เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (เกิด 10 กันยายน พ.ศ. 2539) ชื่อเล่น แฟรงก์ เป็นนักกิจกรรมนักศึกษา ผู้ประพันธ์และผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม เขาก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท[1] ซึ่งทั้งสองกลุ่มมุ่งปฏิรูปการศึกษาไทย การเคลื่อนไหวช่วงแรก ๆ ของเขาเป็นการมุ่งเน้นเรื่องทรงผมนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา รวมถึงวิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และการยกเลิกเกณท์ทหาร[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเสนอ "รางวัลสิทธิมนุษยชน" ประเภทเด็กและเยาวชนจากบทบาทการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนให้เขา แต่เขาปฏิเสธ[3][4]
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล | |
---|---|
เกิด | 10 กันยายน พ.ศ. 2539 จังหวัดสมุทรปราการ ประเทศไทย |
ชื่ออื่น | แฟรงก์ |
อาชีพ | นักเขียน, นักประพันธ์, นักเคลื่อนไหวสังคม |
มีชื่อเสียงจาก | นักกิจกรรมเสรีภาพในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และการปฏิรูปการศึกษา |
ลายมือชื่อ | |
![]() |
ปี 2561 เนติวิทย์เป็น 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียที่น่าจับตามองแห่งปี (50 Asians to Watch) สาขาบุคคลสาธารณะผู้เคลื่อนไหวสังคม ประจำปี 2018 โดยสำนักข่าวสเตรทไทม์ส (Straits Times) ของสิงคโปร์[5] และได้รับเชิญให้เป็น 1 ในปาฐกงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน[6][7] และเป็นส่วนหนึ่งเคลื่อนไหวการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565
ปี 2567 ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมดสิทธิผ่อนผันเกณฑ์ทหาร เมื่อวันที่ 5 เมษายน เนติวิทย์ได้เดินทางไปยังจุดตรวจเลือกทหาร ยืนอ่านประกาศแถลงการณ์อารยะขัดขืน ไม่ขอเข้าเกณฑ์ทหาร และยินดีรับโทษตามกฎหมาย โดยมองว่ากระบวนการเกณฑ์ทหารไม่เกิดความเสมอภาคของพลเมือง ควรมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกว่าจะเป็นทหารหรือไม่[8]
ชีวิตและการศึกษา
แก้เนติวิทย์เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 เขาเป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัวเจ้าของร้านขายของชำ[2] เกิดและเติบโตในจังหวัดสมุทรปราการ ศึกษาจบในระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขาเป็นผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรมตั้งแต่อายุ 18 ปี[9]
การเคลื่อนไหวทางสังคม
แก้เขาได้รับความสนใจระดับชาติในเดือนมกราคม 2556 หลังออกรายการโทรทัศน์ช่วงไพรม์ไทม์ ในด้านการศึกษา เขาเสนอให้ลดชั่วโมงเรียนและการบ้าน และเปลี่ยนหลักสูตรให้เน้นความสำคัญของภาษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าเขากลับต้องท่องจำความยาวของแม่น้ำในทวีปแอฟริกา เขาไม่อยากให้นักเรียนนักศึกษามีพิมพ์เดียวโดยเฉพาะพิมพ์ที่ทำตามคำสั่ง[10] ในเดือนธันวาคม 2556 เนติวิทย์โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีอั้ม เนโกะพยายามนำธงดำขึ้นบนยอดเสาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนจะทิ้งท้ายว่าร้องเพลงชาติทีไรคลื่นไส้ทุกครั้ง[11]
ต้นปี 2557 เขาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารและคณะรัฐประหาร ในเดือนพฤษภาคม 2558 เขาถูกควบคุมตัวช่วงสั้น ๆ เมื่อเข้าร่วมการจัดงานไว้อาลัยประชาธิปไตยในกรุงเทพมหานครและจังหวัดขอนแก่น[2]
เขากำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่าเลือกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็นอนุรักษนิยมมากกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เป็นเสรีนิยมว่าตนไม่อยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดแบบเดียวกัน ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นอนุรักษนิยมมากอย่างที่เขาว่ากัน[9] เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อเขาได้รับเข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาถูกอาจารย์คนหนึ่งวิจารณ์หน้าตา และอีกหลายคนกล่าวว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยอาจยากลำบาก[2][12]
ในเดือนกรกฎาคม 2559 เนติวิทย์และเพื่อนจำนวน 8 คน ไม่ยอมหมอบกราบต่อหน้าพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยอ้างเหตุผลว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ยกเลิกธรรมเนียมดังกล่าวเอง และเดินออกจากพิธีหลังกล่าวคำปฏิญาณต่อมหาวิทยาลัยและเดินไปโค้งคำนับต่อหน้าพระบรมราชานุสรณ์แทน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บางคนกล่าวว่าจะช่วยจุดประกายการอภิปรายเกี่ยวกับพิธีนี้ ส่วนบางคน เช่น หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ว่า ต้องการให้ช่วยขจัด "มะเร็ง" ออกจากมหาวิทยาลัย[13]
วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี กล่าวเกี่ยวกับกรณีที่เนติวิทย์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ว่า "เสียดายและเป็นห่วง เพราะเสียชื่อสถาบัน มหาวิทยาลัยนี้คงไม่มีปัญหาความคิดสุดโต่งใช่หรือไม่ ตนขี้เกียจรบกับเด็ก" [14] เนติวิทย์จึงถามกลับว่า ใครคือความอับอายของชาติ ประยุทธ์ทำให้ชื่อเสียงของประเทศเสื่อมเสียจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 ไม่เคารพกติกาของบ้านเมือง ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ และลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนไทยมา 3 ปีแล้ว[15][16]
ในปี 2560 เนติวิทย์และสมาชิกสภานิสิตฯ อีก 7 คนเดินออกจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังคำนับแล้ว หลังจากนั้นปรากฏภาพอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้หนึ่งล็อกคอนักศึกษา[17] มหาวิทยาลัยฯ ตั้งคณะกรรมการและเรีรยกตัวนักศึกษามาสัมภาษณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่าการประท้วงดังกล่าวเป็นการเมือง และว่าจัดพื้นที่ต่างหากสำหรับผู้ไม่เห็นด้วยแล้ว และการกระทำของนักศึกษาดังกล่าวไม่เหมาะสม[18] รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสั่งตัดคะแนนความประพฤติของนักศึกษา ทำให้เนติวิทย์ขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย[19] ทำให้เนติวิทย์พ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตฯ[20][21] เขาได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวจากต่างประเทศ ในเดือนมกราคม 2561 ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเจ็ดคนร้องทุกข์ต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอุทธรณ์ให้เนติวิทย์และวิจารณ์มหาวิทยาลัย[22]
วันที่ 27 มกราคม 2561 เนติวิทย์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประท้วงต่อต้าน คสช. ที่จัดโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย วันที่ 29 มกราคม คสช. ฟ้องเขาและนักกิจกรรมอีก 6 คนว่าเป็นผู้นำการประท้วง[23] และกล่าวหาว่าเขาละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558[24] ต่อมา ศาลปล่อยตัวเขากับนักเคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข[25]
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เนติวิทย์ได้รับจดหมายเชิญจากมูลนิธิฮิวแมน ไรท์ส ฟาวเดชั่น (Human Rights Foundation) ให้เป็นหนึ่งในปาฐก หรือผู้บรรยายในงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จัดขึ้น ณ เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งงานดังกล่าวเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นเวทีรวมตัวของนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประมุขของรัฐ และอื่น ๆ โดยเนติวิทย์กล่าวว่า การเดินทางไปเป็นหนึ่งในปาฐกครั้งนี้จะได้พบปะกับผู้รักความเป็นธรรมจากทั่วโลก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยเรื่องเมืองไทย ยกย่องเพื่อนผู้กล้าหาญ และจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยและโลกให้มากที่สุด[6][7]
สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แก้ช่วงต้นปี 2563 เนติวิทย์ได้ลงสมัครลงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามของพรรคสิงหราษฎร์ (Demosingh Party) และได้รับชัยชนะในการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ปีการศึกษา 2563[26] ในช่วงปีการศึกษานี้ เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วย ซึ่งเนติวิทย์และเพื่อนนิสิตในพรรคก็ได้จัดกิจกรรมใหม่ๆ และได้ปรับรูปแบบตามสถานการณ์ที่ยังคงความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองได้ด้วย เช่น โครงการรำลึก 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์,[27] โครงการปฏิรูปตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์, โครงการ 44 ปี 6 ตุลาฯ ซึ่งได้เปิดห้องประชุมใหม่ที่ตึกกิจกรรมนิสิต ชื่อว่าห้อง วิชิตชัย อมรกุล และห้องประชุม ดร. บุญสนอง บุณโยทยาน เพื่อรำลึกวีรชนรุ่นพี่ผู้เสียสละชีวิตช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วย, โครงการจัดติว GAT-PAT ฟรีให้นักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ เป็นต้น[28][29][30]
ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมหรือแคมเปญอื่นๆ เพิ่มเติมระหว่างปีการศึกษาด้วย เช่น #Saveพี่สมเด็จ จากกรณีที่คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ปลดรูปนาย สมเด็จ วิรุฬหผล วีรชน เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จากห้องสโมสรนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์[31] เรียกร้องให้ อบจ. ในขณะนั้นออกแถลงการณ์ขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์จากกรณีความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในอดีต,[32] ริเริ่มกิจกรรม #ส่งต่อความอิ่ม ช่วยเหลือชุมชนช่วงวิกฤตโควิด-19,[33] และเรียกร้องการเพิ่มทางเท้าและทางม้าลายทั้งภายในและรอบมหาวิทยาลัยเพื่อความปลอดภัยของนิสิตและประชาชน[34][35]
ตั้งแต่เริ่มวาระดำรงตำแหน่ง เนติวิทย์และเพื่อนนิสิตได้ริเริ่มเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยุติการรื้อถอนสถานที่สำคัญต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพื้นที่ดูแลภายใต้สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น กรณีโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งภายหลังช่วงปลายปี 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มอบพื้นที่บริเวณนั้นให้เครือเซ็นทรัลพัฒนาเช่าดูแลต่อและได้ทำลายอาคารลงท่ามกลางเสียงคัดค้านจำนวนมากจากนิสิตและประชาชน,[36] กรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซึ่งเริ่มเรียกร้องมาตั้งแต่กลางปี 2563 ทำให้อาคารศาลเจ้าและทางครอบครัวผู้ดูแลศาลเจ้าสามารถยื้อเวลาอยู่ต่อได้อีกชั่วระยะหนึ่ง[37] เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ไล่รื้อชุมชนและต้องการรื้อถอนอาคารออกไปนั้น เป็นไปตามแผนการพัฒนาโครงการ Chula Smart City ที่จะนำพื้นที่ให้บริษัททุนใหญ่ต่างๆ เข้ามาเช่าและสร้างเป็นศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม ฯลฯ[38]
อีกทั้ง เนติวิทย์ได้ริเริ่มวัฒนธรรมการออกแถลงการณ์เพื่อความยุติธรรมทางสังคมและการเมืองผ่านองค์กรนิสิตนักศึกษา เช่น แถลงการณ์กรณีอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์,[39] แถลงการณ์ประณามการคุกคามประชาชนที่ชุมนุมอย่างสันติโดยรัฐผ่านการใช้กฎหมายและความรุนแรง,[40] แถลงการณ์ประณามรัฐบาลกรณีจับกุมผู้ต้องหา 112 อย่างไม่เป็นธรรม,[41] แถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 90 ปีชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์,[42] แถลงการณ์ประณามรัฐประหารเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564,[43] แถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและเด็กในวิกฤตอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นต้น
ก่อนจบวาระในเดือนพฤษภาคม 2564 เนติวิทย์ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอโทษต่อสังคมกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยสนับสนุน กปปส. ซึ่งเป็นต้นเหตุการรัฐประหาร 2557 อันบ่อนทำลายประชาธิปไตยและอนาคตของประเทศ[44]
องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)
แก้เดือนมีนาคม 2564 เนติวิทย์ได้ลงสมัครตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับเพื่อนนิสิตจากหลายคณะในนามพรรคจุฬาของทุกคน (Chula for All Party) และได้รับชัยชนะด้วยคะแนน 10,324 คะแนน จากนิสิตผู้มาใช้สิทธิ 14,691 คะแนน คิดเป็น 70.27% จากจำนวนนิสิตที่มาใช้สิทธิทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อนนิสิตในพรรคจุฬาของทุกคนอีก 9 ตำแหน่งก็ล้วนได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ด้วยเช่นกัน [45]
การเลือกตั้งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2564
แก้ผลการเลือกตั้งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2564 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พรรค | ผู้สมัคร | คะแนนเสียง | % | ± | |
เบอร์ 1: จุฬาของทุกคน | เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล | 10,324 | 70.27 | - | |
เบอร์ 2: ใส่ใจ | กิตตน์อรรจ วัฒนาวีรชัย | 2,030 | 13.82 | - | |
เบอร์ 3: พร้อม | ธนาพัฒน์ มีฉิม | 695 | 4.73 | - | |
ไม่ประสงค์ลงคะแนน | 1,642 | 11.18 | – | ||
ผลรวม | 14,691 | 100.00 | — | ||
ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง | 14,691 | 56.03 | – | ||
