อาเรนาเอาฟ์ชัลเคอ
อาเรนาเอาฟ์ชัลเคอ (เยอรมัน: Arena AufSchalke) หรือชื่อตามชื่อผู้สนับสนุนในปัจจุบันว่า เฟ็ลทินส์-อาเรนา (Veltins-Arena) เป็นสนามฟุตบอลในเมืองเก็ลเซินเคียร์เชิน ประเทศเยอรมนี เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 ซึ่งใช้งานเป็นสนามเหย้าของทีมในบุนเดิสลีกา คือ สโมสรฟุตบอลชัลเคอ 04
ชื่อเต็ม | เฟ็ลทินส์-อาเรนา |
---|---|
ชื่อเดิม | อาเรนาเอาฟ์ชัลเคอ ฟีฟ่าเวิลด์คัพสเตเดียม เก็ลเซินเคียร์เชิน (ฟุตบอลโลก 2006) |
ที่ตั้ง | เก็ลเซินเคียร์เชิน เยอรมนี |
เจ้าของ | ชัลเคอ 04 |
ผู้ดำเนินการ | ชัลเคอ 04 |
ที่นั่งพิเศษ | 90 ห้อง |
ความจุ | 61,673 ที่นั่ง (การแข่งขันในลีก),[2] 54,142 ที่นั่ง (การแข่งขันระหว่างทีมชาติ) |
สถิติผู้ชม | ฮอกกี้น้ำแข็ง: 77,803 คน 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ไอไอเอชเอฟ เวิลด์แชมเปียนชิป |
ขนาดสนาม | 105 × 68 เมตร |
การก่อสร้าง | |
ก่อสร้าง | พ.ศ. 2541–2544 |
เปิดใช้สนาม | พ.ศ. 2544 |
งบประมาณในการก่อสร้าง | 191 ล้านยูโร |
สถาปนิก | เฮ็นทริช, ฮูแบร์ท เพ็ทช์นิค และหุ้นส่วน[1] |
การใช้งาน | |
สโมสรฟุตบอลชัลเคอ 04 (ค.ศ. 2001–ปัจจุบัน) ฟุตบอลทีมชาติเยอรมนี (บางนัด) |
โดยสนามนี้เป็นสนามสำหรับการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2003–04 ในนัดชิงชนะเลิศ และอีก 5 นัดในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ซึ่งรวมถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในการแข่งขันนี้ด้วย โดยปัจจุบันสนามนี้มีความจุ 61,482 ที่นั่ง สำหรับการแข่งขันในลีก ซึ่งมีทั้งที่นั่งและยืน ส่วนการแข่งขันระดับนานาชาติ มีความจุ 53,951 ที่นั่ง โดยจะเป็นที่นั่งทั้งหมด ซึ่งสนามนี้มีหลังคาคลุมรอบ ส่วนชื่อสนามล่าสุดถูกซื้อเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 โดยเฟ็ลทินส์ บริษัทผลิตเบียร์ในประเทศเยอรมนี
ประวัติ
แก้การสร้างสนามนี้นั้นถูกวางแผนในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งถูกเรียกร้องจากแฟนบอลที่สนามเก่าอย่างพาร์คชตาดีอ็อนที่เก่าและยากที่จะปรับปรุงใหม่ได้ รวมไปถึงการต้องการสร้างสนามสำหรับการใช้งานอเนกประสงค์สมัยใหม่ ซึ่งมีหลายปัจจัยที่จะสร้างสนามใหม่ คือชัลเคอ 04 ชนะเลิศการแข่งขันยูฟ่าคัพ และจะฉลองครบรอบ 100 ปีของสโมสรใน พ.ศ. 2547 ซึ่งสัญญาของการก่อสร้างมีมูลค่า 186 ล้านยูโร ใน พ.ศ. 2541 โดยฮาเบเอ็ม บริษัทก่อสร้างของเยอรมนี
การก่อสร้าง
แก้เดิมชัลเคอ 04 ได้เลือกที่ตั้งสนามใหม่ไม่ไกลจากสนามเก่ามากนัก โดยจะสร้างบนที่ดินกว้างใหญ่ของสโมสรที่รู้จักกันในชื่อ "แบร์เกอร์เฟ็ลท์" แต่น่าเสียดายที่อุโมงค์เหมืองถ่านหิน "คอนซอลีเดชัน" และ "ฮูโก" ได้ผ่านใต้ที่ดินผืนนั้นที่ความลึกประมาณ 800 เมตร อุโมงค์เหล่านี้ (ซึ่งใช้จนถึง พ.ศ. 2543) อาจก่อให้เกิดการเลื่อนและความตึงจนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสนามได้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง จึงย้ายที่ตั้งของสนามไปทางด้านตะวันออกแทน
เฟ็ลทินส์-อาเรนาสร้างขึ้นเพื่อใช้งานอเนกประสงค์ โดยมีความจุสนามสำหรับการแข่งขันลีก 61,524 ที่นั่ง ซึ่งจะมีทั้งที่ยืนและที่นั่ง ส่วนการแข่งขันนานาชาติจะมีความจุ 53,994 ที่นั่ง ซึ่งจะมีเฉพาะที่นั่งเท่านั้น สำหรับการแข่งขันลีกนั้น อัฒจันทร์ทิศเหนือจะเป็นแถวยืนโดยมีความจุ 16,307 ที่นั่ง สำหรับเปิดทางให้กองเชียร์ของชัลเคอ 04 เชียร์ได้อย่างสะดวก แต่เมื่อแข่งขันในนัดนานาชาติจะถูกปรับเป็นที่นั่ง จะเหลือความจุเพียง 8,600 ที่นั่ง มีห้องบุคคลสำคัญ 72 ห้องรอบสนาม แยกระหว่างชั้นที่หนึ่งกับชั้นที่สอง ส่วนอัฒจันทร์ด้านตะวันตกจะมีห้องบุคคลสำคัญมากกว่าด้านอื่น ๆ
