์ หม่องซะจึงได้เข้ารับราชการในฐานะมหาดเล็กของพระมหาอุปราช อันถือเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกหัดทำราชการต่าง ๆ ซึ่งปกติจะสงวนไว้เฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายผู้ดีและขุนนางเท่านั้น[3]

การทำงาน แก้

ศิลปิน แก้

งานชิ้นแรกๆ ที่อู้ซะได้รับผิดชอบในฐานะมหาดเล็กคือการบันทึกเรื่องราวของนัตหลวงทั้ง 37 ตน พร้อมทั้งธรรมเนียมการบูชา กระบวนท่าร่ายรำ และดนตรีประกอบพิธีกรรมของนัตหลวงแต่ละตน โดยได้รับความช่วยเหลือจากครูดนตรีชื่ออู้ตะโยะและเมียะตะ (Myat Tha) จนสำเร็จภารกิจ[2] ในปี ค.ศ. 1789 อู้ซะในวัย 23 ปี ได้มีชื่อร่วมอยู่ในคณะกรรมการอันประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนางต่างๆ ทำหน้าที่แปลบทละครของสยามและชวาจากภาษาไทยให้เป็นภาษาพม่า (ศิลปินและนักดนตรีหลวงของสยามซึ่งตกเป็นเชลยมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้ทำการแสดงหน้าพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดินพม่าในปี ค.ศ. 1776 และได้มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นาฏศิลปินฝ่ายพม่าอยู่ก่อนแล้ว)[5] อาศัยความช่วยเหลือจากฝ่ายศิลปินชาวสยาม คณะกรรมการจึงได้เลือกแปลและดัดแปลงบทละครชั้นมหากาพย์ของสยาม 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์ หรือมหากาพย์รามายณะฉบับภาษาไทย และเรื่องอิเหนา ซึ่งเป็นนิทานปันหยีของชาวชวาฉบับสยาม โดยแปลเป็นบทละครภาษาพม่าในชื่อ "ยามะซะตอ" และ "เอนองซะตอ" สำหรับเรื่องเอนองซะตอนั้น อู้ซะเป็นผู้ถ่ายทอดบทเจรจา แต่งบทร้อง ประพันธ์และเรียบเรียงดนตรี และกำกับรูปแบบการแสดง[6] อนึ่ง เขายังได้ปรับปรุงพิณซองเกาะของเดิมซึ่งมี 7 สาย ให้เป็นพิณ 13 สายอีกด้วย

อู้ซะได้ประพันธ์เพลงพม่าดั้งเดิมไว้มากกว่า 40 เพลงในแนวทาง thachin-gans, kyos, bwes และ patpyos[7] เขายังได้ทดลองประพันธ์เพลงในแนวอื่นๆ จากอิทธิพลจากดนตรีของชาวมอญและชาวสยาม โดยเขาแต่งเพลงทาง "โยดะยา" (คำเรียกชาวอยุธยาในภาษาพม่า) ไว้หลายเพลง เช่น เพลง "htat-tunts" ("เพลงโทน" หรือ "ทบทวน"), "ngu-ngits" ("งุหงิด"), "khameins" ("เขมร"), "frantins" ("ฝรั่งเต้น"), "keet-muns" ("แขกมอญ "), "htanauks" ("ท่านอก" หรือ "ตะนาว"), ale-mes, "phyinchars" ("เพลงช้า"), "bayet-le-swes", และ "phyin-chins" ("เพลงฉิ่ง") เพลงเหล่านี้ส่วนหนึ่งใช้สำหรับบรรเลงด้วยขลุ่ย อีกส่วนหนึ่งสำหรับบรรเลงด้วยฆ้องวง เขายังได้แต่งเพลงทางมอญขึ้นไว้ด้วยอีก 3 เพลง ในปี ค.ศ. 1820 อู้ซะได้กลับมาทำงานรวบรวมบันทึกเกี่ยวกับนัตหลวง 37 ตนอีกครั้ง โดยได้รับความร่วมมือจากร่างทรงนัตชื่อ กวีเทวะจ่อ (Kawi Deva Kyaw) และผู้บันทึกพงศาวดารชื่ออู้นุ (U Nu) ในปีเดียวกันนั้นเองเขายังได้ทดลองการเล่นหุ่นละครชัก โดยมีตะเบงหวุ่น (Thabin Wun) ผู้รักษาศิลปภัณฑ์สำหรับนาฏศิลป์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา[2]