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง | 26,219 | 100.00 | — |
ระหว่างการดำรงตำแหน่งในองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติวิทย์และเพื่อนนิสิตได้ริเริ่มโครงการต่างๆ และแคมเปญอื่นๆ มากมาย เช่น กิจกรรมปฐมนิเทศนิสิตใหม่ พร้อมกับคลิปมอบขวัญกำลังใจจากรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, และรองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, แถลงการณ์ยกเลิกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในกิจกรรมฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์, ประกาศให้สหประชาชาติรับรองและสนับสนุนให้วันที่ 6 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันปกป้องเสรีภาพนักศึกษา เป็นต้น
จากการที่เนติวิทย์เชิญนักศึกษานักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาจารย์ผู้ลี้ภัยจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากล่าวในกิจกรรมปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ประกอบกับแถลงการณ์ยกเลิกผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ทำให้ศิษย์เก่าและกลุ่มอนุรักษนิยมเข้ามาคุกคามอย่างหนัก กระนั้นสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยรองอธิการบดีด้านการพัฒนานิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยพร ภู่ประเสริฐ ได้ตั้งคณะกรรมการวินัยนิสิตเพื่อสอบสวนกรณีข้างต้นว่าผิดระเบียบหรือไม่[46]
สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน
แก้หลังจากที่เนติวิทย์ถูกตัดคะแนนด้วยความไม่เป็นธรรมจากสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อครั้นดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติวิทย์และเพื่อนนักเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านขึ้น เพื่อเผยแพร่งานเขียนและงานแปลที่เกี่ยวกับการต่อสู้ในระบบการศึกษา การต่อสู่เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
รางวัลและการยอมรับ
แก้- 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียที่น่าจับตามองแห่งปี (50 Asians to Watch) สาขาบุคคลสาธารณะผู้เคลื่อนไหวสังคม ประจำปี 2018 โดยสำนักข่าวสเตรทไทม์ส (Straits Times) ของสิงคโปร์[5] ทั้งนี้ สำนักข่าวสเตรทไทม์สได้ระบุเหตุผลไว้ว่า เนติวิทย์เป็นบุคคลที่น่าจับตามองตั้งแต่วัย 21 ปี เป็นคนที่กล้าคิด กล้าแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน ทั้งเรื่องการเมือง การศึกษา และกองทัพ[47]
- ได้รับเชิญให้เป็น 1 ในปาฐกงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน[6][7]
- ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ในผู้ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน ประเภทเด็กและเยาวชน ประจำปี 2556 จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากผลงานการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน แต่เนติวิทย์ปฏิเสธการรับรางวัล เนื่องจากความดูเหมือนไม่จริงใจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในประเด็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และประเด็นความดูเหมือนไม่สนใจต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในโรงเรียนของสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย[3]
- เดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ได้รับการเลือกตั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาถูกปลดจากตำแหน่งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[48]ตามคำสั่งมหาวิทยาลัย ที่ 0821/2565
การถูกดำเนินคดีทางการเมือง
แก้บทความนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน มีเนื้อหา รูปแบบ หรือลักษณะการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมสำหรับสารานุกรม |
กรณีสกายวอล์ก
แก้วันที่ 29 มกราคม 2561 เนติวิทย์ถูกตั้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากกรณีการไปร่วมแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นในกิจกรรม "นัดรวมพล ประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช." เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 เวลา 17.00 - 19.00 น. ณ สกายวอล์ก ใกล้ศูนย์การค้ามาบุญครอง แยกปทุมวัน[49] โดยในกิจกรรมวันที่ 27 มกราคม เนติวิทย์ไม่ได้ปราศรัย แต่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงเหตุผลที่เขามาร่วมกิจกรรม ซึ่งก็คือ เขาต้องการสื่อสารกับรัฐบาลว่าหมดเวลาแล้วที่จะอยู่ต่อ ให้โอกาสกับลูกหลานบ้าง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ[50]