สนามนี้สร้างด้วยคอนกรีตและเศษแร่เหล็กจำนวน 600,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมเหล็กถลุง โดยถูกนำมาสร้างเป็นอัฒจันทร์ทั้ง 4 ด้าน และคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นจะถูกนำมาสร้าง 4 มุมรอบสนาม เป็นอุโมงค์ 4.50 × 4.50 เมตร สำหรับการระบายอากาศ
หลังคาและสนาม
แก้เฟ็ลทินส์-อาเรนาใช้เทฟลอน (พอลิเตตระฟลูออรอไธลีน) เคลือบด้วยไฟเบอร์กลาส และผ้าใบนำมาทำเป็นหลังคา โดยมีเสาอยู่รอบ ๆ สนามซึ่งถูกยึดด้วยเสาเหล็ก 24 เสา ส่วนหลังคาจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนและมีรูตรงกลาง เพื่อที่จะเปิด-ปิดหลังคาได้เพื่อป้องกันฝนหรือแดด ซึ่งหลังคานี้สามารถป้องกันเสียงคอนเสิร์ตไม่ให้รบกวนด้านนอกได้ถึง 105 เดซิเบล และจอที่สูงจากพื้น 25 เมตร 4 จอด้านบนตรงกลางสนาม ใช้พื้นที่ 35 ตารางเมตร มีลักษณะเหมือนตารางคะแนนสำหรับสนามกีฬาในร่ม โดยเป็นสนามแรกที่มีจอกลางสนาม หลังจากนั้นก็มีค็อมแมทซ์บังค์-อาเรนาในแฟรงก์เฟิร์ต และเอ็สพรีอาเรนาในดึสเซิลดอร์ฟ ติดตั้งตามในเวลาต่อมา
โดยสนามนี้มีหญ้าที่สามารถเลื่อนเข้า-ออกได้เหมือนกับซัปโปโระโดมในประเทศญี่ปุ่น, สนามกีฬามหาวิทยาลัยฟีนิกซ์ในสหรัฐอเมริกา และแค็ลเรอโดมในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกลไกนี้มีน้ำหนัก 11,400 ตัน โดยสามารถเลื่อนเข้าและออกได้ภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในการจัดคอนเสิร์ตมาก เพื่อที่จะไม่ให้พื้นหญ้าเสีย
พื้นที่สำหรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์
แก้ผู้คนที่มากกว่า 60,000 คน ภายในสนามจึงต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายสำหรับตอบสนองความต้องการของผู้คนที่มากมายในการแข่งขันกีฬาและคอนเสิร์ต รวมไปด้วยร้านอาหาร 15 ร้าน ร้านขายของย่าง 50 ร้าน และร้านกาแฟ 35 ร้าน โดยสามารถให้บริการขายไส้กรอก 2,500 กิโลกรัม, เพรตเซล 7,000 ชิ้น และพิซซา 1,000 ตารางเมตร ภายใน 1 วัน รวมไปถึงที่ขายเบียร์ยาว 5 กิโลเมตร ที่พร้อมให้บริการเบียร์ 52,000 ลิตร ภายใน 1 นัดการแข่งขัน
การจัดงานอื่น ๆ
แก้เฟ็ลทินส์-อาเรนาเป็นสถานที่สำคัญสำหรับจัดงานใหญ่มากมาย รวมถึงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศในปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2004) ในระหว่างการซ่อมแซมไรน์ชตาดีอ็อนหรือเอ็สพรีอาเรนาในดึสเซิลดอร์ฟ สนามนี้ถูกนำมาใช้เป็นสนามเหย้าของไรน์ไฟร์ในเอ็นเอฟแอลยุโรปซึ่งเป็นการแข่งขันลีกอเมริกันฟุตบอล ขีดความสามารถที่หลากหลายของสนามได้รับการทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 โดยมีการจัดคอนเสิร์ต 1 ครั้ง การแข่งขันบุนเดิสลีกา 1 นัด และการแข่งขันเอ็นเอฟแอลยุโรป 1 นัด ภายใน 96 ชั่วโมง
ฟุตบอลโลก 2006
แก้สนามแห่งนี้ถูกจัดเป็นสนามแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่ามีกฎระงับการใช้ชื่อผู้สนับสนุนเป็นชื่อสนาม ทำให้สนามนี้มีชื่อว่า "ฟีฟ่าเวิลด์คัพสเตเดียม เก็ลเซินเคียร์เชิน" ในระหว่างจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก
นัดการแข่งขันต่อไปนี้ในฟุตบอลโลก 2006 ที่จัดการแข่งขันที่สนามนี้ :
วันที่ | เวลา (CET) | ทีม | ผลการแข่งขัน | ทีม | รอบ | ผู้ชม |
---|---|---|---|---|---|---|
9 มิถุนายน 2549 | 21:00 | โปแลนด์ | 0-2 | เอกวาดอร์ | กลุ่ม เอ | 52,000 |
12 มิถุนายน 2549 | 18:00 | สหรัฐ | 0-3 | เช็กเกีย | กลุ่ม อี | 52,000 |
16 มิถุนายน 2549 | 15:00 | อาร์เจนตินา | 6-0 | เซอร์เบียและมอนเตเนโกร | กลุ่ม ซี | 52,000 |
21 มิถุนายน 2549 | 16:00 | โปรตุเกส | 2-1 | เม็กซิโก | กลุ่ม ดี | 52,000 |
1 กรกฎาคม 2549 | 17:00 | อังกฤษ | 0-0 (1-3 ลูกโทษ) | โปรตุเกส | รอบ 8 ทีมสุดท้าย | 52,000 |
สปีดเวย์กรังด์ปรีซ์ออฟเยอรมนี 2007
แก้เฟ็ลทินส์อาเรนาถูกนำมาใช้ในการจัดการแข่งขันจักรยานต์ยนต์ ในรายการสปีดเวย์กรังด์ปรีซ์ 2007 โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550 โดยการแข่งขันนี้เป็นการแข่งัขนครั้งที่ 100 ในประวัติศาสตร์การแข่งขัน โดยผู้ชนะจะได้เงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้ชมกว่า 25,000 คนในสนาม ซึ่งอันเดรียอัส ยุนซ็อน นักแข่งรถจักรยานยนต์ชาวสวีเดน ชนะอันดับที่ 2 เพียง 1 นาที
สปีดเวย์กรังด์ปรีซ์ออฟเยอรมนี 2008
แก้เฟ็ลทินส์อาเรนาถูกใช้จัดการแข่งขันนี้อีกครั้ง โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2551 อย่างไรก็ตาม ได้มีการประชุมยกเลิกการแข่งขันโดยเอฟไอเอ็ม (FIM) เห็นว่าไม่ปลอดภัย เนื่องจากมีสภาพอากาศที่เลวร้ายในขณะนั้น แม้ว่าหลังคาจะถูกปิดในระหว่างการวางสนามก็ตาม โดยการแข่งขันนี้ได้เปลี่ยนสถานที่จัดการแข่งขันเป็นสนามกีฬาโปโลเนียบึดกอชตช์ในเมืองบึดกอชตช์ ประเทศโปแลนด์ ในวันที่ 18 ตุลาคม และเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น "เอฟไอเอ็ม ไฟนัลสปีดเวย์กรังด์ปรีซ์ 2008"[3][4]
ไอซ์ฮ็อกกีเวิลด์แชมเปียนชิป 2010
แก้เป็นการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งครั้งที่ 74 ของไอไอเอชเอฟ เวิลด์แชมเปียนชิป ซึ่งจัดการแข่งขันที่เฟ็ลทินส์อาเรนา ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2553 โดยมีสถิติผู้ชม 77,803 คน ซึ่งสถิติผู้ชมสูงสุดในการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งและเป็นสถิติผู้ชมสูงสุดของสนามด้วย โดยเยอรมนีสามารถเอาชนะสหรัฐเมริกาไปได้ 2–3 ในช่วงต่อเวลา
คอนเสิร์ต
แก้สนามนี้มักถูกนำไปใช้ในการจัดคอนเสิร์ตค่อนข้างบ่อย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 สนามนี้จัดคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรก คือเทศกาลคอนเสิร์ต "Rock im Pott" ซึ่งมีทั้งพลาซีโบ, เดอะบอสส์ฮอสส์, เรดฮอตชิลีเพปเปอส์ ศิลปินอื่น ๆ ที่เคยแสดงดนตรีที่สนามนี้ได้แก่ บรูซ สปริงส์ทีน, บอน โจวี, ร็อบบี วิลเลียมส์, เมทัลลิกา, เอซี/ดีซี, ยูทู และศิลปินเยอรมัน พัวร์และแฮร์แบร์ท เกรอเนอไมเออร์
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2013-03-01.
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ http://www.uefa.com/MultimediaFiles/Download/StatDoc/competitions/UEFACup/01/67/59/06/1675906_DOWNLOAD.pdf
- ↑ "BSI/FIM Statement". Benfield Sports International. 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "2008 FIM FINAL SGP TICKETS NOW ON SALE!". Benfield Sports International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-11. สืบค้นเมื่อ 2008-10-14.