หลังสิ้นสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง อู้ซะยังคงประพันธ์บทละคร แต่ใช้เวลาเน้นไปทางภาคดนตรีมากขึ้น เขาได้รวบรวมบทเพลงจากแหล่งต่างๆ ทั้งของชาวสยาม ชาวพม่า ชาวมอญ และรวมรวมข้อมูลจากทุกระดับชั้นในสังคม ตั้งแต่บทเพลงในราชสำนัก เพลงในพิธีกรรมบูชานัต เพลงในงานเทศกาล ตลอดจนถึงเพลงพื้นบ้าน เขายังทดลองการผสมผสานดนตรีต่างๆ ภายในประเทศเข้าไว้ด้วยกันต่อไป[8] ทั้งยังได้พยายามเรียนรู้บทเพลงภาษาฮินดีและเพลงสวดในภาษาละตินด้วยตนเองจากความสนใจใฝ่รู้อีกด้วย[4]

ราชการทหาร แก้

ในปี ค.ศ. 1808 อู้ซะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาลักษณ์และผู้บัญชาการเรีอรบ "ปเยลอนยู" (Pye Lon Yu) และต่อมาได้เป็น "อะเติงหวุ่น" (atwinwun) หรือราชเลขานุการ ในพระองค์พระมหาอุปราชบะจี้ดอ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1814 นายกองอู้ซะในราชทินนาม "เนเมียวชัยสุระ" (Ne Myo Zeya Thura) ได้นำกำลังทหารราบพม่า 1,500 นาย พร้อมทหารม้า 150 นาย ไปยังเมืองมณีปุระ เพื่อตั้งเจ้าชายมารชิต สิงห์ ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งมณีปุระ ต่อมาเมื่อพระมหาอุปราชบะจี้ดอขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์ใหม่ อู้ซะจึงมีฐานะเป็นราชเลขานุการในพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินด้วยวัย 53 ปี

เมื่อสงครามกับจักรวรรดิบริเตนปะทุขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1824 อู้ซะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพภายใต้การบัญชาของแม่ทัพใหญ่มหาพันธุละ โดยประจำการในยุทธบริเวณอาระกัน อู้ซะได้นำกำลังพลประมาณ 4,000 นายในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1824[9] บุกเข้าไปในแคว้นเบงกอล และเอาชนะกองทหารบริเตนได้ในการรบที่รามู ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองค็อกซ์บาซาร์ (Cox's Bazar) ไปทางตะวันออกราว 10 ไมล์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1824[10] จากนั้นเขาจึงเคลื่อนพลไปสมทบกับกองกำลังของมหาพันธุละเพื่อเดินทางไปปราบกองทหารบริเตนที่กอดาวพาลิน (Gadawpalin) และเข้ายึดครองเมืองค็อกซ์บาซาร์[2] ความสำเร็จของอู้ซะได้สร้างความแตกตื่นอย่างหนักในเมืองจิตตะกองและที่เมืองกัลกัตตา แต่มหาพันธุละได้สั่งให้อู้ซะหยุดการรุกคืบไปไกลมากกว่านี้เสียหลังจากไตร่ตรองสถานการณ์อย่างรอบคอบแล้ว[11]