เนติวิทย์เป็นหนึ่งใน 39 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการเข้าร่วมชุมนุมที่สกายวอล์กใกล้ศูนย์การค้ามาบุญครอง ซึ่งต่อมาเรียก 39 คนในกรณีนี้ว่า MBK39 ทั้งนี้เนติวิทย์เป็น 1 ใน 9 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมด้วย โดยเนติวิทย์กล่าวว่าในกิจกรรมดังกล่าวเขาไม่ได้เป็นแกนนำ เขาเป็นเพียงผู้ไปร่วมแสดงจุดยืนและแสดงความคิดเห็นเท่านั้น[49][51]
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 10.00 น. เนติวิทย์และกลุ่ม MBK39 เดินทางมา สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เนติวิทย์กล่าวว่า เขายินดีร่วมชะตากรรมกับทุกคน ถือเป็นเกียรติของคน ๆ หนึ่งที่ได้ยืนยันและปกป้องการใช้สิทธิและเสรีภาพของคนไทย[52][53][51] เขายืนยันว่า สิทธิในการชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์ หรือสนับสนุนรัฐบาลเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรมี[51] อนึ่ง ในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าว เนติวิทย์และกลุ่ม MBK39 ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นตำรวจ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุลอ้างว่า สาเหตุที่ชั้นตำรวจตัดสินใจไม่ปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มั่นใจว่าหากปล่อยตัวไปแล้วผู้ต้องหาจะมาตามนัดหรือไม่[51]
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 14.55 น. เนติวิทย์และผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เดินทางไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาที่มีโทษสูงกว่า 3 ปี พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขัง 12 วัน คือวันที่ 8 - 19 กุมภาพันธ์ 2561 โดยให้เหตุผลว่า คดีนี้มีโทษจำคุกเกิน 3 ปี มีพยานต้องสอบเพิ่มอีก 5 ปาก และต้องสอบประวัติอาชญากรรม อีกทั้งพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องคัดค้านการประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า มีนัดหมายชุมนุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ที่ถนนราชดำเนิน เกรงว่าผู้ต้องหาเหล่านี้จะก่อเหตุอันตราย ส่วนทางเนติวิทย์และผู้ต้องหาคนอื่นได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า พวกเขาเป็นคนธรรมดาไม่มีความสามารถในการเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐาน อีกทั้งพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายหรือวีดิโอซึ่งอยู่ในครอบครองของพนักงานสอบสวนอยู่แล้ว[54]
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 19.10 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีการหลบหนี เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตนเอง ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนเป็นอย่างดี ส่วนที่พนักงานสอบสวนอ้างว่าเนติวิทย์และผู้ต้องหาคนอื่นจะไปร่วมชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์แล้วก่ออันตรายประการอื่นนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงการคาดเดาของพนักงานสอบสวน[54]
รวมเหตุการณ์ตลอดทั้งวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เนติวิทย์และผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ใช้เวลาในการดำเนินการเรื่องคดีกรณีสกายวอล์กจำนวน 9 ชั่วโมง 10 นาที โดยหลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้ยกคำร้อง เนติวิทย์และผู้ต้องหาจึงสามารถเดินทางกลับที่พักของเขาได้[54]
วันที่ 9 มีนาคม 2561 พนักงานสอบสวนส่งตัวเนติวิทย์และผู้ต้องหาให้อัยการศาลแขวงปทุมวัน พนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวันมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่าการฟ้องจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และพนักงานอัยการแขวงปทุมวันได้ทำความเห็นพร้อมส่งสำนวนไปที่อัยการสูงสุดให้มีความเห็นต่อไป[55]
วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.00 น. เนติวิทย์เดินทางมา สน.ปทุมวัน ตามนัดหมายส่งตัวผู้ต้องหา ทนายฝ่ายผู้ชุมนุมขอเลื่อนนัดการส่งตัวเนื่องจากผู้ต้องหาคนอื่นกำลังถูกคุมขังอยู่ที่ สน.พญาไท และสน.ชนะสงครามจากกิจกรรมการชุมนุมและเดินขบวนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าสหประชาชาติในวันที่ 21 - 22 พฤษภาคม[55]
วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 เวลา 10.45 น. เนติวิทย์เดินทางมาที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษอาญากรุงเทพใต้ ตามนัดหมายของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะทำเรื่องส่งตัวและทำสำนวนให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง ส่วนพนักงานอัยการเมื่อได้รับสำนวนจะมีความเห็นทางคดีและมีคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 น.[56]
กรณีราชดำเนิน
แก้วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 14.00 - 19.35 น. เนติวิทย์เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม "หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง หมดเวลา คสช. ถึงเวลาประชาธิปไตย" ณ บริเวณทางเท้า หน้าร้านแมคโดนัล สาขาราชดำเนิน ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[57]
วันที่ 14 มีนาคม 2561 เวลา 10.00 น. เนติวิทย์เดินทางมา สน.นางเลิ้ง เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เนติวิทย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัว พร้อมทั้งนัดส่งตัวให้อัยการศาลแขวงดุสิตในวันที่ 28 มีนาคม 2561[57]
วันที่ 28 มีนาคม 2561 เนติวิทย์เดินทางมาพบอัยการที่ศาลแขวงดุสิต แต่ศาลดุสิตขอเลื่อนการให้ความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นวันที่ 5 เมษายน 2561[58]
วันที่ 5 เมษายน 2561 อัยการศาลแขวงดุสิตมีความเห็นสั่งฟ้องเนติวิทย์และผู้ชุมนุมกรณีดังกล่าว[59][60] ซึ่งเรียกว่ากลุ่ม RDN50 เนติวิทย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงปล่อยตัวชั่วคราวและนัดตรวจหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 เวลา 9.00 น.[60]
กรณีกองทัพบก
แก้วันที่ 24 มีนาคม 2561 เวลา 16.00 น. เนติวิทย์เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อมาเมื่อเวลา 17.40 น. เนติวิทย์ร่วมเคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังกองบัญชาการกองทัพบก[61]
วันที่ 17 พฤษภาคม 2561 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตยื่นฟ้องเนติวิทย์และผู้ชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวรวม 57 คน ซึ่งเรียกว่า ARMY57 ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยศาลแขวงดุสิตได้ประทับรับฟ้องไว้เป็นคดี เนติวิทย์และผู้ชุมนุมได้รับการปล่อยตัว โดยศาลให้เนติวิทย์และผู้ชุมนุมทุกคนสาบานตน พร้อมทั้งนัดตรวจหลักฐานและสอบคำให้การในวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 เวลา 9.00 น.[61]
วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2566 กองทัพบกฟ้องร้องในข้อหาผิดมาตรา 27 พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
การถูกคุกคาม
แก้เดือนพฤษภาคม 2559 เนติวิทย์ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรวม 7 นายตามที่บ้านในจังหวัดสมุทรปราการ และพบกับบิดาเขาซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาตรวจสอบว่าเป็นผู้มีอิทธิพล ก่อนหน้านี้ หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายมาที่บ้านแล้วครั้งหนึ่ง และช่วงหลังรัฐประหารใหม่ ๆ ครูที่โรงเรียนของเนติวิทย์เคยแจ้งเคยมีเจ้าหน้ามาที่โรงเรียนด้วย[62]
เดือนพฤษภาคม 2560 หลังจากเนติวิทย์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ มีวัยรุ่น 2 คนขับจักรยานยนต์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณหน้าอาคารสำราญราษฎร์บริรักษ์มาถามหาเนติวิทย์จากคนในละแวกนั้น และพูดจาข่มขู่ใส่ก่อนขับรถหนีไป[63]
ผลงานเขียน
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "Fall into line, youngsters" (Bangkok Post, 20 July 2014).
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 เปิดใจ "เนติวิทย์" อึดอัด แต่ไร้ทางเลือก
- ↑ 3.0 3.1 'เนติวิทย์' ขอปฏิเสธรับรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิฯ
- ↑ Under That Villain Mask : สอบปากคำ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในวันที่ยังถูกมองเป็น ‘ตัวร้าย’
- ↑ 5.0 5.1 ‘สเตรทไทม์ส’ ยก ‘เนติวิทย์’ หนึ่งใน 50 คนเอเชียที่น่าจับตา ‘ไอติม-ธนาธร-เท่าพิภพ-รัสมี’ ติดด้วย
- ↑ 6.0 6.1 6.2 "เนติวิทย์" ได้รับเชิญเป็นปาฐกงานเพื่อสิทธิมนุษยชนที่นอร์เวย์
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018
- ↑ Aindravudh (2024-04-05). "ไม่เสมอภาค 'เนติวิทย์' อารยะขัดขืน ไม่เกณฑ์ทหาร ไม่ผ่อนผัน ยอมถูกจับ". Thaiger ข่าวไทย.
- ↑ 9.0 9.1 Thorn in the Pillar: Freshman Makes Enemies Upsetting Tradition. Allies Too.