แม่ทัพอู้ซะได้รับมอบหมายให้ควบคุมกำลังทหารพม่าที่อยู่ในเขตอาระกัน หลังจากที่มหาพันธุละและกองทัพหลักถูกเรียกตัวกลับโดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าจักกายแมงเพื่อรับมือกับกองทัพบริเตนซึ่งยกพลขึ้นบกที่เมืองย่างกุ้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1824 เขารั้งทัพอยู่ที่อาระกันตลอดปี ค.ศ. 1824 ในขณะที่สมรภูมิหลักได้เปลี่ยนไปอยู่ที่ย่างกุ้งแทน หลังจากนายพลเอกเซอร์ อาร์ชิบัลด์ แคมป์เบล (Sir Archibald Campbell) สามารถเอาชนะมหาพันธุละในการรบที่ย่างกุ้งได้สำเร็จในเดือนธันวาคมของปีนั้น ฝ่ายบริเตนจึงหันเหความสนใจมาที่อาระกันเป็นเป้าหมายต่อไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1825 กำลังทหารฝ่ายบริเตนจำนวน 11,000 นาย พร้อมด้วยการสนับสนุนจากกองเรือปืนและเรือลาดตระเวนติดอาวุธตามแนวชายฝั่ง และกองพันทหารม้าภายใต้การบัญชาของนายพลจัตวาโจเซฟท์ วันตัน มอร์ริสัน (Joseph Wanton Morrison) ได้ระดมกำลังเข้าโจมตีที่มั่นของกองทัพพม่าในอาระกัน ถึงแม้ฝ่ายบริเตนจะมีจำนวนกำลังพลและอาวุธที่เหนือกว่า แต่พวกเขาก็ต้องรับมือกับกองทัพของอู้ซะที่อยู่ในสภาพร่อยหรอนานถึงเกือบสองเดือนกว่าจะบุกเข้าไปถึงที่มั่นหลักของฝ่ายพม่าที่เมืองมเยาะอู้ เมืองเอกของเขตอาระกัน ฝ่ายอังกฤษได้เปิดฉากบุกเมืองมเยาะอู้ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1825 (ในขณะเดียวกันเซอร์ อาร์ชิบัลด์ แคมป์เบลก็ได้เคลื่อนทัพเข้าโจมตีที่มั่นของมหาพันธุละในการรบที่ธนุพยู) เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น เมืองมเยาะอู้ก็ถูกตีแตกในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งตรงกับวันที่มหาพันธุละพ่ายแพ้และเสียชีวิตที่ธนุพยู (Danubyu) โดยบังเอิญ อู้ซะและกองทหารพม่าที่เหลืออยู่จำต้องถอยร่นและปล่อยให้ฝ่ายบริเตนเข้ายึดครองอาระกัน[9] เขาได้ประจักษ์ถึงพลานุภาพในการทำลายล้างและวินัยอันเข้มแข็งของกองทัพบริเตนด้วยตาตนเองในสงครามครั้งนี้[4]

รัฐบุรุษ แก้

หลังสิ้นสงคราม อู้ซะยังคงอยู่ในฐานะที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดของพระเจ้าจักกายแมง ในปี ค.ศ. 1828 พระองค์ได้แต่งตั้งให้อู้ซะเป็นเสนาบดีทหารบก และพระราชทานเมืองเมียวดีเป็นรางวัล เมืองส่วยที่อู้ซะได้รับพระราชทานนี้ครอบคลุมพื้นที่ที่แม่น้ำต่างๆ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำอิรวดี ประกอบด้วยเมือง 1 เมือง และหมู่บ้าน 14 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคมะกเวปัจจุบัน ในฐานะเมียวะดีมี่นจี้ (เจ้าเมืองเมียวดี) พร้อมด้วยราชทินนาม "สิริมหาชัยสุระ" (Thiri Maha Zeya Thura) อู้ซะได้เป็นผู้นำคณะทูตพม่าในการเจรจากับพันตรีเฮนรี เบอร์นี ผู้แทนทางการทูตของฝ่ายบริเตนประจำราชสำนักอังวะ เขาล้มเหลวในการเจรจาขอเขตอาระกันและเขตตะนาวศรีคืนมาจากฝ่ายบริเตน แต่ยังคงประสบความสำเร็จในการทำให้ฝ่ายบริเตนล้มเลิกการอ้างสิทธิมีอำนาจปกครองหุบเขากะบอในฐานะส่วนหนึ่งของดินแดนรัฐมณีปุระได้[2] และนับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1820 เป็นต้นมา เขาได้อำนวยการแปลข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าจักกายแมงเพื่อทรงทราบ และเพื่อให้ราชสำนักทราบความเป็นไปของทางฝ่ายบริเตน[12]