- ↑ In Thailand’s Schools, Vestiges of Military Rule
- ↑ แรงได้อีก เนติวิทย์ โพส คลื่นไส้ทุกทีที่ร้องเพลงชาติ
- ↑ สัมภาษณ์: ‘เนติวิทย์’ ว่าที่นิสิตหัวก้าวหน้า ในมหาวิทยาลัยอนุรักษ์นิยม
- ↑ Netiwit's monument gesture fires up Internet
- ↑ ลงแดง! กรณีเนติวิทย์กับสภานิสิตจุฬาฯ
- ↑ เนติวิทย์ ถามกลับ”ใครคือความอับอายของชาติ”-อดีตรองนายกฯชี้ ผมจบจุฬาฯ ไม่เห็นเสียชื่อ
- ↑ "PM scolds student activist for plan to change university's prostration custom". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-08-26. สืบค้นเมื่อ 2018-04-05.
- ↑ "Chula initiation rite does not go smoothly". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 24 November 2017.
- ↑ "CU denies forcing students to prostrate in the rain in oath-taking ritual - Thai PBS English News". Englishnews.thaipbs.or.th. 3 August 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-09. สืบค้นเมื่อ 10 November 2017.
- ↑ เนติวิทย์-พวก 8 คนร้องศาลปกครองถอนคำสั่งจุฬาฯตัดคะแนนความประพฤติ-เยียวยาคนละหมื่น
- ↑ CHULA RETRACTS STATEMENT SLIMING STUDENT, YET BAD TASTE LINGERS
- ↑ Netiwit removed from student council
- ↑ "Statement from Nobel Prize laureates to Chulalongkorn University - Prachatai". prachatai.com/english. สืบค้นเมื่อ 15 January 2018.
- ↑ Thirty-five Thai activists report to police after junta protest
- ↑ Thailand: 39 Democracy Activists Charged
- ↑ 'MBK39' walk free during investigation
- ↑ “เนติวิทย์”กลับมามีตำแหน่งอีกครั้ง ได้รับเลือกตั้งเป็น นายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
- ↑ Ltd.Thailand, VOICE TV. "90 ปี ชาตกาล 'จิตร ภูมิศักดิ์' คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย". VoiceTV.
- ↑ "สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดติว GAT-PAT แก่เด็ก ม.ปลาย ฟรี ระบุลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา". mgronline.com. 2021-02-13.
- ↑ matichon (2020-10-06). "'รัฐศาสตร์ จุฬาฯ' รำลึก '44 ปี 6 ตุลา' ตั้งชื่อห้องสโมฯ 'วิชิตชัย-ดร.บุญสนอง' จารึกเกียรติ 'วีรชน'". มติชนออนไลน์.
- ↑ "จุฬาฯรำลึก 6 ตุลา เสนอมาตรการ 3 ป. สู้เผด็จการครึ่งใบ". bangkokbiznews. 2020-10-06.
- ↑ ""เนติวิทย์" โวยจุฬาฯ ย้ายรูป "พี่สมเด็จ" วีรชน 14 ตุลา คณบดีแจงเตรียมส่งคืนครอบครัว". www.sanook.com/news.
- ↑ matichon (2020-10-28). "สโมสรนิสิตจุฬาฯ ขอโทษ 'จิตร ภูมิศักดิ์' 67 ปี 'โยนบก' เพื่อเตือนใจ ให้สังคมรับฟังความเห็นต่าง". มติชนออนไลน์.
- ↑ "เนติวิทย์และ #ส่งต่อความอิ่ม แคมเปญซื้อหนึ่งเผื่อหนึ่งช่วยให้ร้านและคนรอดไปด้วยกัน". a day magazine. 2020-05-20.
- ↑ matichon (2021-01-06). "เนติวิทย์ ร้องรองอธิการบดี ขอคืนทางเท้า คณะเภสัช จุฬาฯ ปลูกดอกไม้เบียดทางเดิน". มติชนออนไลน์.
- ↑ matichon (2020-11-13). "นิสิตจุฬาฯ นอนบนถนนประท้วงมหา'ลัย เอาทางเท้ามาจัดสวน สะเทือนใจ กระทบยันคนพิการ". มติชนออนไลน์.
- ↑ "หยุดสร้างห้างฯ ที่สกาลา เนติวิทย์ ชวน Save สกาลา". Urban Creature (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-09-16.
- ↑ "นิสิตจุฬาฯ แสดงพลัง #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกครั้ง". THE STANDARD. 2020-08-31.
- ↑ "Block 33". PMCU.
- ↑ "แถลงการณ์กรณีอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์". Facebook.
- ↑ "นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่สนับสนุนใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม เปิด 4 ข้อเรียกร้อง". www.thairath.co.th. 2020-10-16.