นักโทษ แก้

ในปี ค.ศ. 1836 เจ้าสารวดี ผู้ซึ่งเคยเป็นแม่ทัพในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง ได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าจักกายแมงพระบรมเชษฐาธิราช อู้ซะได้ถูกเจ้าสารวดีจับตัวและส่งไปจำคุก เนื่องจากเขามีฐานะเป็นราชเลขานุการในพระองค์ของพระเจ้าจักกายแมง เมื่อเจ้าสารวดีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ (ซึ่งคนไทยออกพระนามว่า "พระเจ้าแสรกแมง") ในปี ค.ศ. 1837 พระองค์ได้สั่งถอดยศอู้ซะ ลงโทษจำคุกและใช้แรงงานโยธาอีกเป็นเวลา 2 ปี เขาพ้นโทษในปี ค.ศ. 1839 เนื่องจากได้ประพันธ์เพลงสำหรับบทละครหุ่นชักของหลวง และเพราะเขาเป็นคนโปรดของเจ้าหญิงสุปะยาจี พระราชธิดาของพระเจ้าแสรกแมงมาอย่างยาวนาน เวลานั้นอู้ซะอายุได้ 73 ปีแล้ว เขาไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในทางราชการอีก แต่เขายังคงประพันธ์เพลงถวายต่อทั้งพระเจ้าแสรกแมงและพระเจ้าพุกามแมงมาตลอด

อู้ซะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1853 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนวากอง (ตรงกับเดือนสาวนะในภาษาบาลี หรือเดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติไทย) มรันมาศักราช/จุลศักราช 1215 (พ.ศ. 2396) ขณะมีอายุได้ 86 ปี ซึ่งเป็นเวลาไม่นานนักหลังจากพระเจ้ามินดงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ[2]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. 1.0 1.1 Thuta, Sahsodaw-Mya Ahtouppati
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Aung Moe, Konbaung Period Writers
  3. 3.0 3.1 Myint-U (2001), pp. 69–70
  4. 4.0 4.1 4.2 Myint-U (2006), p. 135
  5. Brandon, p. 27
  6. Thaw Kaung
  7. Jankovic, Anthology of Burmese Poetry
  8. Htin Aung, pp. 230–231
  9. 9.0 9.1 Phayre, pp. 236–247
  10. Harvey, p. 341
  11. Htin Aung, p. 212
  12. Myint-U (2001), p. 100

อ้างอิง แก้

  • Aung Moe (1988-05-16). "Konbaung Period Writers: Myawaddy Mingyi U Sa" (PDF). Yangon: Working People's Daily.
  • Brandon, James R (1967). Theatre in Southeast Asia. Harvard College. ISBN 0-674-87587-7.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Htin Aung, Maung (1967). A History of Burma. New York and London: Cambridge University Press.
  • "Keep on Flowing Ayeyarwaddy: Anthology of Burmese Poetry" (PDF). Dragan Janekovic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-28. สืบค้นเมื่อ 2009-09-03.
  • Lieberman, Victor B. (2003). Strange Parallels: Southeast Asia in Global Context, c. 800–1830, volume 1, Integration on the Mainland. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80496-7.
  • Myint-U, Thant (2001). The Making of Modern Burma. Cambridge University Press. ISBN 9780521799140.
  • Myint-U, Thant (2006). The River of Lost Footsteps—Histories of Burma. Farrar, Straus and Giroux. ISBN 978-0-374-16342-6.
  • Phayre, Lt. Gen. Sir Arthur P. (1883). History of Burma (1967 ed.). London: Susil Gupta.
  • Thaw Kaung (July 2003). "Myanmar Perspectives". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-04. สืบค้นเมื่อ 2022-02-04. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  • Thuta, Maung (1968). Sahsodaw-Mya Ahtouppati (စာဆိုတော်များ အတ္ထုပ္ပတ္တိ) (ภาษาพม่า) (3 ed.). Yangon: Zwe. {{cite book}}: templatestyles stripmarker ใน |title= ที่ตำแหน่ง 26 (help)