- ↑ "สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬา แถลงการณ์ประณามจับกุมผู้ชุมนุม". bangkokbiznews. 2021-01-17.
- ↑ matichon (2020-09-25). "สภานิสิตจุฬาฯ แถลงขอโทษ 'จิตร ภูมิศักดิ์' ที่ได้รับความอยุติธรรมตลอด 7 ทศวรรษ". มติชนออนไลน์.
- ↑ "ประณามรัฐประหารในประเทศพม่า". Twitter.
- ↑ ""องค์การนิสิตจุฬาฯ" ออกแถลงการณ์ สำนึกผิด-ขอโทษ เคยร่วมหนุน "กปปส."". www.sanook.com/news.
- ↑ "'เนติวิทย์' ขอบคุณทุกคะแนนเสียง ส่งนั่งนายกสโมสรนิสิตฯ ปลื้มคนรัฐศาสตร์ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงมาก". มติชนออนไลน์. 1 April 2021. สืบค้นเมื่อ 4 April 2021.
- ↑ 120 (2021-10-28). "จุฬาฯฮึ่มฟันวินัยเนติวิทย์-29นิสิตปม-แถลงการณ์ยุติแบกพระเกี้ยวอจ.ชี้ใช้อารมณ์ขู่". ข่าวสด.
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ "เนติวิทย์" รู้สึกปลื้ม สื่อนอกยกเป็นหนึ่งใน 50 คนเอเชียน่าจับตามอง
- ↑ ด่วน! จุฬาฯ สั่งปลดฟ้าผ่า 'เนติวิทย์' จาก 'นายกฯ อบจ.' อ้างเหตุเชิญ 'เพนกวิน' ไลฟ์
- ↑ 49.0 49.1 "เนติวิทย์" รู้สึกปลื้ม สื่อนอกยกเป็นหนึ่งใน 50 คนเอเชียน่าจับตามอง
- ↑ แค่เลือกตั้ง หรือพลังนักศึกษารีเทิร์น?[ลิงก์เสีย]
- ↑ 51.0 51.1 51.2 51.3 'MBK39' รับทราบข้อหา 'ศรีวราห์' สุดเฮี้ยบ! ค้านประกันชั้นสอบสวน
- ↑ แนวร่วมอยากเลือกตั้งกลุ่ม MBK 39 รับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมสกายวอล์ก ลุ้นประกันตัว
- ↑ กลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” เข้ารับทราบข้อหา
- ↑ 54.0 54.1 54.2 MBK39 เข้ารับทราบข้อหา ทั้ง 2 ศาลสั่งปล่อยตัวทั้งหมด
- ↑ 55.0 55.1 เลื่อนส่งตัวคดี ‘MBK39’ ขณะที่แกนนำบางคนยังถูกคุมตัวตั้งแต่เมื่อวานอีกคดี
- ↑ ตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องคดี 9 แกนนำคนอยากเลือกตั้ง MBK39 ส่วนอัยการนัดฟังคำสั่งอีกที 28 มิ.ย.
- ↑ 57.0 57.1 เนติวิทย์รับทราบข้อหาคดีคนอยากเลือกตั้งราชดำเนิน
- ↑ RDN50 ขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง เหตุไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ อัยการเลื่อนฟังคำสั่ง 5 เมษานี้
- ↑ ส่งฟ้องเนติวิทย์-คนอยากเลือกตั้ง รวม 40 ราย ชุมนุมขัดคำสั่ง คสช. ที่ราชดำเนิน เมื่อ 10 ก.พ.
- ↑ 60.0 60.1 ปล่อยตัว 41 #RDN50 โดยไม่มีหลักทรัพย์ประกันและไม่มีเงื่อนไข
- ↑ 61.0 61.1 สั่งฟ้อง “เนติวิทย์-พวก” 45 คน ชุมนุม “อยากเลือกตั้ง” หน้ากองทัพบก
- ↑ ทหาร-ตร. เยี่ยมบ้านเนติวิทย์ ตรวจสอบว่าเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่
- ↑ 2 ชายลึกลับขับมอเตอร์ไซค์ บุกข่มขู่ “เนติวิทย์” ถึงในจุฬา
- ↑ ‘เนติวิทย์’โอ่หนังสือนักเรียนเลวฯ ถูกบริจาคเข้า‘รร.จปร.’แล้ว
- ↑ WAY to READ: โลกเปลี่ยน โรงเรียนต้องเปลี่ยน
- ↑ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นต่อพิธีไหว้ครู มองการบังคับคือการทำลายความสัมพันธ์